บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

การจดทะเบียนสมรส

การจดทะเบียนสมรส



สถานที่แจ้ง
        ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตแห่งใดก็ได้
คุณสมบัติของผู้ที่จะขอจดทะเบียนสมรส
        ๑. มีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์
        ๒. ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือไร้ความสามารถ
        ๓. ไม่เป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา
        ๔. ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา
        ๕. ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
        ๖. ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
        ๗. หญิงหม้ายจะสมรสใหม่เมื่อการสมรสครั้งก่อนได้สิ้นสุดไปแล้วไม่น้อยกว่า ๓๑๐ วัน เว้นแต่
             ๗.๑. คลอดบุตรระหว่างนั้น หรือ
             ๗.๒. สมรสกับคู่สมรสเดิม หรือ
             ๗.๓. มีใบรับรองแพทย์ว่ามิได้ตั้งครรภ์ หรือ
             ๗.๔. ศาลมีคำสั่งให้สมรสได
       ๘. ชายหญิงที่มีอายุไม่ครบ ๑๗ ปี บริบูรณ์ ศาลอาจอนุญาตให้สมรสได้หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
        ๑. คู่สมรสต้องไปปรากฏตัวต่อหน้านายทะเบียนทั้งสอง
        ๒. บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวข้าราชการของคู่สมรส
        ๓. พยานบุคคล ๒ คน ถ้าไม่มีนายทะเบียนจะหาให้แต่ต้องเสียเงินค่าป่วยการพยานคนละ ๒.๕๐ บาท
        ๔. ถ้าคู่สมรสทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้เยาว์ (อายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์) ถ้าบิดาและมารดาไม่ไปให้ความยินยอมด้วยตนเองให้นำหนังสือแสดงความยินยอมของบิดาและมารดาไปด้วย
ค่าธรรมเนียม
        ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เว้นแต่ค่าป่วยการพยานที่นายทะเบียนหาให้คนละ ๒.๕๐ บาท
การจดทะเบียนสมรสนอกสำนักงานทะเบียน
        ๑. คู่สมรสอาจขอให้นายทะเบียนแห่งท้องที่ที่จะประกอบพิธีสมรสไปจดทะเบียนสมรสยังสถานที่ดังกล่าวได้ โดยยื่นคำร้องต่อ นายทะเบียนพร้อมแจ้งความประสงค์และรายละเอียด ชื่อตัว ชื่อสกุล ของคู่สมรส ระบุวัน เวลา สถานที่ ที่จะให้ไปจดทะเบียนและเพื่อความสะดวกควรจัดยานพาหนะรับ - ส่งด้วย
        ๒. เสียค่าธรรมเนียม ๒๐๐ บาท
        ๓. สถานที่ติดต่อ หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงเช่นเดียวกับการจดทะเบียนในสำนักงานทะเบียน

การหย่า
         การหย่าโดยความยินยอมทั้งสองฝ่าย ณ สำนักงานทะเบียนเดียวกัน
สถานที่แจ้ง
        ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตแห่งใดก็ได้
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
        ๑. หนังสือข้อตกลงการหย่า หรือสัญญาหย่า ซึ่งมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย ๒ คน
        ๒. บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวข้าราชการของทั้งสองฝ่าย
        ๓. ใบสำคัญการสมรส
        ๔. พยานบุคคล ๒ คน ถ้าไม่มีนายทะเบียนหาให้ต้องเสียค่าป่วยการพยาน ๒.๕๐ บาท
ค่าธรรมเนียม
        ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เว้นแต่ค่าป่วยการพยานที่นายทะเบียนหาให้ ๒.๕๐ บาท

การหย่าโดยความยินยอมทั้งสองฝ่ายต่างสำนักงานทะเบียน
สถานที่แจ้ง
        ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตแห่งใดก็ได้โดยต่างฝ่ายต่างยื่นคำร้อง ณ สำนักงานทะเบียนที่ตนสะดวก
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
        ๑. บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวข้าราชการทั้งสองฝ่าย
        ๒. ใบสำคัญการสมรส
        ๓. หนังสือยินยอมการหย่า ซึ่งพยานลงชื่ออย่างน้อย ๒ คน
ค่าธรรมเนียม
        ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เว้นแต่ค่าป่วยการพยานที่นายทะเบียนหาให้ ๒.๕๐ บาท
การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล
สถานที่แจ้ง
        ณ สถานที่ตามคำพิพากษาของศาล
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
        บัตรประจำตัวประชาชน
        ข้อยกเว้น ถ้าคำพิพากษาของศาลให้หย่ากันเด็ดขาด คู่หย่าไม่ต้องยื่นคำร้องขอจดทะเบียนการหย่าเพียงแต่นำคำพิพากษาไปให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในทะเบียนการสมรสที่เคยจดไว้เท่านั้น
ค่าธรรมเนียม
        ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เว้นแต่ค่าป่วยการพยานที่นายทะเบียนหาให้ ๒.๕๐ บาท หรือค่าคัดสำเนาบันทึก การหย่าฉบับละ ๑๐ บาท

การจดทะเบียนการรับรองบุตร
        หลัก บุตรที่เกิดโดยบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสกัน ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาเพียงฝ่ายเดียว แต่กฎหมายเปิดโอกาสให้ชายจดทะเบียนรับรองบุตรได้ และถือเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชายด้วย นับแต่วันจดทะเบียน หรือโดยบิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกัน ไม่ต้องจดทะเบียนรับรองบุตรหรือโดยคำพิพากษาของศาลให้เด็กนั้นเป็นบุตรของชายผู้เป็นบิดา การจดทะเบียนรับรองบุตรจึงมี ๒ วิธีคือ
        ๑. การรับรองบุตรด้วยความสมัครใจของชายผู้เป็นบิดา
หลักเกณฑ์
        บิดาและบุตรต้องไปที่สำนักงานเขตหรืออำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสถานฑูต สถานกงสุล ไทยในต่างประเทศแห่งใดก็ได้ ยกเว้น บุตรอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ไม่จำเป็นต้องนำบุตรไปด้วย ถ้ามารดาและบุตรไม่ไปด้วย นายทะเบียนจะมีหนังสือแจ้งไปยังฝ่ายที่ไม่มา เพื่อให้มาให้ความยินยอมหรือคัดค้านการจดทะเบียน ถ้าพ้น ๖๐ วัน นับแต่การแจ้งความของนายทะเบียนไปถึง ถือว่าไม่ให้ความยินยอม ถ้ามารดาและบุตรอยู่ต่างประเทศจะขยายเวลาเป็น ๑๘๐ วัน
สถานที่แจ้ง

        งานปกครอง สำนักงานเขตทุกเขต หรืออำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสถานฑูต สถานกงสุลไทย ในต่างประเทศแห่งใดก็ได้
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
        ๑. บัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดา
        ๒. สูติบัตรของบุตร
        ๓. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
ค่าธรรมเนียม
        ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ
        ๒. โดยคำพิพากษาของศาล
หลักเกณฑ์
        บิดามารดา หรือบุตร หรือผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหากประสงค์จะให้มีการรับรองบุตร แต่ไม่สามารถดำเนินการโดยความยินยอมของทุกฝ่ายได้ จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้มีการรับรองบุตรได้
สถานที่แจ้ง
        งานปกครอง สำนักงานเขตทุกเขต หรืออำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสถานฑูต สถานกงสุลไทย ในต่างประเทศแห่งใดก็ได้
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
        ๑. บัตรประจำตัวของผู้ร้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
        ๒. สำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอันถึงที่สุด ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลรับรองว่าถูกต้อง
ค่าธรรมเนียม
        ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ
ข้อควรทราบในการรับรองบุตร
        ๑. การจดทะเบียนรับรองบุตร สามารถกระทำได้ ๒ วิธี ได้แก่ การจดทะเบียนรับรองบุตรในสำนักงานทะเบียน และการจดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักงานทะเบียน โดยการจดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักงานทะเบียน ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายละ ๒๐๐ บาท
        ๒. การจดทะเบียนรับรองบุตร ไม่มีใบสำคัญออกให้ ถ้าต้องการหลักฐานก็ให้ยื่นคำร้องขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านฯ โดยเสียค่าธรรมเนียมฉบับละ ๑๐ บาท
ประโยชน์ของการจดทะเบียนรับรองบุตร
        ๑. เด็กมีสิทธิใช้ชื่อสกุลและรับมรดกของบิดา
        ๒. ข้าราชการมีสิทธิได้รับเงินค่าช่วยเหลือต่าง ๆ ของบุตร
        ๓. บิดามีสิทธิได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้
เอกสารอ้างอิง คู่มือกฎหมายเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของประชาชน สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย(สคช) สำนักงานอัยการสูงสุด.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.siamlaw.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น