บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

ความไม่รู้กฎหมาย จะอ้างเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ Ignorantia juris non excusat

ความไม่รู้กฎหมาย จะอ้างเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ 
Ignorantia juris non excusat


        ความไม่รู้ทั้งหลายในที่นี้ อาจเป็นความไม่รู้กฎหมายหรือไม่รู้ข้อเท็จจริง แต่ถ้าเกิดกรณีว่า ถ้ามีคนตายและเป็นญาติของเขาซึ่งเขาไม่ทราบว่าเขามีอำนาจอย่างไรบ้างในทรัพย์สมบัติผู้ตาย ดังนี้ เรียกว่าเป็นความไม่รู้ข้อกฎหมาย ซึ่งไม่เป็นข้อแก้ตัวได้เลย โดยมีเหตุผลว่าหากยอมให้มีการแก้ตัวได้แล้ว เมื่อมีคดีขึ้นในศาลก็จำเป็นจะต้องสืบถึงความรู้และไม่รู้ในข้อกฎหมาย ทางปฏิบัตินั้นการสืบให้สิ้นสงสัยเพื่อให้เชื่อทางใดไม่ได้แน่ชัดนัก กับทั้งจะต้องสืบถึงข้อที่เขาควรได้ทราบ หรือสถิติแห่งคนนั้น การพิจารณาคดีเรื่องหนึ่งจะยาวนานเกินสมควรเป็นการยุ่งยากแก่การพิจารณาคดี กฎหมายจึงวางหลักไม่ยอมให้สืบถึงข้อไม่รู้กฎหมายเสียทีเดียว
        ในเชิงอรรถท้ายคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๐๙/๑๒๙ มีคำอธิบายเกี่ยวกับในข้อนี้เป็นหลักว่า “... ในเรื่องเข้าใจผิดนั้นมีว่า จะยกการเข้าใจกฎหมายผิดมาแก้ตัวไม่ได้ ด้วยเหตุว่า ถ้ายอมให้แก้ตัวได้ด้วยข้อนี้แล้ว ผู้ทำผิดทุกคนคงร้องว่า ตนเข้าใจกฎหมายผิดไป หลุดโทษได้ทุกคนกฎหมายเป็นอันไม่ต้องมีกัน ต่างคนต่างทำอะไรได้ตามชอบใจ... จะยกการเข้าใจกฎหมายผิดมาแก้ตัวไม่ได้เป็นสุภาษิตกฎหมายโรมันมาแล้ว”
        อย่างไรก็ตาม มีกรณีที่หากไม่ยอมรับฟังความไม่รู้กฎหมายแล้ว ก็อาจจะเป็นการไม่ยุติธรรมจนเกินไป มาตรา ๖๔ แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงยอมให้มีการแก้ตัวได้บ้าง เมื่อพิจารณา สภาพแห่งความผิด หมายความว่า กรณีที่เป็นความผิดเพราะกฎหมายห้าม (mala prohibita) มิใช่ความผิดในตัวเอง (mala in se) พฤติการณ์ หมายถึง กรณีเฉพาะตัวผู้กระทำความผิด เช่น คนต่างด้าวเพิ่งเดินทางเข้ามาในประเทศ ผู้ที่อยู่ห่างไกลมากไม่สามารถทราบถึงกฎหมายที่ประกาศใช้ใหม่ เมื่อพิจารณาถึงสภาพความผิดและพฤติการณ์แล้ว ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐาน และเมื่อมีการแสดงพยานหลักฐานแล้ว ถ้าศาลเชื่อความไม่รู้กฎหมายศาลอาจลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดก็ได้ หรือไม่ลดโทษก็ได้ แต่ศาลจะไม่ลงโทษเลยไม่ได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๐), น. ๓๓๖.
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น