บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

การรับมรดกแทนที่

การรับมรดกแทนที่


        ในการรับมรดกโดยหลักกฎหมายจะให้เฉพาะทายาทลําดับและชั้นที่สนิทที่สุดกับเจ้ามรดกเป็นผู้รับมรดกซึ่งในบรรดาทายาทลําดับต่าง ๆ นั้น ทายาทลําดับผู้สืบสันดาน (ลําดับ ที่๑) จะเป็นผู้ได้รับมรดกก่อน ถ้าหากมีทายาทลําดับ (๑) ทายาทลําดับหลังก็จะไม่ได้รับมรดก (เว้นแต่ ทายาทลําดับที่(๒) บิดามารดาถ้ามีชีวิตอยู่ก็จะได้รับมรดกเสมือนว่าเป็นทายาทชั้นบุตร
        หลักที่ว่าเมื่อไม่มีทายาทลําดับก่อน ทายาทลําดับหลังก็มีสิทธิได้รับมรดกนั้น จะต้องอยู่ภายใต้บังคับหลัก "การรับมรดกแทนที่” ด้วย กล่าวคือ แม้ว่าไม่มีทายาทในลําดับก่อนลําดับใด เพราะทายาทลําดับนั้นได้ตายไปก่อนเจ้ามรดกหรือไม่มีสิทธิรับมรดกเพราะได้ถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าทายาทในลําดับนั้นมีผู้สืบสันดาน กฎหมายก็ให้ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นรับมรดกแทนที่ทายาทคนนั้นได้ และถ้าผู้สืบสันดานนั้นตายไปเสียก่อนหรือถูกกําจัดมิให้รับมดกเช่นเดียวกัน กฎหมายก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานคนนั้นรับมรดกแทนที่สืบต่อๆ กันเช่นนี้จนหมดสาย ดังนั้น จึงเห็นได้ว่ามรดกของเจ้ามรดกตกทอดไปยังผู้สืบสันดานของทายาทลําดับนั้น ๆ เสียก่อน ก่อนที่จะตกไปยังทายาทลําดับหลัง
        หลักการรับมรดกแทนที่ปรากฏในมาตรา ๑๖๓๙
        มาตรา ๑๖๓๙ “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๑) ผู้สืบสันดาน (๓) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (๔) พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกันหรือ (๖) ลุง ป้า น้า อา ถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย”

        หลักเกณฑ์ ตามมาตรา ๑๖๓๙
         การรับมรดกแทนที่กัน จะมีได้เฉพาะผู้สืบสันดานของ (ผู้ซึ่งจะเป็น) ทายาทลําดับ (๑) (๓) (๔) และ (๖) รับมรดกแทนที่ทายาทลําดับนั้นเท่านั้น
        ผู้สืบสันดานของทายาทลําดับ (๒) กล่าวคือ ลําดับบิดามารดา และ (๕) กล่าวคือ ลําดับปู่ ย่า ตา ยาย ขึ้นมารับมรดกแทนที่ทายาทลําดับ (๒) หรือ (๕) ไม่ได้

        เหตุที่กฎหมายไม่ให้ ผู้สืบสันดานของทายาทลําดับ (๒) และ (๕) รับมรดกแทนที่ เพราะ
        - กรณีทายาทลําดับ (๒)บิดามารดา : ผู้สืบสันดานของทายาทลําดับ (๒) ก็คือพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาของเจ้ามรดกนั่นเอง ซึ่งเป็นทายาทลําดับ (๓) หรือ (๔) ตามมาตรา ๑๖๒๙ หากกฎหมายกําหนดว่าเมื่อบิดาหรือมารดา (ทายาทลําดับ (๒) )ตายไปเสียก่อนให้พี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาของเจ้ามรดกรับมรดกแทนที่ได้ ก็จะมีผลว่าทายาทในลําดับ (๓) หรือ (๔) จะเข้ามารับมรดกร่วมกับบิดาหรือมารดาที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือร่วมกับทายาทลําดับ (๑) ได้ ซึ่งจะขัดกับหลักญาติสนิทพิชิตญาติห่าง
        - กรณีทายาทลําดับ (๕)ปู่ ย่า ตา ยาย : ผู้สืบสันดานของทายาทลําดับ (๕) ก็คือลุง ป้า น้า อาของเจ้ามรดกนั่นเอง ซึ่งก็เป็นทายาทลําดับ (๖) หากกฎหมายให้ ลุง ป้า น้าหรืออารับมรดกแทนที่ปู่ ย่า ตาหรือยายของเจ้ามรดกที่ตายไปก่อนเจ้ามรดก ก็จะมีผลว่าลุงป้าน้าอาก็มีสิทธิรับมรดกรวมกับปู่ ย่าตาหรือยายที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งจะทําให้ ขัดต่อหลัก “ญาติสนิทพิชิตญาติห่าง” (ลุงป้าน้าอาซึ่งเป็นทายาทลําดับ (๖) จะรับมรดกได้เฉพาะเมื่อไม่มีปู่ ย่าตายาย (ทายาทลําดับ (๕) เท่านั้น)
        ตามตัวอย่าง เมื่อ ก. ตาย มรดกจะตกแก่ บ. (บิดา) ม. (มารดา) ข. (บุตร) และ ภ.(ภริยา) คนละเท่า ๆ กัน แต่หาก บ. บิดาตายก่อน ที่ ก.(เจ้ามรดก)ตาย น. จะไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ บ. มรดกก็ตกแก่ ม. ๑ ส่วน ภ. ๑ ส่วน และ ข. ๑ ส่วน เท่า ๆ กัน เป็นต้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.dtl-law.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น