บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

กระบวนการยุติธรรมกับการกระทำความผิดของ เด็กและเยาวชน


กระบวนการยุติธรรมกับการกระทำความผิดของ
เด็กและเยาวชน

        เด็กและเยาวชนในสายตาของประชาชนทั่วไป จัดได้ว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่อ่อนด้วยประสบการณ์ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีต่าง ๆ และขาดความรู้เท่าทันในด้านต่าง ๆ การเรียนรู้ และการอบรมจากผู้ใหญ่รอบข้างจึงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นทั้งทางด้านร่างกาย ด้านสติปัญญา และความประพฤติเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เพื่อช่วยพัฒนาและนำพาสังคม ประเทศชาติไปสู่ความรุ่งเรืองต่อไป สมกับคำกล่าวที่ว่า “เด็กคืออนาคตของชาติ” เมื่อเด็กและเยาวชนกระทำสิ่งที่ผิดมักจะได้รับการอภัยโดยเหตุที่ว่ายังไร้เดียงสา ไม่รู้สิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ประกอบกับความคิดที่ว่า การที่เด็กและเยาวชนมีความประพฤติที่ไม่ดี เนื่องจากผู้ใหญ่รอบข้างบกพร่องในเรื่องการอบรม ความผิดจึงอยู่ที่ผู้ใหญ่เหล่านั้น ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องอบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชนที่อยู่ในความปกครอง แต่ในภาวะการณ์ปัจจุบัน การกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนมิได้อยู่ในขอบเขตของการกระทำความผิดทางศีลธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น แต่ก้าวล่วงถึงขั้นการกระทำความผิดกฎหมายบ้านเมือง โดยจะเห็นได้จากข่าวสารต่าง ๆ ผ่านทางสื่อมวลชนหลากหลายแขนง มักปรากฏข่าวคราวเกี่ยวกับความประพฤติของเด็กและเยาวชนในทางที่เสียหาย ไม่สมควรและผิดกฎหมายเสมอ เช่น การเสพและค้า หรือลักลอบขนยาเสพติด การยกพวกตีกันของกลุ่มนักศึกษาระหว่างสถาบัน การก่อคดีข่มขืน เรื่อยไปจนถึงกระทั่งการก่อคดีฆาตกรรม หลายต่อหลายครั้งที่การกระทำของเด็กและเยาวชนเหล่านี้ มักเป็นที่วิจารณ์ทั่วไปในหมู่ของประชาชนถึงพฤติกรรมโหดเหี้ยมผิดวิสัยของเด็กและเยาวชน แต่ในขณะเดียวกัน เด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิด ก็กระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ถึงผลที่จะตามมา แต่ในบางครั้งก็เกิดจากการบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง หลอกให้กระทำจากบุคคลอื่น
        หากโดยภาพรวมแล้ว ผู้ใหญ่ที่กระทำความผิด แม้ในลักษณะเดียวกับเด็กและเยาวชน แต่ความคิดรู้ผิดชอบชั่วดี ประสบการณ์ การควบคุมยับยั้งตนมิให้กระทำความผิดย่อมีมากกว่าเด็กและเยาวชน เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มบุคคลที่ควรจะได้รับการปฏิบัติที่นุ่มนวลกว่าผู้ใหญ่ แม้จะมีความประพฤติที่เสียหายจนถึงการกระทำความผิดกฎหมายบ้านเมืองก็ตาม การใช้มาตรการทางกระบวนยุติธรรมเฉกเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่กระทำความผิด ถือว่าเป็นการไม่สมควร ไม่ยุติธรรม และอาจจะก่อให้เกิดผลเสียแก่ตัวเด็กและเยาวชนเหล่านั้นมากกว่าผลดี ประเทศบางประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศไทย จึงได้กำหนดกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนที่ทำผิดกฎหมายแตกต่างจากที่ปฏิบัติกับผู้ใหญ่ในบางเรี่องตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
        ในบทความนี้จะขอนำเสนอกระบวนยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดในทางกฎหมายอาญา โดยจะเน้นที่ขั้นตอนต่าง ๆ นับจากเด็กและเยาวชนถูกจับกุม เรื่อยไปจนถึงกระบวนพิจารณาคดีในชั้นศาลตามที่กำหนดเอาไว้เป็นพิเศษ แตกต่างจากที่ปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ โดยจะกล่าวแต่เฉพาะของประเทศไทยเท่านั้น เพราะแม้กระบวนยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนนี้จะมีมานานในระบบกฎหมายไทย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ รวมถึงผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ก็ยังขาดความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อเกิดกรณีที่เด็กและเยาวชนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ทำให้สิทธิและเสรีภาพของเด็กและเยาวชนดังกล่าวถูกละเมิดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือโดยความไม่ตั้งใจ แต่ในบทความนี้จะขอนำเสนอในลักษณะกว้าง ไม่ลงลึกไปในรายละเอียดทั้งหมด เนื่องจากเนื้อที่บทความที่มีอยู่อย่างจำกัด ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาได้จากหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนเพิ่มเติมได้เอง โดยบทความนี้จะแบ่งแยกเป็นหัวข้อและลำดับดังต่อไปนี้


การกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน
        การกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนนั้น ตรงกับคำว่า “Juvenile Delinquency” ซึ่งในทางวิชาอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา ไม่ถือว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นอาชญากรรม แต่จะเรียกการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนว่า “การกระทำผิด” และไม่เรียกเด็กและเยาวชนผู้กระทำความผิดว่าเป็นอาชญากร
        แม้ในกฎหมายไทย จะมิได้นิยามศัพท์ที่ว่า “การกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน” หมายความว่าอย่างไร แต่เมื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 11 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งในคดีต่อไปนี้
        (1) คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด
        (2) คดีอาญาที่ศาลซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้โอนมาตามมาตรา 61 วรรคแรก ฯลฯ
        (3) คดีที่ศาลจะต้องพิพากษาหรือสั่งเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนตามบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลครอบครัว”
        จากบทมาตราดังกล่าวจึงพอสรุปได้ว่า การกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนนั้นหมายถึงการกระทำความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นที่มีโทษทางอาญา และการกระทำความผิดต่อกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลเยาวชนและครอบครัวจะพิพากษาหรือมีคำสั่ง
        นอกจากนี้ มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ยังได้นิยามของคำว่า “เด็ก” และ “เยาวชน” ไว้ว่า
        เด็ก หมายความถึง บุคคลที่มีอายุเกินเจ็ดปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เกินสิบสี่ปีบริบูรณ์
        เยาวชน หมายความถึง บุคคลที่มีอายุเกินสิบสี่ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์
        เกณฑ์ที่ใช้ในการแยกเด็ก หรือ เยาวชน ก็คืออายุของบุคคลนั้น โดยจะพิจารณาว่า ในวันที่การกระทำความผิดได้เกิดขึ้นเป็นวันแรกนั้น ผู้กระทำมีอายุเท่าไร หากผู้กระทำมีอายุอยู่ในช่วงตั้งแต่ 7 ปีเต็มแต่ยังไม่ถึง 14 ปีเต็ม ถือว่าบุคคลนั้นเป็น “เด็ก” แต่หากบุคคลนั้นมีอายุตั้งแต่ 14 ปีเต็มแต่ยังไม่ถึง 18 ปีเต็ม ถือว่าบุคคลนั้นเป็น “เยาวชน” ไม่ว่าบุคคลนั้นจะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสก่อนอายุครบ 18 ปี (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 20) หรือไม่ก็ตาม

สาเหตุแห่งการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน
        สาเหตุแห่งการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนนั้นเป็นสาเหตุเฉพาะบุคคลบางคนอาจมีเพียงสาเหตุเดียว ในขณะที่บางคนก็มีหลายสาเหตุประกอบกัน สาเหตุแห่งการกระทำความผิดมีอยู่หลายประการ และอาจแยกศึกษาเป็น 3 ด้านคือ
        - ด้านกฎหมาย
        นักกฎหมายเน้นว่าสาเหตุแห่งการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนเกิดจากความเยาว์วัย การรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือการถูกหลอกใช้จากผู้ใหญ่ จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดในทางอาญา โดยถือว่าเป็นเพียงพฤติกรรมเบี่ยงเบน จึงไม่ลงโทษในทางอาญาแต่จะใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทน เพื่อแก้ไขความประพฤติ
        - ด้านสังคมวิทยา
        นักสังคมวิทยาอธิบายถึงสาเหตุแห่งการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนว่ามาจากการที่เด็กและเยาวชนนั้นได้รับแบบอย่างความประพฤติที่ไม่ดี จากบุคคลที่อยู่รอบข้าง เด็กและเยาวชนยังขาดความหนักแน่นทางจิตใจ จึงอาจถูกครอบงำ ชักจูงได้ง่าย ทำให้พฤติกรรมเด็กและเยาวชนประพฤติผิดไปจากบรรทัดฐานของสังคมและกลายเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายในที่สุด
        - ด้านจิตวิทยา
        นักจิตวิทยาอธิบายสาเหตุของการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนเอาไว้หลายทฤษฎี กล่าวคือบางทฤษฎีเห็นว่า การกระทำความผิดนั้นอาจเกิดจากความผิดปกติดของร่างกายหรือทางจิต ซึ่งอาจมีมาตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นภายหลังความเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ซึ่งสาเหตุดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะผลักดันให้อารมณ์ของบุคคลแปรปรวน ยิ่งเป็นเด็กหือเยาวชน ก็อาจะทำให้เกิดการขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และมีพฤติกรรมที่เป็นปฎิปักษ์ต่อสังคมและคนรอบข้างและกระทำความผิดได้ง่าย ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่รุนแรง
        อย่างไรก็ตาม เราสามารถแยกแยะสาเหตุแห่งการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนเป็น 2 สาเหตุใหญ่ ๆ ด้วยกัน
        1. สาเหตุจากสิ่งที่อยู่รอบข้างตัวเด็กและเยาวชน เช่นครอบครัว สถานที่อยู่อาศัย บุคคลรอบข้าง สถานเริงรมย์ สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ การขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น หรือบังเกิดความวุ่นวายในสังคม
        2. สาเหตุที่เกิดจากตัวของเด็กและเยาวชนเอง เช่นความผิดปกติทางร่างกายหรือจิตใจหรือเกิดจากพันธุกรรมของเด็กและเยาวชน

ปรัชญาในการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด
        แนวความคิดหรือปรัชญาในเชิงอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา สามารถแบ่งแยกได้เป็น 2 แนวหลัก ๆ ได้แก่
        ปรัชญาที่มุ่งต่อการลงโทษ เพื่อเป็นการแก้แค้นต่อผู้กระทำผิด ป้องกันและปราบปรามมิให้มีการกระทำความผิด มักพบแนวความคิดเช่นนี้ในสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นพวกอนุรักษ์นิยม แนวความคิดนี้ จะกำหนดโทษและลงโทษผู้กระทำผิดเหมือนกัน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางด้านอายุของผู้กระทำผิด ดังที่เคยพบว่า ในปี ค.ศ. ที่ประเทศอังกฤษ ศาลได้พิพากษาตัดสินและลงโทษเด็กอายุ 9 ขวบ ฐานลักทรัพย์ด้วยการแขวนคอ
        ปรัชญาที่มุ่งเน้นต่อการแก้ไขฟื้นฟู เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ที่กระทำความผิดบางจำพวก ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่ายังพอที่จะเยียวยาได้โดยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขความประพฤติได้ แทนที่จะลงโทษ มักพบแนวความคิดเช่นว่านี้ในสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นพวกเสรีนิยม
        ในนานาอารยประเทศรวมทั้งประเทศไทย การปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดได้ดำเนินตามแนวปรัชญาที่มุ่งแก้ไขฟื้นฟู และช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดให้สามารถกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่า เด็กและเยาวชนยังสามารถที่จะเยียวยาแก้ไขเปลี่ยนแปลงความประพฤติได้ และการที่รัฐเข้ามาเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดแทนพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นวิธีการที่ยอมรับโดยทั่วไป รัฐจึงต้องหามาตรการต่าง ๆ ที่จะมุ่งฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดให้สามารถกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ มากกว่าที่จะใช้อำนาจลงโทษอย่างรุนแรง ดังจะเห็นได้จากที่ประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 ซึ่งถูกยกเลิกและเปลี่ยนมาใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว

กระบวนการยุติธรรมในกรณีที่เด็กและเยาวชนต้องหาว่ากระทำความผิด
        แต่เดิมประเทศไทยมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 ใช้บังคับกับเด็กและเยาวชนผู้ต้องหาว่ากระทำผิด ต่อมาได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดว่าในท้องที่ใดที่มีการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว หากผู้ถูกกล่าวหาเป็นคดีทางอาญา มีอายุตั้งแต่ 7 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี การนำคดีเสนอศาลนั้น จะต้องนำคดีเสนอต่อศาลเยาวชนและครอบครัว และขั้นตอนต่าง ๆ ในการดำเนินคดีจะต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 ดังต่อไปนี้

การจับกุมตัวเด็กและเยาวชนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
        เมื่อเด็กและเยาวชนต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา ไม่ว่าจะเป็นการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจประสบพบเห็นด้วยตนเอง หรือมีผู้ไปร้องทุกข์แจ้งความ หรือกล่าวโทษ ก็จะต้องมีการดำเนินการสืบสวน สอบสวน ตลอดจนจับกุมไปดำเนินคดี ซึ่งในขั้นตอนนี้จะขอแบ่งแยกออกเป็น 2 หัวข้อกล่าวคือ
        - การจับกุมตัวเด็ก
กฎหมายได้บัญญัติห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวเด็กที่ต้องหาว่ากระทำผิด เว้นแต่
        - เด็กนั้นได้กระทำผิดซึ่งหน้า
        - มีผู้เสียหายชี้ตัวและยืนยันให้จับ
        - มีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าได้มีการร้องทุกข์เอาไว้แล้ว
        - มีหมายจับตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
นอกจากใน 4 กรณีนี้แล้ว จะทำการจับกุมเด็กมิได้โดยเด็ดขาด
        - การจับกุมตวเยาวชน
        ในการจับกุมตัวเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิดนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 มิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้นจึงต้องดำเนินการตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ คือ จับกุมตัวเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำผิดได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่กระทำความผิด
        แต่อย่างไรก็ดี ตามที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นแล้วว่า ในระบบกฎหมายไทยนั้น การปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิดนั้น ต้องถือหลักมุ่งให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟูและปรับปรุงแก้ไขให้กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป การจับตัวควรจะกระทำโดยละมุนละม่อม และถ้าไม่จำเป็นก็ห้ามมิให้มีการใช้เครื่องพันธนาการแก่เด็กและเยาวชนนั้น และหากจะต้องทำการจับ และใช้เครื่องพันธนาการ ก็ควรจะเป็นไปในลักษณะที่มิใช่เป็นการประจานให้ได้รับความอับอายต่อหน้าสาธารณชน เพื่อมิให้เด็กหรือเยาวชนนั้นเกิดความกระด้างทางจิตใจและเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนนั้นกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ง่ายขึ้น

ขั้นตอนการสอบสวน
        เมื่อมีการจับกุมตัวเด็กและเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิดแล้ว คดีนั้นจะต้องได้รับการพิจารณาในศาลเยาวชนและครอบครัว เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจะต้องดำเนินขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเคร่งครัด กล่าวคือ ทันทีที่ได้มีการจับกุมตัวเด็กและเยาวชน มาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน ผู้จับกุมหรือผู้ที่ควบคุมตัวเด็กและเยาวชนนั้น จะต้องรีบแจ้งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจและบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กและเยาวชนนั้นอยู่อาศัยด้วยทันทีที่สามารถจะกระทำได้ และพนักงานสอบสวนจะต้องทำการถามปากคำเด็กหรือเยาวชนนั้นเพียงเพื่อที่จะทราบข้อมูลเบื้องต้น เช่น ชื่อ ที่อยู่ อายุ ให้เสร็จสิ้นภายใน 24 ชั่วโมง โดยระหว่างนี้ห้ามทำการควบคุมปะปนกับผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่ ทั้งนี้เพื่อมิให้เด็กและเยาวชนเห็น หรือได้รับการเสี้ยมสอนในทางที่ผิดจากผู้ต้องหาเหล่านั้น ซึ่งในทางปฏิบัติจะให้เด็กหรือเยาวชนนั้นไปยังสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ เป็นผู้ดูแลเด็กหรือเยาวชนนั้นต่อไป โดยที่พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจในการควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนเกินกว่านั้น (เกินกว่า 24 ชั่วโมง) และไม่มีอำนาจในการสั่งปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไปชั่วคราว หลังจากที่ส่งตัวไปยังสถานพินิจแล้ว พนักงานสอบสวนก็ยังคงต้องดำเนินการสอบสวนคดีนั้นต่อไปให้เสร็จ และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อทำการยื่นฟ้องเด็กและเยาวชนนั้นต่อศาลให้ทันกำหนดเวลาต่อไปซึ่งเป็นรายละเอียดในทางปฏิบัติ จึงไม่ขอนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้

การรับตัวเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจ
        ภายหลังจากที่พนักงานสอบสวนได้ทำการส่งตัวเด็กหรือเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิด มายังสถานพินิจแล้ว ทางสถานพินิจจะดำเนินการควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นต่อไป ซึ่งในระหว่างการควบคุมตัวนี้ทางสถานพินิจจะจัดให้มีการสืบเสาะประวัติส่วนตัวของเด็กและเยาวชนนั้น รวมทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอาศัยอยู่ด้วย เพื่อประกอบการพิจารณาในกรณีที่มีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวเด็กและเยาวชนนั้นชั่วคราว ซึ่งทางผู้อำนวยการสถานพินิจจะเป็นผู้สั่งว่าจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหรือไม่ ถ้าอนุญาต ผู้ที่ขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว ก็จะสามารถรับตัวเด็กและเยาวชนนั้นไปจากสถานพินิจได้ทันที แต่จะต้องนำตัวเด็กหรือเยาวชนมาให้เจ้าพนักงานทำการสอบสวนตามที่นัดไว้ แต่ถ้าทางผู้อำนวยการสถานพินิจไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทางผู้อำนวยการสถานพินิจจะต้องส่งสำนวนความเห็น ไปยังอธิบดีหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัว หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกศาลเยาวชนและครอบครัว แล้วแต่กรณี เป็นผู้พิจารณาและออกคำสั่งว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
        ในกรณีที่เด็กและเยาวชนนั้นมิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เด็กหรือเยาวชนนั้นจะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสถานพินิจ เพื่อการสืบเสาะและพินิจประวัติส่วนตัวของเด็กหรือเยาวชนนั้นและของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอาศัยอยู่ด้วย รวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กหรือเยาวชนนั้น และสาเหตุแห่งการกระทำความผิด เพื่อประมวลข้อเท็จจริงและจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อผู้อำนวยการสถานพินิจและต่อพนักงานอัยการ ถ้ามีการฟ้องคดีต่อศาล ผู้อำนวยการสถานพินิจจะทำการส่งรายงานพินิจพร้อมทั้งความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนนั้นต่อศาลต่อไป

การฟ้องคดีอาญา
        ในระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ผู้ที่สามารถฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้นั้น คือ พนักงานอัยการและผู้เสียหาย แต่ในคดีที่เด็กหรือเยาวชนต้องหาว่ากระทำความผิดนั้น การฟ้องคดีจะมีขั้นตอนแตกต่างออกไปดังนี้
        - พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ภายหลังจากที่ได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนและรายงานพินิจพร้อมความเห็นของทางผู้อำนวยการสถานพินิจว่าสมควรให้ฟ้องเป็นคดีอาญา พนักงานอัยการจะใช้ดุลพินิจเพื่อตัดสินว่าจะฟ้องเป็นคดีอาญาหรือไม่
        - ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง โดยหลักตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 ได้ห้ามมิให้ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีเว้นแต่จะได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฟ้องเด็กหรือเยาวชนนั้นเป็นคดีอาญา โดยก่อนที่จะมีการสั่ง ทางสถานพินิจจะได้ทำการสืบสวนว่าข้อกล่าวหานั้นมีมูลความผิดหรือไม่ ถ้าผู้อำนวยการสถานพินิจอนุญาตให้ฟ้องคดีได้ ราษฎรจึงจะสามารถเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองได้ แต่ถ้าไม่อนุญาต ทางผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลได้มีการสอบถามและมีคำสั่งว่าจะให้ฟ้องคดีหรือไม่

กระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล
        เมื่อมีการยื่นฟ้องและศาลได้ประทับฟ้องเอาไว้แล้ว ขั้นตอนต่าง ๆ ในกระบวนการพิจารณาคดีที่เด็กหรือเยาวชนตกเป็นจำเลย จะเป็นไปดังต่อไปนี้
        ศาลอาจมีคำสั่งให้ควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนนั้น ซึ่งมีฐานะเป็นจำเลย ไว้ในสถานพินิจ (เนื่องจากไม่มีการยื่นขอประกันตัวในชั้นศาล หรือมีการยื่นขอประกันตัวในชั้นศาลแต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว) หรืออาจสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยไปชั่วคราวก็ได้ นอกจากนี้ศาลเยาวชนและครอบครัวที่รับฟ้องคดีไว้ จะต้องทำการแจ้งนัดพิจารณาคดีให้ผู้อำนวยการสถานพินิจและบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่จำเลยอาศัยอยู่ด้วยทราบถึงวันและเวลานั่งพิจารณาคดีล่วงหน้า และเตรียมตัวไปฟังการพิจารณาคดีหรือไปให้ข้อมูลแก่ทางศาลระหว่างการพิจารณา ทั้งนี้แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร
        ในระหว่างการพิจารณา ผู้อำนวยการสถานพินิจที่ศาลได้มอบหมายให้ควบคุมตัวจำเลย มีหน้าที่จะต้องส่งตัวจำเลยไปตามคำสั่งของศาล โดยในการจัดส่งตัวจำเลยไปหรือมาจากศาลกับสถานพินิจ หรือที่พักอาศัยในกรณีที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ห้ามมิให้ใช้เครื่องพันธนาการ (เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะใช้เครื่องพันธนาการได้ แต่จะต้องใช้ตามที่จำเป็นเท่านั้น) และห้ามมิให้ควบคุมตัวจำเลยปะปนกับจำเลยที่เป็นผู้ใหญ่ นอกจากนี้ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 ยังห้ามมิให้มีการถ่ายและเผยแพร่หรือตีพิมพ์รูปภาพ หรือบันทึก กระจายเสียง หรือโฆษณาเกี่ยวกับตัวจำเลยอันอาจจะทำให้สาธารณชนทราบได้ว่าตัวจำเลยเป็นใคร อันอาจส่งผลต่อการแก้ไขปรับปรุงให้กลับตัวเป็นพลเมืองดี และกลับเข้าไปอยู่รวมกับสังคมตามปกติ
        การดำเนินการพิจารณาคดี จะต้องทำในห้องอื่นที่มิใช่ห้องพิจารณาคดีโดยทั่วไปและจะต้องดำเนินการพิจารราเป็นความลับ คือ ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อป้องกันมิให้จำเลยเป็นที่รู้จักของบุคคลอื่นที่มิเกี่ยวข้องในคดี แต่การพิจารณาคดีจะต้องกระทำต่อหน้าจำเลยและที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายของจำเลยเสมอ แต่ถ้าศาลเห็นว่า จำเลยไม่สมควรได้รับฟังหรือรู้เห็นการพิจารณาคดีในช่วงใดช่วงหนึ่ง เช่น การสืบพยาน ก็อาจสั่งให้ตัวจำเลยออกไปนอกห้องชั่วครู่ และเมื่อสั่งให้กลับเข้ามา ศาลจะต้องแจ้งข้อความที่เห็นสมควรที่จะแจ้งให้จำเลยทราบหรือแม้แต่ในกรรีที่จำเลยไม่สามารถไปฟังการพิจารณาคดี ถ้าศาลเห็นว่าการพิจารณาคดีในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ว่าจำเลยกระทำผิดจริงตามที่ถูกฟ้องมาหรือไม่ ศาลก็อาจดำเนินการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยก็ได้ แต่จะต้องดำเนินการพิจารณาคดีต่อหน้าที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายของจำเลยเสมอ
        ในการพิจารณาคดีลับหลังนั้น นอกจากบุคคลดังกล่าวนี้คือ
        - จำเลย ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย และผู้ควบคุมจำเลย
        - บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่จำเลยอาศัยอยู่ด้วย
        - พนักงานศาล และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามที่ศาลเห็นสมควร
        - โจทก์และทนายความโจทก์
        - พยาน ผู้ชำนาญกรพิเศษ และล่าม
        - พนักงานคุมความประพฤติ หรือพนักงานอื่นของสถานพินิจ
        - บุคคลอื่นตามที่ศาลเห็นสมควร
        บุคคลอื่นที่ประสงค์จะเข้าฟังการพิจารณาคดี จะต้องขออนุญาตต่อศาลก่อน และเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้วจึงจะเข้าฟังการพิจารณาคดีได้
        การพิจารราคดีที่เด็กหรือเยาวชนตกเป็นจำเลยนั้น ไม่จำต้องดำเนินการตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความบัญญัติไว้โดยเคร่งครัด ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน สามารถเรียกจำเลยไปสอบสวนเป็นการเฉพาะ ในเวลาใด ๆ ก่อนที่จะพิพากษาคดี เพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยหรือในระหว่างการพิจารณาคดี ถ้าศาลเห็นเป็นการสมควรที่จะพูดกับจำเลยเป็นการเฉพาะ ศาลมีอำนาจสั่งให้บุคคลอื่นที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีขณะนั้นออกไปนอกห้องพิจารณาคดีก่อนก็ได้ และการพิจารณาคดี ศาลจะต้องใช้ถ้อยคำที่ง่าย ๆ ให้จำเลยเข้าใจได้ง่าย เนื่องจากจำเลยยังเป็นเด็กหรือเยาวชนอยู่ รวมทั้งให้โอกาสจำเลยและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับจำเลย ได้มีโอกาสแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิด หรือเกี่ยวกับตัวจำเลยเอง รวมทั้งมีอำนาจในการระบุหรือซักถามพยานได้ ทั้งนี้เพราะการพิจารณาพิพากษาจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวจำเลยเป็นรายบุคคลไป เพื่อที่จะได้ปรับปรุงแก้ไขได้ตรงกับสาเหตุ

ข้อสังเกต
        ในการพิจารณาคดีนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 ห้ามมิให้เด็กและเยาวชนที่ตกเป็นจำเลยมีทนายความช่วยว่าความแก้ต่างคดีแทน แต่จำเลยอาจจะมีหรือไม่มีที่ปรึกษาทางกฎหมายคอยให้คำแนะนำทางด้านกฎหมายแก่จำเลยได้ ทั้งนี้เพราะโดยส่วนใหญ่ทนายความจะกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้จำเลยรอดพ้นจากกระบวนยุติธรรม อันขัดต่อเจตนารมย์ของการจัดให้มีวิธีพิจารณาคดีสำหรับเด็กและเยาวชนเป็นกรณีพิเศษ ที่มุ่งจะแก้ไขพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนของเด็กและเยาวชนนั้นไม่ว่าจะได้กระทำความผิดจริงตามที่ฟ้องหรือไม่ก็ตาม

คำพิพากษาของศาล
        เมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาคดี ศาลจะมีคำพิพากษาเกี่ยวกับคดี โดยที่ศาลจะต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของจำเลย ซึ่งเป็นบุคคลที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือ ฟื้นฟูและแก้ไขปรับปรุงให้กลับตัวเป็นพลเมืองดีของชาติได้ ดังนั้น ศาลจึงต้องพิจารณาปัจจัย ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวจำเลยเป็นรายบุคคล ไม่ว่าในคดีนั้นเด็กหรือเยาวชนจะได้กระทำผิดร่วมกันก็ตาม
        ในกรณีที่มีการสืบเสาะและพินิจ ศาลจะพิพากษาจำเลยได้ต่อเมื่อได้รับทราบรายงานพินิจและความเห็นของผู้อำนวยการสถานพินิจแล้ว เนื่องจากผู้อำนวยการสถานพินิจเป็นบุคคลที่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นมากที่สุด ย่อมสามารถเสนอวิธีการที่ดีที่เหมาะสมกับเด็กหรือเยาวชนนั้น ๆ ได้
        เมื่อศาลมีคำพิพากษาและจะทำการอ่านคำพิพากษา ก็จะต้องทำการอ่านคำพิพากษาเป็นการลับ โดยบุคคลที่มีสิทธิเข้าฟังการพิจารณาคดีเท่านั้นที่จะมีสิทธิเข้าฟังการอ่านคำพิพากษาในคดีได้ และการเผยแพร่หรือตีพิมพ์คำพิพากษา ห้ามระบุชื่อ หรือข้อความ หรือการกระทำใด ๆ อันจะทำให้ผู้อ่านคำพิพากษานั้นรู้จักตัวเด็กหรือเยาวชนที่เป็นจำเลย เว้นแต่ศาลจะอนุญาต

การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น อาจแยกพิจารณาออกได้เป็น 2 ประเด็น คือ
        1. กรณีที่มิได้กระทำผิด
        เมื่อปรากฏจากการพิจารณาคดีเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดจริงตามที่ฟ้อง ศาลจะพิพากษาปล่อยตัวไป แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควรเกรี่ยวกับสวัสดิภาพของเด็กหรือเยาวชนนั้น ศาลมีอำนาจที่จะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับความประพฤติของเด็กหรือเยาวชนนั้นดังต่อไปนี้ก็ได้ กล่าวคือ
        - ห้ามมิให้เข้าไปในสถานที่อันจะจูงใจให้ประพฤติชั่ว
        - ห้ามออกนอกที่พักอาศัยในเวลากลางคืน เว้นแต่มีเหตุจำเป็น หรือได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอาศัยอยู่ด้วย
        - ห้ามคบหาสมาคมกับบุคคลหรือประเภทของบุคคลที่ศาลเห็นว่าไม่สมควร
        - ห้ามกระทำการใดอันจูงใจให้เด็กหรือเยาวชนประพฤติชั่ว
        - ให้ไปรายงานตัวต่อศาลหรือพนักงานคุมประพฤติ พนักงานสงเคราะห์เป็นครั้งคราว
        - ให้ไปศึกษา ฝึกอบรม หรือประกอบอาชีพเป็นกิจจะลักษณะ
        โดยในทางปฏิบัติ ศาลมักจะกำหนดให้มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นครั้งคราว เป็นเงื่อนไขหลัก และกำหนดเงื่อนไขอื่นประกอบ เพื่อติดตามผลของการปฏิบัติตัวของเด็กหรือเยาวชนว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดหรือไม่ ซึ่งศาลจะต้องกำหนดระยะเวลาแห่งการปฏิบัติตามเงื่อนไขด้วย แต่ต้องไม่เกินกว่าเวลาที่เด็กหรือเยาวชนนั้นจะมีอายุครบ 24 ปี
        2. กรณีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำผิดตามที่ฟ้อง ศาลอาจเลือกที่จะใช้มาตรการดังต่อไปนี้ก็ได้
        * ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรที่จะลงโทษ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 ให้อำนาจศาลในการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน หรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยแทนการลงโทษดังต่อไปนี้
        เปลี่ยนโทษจำคุก หรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญา คือ กักกัน ไปเป็นการกักและอบรมในสถานพินิจ แต่ในทางปฏิบัตินั้น สถานพินิจได้ยกเลิกสถานกักและอบรมไปแล้ว ศาลจึงมิได้ใช้วิธีการนี้
        เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวไปควบคุม เพื่อฝึกอบรมยังสถานพินิจตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดแต่ต้องไม่เกินกว่าระยะเวลาที่เด็กหรือเยาวชนนั้นจะมีอายุครบ 24 ปี
        เปลี่ยนโทษปรับเป็นคุมประพฤติโดยกำหนดเงื่อนไขเช่นเดียวกับกรณีที่มิได้กระทำผิดข้อเดียวหรือหลายข้อด้วยหรือไม่ก็ได้ โดยศาลจะต้องกำหนดระยะเวลาไว้แต่ห้ามเกินเวลาที่เด็กหรือเยาวชนนั้นจะมีอายุครบ 24 ปี
        * ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งแบ่งแยกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ
        - จำกัดอิสรภาพ ได้แก่ การส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรมของสถานพินิจตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกินกว่าระยะเวลาที่เด็กหรือเยาวชนนั้นจะมีอายุครบ 24 ปี
        - ไม่จำกัดอิสรภาพ ได้แก่ การว่ากล่าวตักเตือน - การมอบตัวเด็กหรือเยาวชนให้ผู้ปกครองดูแล และวางข้อกำหนดผู้ปกครอง - คุมประพฤติ - มอบตัวเด็กหรือเยาวชนให้บุคคลหรือองค์กรอื่นดูแล อบรมสั่งสอน
        - การรอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา แม้ว่าเด็กหรือเยาวชนจะเคยต้องโทษจำคุกหรือโทษอื่นตามคำพิพากษามาก่อนแล้ว หรือโทษที่จะลงเป็นโทษอย่างอื่นนอกเหนือจากโทษจำคุก หรือศาลได้กำหนดโทษจำคุกเกินกว่า 2 ปีก็ตาม

องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนยุติธรรมกรณีเด็กและเยาวชนกระทำผิด
        ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 ได้มีการจัดตั้งองค์กรของรัฐที่สำคัญและมีบทบาทอย่างมากขึ้นมา 2 องค์กร เพื่อดำเนินการในนามของรัฐเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดในขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด ซึ่งในบทความนี้จะขอกล่าวถึงการจัดตั้ง และอำนาจหน้าที่ขององค์กรทั้งสองนี้อย่างคร่าว ๆ

ศาลเยาวชนและครอบครัว
        ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2434 ได้ให้นิยามของศาลเยาวชนและครอบครัวไว้ว่า
        ศาลเยาวชนและครอบครัว หมายความว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด และแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัด ซึ่งจัดตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ศาลเยาวชนและครอบครัวนั้นยังจัดว่าเป็นศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมด้วย
        ศาลเยาวชนและครอบครัวในปัจจุบัน ก็คือ ศาลคดีเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนฯ พ.ศ. 2494 โดยเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 จึงได้มีการยกเลิกศาลคดีเด็กและเยาวชนไปและเปลี่ยนเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวแทน โดยให้บรรดาคดีที่อยู่ในศาลคดีเด็กและเยาวชนนั้นให้โอนมาพิจารณาคดีในศาลเยาวชนและครอบครัวแทน

อำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว
        ในส่วนที่เกี่ยวกับการที่เด็กและเยาวชนกระทำผิดต่อกฎหมายที่มีโทษทางอาญานั้น ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจดังต่อไปนี้
        - อำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำผิด หมายความรวมถึงคดีอาญาทุกประเภททั้งตามประมวลกฎหมายอาญาและตามกฎหมายอื่นที่มีโทษทางอาญา
        - คดีอาญาซึ่งศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้โอนมาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 คือ คดีอาญาที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลธรรมดา ที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี ซึ่งศาลเห็นว่าบุคคลนั้นมีสภาพทางด้านร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกนึกคิด สุขภาพเช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชน ก็มีอำนาจที่จะโอนคดีนั้นไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวและถือว่าบุคคลนั้นเป็นเด็กหรือเยาวชน
        เขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว จะพิจารณาจากท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ประจำเป็นปกติ ซึ่งอาจจะเป็นคนละท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนนั้นมีสำมะโนครัวในระหว่างที่ได้กระทำความผิดนั้น ถ้าในท้องที่นั้นมีศาลเยาวชนและครอบครัว ก็ต้องนำคดีเสนอต่อศาลเยาวชนและครอบครัวนั้น แต่ในกรณีที่ไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่เป็นปกติ ก็ให้พิจารณาว่าในท้องที่ที่การกระทำความผิดเกิดนั้นมีศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องนำคดีเสนอต่อศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่ที่การกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่ถ้ายังไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติและในท้องที่ที่การกระทำความผิดได้เกิดขึ้น คดีจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
        แต่ถ้าในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติและในท้องที่ที่การกระทำความผิดได้เกิดขึ้น ต่างก็มีศาลเยาวชนและครอบครัว โดยหลักก็จะต้องนำคดีเสนอต่อศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนนั้นมีถิ่นที่อยู่ปกติ แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่ที่การกระทำความผิดเกิด จะทำให้เด็กหรือเยาวชนได้รับความสะดวกมากกว่าก็อาจจะนำคดีเสนอต่อศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่ที่กระทำความผิดเกิดได้
        เมื่อคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวแล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะมีอายุครบ หรือเกินกว่า 18 ปี คดีก็ยังอยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวต่อไป แม้จะมีการอุทธรณ์หรือฎีกา คดีก็จะไปสู่ศาลอุทธรณ์ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว หรือศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวต่อไป ซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเองก็ยังคงมีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้
        แต่ศาลเยาวชนและครอบครัวก็มีอำนาจตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 ในการที่จะโอนคดีที่เด็กหรือเยาวชนต้องหาว่ากระทำผิดไปยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีธรรมดาได้ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าในขณะที่กระทำความผิดหรือในระหว่างที่พิจารณาคดี เด็กหรือเยาวชนนั้น มีสภาพร่างกาย จิตใจ หรือมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับบุคคลที่มีอายุครบ 18 ปีขึ้นไป
        องค์คณะในการพิจารณาคดีที่เด็กหรือเยาวชนต้องหาว่ากระทำผิด จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 นาย และผู้พิพากษาสมทบอีก 2 นาย ซึ่งหนึ่งในสองของผู้พิพากษาสมทบจะต้องเป็นหญิงอย่างน้อย 1 นาย จึงจะรวมเป็นองค์คณะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวได้

สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
        ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 ได้ให้นิยามของสถานพินิจไว้ว่า
        สถานพินิจ หมายความว่า สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลาง สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัด และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนของแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวของศาลจังหวัด ซึ่งจัดตั้งตามพระราชบัญญัตินี้
        สถานพินิจจึงเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงยุติธรรม อันมีผู้อำนวยการสถานพินิจเป็นผู้รับผิดชอบดูแล เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญกับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าศาลเยาวชนและครอบครัว และมักจะถูกจัดตั้งเคียงข้างกับศาลเยาวชนและครอบครัวด้วย

อำนาจหน้าที่ของสถานพินิจ
        แม้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 จะได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของสถานพินิจไว้มากมาย แต่สามารถสรุปย่อยได้เป็น 3 หน้าที่หลัก ได้แก่
        1. สืบเสาะและพินิจ ตลอดจนทำรายงานเสนอต่อศาลเกี่ยวกับประวัติ สิ่งแวดล้อม และสาเหตุของการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน เพื่อเสนอต่อผู้อำนวยการสถานพินิจ และสอดส่องเด็กและเยาวชน ที่ศาลมีคำพิพากษาให้คุมประพฤติ หรือกำหนดเงื่อนไขให้ปฏิบัติตาม
        2. ควบคุมตัวเด็กและเยาวชนไว้ระหว่างการพิจารณาคดีตามคำสั่งศาลหรือควบคุมตัวเด็กและเยาวชนตามคำพิพากษาของศาล
        3. ศึกษาค้นคว้าถึงสาเหตุของการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน
        หน้าที่ดังกล่าวข้างต้นเป็นหน้าที่หลักและยังมีอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 ได้กำหนดไว้ จัดได้ว่าเป็นหน้าที่เสริมให้การปฏิบัติหน้าที่หลัก 3 ประการข้างต้นให้สัมฤทธิ์ผล แต่เนื่องจากเป็นรายละเอียดปลีกย่อยจึงไม่ขอนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้

การจัดองค์กรของสถานพินิจ
        การจัดรูปแบบของสถานพินิจนี้ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณงานและความรับผิดชอบของสถานพินิจแต่ละแห่ง แต่ที่มีรูปแบบขององค์กรที่สมบูรณ์ที่สุด ได้แก่ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลาง ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จึงขอยกมาเป็นตัวอย่างดังนี้
        สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลาง แบ่งออกเป็น 4 กองย่อย ได้แก่
        * กองอำนวยการ จะทำหน้าที่ดูแลและบริหารงานสถานพินิจ ตลอดจนการฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนตามคำพิพากษา ซึ่งมีสถานฝึกและอบรมอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ บ้านกรุณา บ้านมุทิตา และบ้านปราณี
        * กองแรกรับ จะมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลเด็กและเยาวชนในระหว่างการสอบสวน การพิจารณาคดี
        * กองคุมประพฤติ จะเป็นกองที่มีบทบาทสำคัญ นับจากรับตัวเด็กหรือเยาวชนจากพนักงานสอบสวนแล้ว จะทำการสอบปากคำเบื้องต้น ทำทะเบียนประวัติ สืบเสาะ และพินิจและจัดทำรายงานประมวลข้อเท็จจริงซึ่งจะมีผลในการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอันมาก ตลอดจนรับรายงานตัวเด็กหรือเยาวชนที่ศาลมีคำสั่งให้คุมประพฤติ ซึ่งภายในกองจะแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่
        1. ฝ่ายประมวลข้อเท็จจริงคดีอาญา
        2. ฝ่ายควบคุมและสอดส่อง
        3. ฝ่ายประมวลข้อเท็จจริงคดีครอบครัว
        * กองแพทย์ จะทำหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจร่างกาย จิตใจของเด็กและเยาวชนเพื่อประกอบในรายงานประมวลข้อเท็จจริง ตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะตามที่ศาลมีคำสั่ง ตลอดจนให้การรักษาพยาบาลเด็กหรือเยาวชนในความควบคุมดูแลของสถานพินิจที่เจ็บป่วย

บุคลากรหลักในสถานพินิจจะมีอยู่ 3 ประเภท คือ
        1. ผู้อำนวยการสถานพินิจ จะเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบงานต่าง ๆ ในสถานพินิจ และมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในความควบคุมของสถานพินิจตามที่ได้กำหนดไว้มากมายหลายประการในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 นอกจากนี้ ยังมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานคุมประพฤติและพนักงานสังคมสงเคราะห์อีกด้วย
        2. พนักงานคุมประพฤติ เป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่สืบเสาะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ควบคุมและสอดส่องความประพฤติเด็กและเยาวชนตามคำพิพากษาของศาล
        3. พนักงานสังคมสงเคราะห์ เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กและเยาวชนในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว ส่งฝึกอบรมในสถานพินิจ หรือคุมประพฤติและทำหน้าที่ควบคุมสอดส่องเด็กและเยาวชนที่พ้นการส่งฝึกอบรม แต่ศาลได้กำหนดเงื่อนไขภายหลังปล่อยพ้นจากการฝึกอบรม

บทสรุป
        เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มบุคคลที่สมควรได้รับความรัก ความเอาใจใส่ การอบรมสั่งสอนจากผู้ใหญ่ในสังคม มิใช่จำกัดเฉพาะผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้างตัวเด็กและเยาวชนเท่านั้น เนื่องจากยังเยาว์วัยทางความคิด การตัดสินใจ และการควบคุมตนเอง จึงง่ายต่อการที่จะถูกชักจูงไปในทางที่เสียหายจากผู้ที่ไม่ประสงค์ดีต่อเด็กและเยาวชน หากปล่อยปละละเลยไม่ให้การสนใจ เด็กและเยาวชนเหล่านี้เมื่อเติบใหญ่ย่อมนำพาสังคม และประเทศชาติไปในทางที่เสื่อม แม้กับเด็กและเยาวชนที่หลงเดินทางผิด มีความประพฤติเบี่ยงเบนและทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ก็สมควรที่จะได้รับโอกาสและความช่วยเหลือให้สามารถกลับตัวเป็นคนดี หากใช้วิธีและกระบวนยุติธรรมเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ย่อมรังแต่จะทำให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้นไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะได้กลับตัวเป็นพลเมืองที่ดีได้ รัฐจึงต้องมีการกำหนดระบบกระบวนยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนที่มีความประพฤติเสียหายเป็นการเฉพาะ โดยมุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้มีโอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองที่ดีและเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของสังคมต่อไปได้ อีกทั้งจัดตั้งองค์กรขึ้นมาช่วยรัฐดูแลงานทางด้านนี้เป็นการเฉพาะ แต่เนื่องจากจำนวนบุคลากรในหน่วยงานนั้น ๆ มีไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่มีความประพฤติเสียหายเหล่านี้ได้โดยลำพัง ดังนั้น จึงต้องได้รับความร่วมมือจากตัวเด็กและเยาวชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่รอบข้างและสังคมด้วย
        แต่การที่เด็กและเยาวชนแม้จะได้รับโอกาสจากสังคมในการกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้แต่ก็คงสร้างรอยด่างในหัวใจและความทรงจำในเชิงที่ไม่ดีของเขาเหล่านี้ แม้กาลเวลาจะผ่านไปยาวนานแค่ไหนก็ตาม ดังนั้น บิดามารดา ผู้ปกครองควรที่จะให้การดูแล เอาใจใส่ อบรมให้เด็กและเยาวชนในความปกครองให้ประพฤติปฏิบัติไปในทางที่ถูกต้อง ย่อมเป็นการดีกว่าที่จะตามแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว
        บทความนี้ ข้าพเจ้าได้เรียบเรียบจากตำราต่าง ๆ การเรียนในชั้นเรียน ตลอดจนการฝึกงานในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าในสังคมไทยน้อยคนนักที่จะทราบถึงกระบวนยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับเด็กและเยาวชนในความปกครอง ก็ไม่สามารถที่จะให้คำปรึกษาหรือปกป้องสิทธิที่พึงมีพึงได้จากรัฐ ทำให้เด็กและเยาวชนถูกล่วงละเมิดทางสิทธิและลุกลามกลายเป็นข่าวที่ชวนให้ผู้ที่ได้รับรู้เกิดความสังเวชใจเป็นเนืองนิจ แต่ก็ไม่อาจที่จะกล่าวลึกลงไปในรายละเอียดมากนัก คงได้แต่เพียงบรรยายให้เห็นโครงร่างโดยรวมของกระบวนยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนเท่านั้น เนื่องจากความจำกัดของพื้นที่หน้ากระดาษ หากท่านผู้ใดสนใจสามารถหาหนังสือเกี่ยวกับการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนซึ่งมีจำหน่ายเป็นการทั่วไปมาอ่านเพิ่มเติมความรู้ก็จะเป็นการดี และในท้ายบทความนี้ ข้าพเจ้าได้นำเสนอแผนผังกระบวนยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด ซึ่งสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.lawonline.co.th
สมพร อมรชัยนพคุณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น