บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สรุปกฎหมายอนุญาโตตุลาการ

สรุปกฎหมายระงับข้อพิพาท อนุญาโตตุลาการ
1 สัญญาอนุญาโตตุลาการ
1.1 การดำเนินคดีสัญญาอนุญาโตตุลาการ
1.2 ข้อบังคับกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม
1.3 การดำเนินคดีเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ
1.4 ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ
1.4.1 ๓. การดำเนินคดีชั้นอนุญาโตตุลาการ
1.5 การระงับข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาททางธุระกิจอนุญาโตตุลาการ (ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545)
1.5.1 1. อนุญาโตตุลาการแบบสถาบัน( Institution Arbitration)
1.5.2 2. อนุญาโตตุลาการแบบเฉพาะกิจ( Ad Hoc Arbitration)
1.6 ความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ
1.6.1 1. ความสามารถในการทำสัญญาอนุญาโตตุลาการ
1.6.2 2. ความเป็นเอกเทศสัญญาของอนุญาโตตุลาการ
1.6.3 3. ความสมบูรณ์กรณีสถานะของคู่สัญญาเปลี่ยนแปลง
1.6.4 4. ความสมบูรณ์กรณีที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องและความรับผิด
1.7 การดำเนินการทางศาลเกี่ยวกับสัญญาอนุญาโตตุลาการ
1.8 การบังคับตามสัญญาอนุญาโตตุลาการ
1.9 การคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณา
1.10 ศาลที่มีเขตอำนาจ
1.11 2. คณะอนุญาโตตุลาการและอำนาจของอนุญาโตตุลาการ
1.11.1 1. จำนวนอนุญาโตตุลาการ
1.11.2 2. การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ
1.11.3 3. คุณสมบัติของอนุญาโตตุลาการ
1.11.4 4. การคัดค้านอนุญาโตตุลาการ
1.11.5 5. การสิ้นสุดการเป็นอนุญาโตตุลาการ
1.11.6 6. ความรับผิดของอนุญาโตตุลาการ
1.11.7 7. อำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการ
1.12 3. วิธีพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ
1.13 4. คำชี้ขาดและการบังคับตามคำชี้ขาด
[แก้ไข] สัญญาอนุญาโตตุลาการ

        สัญญาอนุญาโตตุลาการ หมายถึง สัญญาที่คู่สัญญาตกลงให้ระงับข้อพิพาททั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าจะเกิดจากนิติสัมพันธ์ทางสัญญาหรือไม่โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ สัญญาอนุญาโตตุลาการอาจเป็นข้อสัญญาหนึ่งในสัญญาหลัก หรือเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการแยกต่างหากก็ได้

        สัญญาอนุญาโตตุลาการต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาเว้นแต่ถ้าปรากฏข้อสัญญาในเอกสารที่คู่สัญญาโต้ตอบทางจดหมาย โทรสาร โทรเลข โทรพิมพ์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยมีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือทางอื่นซึ่งมีการบันทึกข้อสัญญานั้นไว้ หรือมีการกล่าวอ้างข้อสัญญาในข้อเรียกร้องหรือข้อคัดค้านและคู่สัญญาฝ่ายที่มิได้กล่าวอ้างไม่ปฏิเสธให้ถือว่ามีสัญญาอนุญาโตตุลาการแล้ว

[แก้ไข] การดำเนินคดีสัญญาอนุญาโตตุลาการ
        เมื่อปี ๒๕๓๐ ได้มีพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๓๐ ออกใช้บังคับ โดยมีสาระสำคัญไว้ในมาตรา ๑๐ ว่า

        ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการโดยมิได้เสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญา คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องอาจยื่นคำต้องต่อศาลก่อนวันสืบพยาน หรือก่อนมีคำพิพากษาในกรณีที่ไม่มีการสืบพยาน ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดี เพื่อให้คู่สัญญาดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน และเมื่อศาลทำการไต่สวนแล้วไม่ปรากฏว่า มีเหตุที่ ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่นหรือมีเหตุทำให้ ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ก็ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสีย

        ส่วนคำว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการ มาตรา ๕ บัญญัติว่า หมายถึง สัญญาหรือข้อตกลงในสัญญาที่คู่กรณีตกลงเสนอข้อพิพาททางแพ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ไม่ว่าจะมีการกำหนดตัวผู้ซึ่งจะเป็นอนุญาโตตุลาการไว้หรือไม่ก็ตาม

        ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือที่ นร (กวพ) ๑๒๐๒/ว ๑๑๖ ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๕ แจ้งเวียนให้ส่วนราชการทราบว่า เนื่องจากได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๓๕ ออกใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๕ ให้กำหนดตัวอย่างสัญญาต่างๆ ตามที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุได้กำหนดขึ้น โดยมีข้อสัญญาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการไว้ในแบบสัญญาจ้างเป็นข้อ ๒๑ กรณีพิพาทและอนุญาโตตุลาการไว้ว่า

        ๒๑.๑ ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดแห่งสัญญานี้หรือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญานี้ และคู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ ให้เสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาด

        ๒๑.๒ เว้นแต่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะเห็นพ้องกัน ให้อนุญาโตตุลาการคนเดียวเป็นผู้ชี้ขาด การระงับข้อพิพาทให้กระทำโดยอนุญาโตตุลาการ ๒ คน โดยคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะทำหนังสือแสดงเจตนาจะให้มีอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทและระบุชื่ออนุญาโตตุลาการคนที่ตนแต่งตั้งส่งไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง จากนั้นภายในระยะเวลา ๓๐ วัน นับถัดจากวันที่ได้รับแจ้งดังกล่าว คู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับแจ้งจะต้องแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการคนที่สอง ถ้าอนุญาโตตุลาการทั้งสองคนดังกล่าวไม่สามารถประนีประนอมระงับข้อพิพาทนั้นได้ ให้อนุญาโตตุลาการทั้งสองคนร่วมกันแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดภายในกำหนดเวลา ๓๐ วัน นับจากวันที่ไม่สามารถตกลงกัน ผู้ชี้ขาดดังกล่าวจะพิจารณาระงับข้อพิพาทต่อไป กระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการให้ถือตามข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของสถาบันตุลาการ กระทรวงยุติธรรมโดยอนุโลม หรือตามข้อบังคับอื่นที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ และให้กระทำในกรุงเทพมหานคร โดยใช้ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการดำเนินกระบวนพิจารณา

        ๒๑.๓ ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายตนหรือในกรณีที่อนุญาโตตุลาการทั้งสองไม่สามารถตกลงกันแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดได้ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต่างมีสิทธิร้องขอต่อศาลแพ่งเพื่อแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการหรืออนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดได้แล้วแต่กรณี

        ๒๑.๔ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือของอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดแล้วแต่กรณี ให้ถือเป็นเด็ดขาดและถึงที่สุดผูกพันคู่สัญญา

        ๒๑.๕ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายเป็นผู้รับภาระค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการฝ่ายตนและออกค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการดำเนินกระบวนพิจารณาฝ่ายละครึ่ง ในกรณีที่มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการคนเดียวหรือมีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาด ให้อนุญาโตตุลาการหรืออนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดเป็นผู้กำหนดภาระค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการคนเดียวหรือภาระค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการ ผู้ชี้ขาดคนเดียวแล้วแต่กรณี

        เมื่อรูปแบบตามสัญญาของส่วนราชการได้กำหนดไว้เกี่ยวกับสัญญาอนุญาโตตุลาการด้วย และเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นตามสัญญา การระงับข้อพิพาทระหว่างกันจึงต้องกระทำโดยการตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาท และจะไม่ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อระงับข้อพิพาทดังกล่าว

[แก้ไข] ข้อบังคับกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม
        เมื่อพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.๒๕๓๐ ออกใช้บังคับแล้ว กระทรวงยุติธรรมจึงได้ออกข้อบังคับกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการกระทรวงยุติธรรมขึ้น และประกาศใช้เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๓๓ โดยจัดตั้งสำนักงานอนุญาโตตุลาการขึ้นในสำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ โดยข้อบังคับข้อ ๒ กำหนดว่า คู่พิพาทอาจระบุข้อกำหนดอนุญาโตตุลาการไว้ในสัญญาเพื่อให้สถาบันเป็นผู้จัดการอนุญาโตตุลาการ และใช้ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการบังคับแก่การอนุญาโตตุลาการนั้นว่า

        ข้อพิพาท ข้อขัดแย้ง หรือข้อเรียกร้องใด ๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญญานี้หรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญานี้ รวมทั้งปัญหาการผิดสัญญา การเลิกสัญญา หรือความสมบูรณ์แห่งสัญญาดังกล่าว ให้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการตามข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งในอยู่ในขณะที่มีการเสนอข้อพิพาทเพื่อการอนุญาโตตุลาการและให้อยู่ภายใต้ การจัดการของสถาบันดังกล่าว

        การดำเนินคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการของส่วนราชการจึงต้องอยู่ภายใต้การจัดการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรมนับแต่บัดนั้นมา โดยมีผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ดูแล

[แก้ไข] การดำเนินคดีเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ
        ๑. เมื่อมีการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ผู้เสนอข้อพิพาท (ต่อมาเรียกว่า ผู้เรียกร้อง)ได้เสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ ทำนองเดียวกับคำฟ้อง และคำขอบังคับไว้ในคำเสนอข้อพิพาท พร้อมทั้งแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายตนไปด้วย

        ๒. ผู้จัดการสถาบันจะส่งคำเสนอข้อพิพาทไปยังคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง และระบุด้วยว่าให้ยื่นคำคัดค้านต่อสถาบันภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งหากไม่สามารถยื่นคำคัดค้านภายในเวลาที่กำหนด ก็จะสามารถขอขยายเวลาสำหรับการทำคำคัดค้านได้ เสมือนการขยายระยะเวลายื่นคำให้การ และคู่กรณีจะต้องเสนอแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายตนไปด้วย         การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ ปกตินั้นการระงับข้อพิพาทนั้นจะแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการจำนวน ๓ คน โดยคู่กรณีจะแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละหนึ่งคน และให้อนุญาโตตุลาการร่วมกันแต่งตั้งบุคคลภายนอกอีก ๑ คนเป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการ

        ปัญหาเกี่ยวกับการแต่งตั้งประธานอนุญาโตตุลาการ กรณีไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับตัวประธานคณะอนุญาโตตุลาการ ในข้อบังคับเดิมได้กำหนดไว้ว่า ให้สถาบันคัดรายชื่อจากทะเบียนของสถาบันอย่างน้อยสามคนไปยังคู่กรณีเพื่อให้คัดเลือก และผู้อำนวยการตั้งอนุญาโตตุลาการ ๑ คน จากรายชื่อที่ได้รับความเห็นชอบของคู่กรณี โดยคำนึงถึงลำดับความพึงพอใจที่คู่กรณีได้แสดงไว้

        ๓. กระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการ ข้อบังคับข้อ ๒๑ ระบุว่า ให้อนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินวิธีพิจารณาใด ๆ ตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงหลักแห่งความยุติธรรม และการให้คู่กรณีมีโอกาสเสนอข้อเท็จจริงสนับสนุนข้ออ้างของตนมากที่สุด

        คู่กรณีฝ่ายใดกล่าวอ้างข้ออ้างใด ต้องเป็นฝ่ายมีหน้าที่นำสืบให้ประจักษ์ตามข้ออ้างของตน

การสืบพยานในชั้นอนุญาโตตุลาการ มีวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

        ๑) ให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเสนอพยานเอกสารต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนต่ออนุญาโตตุลาการในวันนัดพิจารณาครั้งแรก ในกรณีที่เห็นสมควรอนุญาโตตุลาการมีอำนาจสั่งให้คู่กรณีส่งเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทให้ก็ได้

        ๒) การสืบพยานให้อนุญาโตตุลาการบันทึกคำพยานโดยย่อเพื่ออ่านและให้พยาน ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานแล้วเก็บรวมในสำนวน

        ๓) การสืบพยานจะต้องกระทำอย่างการดำเนินกระบวนพิจารณาลับ

        ๔. คำวินิจฉัยชี้ขาดให้วินิจฉัยไปตามเสียงข้างมากของอนุญาโตตุลาการแต่จะให้เกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำขอของคู่กรณีไม่ได้ เว้นแต่กำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ในชั้นอนุญาโตตุลาการหรือค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการ หรือเป็นการชี้ขาดให้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความกันระหว่างคู่กรณี

        ผลของคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ มาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณี เมื่อได้มีการส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีแล้ว และหากคู่กรณีฝ่ายใดไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาด คู่กรณีอีกฝ่ายจะต้องยื่นคำร้องขอภายในกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีแล้ว เพี่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามคำชี้ขาด ตามมาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔ ถ้าศาลเห็นว่าคำชี้ขาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นคำชี้ขาดที่เกิดจากการกระทำ หรือวิธีการอัน มิชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมิได้อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการ ให้ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้น

        ส่วนศาลที่มีเขตอำนาจได้แก่ศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขต หรือศาลที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขต หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น ตามมาตรา ๒๕

        ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.๒๕๔๕ ออกใช้บังคับเป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.๒๕๓๐ และทั้งได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยงานธุรการที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ทั้งมีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.๒๕๔๓ จัดตั้งสำนักงานศาลยุติธรรมขึ้น โดยมีสถาบันอนุญาโตตุลาการเป็นหน่วยงานสังกัด จึงได้มีการปรับปรุงและออกเป็น “ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ” ประกาศ ณ วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ทำให้หลักเกณฑ์การยุติข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการเป็นไปตามข้อบังคับและพระราชบัญญัติใหม่นั้น

        ในส่วนพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.๒๕๔๕ นั้น หลักเกณฑ์ทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.๒๕๓๐ โดยเฉพาะมาตรา ๑๔ บัญญัติไว้ว่า

         “ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการ โดยมิได้เสนอข้อพิพาทนั้นต่อคณะอนุญาโตตุลาการตามสัญญา คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องอาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจไม่ช้ากว่าวันยื่นคำให้การ หรือภายในระยะเวลาที่มีสิทธิยื่นคำให้การตามกฎหมาย ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดี เพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ และเมื่อศาลทำการไต่สวนแล้วเห็นว่า ไม่มีเหตุทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ก็ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสีย”

        เมื่อปรากฏว่าสัญญาที่ตัวความถูกฟ้องหรือส่งมาให้ฟ้องเป็นเรื่องสัญญาอนุญาโตตุลาการด้วยแล้ว ในทางปฏิบัติพนักงานอัยการก็จะสั่งให้ส่งเรื่องคืนไปยังตัวความเพื่อดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ กรณีมิใช่เป็นเรื่องสั่งไม่รับว่าต่าง แต่เป็นเรื่องไม่อาจดำเนินคดีในเรื่องนั้นได้

อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการในการดำเนินคดีอนุญาโตตุลาการ

(ก) ตามมติคณะรัฐมนตรี
        มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๕ อนุมัติให้หน่วยงานของรัฐที่มีข้อพิพาทในคดีแพ่งที่ต้องใช้อนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทก่อนคดีขึ้นสู่ศาล ให้พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินคดีแทนได้ในชั้นอนุญาโตตุลาการ หรือให้ว่าจ้างทนายความดำเนินคดีแทนได้ ทั้งนี้โดยความเห็นชอบจากอัยการสูงสุดหรือผู้แทนที่อัยการสูงสุดมอบหมาย และหากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในเรื่องค่าใช้จ่ายด้วย

        แต่เดิมนั้นเมื่อมีการดำเนินคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ ตัวความก็จะส่งเรื่องมาให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการให้เหมือนการส่งเรื่องมาดำเนินคดีที่ศาลยุติธรรม ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดก็จัดพนักงานอัยการ สำนักงานคดีแพ่งดำเนินการให้ แต่ต่อมาเนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการในการดำเนินคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอัยการสูงสุดจึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรองรับอำนาจหน้าที่ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวขึ้น

         (ข) หน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้น ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีแพ่งของพนักงานอัยการ พ.ศ.๒๕๔๗ ข้อ ๖๗ ระบุไว้ว่า

“ในการดำเนินคดีว่าต่างและแก้ต่างในชั้นอนุญาโตตุลาการ ให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคดีที่รับผิดชอบการดำเนินคดีในศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอน หากสัญญาที่ได้ทำกันไว้เป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการแล้ว แม้ว่ากฎหมายจะมิได้ห้ามมิให้ถอนหรือบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ”

        ฉะนั้น หากเป็นคดีแพ่งทั่วไปให้ส่งเรื่องให้สำนักงานคดีที่รับผิดชอบในการร้องขอให้เพิกถอนเรื่องนั้นดำเนินการก็คือสำนักงานคดีแพ่ง เนื่องจากสำนักงานอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน ศาลยุติธรรมตั้งอยู่ในเขตศาลแพ่ง ส่วนคดีปกครองนั้น สำนักงานคดีปกครองจะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ

        ต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีการแบ่งส่วนราชการใหม่โดยตั้งสำนักงานการยุติ การดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการขึ้น แบ่งส่วนราชการเป็นสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการยุติการดำเนินคดีแพ่ง 1 และ 2 และสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการอนุญาโตตุลาการ ทำให้คดีอนุญาโตตุลาการทุกเรื่องเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ มิใช่ของสำนักงานคดีแพ่งและสำนักงานคดีปกครองอีกต่อไป

[แก้ไข] ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ
        ๑. คดีบางเรื่องแม้จะเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการ การที่จะพนักงานอัยการจะเป็นผู้เสนอข้อพิพาทเพื่อชี้ขาดระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการนั้น จะต้องตระหนักด้วยว่า อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ในฐานะที่จะเข้าสู่กระบวนการทางอนุญาโตตุลาการหรือไม่ เช่น กรณีอีกฝ่ายเป็นคู่สัญญาจ้างเหมากับรัฐ และผิดสัญญา ทำให้เกิดความรับผิดตามสัญญาที่จะต้องเสียค่าปรับและค่าเสียหาย อันเกิดจากการผิดสัญญา การที่จะเสนออนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดให้อีกฝ่ายชำระหนี้นั้นจะน่าจะมิใช่ประสงค์ของกฎหมาย แต่เมื่อมีการปฏิบัติกันมา ก็จะต้องว่ากันไปตามนั้น แต่จะต้องพิจารณาคู่กรณีอีกฝ่าย หากไม่อยู่ในฐานะจะเข้าระงับข้อพิพาทแล้ว เช่น นิติบุคคลเลิกหรือกิจการโดยพฤตินัย และไม่สามารถติดต่อผู้แทนนิติบุคคลแห่งนั้นได้ กรณีเช่นนี้ไม่มีความจำเป็นจะต้องเสนอเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการ หากไปดำเนินการในชั้นอนุญาโตตุลาการจะเสียเวลาและไม่ได้ประโยชน์ เนื่องจากนิติบุคคลนั้นจะไม่เข้ามาต่อสู้คดี ทำให้ต้องเสียเวลาในการขอให้ศาลสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการให้ อีกฝ่ายหนึ่ง และทั้งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง กรณีเช่นนี้ให้ฟ้องคดีต่อศาล

        บางครั้งไม่ปรากฏข้อพิพาทที่จะนำสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการได้เลย เช่น กรณีจ้างเหมาก่อสร้างที่ผู้รับเหมาได้ทิ้งงานไป ก็เป็นการผิดสัญญาอย่างชัดเจน เมื่อหน่วยงานบอกเลิกสัญญา และเรียกเงินค่าปรับจากการเลิกสัญญา ก็ไม่ปรากฏว่าคู่สัญญาได้โต้แย้ง จึงเป็นกรณีไม่มี ข้อพิพาทที่จะเสนอต่ออนุญาโตตุลาการ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการอีก จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

        สำนักงานคดีแพ่ง เคยมีหนังสือลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ แจ้งเรียนอธิบดีอัยการเขต ๒ ไปว่า คดีนี้ตัวความส่งเรื่องมาให้ฟ้องห้างฯ เรียกค่าปรับที่เหลือจากการผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารปฏิบัติการ ซึ่งตัวความได้มีหนังสือทวงถามไปแล้ว แต่ห้างเพิกเฉย โดยไม่ปรากฏว่าห้างได้โต้แย้งว่าตัวความไม่มีอำนาจในการเรียกค่าปรับ กรณีจึงไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับข้อกฎหมายสัญญาหรือการปฏิบัติตามสัญญา ที่จะต้องเสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาดตามสัญญาข้อ ๑๕ จึงไม่ต้องดำเนินการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ

        ๑. มีความเห็นว่า ผู้ที่จะเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการนั้น น่าจะเป็นของคู่สัญญาอีกฝ่าย มิใช่เป็นของหน่วยงานของรัฐ เพราะหน่วยงานของรัฐเป็นแสดงเจตนาตามสัญญา เช่น เห็นว่าสามารถบอกเลิกสัญญาได้ ก็บอกเลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการบอกเลิกสัญญา เมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ชอบที่จะเป็นฝ่ายเสนอข้อพิพาทเพื่อสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทที่ไม่สามารถตกลงกันได้นั้น ทำนองว่าการปฏิบัติสัญญาของหน่วยงานของรัฐ เป็นเป้าที่จะนำไปสู่การพิพาทกัน เพราะหากไม่มีการแสดงเจตนาออกมา จะไม่มี ข้อโต้แย้งขึ้นเป็นข้อพิพาทได้ และเห็นว่าหน่วยงานของรัฐนั้นมีหน้าที่ฟ้องเรียกค่าปรับตามสัญญาหากอีกฝ่ายไม่ชำระ ซึ่งจะต้องกระทำต่อศาลยุติธรรม มิใช่เสนอต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อบังคับให้อีกฝ่ายชำระค่าปรับตามสัญญา แนวความคิดนี้จะเหมือนกับกรณีสัญญาทางปกครอง ที่เห็นว่าเอกชนจะต้องเป็นฝ่ายเสนอข้อพิพาทหรือฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนการแสดงเจตนาในสัญญาที่ไม่ถูกต้องนั้น

        สำนักงานคดีแพ่งเคยมีหนังสือแจ้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยไปว่า กรณีเกิดข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ชื่อย่อว่า บีอีซีแอล เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรวม ๔ รายการเป็นเงิน ๑๐ ล้านบาทเศษ ซึ่ง กทพ. โดยคณะกรรมการ กทพ. มีมติให้ กทพ. หักเงินส่วนจากส่วนแบ่งรายได้ แต่บริษัทแจ้งว่าการหักจะทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย คณะกรรมการ กทพ. มีมติให้ชลอการหักเงินดังกล่าว และให้ คณะผู้พิจารณาข้อพิพาทพิจารณา แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ กทพ.จึงได้ส่งเรื่องมายังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ

        สำนักงานคดีแพ่งได้แจ้งฐานะคดีไปยัง กทพ.ว่า เรื่องนี้สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นไปแล้วว่า กทพ.มีสิทธิจะหักเงินส่วนนี้ออกจากส่วนแบ่งรายได้ทันที แต่เมื่อ กทพ.เลือกที่จะไม่หักเงินดังกล่าวแต่จะเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเช่นนี้ เป็นการไม่ชอบ เป็นเรื่องที่ บีอีซีแอล จะต้องเป็นฝ่ายเสนอข้อพิพาท มิใช่หน่วยงานทาปกครองจะเป็นผู้เสนอข้อพิพาทเพื่อให้อนุญาโตตุลาการรับรองการวินิจฉัยสั่งการของ กทพ. ว่า บีอีซีแอล จะต้องรับผิดค่าใช้จ่ายดังกล่าวหรือไม่ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อสั่งการให้อีกฝ่ายชำระเงิน

        จึงมีหนังสือแนะนำไปว่า ให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ กทพ.ให้มีมติว่า ให้ บีอีซีแอล เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลาที่กำหนด และหากไม่มีการเสนอข้อพิพาทแล้ว ก็ให้ กทพ.ดำเนินการหักเงินค่าใช้จ่ายจากส่วนแบ่งรายได้ไม่จำเป็นที่ กทพ.จะต้องเป็นผู้เสนอ ข้อพิพาท หรือฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้ บีอีซีแอล ชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว

        ปัญหาว่าใครจะเป็นผู้เสนอข้อพิพาทนั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาให้ได้ เพราะมิฉะนั้น การเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการจะกลายเป็นเสมือนการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้อีกฝ่ายชำระหนี้ จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามที่ปฏิบัติกันมา

        ๒. ปัญหาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการฝ่ายรัฐที่ไม่เข้าใจบทบาทของตนเอง จะต้องสร้างความรู้สึกและตระหนักในหน้าที่อนุญาโตตุลาการฝ่ายรัฐว่า การเข้าไปเป็นอนุญาโตตุลาการนั้น เป็นการเข้าไปรักษาผลประโยชน์ของฝ่ายตน มิใช่อยู่ในฐานะเป็นตุลาการ แต่อยู่ในฐานะเหมือนเป็นทนายความของคู่กรณีฝ่ายตน เช่นเดียวกับอีกฝ่ายหนึ่งต้องรักษาผลประโยชน์ของบริษัทอยู่แล้ว

        เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาสำหรับความธรรมที่หน่วยงานของรัฐจะพึ่งได้รับนั้นน้อยเกินไป จนคิดไปว่า หน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหายจากการเข้าไปสู่กระบวนการระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการ จนต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเกี่ยวกับสัญญาอนุญาโตตุลาการไว้ว่า

        ๓. การเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการดำเนินคดีอนุญาโตตุลาการ ยิ่งกว่าการดำเนินคดีในศาลยุติธรรมและศาลปกครอง

        อาจกล่าวได้ว่า การดำเนินคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการนั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการ ค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์เอกสาร และอื่นๆ ซึ่งหากได้มี การตรวจสอบและพิจารณาค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีทั้งหมดแล้ว จะมีจำนวนเงินสูงมากที่จะได้ ข้อยุติในชั้นอนุญาโตตุลาการ ขณะเดียวกันสิ่งที่หน่วยงานของรัฐได้รับนั้น ไม่คุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายไป ซึ่งบางครั้งการวินิจฉัยบางเรื่องก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติอย่างมาก สืบเนื่องจากการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการจะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจหลักกฎหมายและความรับผิดทางแท้จริง แต่ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้เสมอการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม

        ๔. เมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยแล้ว ก็ไม่สามารถทำให้เกิดข้อยุติได้ จะต้องมีการฟ้องต่อศาลเพื่อบังคับตามคำวินิจฉัย หรือการฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดอ้างว่าขัดต่อกฎหมายต่อไปอีก ทำให้การดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการที่จะเป็นการรวดเร็ว กลับปรากฏว่าล่าช้ากว่าการดำเนินคดีในศาลยุติธรรมเสียอีก

        เนื่องจากการที่สัญญาของทางราชการได้ระบุไว้เป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการไว้ ทำให้ ส่วนราชการจะต้องดำเนินการยุติข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ และผลจากการดำเนินการยุติ ข้อพิพาททางด้านอนุญาโตตุลาการ ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเสียเปรียบ ดังเช่นกรณี การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่ต้องใช้ค่าเสียหายเพราะการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาล่าช้า และอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยชดใช้เงินจำนวนมหาศาล โดยมองไปถึงตัวผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการ มีความเป็นอิสระและไม่มีกฎหมายควบคุมเช่นเดียวกับ ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษา ด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีการบทบัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดของอนุญาโตตุลาการไว้ด้วย รวมทั้งกล่าวถึงจริยธรรมของผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว จึงมีการแก้ไขพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.๒๕๔๕ ไว้เกี่ยวกับความรับผิดของอนุญาโตตุลาการ และได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๗ ในประเด็นเกี่ยวกับการทำสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐกับเอกชนว่า “สัญญาสัมปทานในกฎหมายปัจจุบันเป็นสัญญาทางปกครอง จึงควรนำคดีพิพาทจากสัญญาเหล่านั้นส่งให้ศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม ดังนั้น สัญญาที่รัฐทำกับเอกชนในไทยหรือต่างประเทศไม่ควรเขียนมัดในสัญญาให้มอบข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด แต่หากมีปัญหาหรือความจำเป็นหรือเป็นข้อเรียกร้องของคู่สัญญาอีกฝ่ายที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเป็นราย ๆ ไป”

        จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้มีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครองอีกต่อไป หากแต่ประสงค์จะให้มีการดำเนินคดีในศาล ทั้งนี้เนื่องจากรัฐเสียเปรียบเกี่ยวกับคดีทางด่วน ที่ทำให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยต้องถูกบังคับให้ชำระเงินจำนวนมากมายมหาศาลนั่นเอง

        ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๙ ระบุเกี่ยวกับการดำเนินคดีชั้นอนุญาโตตุลาการไว้ดังนี้

[แก้ไข] ๓. การดำเนินคดีชั้นอนุญาโตตุลาการ
        ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจที่มีข้อพิพาทในคดีแพ่งและคดีปกครองที่ต้องใช้อนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทก่อนนำคดีขึ้นสู่ศาล ให้พนักงานอัยการเป็น ผู้ดำเนินคดีแทนได้ในชั้นอนุญาโตตุลาการ หรือให้ว่าจ้างทนายความดำเนินคดีแทนได้ ทั้งนี้โดยความเห็นชอบของสำนักงานอัยการสูงสุด หรือผู้แทนที่อัยการสูงสุดมอบหมาย และหากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในเรื่องค่าใช้จ่ายด้วย”

[แก้ไข] การระงับข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาททางธุระกิจอนุญาโตตุลาการ (ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545)
        การอนุญาโตตุลาการเป็นการระงับข้อพิพาทต่างๆรวมทั้งข้อพิพาททางธุรกิจที่เกิดขึ้น ด้วยใจสมัครของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเพื่อระงับข้อพิพาทโดยการตั้งคนกลางที่เรียกว่า อนุญาโตตุลาการเพื่อทำหน้าที่พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นกระบวนการอนุญาโตตุลาการจะแตกต่างจากกระบวนการทางศาลในสาระสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับที่คู่พิพาทไม่สามารถบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าสู่กระบวนการอนุญาตโตตุลาการได้ หากคู่พิพาทอีกฝ่ายไม่ตกลงหรือไม่เคยตกลงให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด

กระบวนการอนุญาโตตุลาการอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

[แก้ไข] 1. อนุญาโตตุลาการแบบสถาบัน( Institution Arbitration)
        อนุญาโตตุลาการนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการที่อยู่ภายใต้การดูและและจัดการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ ซึ่งทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและดูแลให้ดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ภาระหน้าที่ของสถาบันอนุญาโตตุลาการนั้นอาจแบ่งได้เป็น 3 ส่วนดังนี้

หน้าที่ดูแลให้กระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นไปตามข้อสัญญาและชอบด้วย
กฎหมาย

หน้าที่ในการดำเนินกระบวนการที่สัญญาหรือข้อบังคับของสถาบันกำหนด
หน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับคู่กรณี
[แก้ไข] 2. อนุญาโตตุลาการแบบเฉพาะกิจ( Ad Hoc Arbitration)
        อนุญาโตตุลาการแบบเฉพาะกิจเป็นกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่คู่กรณีต้องดำเนินการต่างๆด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนกว่าจะสิ้นกระบวนการในปัจจุบันมีการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการอย่างแพร่หลายมากขึ้นเป็นลำดับทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ และมีการนำพิธีการอนุญาโตตุลาการไปใช้กับข้อพิพาทบางประเภท ข้อพิพาทบางอย่างเป็นเรื่องที่มีผลกระทบหรือความเกี่ยวพันในวงจำกัด แต่ข้อพิพาทบางอย่างมีความเกี่ยวพันกันในหลายประเทศ และมีผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งในแง่นี้อาจแบ่ง

ประเภทของกระบวนการอนุญาโตตุลาการออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ(International Arbitration)

        หมายถึงกระบวนการอนุญาโตตุลาการใดก็ตามที่มีความเกี่ยวพันกับระหว่างประเทศ มากกว่าหนึ่งประเทศขึ้นไป ไม่ว่าความเกี่ยวพันนั้นจะเกิดจากคู่สัญญา เนื้อหาเรื่องที่พิพาท

2. อนุญาโตตุลาการภายในประเทศ (Domestic Arbitration)

        หมายถึง กระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นโดยมีความเกี่ยวพันหรือความสัมพันธ์กับประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงประเทศเดียว หลักเกณฑ์ของการอนุญาโตตุลาการนั้น ไม่ว่าจะดำเนินการโดยอนุญาโตตุลาการที่คู่กรณี ตั้งกันเอง หรือโดยสถาบันอนุญาโตตุลาการ และไม่ว่าข้อพิพาทจะอยู่ในขั้นตอนใด รายละเอียด ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับ

สัญญาอนุญาโตตุลาการ
คณะอนุญาโตตุลาการและอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการ
วิธีพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ
คำชี้ขาดและการบังคับตามคำชี้ขาด
1. สัญญาอนุญาโตตุลาการ

        สัญญาอนุญาโตตุลาการ เป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่คู่สัญญาตกลงให้นำข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างคู่สัญญาไปมอบให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งเป็นการตกลงเกี่ยวกับวิธีการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น

แบบของสัญญาอนุญาโตตุลาการ

1. สัญญาอนุญาโตตุลาการที่แยกต่างหาก และเป็นข้อสัญญาในสัญญาหลัก ในการทำความตกลงให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาท ส่วนใหญ่คู่สัญญา จะกำหนด “ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ” ให้เป็นข้อกำหนดข้อหนึ่งอยู่ในสัญญาที่เกี่ยวกับกิจการที่ คู่สัญญากำลังดำเนินการอยู่ นอกจากนั้นคู่สัญญาอาจจะจัดทำความตกลงเกี่ยวกับวิธี อนุญาโตตุลาการ โดยแยกออกเป็นอีกฉบับหนึ่งต่างหากจากสัญญาที่เกี่ยวข้องกับกิจการที่อาจมีข้อพิพาทโดยตรงโดยสัญญาอนุญาโตตุลาการมีเนื้อหาเฉพาะกระบวนการและขั้นตอนในการระงับข้อพิพาทและอนุญาโตตุลาการเท่านั้น

2. หลักฐานเป็นหนังสือและข้อยกเว้น

        พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 กำหนดให้สัญญาอนุญาโตตุลาการต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ หลักฐานเป็นหนังสือดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้ลงลายมือชื่อคู่สัญญาด้วยแม้ว่าสัญญาอนุญาโตตุลาการจะไม่ได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญา แต่สัญญาอนุญาโตตุลาการก็อาจมีผลผูกพันหากปรากฏข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในเอกสารที่คู่สัญญาโต้ตอบทางจดหมาย โทรสาร โทรเลข หรือโทรพิมพ์ ซึ่งเอกสารเหล่านี้อาจจะมีหรือไม่มีลายมือชื่อของคู่สัญญาอยู่เลยก็ได้ นอกจากนั้นเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีวิธีการติดต่อสื่อสารใหม่ๆเกิดขั้นตลอดเวลา กฎหมายจึงได้กำหนดให้ครอบคลุมถึงกรณีที่ปรากฏข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการอยู่ในการื่อสารข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์แต่กรณีนี้ จะต้องมีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (electronic signature)หลักฐานเป็นหนังสือตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ยังรวมถึงกรณีในสัญญาระหว่างคู่กรณีที่ไม่ได้ระบุข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการไว้โดยตรง แต่สัญญาดังกล่าวได้กล่าวถึงเอกสารอื่นในลักษณะที่ให้ถือว่าเอกสารนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างคู่กรณีด้วยและปรากฏในเอกสารดังกล่าวมีการระบุถึงข้อตกลงให้ใช้วิธีอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท

[แก้ไข] ความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ
[แก้ไข] 1. ความสามารถในการทำสัญญาอนุญาโตตุลาการ
        สัญญาอนุญาโตตุลาการถือเป็นนิติกรรมสัญญาประเภทหนึ่งดังนั้นหลักการในการพิจารณาความสมบูรณ์ของนิติกรรมสัญญาโดยทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงต้องนำมาใช้กับอนุญาโตตุลาการด้วย ในกรณีของผู้เยาว์นั้นถ้าจะต้องทำสัญญาอนุญาโตตุลาการ ผู้แทนโดยชอบธรรมจะทำการแทนผู้เยาว์ หรือให้ความยินยอมแกผู้เยาว์จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลด้วย สำหรับคนไร้ความสามารถหากบิดามารดาของคนไร้ความสามารถหรือบุคคลอื่นเป็นผู้อนุบาล ในการทำสัญญาอนุญาโตตุลาการแทนคนไร้ความสามารถจะต้องขออนุญาตศาลด้วย กรณีของคนเสมือนไร้ความสามารถกำหนดให้การมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นกรณีที่ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ด้วย หากเป็นผู้ที่สมรสแล้วกำหนดให้การมอบข้อพิพาทเกี่ยวกับสินสมรสเป็นกรณีหนึ่งที่จะต้องกระทำร่วมกันระหว่างคู่สมรส หรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก่อนจึงจะทำได้ กรณีของตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปนั้น หากในข้อสัญญานั้นมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการอยู่ด้วย การมอบอำนาจให้ทำสัญญาจำเป็นต้องระบุถึงอำนาจในการทำสัญญาอนุญาโตตุลาการไว้โดยเฉพาะ

[แก้ไข] 2. ความเป็นเอกเทศสัญญาของอนุญาโตตุลาการ
        ความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการไม่ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของ “สัญญาหลัก” ที่มีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการอยู่ หากสัญญาอนุญาโตตุลาการจะตกเป็นโมฆะ โมฆียะ ไม่สมบูรณ์หรือใช้บังคับไม่ได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ก็ควรจะเป็นสาเหตุที่เกิดกับตัวสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเองโดยตรง แม้ว่าสัญญาหลักจะสมบูรณ์หรือบังคับไม่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามอนุญาโตตุลาการยังคงมีอำนาจชี้ขาดถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของคู่กรณีในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาหลักอยู่ หลักการดังกล่าวนี้ได้รับรองตามกฎหมาย และกฎหมายได้บัญญัติต่อไปด้วยว่า การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไปในทางที่ว่าสัญญาหลักตกเป็นโมฆะ หรือไม่สมบูรณ์คำวินิจฉัยนั้นจะไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาอนุญาโตตุลาการด้วย

[แก้ไข] 3. ความสมบูรณ์กรณีสถานะของคู่สัญญาเปลี่ยนแปลง
        ความเป็นคู่สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่ถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งใครก็สามารถเข้าเป็นคู่สัญญาอนุญาโตตุลาการ หากดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดครบถ้วนคุณสมบัติของคู่สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่ถือว่าเป็นเรื่องสาระสำคัญ ซึ่งแตกต่างจากกรณีคุณสมบัติของผู้มีหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการ ดังนั้นหากภายหลังที่มีการทำสัญญาอนุญาโตตุลาการเกิดมีผลสมบูรณ์แล้ว การที่สถานะคู่สัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเปลี่ยนแปลงจะไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้น

[แก้ไข] 4. ความสมบูรณ์กรณีที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องและความรับผิด
พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ได้บัญญัติชัดเจนว่าในกรณีของการโอนสิทธิ เรียกร้องหรือการโอนความรับผิดตามสัญญาหลักจะไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อความสมบูรณ์ของ สัญญาอนุญาโตตุลาการ โดยสัญญาอนุญาโตตุลาการที่มีอยู่เกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องหรือความรับผิดที่โอนไปนั้นย่อมผูกพันผู้รับโอนด้วย จึงมีผลให้ผู้โอนไม่พ้นความผูกพันไปด้วย

[แก้ไข] การดำเนินการทางศาลเกี่ยวกับสัญญาอนุญาโตตุลาการ
        คู่กรณีไม่สามารถหลีกเลี่ยงกระบวนการทางศาลได้โดยสิ้นเชิง โดยอาจจะมีกรณีที่ต้องไปดำเนินการทางศาลตั้งแต่ตอนเริ่มต้นจนกระทั่งมีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้ว บทบาทของศาลต่อกระบวนการอนุญาโตตุลาการแบ่งเป็นสองส่วนที่สำคัญ ส่วนแรก คือบทบาทในการสนับสนุนกระบวนการอนุญาโตตุลาการให้สามารถระงับข้อพิพาทได้ตามประสงค์ของคู่กรณี ส่วนที่สอง คือ การตรวจสอบกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและข้อสัญญา

[แก้ไข] การบังคับตามสัญญาอนุญาโตตุลาการ
        บทบาทประการแรกของศาลที่อาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบกระบวนการอนุญาโตตุลาการคือการบังคับให้คู่กรณีต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการทำไว้ โดยให้ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการเท่านั้น จะหลีกเลี่ยงไปฟ้องคดีต่อศาลมิได้ หากศาลเห็นว่าสัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ เช่นมีวัตถุประสงค์เพื่อระงับข้อพิพาทที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นต้น หรือเป็นสัญญาที่ใช้บังคับไม่ได้หรือมีเหตุที่ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาอนุญาโตตุลาการได้ ศาลไม่ต้องสั่งจำหน่ายคดี และอาจดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปได้ แต่หากไม่ปรากฏเหตุดังกล่าวและข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการจริง ศาลจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีตามกฎหมาย

[แก้ไข] การคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณา
        กฎหมายได้เปิดช่องทางให้คู่กรณีขออำนาจจากศาลในการมีคำสั่งให้คุ้มครองประโยชน์ก่อนที่อนุญาโตตุลาการจะมีคำชี้ขาด ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 โดยคู่สัญญาอาจจะยื่นคำร้องดังกล่าวก่อนที่จะเริ่มดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการ หรือในระหว่างที่ดำเนินการกระบวนอนุญาโตตุลาการอยู่ก็ได้

[แก้ไข] ศาลที่มีเขตอำนาจ
        กฎหมายกำหนดให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นศาลหลักที่มีอำนาจในการช่วยเหลือกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และเป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 นอกจากนั้น ศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ยังได้แก่ ศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาในเขตศาล หรือศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ในเขตศาล และศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการ ใน กรณีนี้จะต้องพิจารณาว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหากต้องนำไปฟ้องร้องต่อศาลใด ศาลนั้นจะเป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ด้วย

[แก้ไข] 2. คณะอนุญาโตตุลาการและอำนาจของอนุญาโตตุลาการ
        ในการจัดให้มีคณะอนุญาโตตุลาการและการแต่งตั้งผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการนั้นมีข้อพิจารณาหลายประการ คือ

[แก้ไข] 1. จำนวนอนุญาโตตุลาการ
        ตามปกติคู่สัญญาย่อมมีอำนาจที่จะตกลงกำหนดจำนวนอนุญาโตตุลาการว่าจะให้มีกี่คน โดยคู่สัญญาจะเป็นผู้พิจารณาว่าจากความสลับซับซ้อนของข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นหรือจำนวนทุนทรีพย์ที่อาจจะพิพาทกัน สมควรจะให้วินิจฉัยโดยอนุญาโตตุลาการกี่คน ตามปกติคู่สัญญามักจะ กำหนดให้จำนวนอนุญาโตตุลาการเป็นเลขคี่ เพื่อว่าจะได้สามารถหาเสียงข้างมากได้ง่าย

[แก้ไข] 2. การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ
        ตามปกติคู่สัญญาย่อมมีอิสระในการตกลงกำหนดวิธีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการให้เป็นอย่างไรก็แล้วแต่คู่สัญญานั้นจะเห็นสมควร ในกรณีที่คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกำหนดวิธีการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการไว้โดยเฉพาะ โดยไม่ได้กำหนดวิธีการแต่งตั้งไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการและไม่ได้กำหนดให้ดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามข้อบังคับของสถาบันที่มีการกำนดวิธีการแต่งตั้งไว้ในข้อบังคับด้วย กฎหมายกำหนดทางออกไว้ให้คู่กรณี ดังนี้

         2.1 การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการคนเดียว ในชั้นแรกคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต้องสรรหาผู้ที่เหมาะสมจะทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการ เมื่อทั้งสองฝ่ายสามารถทำการตกลงกันได้เกี่ยวกับผู้ที่เหมาะสม คู่กรณีทั้งสองฝ่ายต้องร่วมกันแต่งตั้งบุคคลนั้นเป็นอนุญาโตตุลาการ แต่หากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเกี่ยวกับบุคคลที่เหมาะสมได้ คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจขอให้ศาลเป็นผู้มีคำสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการแทนคู่กรณี

         2.2 การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการหลายคน กฎหมายกำหนดให้คู่พิพาทแต่ละฝ่ายแต่งตั้งฝ่ายละเท่าๆ กันก่อน จากนั้นอนุญาโตตุลาการที่คู่พิพาทแต่งตั้งจะร่วมกันตั้งอนุญาโตตุลาการซึ่งจะทำหน้าที่ “ประธานคณะอนุญาโตตุลาการ” ก็จะได้คณะอนุญาโตตุลาการครบเป็นจำนวนเลขคี่ที่ต้องการ กรณีที่คู่พิพาทฝ่ายหนึ่งมิได้ตั้งอนุญาโตตุลาการที่ตนมีหน้าที่ต้องตั้งดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งให้ตั้งอนุญาโตตุลาการที่คู่พิพาทแต่งตั้งไม่สามารถตก ลงตั้ง “ประธานอนุญาโตตุลาการ” ได้ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่ที่อนุญาโตตุลาการนั้นได้รับ แต่งตั้ง หากอนุญาโตตุลาการที่คู่พิพาทแต่งตั้งได้รับการแต่งตั้งไม่พร้อมกัน ระยะเวลา 30 วันนั้น ควรจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่อนุญาโตตุลาการคนสุดท้ายได้รับการแต่งตั้ง

         2.3 กรณีที่ไม่สามารถตั้งอนุญาโตตุลาการตามวิธีที่ตกลงกันได้ กรณีนี้อาจมีสาเหตุมาจาก

         (1) คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ดำเนินการตามวิธีที่กำหนดไว้ หรือ

         (2) คู่พิพาทหรืออนุญาโตตุลาการไม่อาจตกลงกันตามวิธีที่ได้กำหนดไว้ หรือ

         (3) บุคคลที่สามหรือหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่งไม่ได้ดำเนินการตามวิธีที่กำหนดไว้ หากในสัญญาไม่ได้กำหนดวิธีการแก้ไขปัญหา เหล่านี้ไว้โดยเฉพาะ และคู่พิพาทไม่สามารถแก้ปัญหากันได้เอง กฎหมายกำหนดให้คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการแทนการแต่งตั้ง อนุญาโตตุลาการตามวิธีที่กำหนดไว้เดิมได้

[แก้ไข] 3. คุณสมบัติของอนุญาโตตุลาการ
        กฎหมายกำหนดให้อนุญาโตตุลาการต้องมีความเป็นกลางไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ และวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทไปตามรูปคดี และในขณะเดียวกันต้องมีความเป็นอิสระไม่ตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือสั่งการของคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คุณสมบัติทั้งสองประการถือ ว่าสำคัญที่สุดที่อนุญาโตตุลาการต้องมี และในข้อบังคับนั้นได้กำหนดคุณสมบัติของ อนุญาโตตุลาการอย่างใดไว้เป็นพิเศษก็ต้องถือว่าคุณสมบัติตามข้อบังคับนั้นเป็นคุณสมบัติของ อนุญาโตตุลาการที่คู่พิพาทตกลงกำหนดไว้ประการหนึ่งด้วย

[แก้ไข] 4. การคัดค้านอนุญาโตตุลาการ
         4.1 เหตุแห่งการคัดค้าน หากมีข้อเท็จจริงประการใดที่กระทบถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของบุคคลที่คู่พิพาทฝ่ายหนึ่งติดต่อให้ทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการ กฎหมายกำหนดให้บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงซึ่งอาจเป็u3609 .เหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือเป็นอิสระของบุคคลนั้นต่อคู่พิพาทด้วย เพื่อว่าคู่พิพาทจะได้ใช้ประกอบดุลยพินิจว่าสมควรจะตั้งบุคคลนั้นเป็นอนุญาโตตุลาการหรือไม่

         4.2 ผู้มีสิทธิคัดค้าน ตามปกติคู่พิพาทฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิคัดค้านอนุญาโตตุลาการที่ปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งอาจเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือขาดคุณสมบัติ เว้นแต่ว่าอนุญาโตตุลาการที่ถูกคัดค้านเป็นผู้ที่คู่พิพาทฝ่ายนั้นเป็นผู้แต่งตั้งเอง หรือเป็นผู้ที่คู่พิพาทนั้นมีส่วนร่วมในการแต่งตั้งด้วยกำหนดให้คู่พิพาทสามารถคัดค้านได้เฉพาะแต่กรณีที่คู่พิพาทฝ่ายนั้นไม่รู้ถึงเหตุแห่งการคัดค้านในขณะที่ตั้งอนุญาโตตุบาการที่จะถูกคัดค้าน หรือแม้คู่พิพาทจะไม่รู้เหตุแห่งการคัดค้านในขณะตั้งแห่งหากเป็นเหตุที่คู่พิพาทควรจะรู้ได้ในขณะที่ตั้งอนุญาโตตุลาการก็ถือว่าเป้นความผิดพลาดของคู่พิพาทเองที่ไม่ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน คู่พิพาทจะคัดค้านอนุญาโตตุลาการในภายหลังไม่ได้เช่นกัน

         4.3 วิธีการคัดค้าน คู่พิพาทอาจจะตกลงกันกำหนดวิธีการ และขั้นตอนในการคัดค้านอนุญาโตตุลาการไว้อย่างไรก็ได้ หากตกลงให้ใช้ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของสถาบันแห่งหนึ่งแห่งใด และในข้อบังคับได้กำหนดวิธีการคัดค้านอนุญาโตตุลาการไว้ด้วย ก็ถือว่าวิธีตามข้อบังคับเป็นวิธีที่คู่พิพาทตกลงกันไว้ ในกรณีที่ไม่ได้กำหนดวิธีคัดค้านไว้ กฎหมายกำหนดให้คู่พิพาทที่ประสงค์จะคัดค้านยื่นหนังสือแสดงเหตุแห่งการคัดค้านต่ออนุญาโตตุลาการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คู่พิพาทนั้นได้รู้ถึงการตั้งอนุญาโตตุลาการที่มีเหตุให้ต้องคัดค้าน แต่ในกรณีเหตุจำเป็นกฎหมายกำหนดให้อนุญาโตตุลาการอาจขยายระยะเวลาการคัดค้านออกไปได้อีกไม่เกิน 15 วันในกรณีที่คัดค้านจะต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่คู่พิพาทนั้นได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับคำคัดค้านนั้น หรือนับแต่คู่พิพาทรู้การตั้งอนุญาโตตุลาการ หรือนับแต่วันที่คู่พิพาทรู้ถึงข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการคัดค้าน แล้วแต่กรณี

[แก้ไข] 5. การสิ้นสุดการเป็นอนุญาโตตุลาการ
        การเป็นอนุญาโตตุลาการของบุคคลใดบุคคลหนึ่งย่อมสิ้นสุดลงเมื่u3629 .บุคคลนั้นถึงแก่ความตาย หรือ บุคคลนั้นไม่ยินยอมรับตำแหน่ง หรือ ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรืออนุญาโตตุลาการนั้นถอนตัวจากการเป็นอนุญาโตตุลาการ หรือคู่พิพาทอาจตกลงให้การเป็นอนุญาโตตุลาการของบุคคลนั้นสิ้นสุดลง หรือคู่พิพาทฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจยื่นคำร้องต่อศาลทีมีเขตอำนาจขอให้วินิจฉัยถึงการสิ้นสุดของการเป็นอนุญาโตตุลาการได้ในกรณีที่การเป็นอนุญาโตตุลาการสิ้นสุดลง จะต้องมีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการใหม่ทดแทนผู้ที่สิ้นสุดการเป็นอนุญาโตตุลาการ การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการทดแทนจะต้องดำเนินการตามกฏเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

[แก้ไข] 6. ความรับผิดของอนุญาโตตุลาการ
         6.1 ความรับผิดทางแพ่ง กฎหมายบัญญัติยกเว้นความรับผิดทางแพ่งให้แก่อนุญาโตตุลาการในลักษณะที่คล้ายคลึงกับศาล แต่อนุญาโตตุลาการอาจจะต้องรับผิดทางแพ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่คู่พิพาท สำหรับการทำหน้าที่ของอนุญาโตตุลาการของตนหากอนุญาโตตุลาการทำให้คู่พิพาทเสียหายโดยจงใจ หรือโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

         6.2 ความรับผิดทางอาญา อนุญาโตตุลาการอาจต้องรับโทษทางอาญาได้ หากปรากฏว่าอนุญาโตตุลาการนั้นเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตน หรือผู้อื่นโดยมิชอบ โดยอาจถูกจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[แก้ไข] 7. อำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการ
        คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทเนื่องจากการที่คู่สัญญาตกลงทำ สัญญา อนุญาโตตุลาการมอบอำนาจดังกล่าวให้คณะอนุญาโตตุลาการ ดังนั้นคณะอนุญาโตตุลาการจะมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับขอบเขตและข้อตกลงใน สัญญาอนุญาโตตุลาการด้วย และสัญญาดังกล่าวย่อมผูกพันเฉพาะผู้ที่เป็นคู่สัญญาเท่านั้นในการที่คู่พิพาทฝ่ายหนึ่งต้องการจะคัดค้านว่าคณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ ขาดข้อพิพาทไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม คู่พิพาทฝ่ายนั้นจะต้องยกเหตุผลดังกล่าวขึ้นไม่ช้ากว่าวันที่คู่พิพาทยื่นคำคัดค้านต่อสู้ในประเด็นพิพาทแต่ถ้าหากกรณีที่ต้องการจะคัดค้านว่าคณะ อนุญาโตตุลาการดำเนินกระบวนพิจารณาบางอย่างเกินขอบเขตอำนาจของตน คู่พิพาทจะต้องยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างในทันทีที่เรื่องเกิดขึ้นในระu3627 .ว่างการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการได้รับคำคัดค้านเกี่ยวกับอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการแล้วคณะอนุญาโตตุลาการมีวิธีดำเนินการได้สองประการคือ ประการแรก คณะอนุญาโตตุลาการ อาจจะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโยทำเป็น “คำชี้ขาดเบื้องต้น” ประการที่สอง คณะอนุญาโตตุลาการอาจจะไม่วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาดังกล่าวทันที แต่รอให้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาดังกล่าวพร้อมกับการ วินิจฉัยประเด็นปัญหาที่เป็นข้อพิพาทโดยตรง เมื่อสิ้นสุดกระบวนพิจารณาสืบพยานหลักฐานต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ในกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเบื้องต้นว่ามีอำนาจพิจารณาข้อพิพาทเรื่องใด คู่พิพาทฝ่ายหนึ่งอาจยื่นคำร้องขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่คู่พิพาทนั้นได้รับแจ้งคำชี้ขาดเบื้องต้นทั้งนี้เพื่อให้ศาลได้ตรวจสอบอีกครั้งว่าคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยข้อพิพาทหรือไม่ โดยหากศาลเห็นว่าคณะอนุญาโตตุลาการไม่มี อำนาจวินิจฉัยชี้ขาด คณะอนุญาโตตุลาการจะได้ไม่ต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไป

[แก้ไข] 3. วิธีพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ
        การดำเนินกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการต้องเป็นไปตามที่คู่พิพาทตกลงกำหนดไว้ หากในเรื่องใดที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงไว้ หรือไม่สามารถหาข้อสรุปได้จึงต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งได้กำหนดถึงเรื่องเกี่ยวกับ

         3.1 อำนาจของอนุญาโตตุลาการ ในการกำหนดกระบวนพิจารณาหรือขั้นตอนต่างๆในการดำเนินกระบวนพิจารณาได้เสมอ เว้นแต่ คู่พิพาทจะได้กำหนดรายละเอียดในเรื่องนั้นๆไว้โดยเฉพาะ

         3.2 หลักในการดำเนินกระบวนพิจารณา การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการมีลักษณะคล้ายคลึงกับการพิจารณาของศาล ดังนั้น หลักประการสำคัญที่อนุญาโตตุลาการจะต้องคำนึงถึงในการดำเนินกระบวนพิจารณา คือ จะต้องให้คู่พิพาทได้รับการปฏิบัติหน้าที่อย่างเท่าเทียมกันนอกจากนั้นหลักอีกประการหนึ่งที่กำหนดไว้ คือ อนุญาโตตุลาการต้องให้คู่พิพาทสืบพยานหลักฐานและเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของตนได้ตามพฤติกรรมแห่งข้อพิพาทและคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจกำหนดให้คู่พิพาทนำเสนอเฉพาะพยานหลักฐานเท่าที่จำเป็นเมื่อพิจารณาถึง “พฤติการณ์แห่งข้อพิพาท” นั้น มิฉะนั้น อาจจะเป็นช่องทางให้คู่พิพาu3607 .ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประวิงการดำเนินการไปได้ และทำให้ต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายมากเกินควรการกำหนดสถานที่คู่พิพาทอาจจะกำหนดสถานที่ดำเนินกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรืออาจจะตกลงกันในภายหลังเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นแล้วก็ได้ แต่หากคู่พิพาทไม่ได้ตกลงกันไว้หรือไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ คณะอนุญาโตตุลาการย่อมมีอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดที่จะกำหนดสถานที่ดำเนินกระบวนการพิจารณาเองได้ โดยคณะอนุญาโตตุลาการจำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพแห่งข้อพิพาทและความสะดวกของคู่พิพาทด้วยการกำหนดภาษา คู่พิพาทอาจจะตกลงกำหนด “ภาษา” ที่จะใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการก็ได้ โดยปกติคู่พิพาทมักจะกำหนดภาษที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารเป็นประจำระหว่างคู่พิพาทเป็นภาษาที่ใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ แต่หากคู่พิพาทไม่ได้ตกลงกำหนดภาษที่ใช้ หรือไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้กฎหมายให้อนุญาโตตุลาการมีอำนาจกำหนดภาษาที่จะใช้ได้กรณีการทำข้อเรียกร้องและคำคัดค้านในระหว่างการพิจารณาฝ่ายที่เรียกร้องให้คณะอนุญาโตตุลาการกำหนดให้อีกฝ่ายต้องทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือต้องชำระเงินจำนวนหนึ่งจะต้องยื่นเอกสารที่เรียกว่า ข้อเรียกร้องหรือคำเสนอพิพาท ต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลาที่คู่พิพาทกำหนด ซึ่งข้อเรียกร้องต้องระบุข้อเท็จจริงที่ตนใช้สนับสนุนข้อเรียกร้องของตน ประเด็นที่พิพาทกันและคำขอบังคับที่ตนยื่นเอกสารฉบับหนึ่งที่เรียกว่า คำคัดค้าน ซึ่งต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อต่อสู้ของตนว่ามีประเด็นใดบ้างที่ตนประสงค์จะโต้แย้งข้ออ้างของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยกำหนดระยะเวลาในการยื่นคำคัดค้านก็ใช้หลักเดียวกับกรณีของข้อเรียกร้องคือต้องยื่นภายในระยะเวลาที่คณะอนุญาโตตุลาการกำหนดการสืบพยานหลักฐานในชั้นอนุญาโตตุลาการ ไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องทำในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยเฉพาะ หากคู่พิพาทไม่ได้ตกลงกำหนดวิธีการสืบพยานหลักฐานไว้โดยเฉพาะคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจที่จะกำหนดรูปแบบการนำสืบพยานหลักฐานได้ตามกฎหมายการขาดนัด ในกรณีที่คู่พิพาทฝ่ายที่ต้องการจะเรียกร้องให้อีกฝ่ายต้องทำการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือต้องชำระเงินให้จำนวนหนึ่ง ไม่ยื่นเอกสาร ข้อเรียกร้อง ตามที่กล่าวถึงแล้วกำหนดให้คณะอนุญาโตตุลาการต้องมีคำสั่งยุติกระบวนพิจารณาทันทีโดยถือเป็นการขาดนัดยื่นข้อเรียกร้อง ในกรณีที่คู่พิพาทฝ่ายที่ถูกเรียกร้อง ขาดนัดยื่นคำคัดค้าน โดยการไม่ยื่นคำคัดค้านภายในระยะเวลาที่คู่พิพาทตกลงหรือคณะอนุญาโตตุลาการกำหนด คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ในกรณีที่คู่พิพาทฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขาดนัดพิจารณาโดยไม่ไปเข้าร่วมในวันนัดสืบพยานหรือวันนัดพิจารณาใดๆ หรือไม่เนอพยานหลักฐานภายในระยะเวลาที่คู่พิพาทตกลงกัน หรือตามที่อนุญาโตตุลาการกำหนด คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินกระบวนการพิจารณาไปได้ฝ่ายเดียวจนกระทั่งมีคำชี้ขาด หากคณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับการขาดนัด โดยเฉพาะเหตุที่คู่พิพาทขาดนัดนั้นอาจจะไม่ทราบถึงกำหนดนัดที่คู่พิพาทต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำการไต่สวนกรณีที่เกิดขึ้นได้ว่ามีเหตุอันสมควรอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำให้คู่พิพาทฝ่ายนั้นขาดนัดหรือไม่ และคณะอนุญาโตตุลาการย่อมมีอำนาจดำเนินการต่างๆตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ตามปกติอนุญาโตตุลาการจะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่พิพาทซึ่งคู่พิพาทได้เลือกสรรแล้ว แต่บางครั้งอาจเกิดประเด็นที่พิพาทหลายประเด็น และคณะอนุญาโตตุลาการอาจจะไม่มีความรู้เชี่ยวชาญในบางประเด็น คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจตามกฎหมายที่จะแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญขึ้นคนหนึ่งหรือหลายคน เพื่อให้ความเห็นต่อคณะอนุญาโตตุลาการในประเด็นใด

        ประเด็นหนึ่งที่คณะอนุญาโตตุลาการต้องวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้เมื่อผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นต่อคณะอนุญาโตตุลาการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเสนอความเห็นด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร คู่พิพาทฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิตามกฎมายที่จะร้องขอให้ผู้เชี่ยวชาญนั้นมาให้ข้อเท็จจริงด้วยวาจาอีกครั้งเพื่อให้คู่พิพาททั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสซักถามผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องต่างๆได้ หรือคณะอนุญาโตตุลาการอาจเห็นสมควรเรียก

        ผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมด้วยวาจาเพื่อให้คู่พิพาทได้มีโอกาสซักถามเพื่อความโปร่งใสในการวินิจฉัยชี้ขาด หากคู่พิพาทได้เคยตกลงกันไว้อย่างอื่นให้ถือเอาเฉพาะความเห็นเป็นหนังสือผู้เชี่ยวชาญที่คณะอนุญาโตตุลาการแต่งตั้งในการพิจารณา ซึ่งคู่พิพาทและคณะอนุญาโตตุลาการย่อมไม่มีอำนาจที่จะเรียกให้

        ผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อเท็จจริงด้วยวาจาและซักถามอีกกำหนดให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ออกหมายเรียกพยานหรือคำสั่งเรียกเอกสาร คู่พิพาทฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจยื่นคำร้องดังกล่าวก็ได้หากคู่พิพาทนั้นได้รับความยินยอมจากคณะอนุญาโตตุลาการคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิคัดค้านการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยการคัดค้านต้องดำเนินการภายในเวลาที่คู่พิพาทได้กำหนดไว้หรือภายในเวลาอันควร ถ้าไม่คัดค้านตามเวลาดังกล่าวกฎหมายให้ถือว่าคู่พิพาทอีกฝ่ายได้สละสิทธิในการคัดค้านแต่ถ้ากรณีที่การคัดค้านไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งคู่พิพาทไม่สามารถตกลงกันได้ คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องดำเนินการคัดค้านภายในเวลาที่กำหนดได้ เพราะผลของกระบวนพิจารณานั้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย คู่พิพาทอีกฝ่ายอาจจะยกข้อที่ขัดต่อกฎหมายขึ้นอ้างภายหลังเมื่อใดก็ได้ในการส่งเอกสารในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ คู่พิพาทอาจตกลงกำหนดสถานที่และวิธีการขั้นตอนสำหรับส่งเอกสารต่างๆในกระบวนการอนุญาโตตุลาการก็ได้ แต่หากคู่พิพาทได้มีการตกลงกำหนดสถานที่และวิธีการส่งเอกสารไว้โดยเฉพาะ การส่งเอกสารอาจทำได้ดังนี้

(1) ส่งให้แก่ตัวบุคคลที่ระบุไว้เป็นผู้รับเอกสารนั้นเอง
(2) ส่งไปยังสำนักงาน ภูมิลำเนา หรือที่อยู่ทางไปรษณีย์ของบุคคลที่ระบุไว้เป็นผู้รับเอกสาร หรือ
(3) ในกรณีไม่ปรากฏที่อยู่ตาม (2) และได้ทำการสืบหาที่อยู่ตามสมควรแล้ว ให้ส่งไปยังภูมิลำเนาสุดท้ายที่ทราบ และให้ส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับ
[แก้ไข] 4. คำชี้ขาดและการบังคับตามคำชี้ขาด
        ให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทไปตามกฎหมายที่คู่พิพาทกำหนดให้นำมาใช้บังคับกับข้อพิพาท ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้กำหนดถึงกฎหมายที่จะนำมาใช้ คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทไปตามกฎหมายเว้นแต่เป็นกรณีที่มีการขัดกันแห่งกฎหมายก็ให้พิจารณาจากหลักว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายที่คณะอนุญาโตตุลาการเห็u3609 .ควรนำมาปรับใช้ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น คำชี้ขาด คำสั่ง และคำวินิจฉัยในเรื่องใดๆของคณะอนุญาโตตุลาการให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก คำชี้ขาดต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคณะอนุญาโตตุลาการมีจำนวนมากกว่าหนึ่งคนการลงลายมือชื่อของอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากถือว่าเพียงพอแล้ว แต่ต้องจดแจ้งเหตุขัดข้องของอนุญาโตตุลาการผู้ซึ่งไม่ลงลายมือชื่อนั้นไว้ด้วยคำชี้ขาดต้องระบุวัน และสถานที่ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการและให้คณะอนุญาโตตุลาการส่งสำเนาคำชี้ขาดให้แก่คู่พิพาททุกฝ่ายเมื่อคู่พิพาทฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดให้คู่พิพาทฝ่ายนั้นยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในเวลาที่กำหนดสามปีนับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาด กฎหมายห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 เว้นแต่

(1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมาย
(3) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของคณะนุญาโตตุลาการ
(4) ผู้พิพากษาหรือตุลาการได้ทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษา
(5) เป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยวิธีการชั่วคราวเพื่อคุมครองประโยชน์ของคู่พิพาทการอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ให้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี
ตัวอย่าง

คำพิพากษา "ศาลปกครอง" เพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตฯ คดี "ไอทีวี"         มติชนรายวัน วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10287

        เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 476/2547คดีหมายเลขแดงที่ 584/2549 ระหว่าง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ร้อง กับ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้าน เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

        คดีนี้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ร้อง) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 ผู้ร้องกับผู้คัดค้านได้ทำสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ มีกำหนด 30 ปี

        ต่อมาผู้คัดค้านได้มีหนังสือถึงผู้ร้องให้พิจารณาหามาตรการเพื่อชดเชยความเสียหาย เนื่องจากผู้ร้องให้สัมปทานกับบุคคลอื่นเข้าดำเนินกิจการให้บริการส่งวิทยุโทรทัศน์โดยมีการโฆษณาได้ ผู้ร้องจึงได้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการประสานงานการดำเนินการตามสัญญาเข้าร่วมงาน และดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟเพื่อพิจารณา และต่อมาได้ปฏิเสธคำขอของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงเสนอเรื่องให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด

        คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดในข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 4/2547 ให้ผู้ร้องชดเชยความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 20 ล้านบาท ปรับลดผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญา ปรับลดเงินรับประกันผลประโยชน์ขั้นต่ำ และให้คืนเงินผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ผู้คัดค้านได้ชำระระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ กับให้ผู้คัดค้านสามารถออกอากาศช่วงเวลา 19.00-21.30 น. ได้โดยไม่ต้องถูกจำกัดเฉพาะรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์ และให้ปรับสัดส่วนการเสนอรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์จากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของเวลาออกอากาศทั้งหมดเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

        ผู้ร้องเห็นว่าคำชี้ขาดดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นคำชี้ขาดที่ไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นคำชี้ขาดที่เกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถระงับโดยอนุญาโตตุลาการ และการที่จะยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดนั้น จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมของประชาชน จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว

        คดีนี้มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยรวม 3 ประเด็น ดังนี้

        ประเด็นที่หนึ่ง ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตามข้อ 15 ของสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 มีผลใช้บังคับได้หรือไม่

        พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น ได้บัญญัติว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการ หมายถึง สัญญาหรือข้อตกลงในสัญญาที่คู่กรณีตกลงเสนอข้อพิพาททางแพ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็ตาม แต่ในขณะที่มีการลงนามในสัญญาเข้าร่วมงานฯ ยังไม่มีการแบ่งแยกประเภทของสัญญาว่าสัญญาใดเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง

        ดังนั้น ไม่ว่าสัญญาที่ทำขึ้นจะเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ก็ตาม คู่สัญญาอาจตกลงให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทได้ ซึ่งต่อมามาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ได้บัญญัติรับรองให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครองได้

        นอกจากนั้น ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามไม่ให้รัฐทำสัญญากับเอกชนโดยมีข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทตามสัญญาโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ จึงเห็นว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ ข้ออ้างของผู้ร้องจึงไม่อาจรับฟังได้

        ประเด็นที่สอง ผู้คัดค้านได้เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

        พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 เป็นสัญญาซึ่งรัฐยอมให้เอกชนเข้ามาแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติด้านคลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุโทรทัศน์ โดยมีค่าตอบแทนให้แก่รัฐ เพื่อการจัดทำบริการสาธารณะด้านการสื่อสารวิทยุโทรทัศน์ สัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ซึ่งการฟ้องคดีจะต้องยื่นฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

        ดังนั้น การยื่นคำเสนอข้อพิพาทของผู้คัดค้านต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม จึงต้องยื่นภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ

        เมื่อการยื่นข้อเรียกร้องของผู้คัดค้านตั้งแต่ต้นเป็นเพียงขั้นตอนการเจรจาของคู่สัญญา โดยมิได้มีการตกลงในรายละเอียดให้เป็นที่ยุติแต่ประการใด โดยผู้ร้องก็ยังแจ้งให้ผู้คัดค้านชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาหาข้อยุติต่อไป จึงยังไม่อาจถือว่าเป็นเหตุที่ผู้ร้องจะเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2545 ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ร่วมประชุมกันและผู้ร้องมีมติปฏิเสธข้อเรียกร้องของผู้คัดค้าน

        จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ร้องรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ การที่ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2545 จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น ที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านได้เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดนั้น จึงเป็นข้ออ้างที่ไม่อาจรับฟังได้

        ประเด็นที่สาม คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 29/2545 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 4/2547 ลงวันที่ 30 มกราคม 2547 เป็นคำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่

        พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 คณะอนุญาโตตุลาการมีหน้าที่ต้องวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามข้อสัญญา คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะต้องระบุเหตุผลของคำชี้ขาดไว้โดยชัดแจ้ง และจะชี้ขาดเกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือเกินคำขอของคู่พิพาทมิได้ เมื่อชี้ขาดข้อพิพาทแล้ว คู่พิพาทที่ไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดดังกล่าว ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดนั้นได้ แต่ศาลจะมีอำนาจตรวจสอบและเพิกถอนคำชี้ขาดได้เฉพาะกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 40 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

        สำหรับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2541-2544 ให้แก่ผู้คัดค้านเป็นเงินจำนวน 20 ล้านบาท เฉพาะกรณีกรมประชาสัมพันธ์ยอมให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 มีการโฆษณานั้น เห็นว่าผู้คัดค้านได้ทราบเงื่อนไขรายละเอียดแล้วว่าโครงการนี้ เป็นโครงการที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วย การให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 โดยประธานกรรมการบริหารของผู้คัดค้านเคยเป็นกรรมการในคณะกรรมการดำเนินโครงการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ และเป็นผู้มีหนังสือถึงผู้ร้องเพื่อขอให้เปิดการเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาโดยเพิ่มเติมข้อ 5 วรรคสี่ ของสัญญาดังกล่าว

        ดังนั้น แม้จะได้มีการเสนอร่างสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วก็ตาม แต่เมื่อคู่สัญญาได้ตกลงให้เพิ่มเติมข้อ 5 วรรคสี่ ในสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมในเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา รวมทั้งเปลี่ยนแปลงหลักการที่สำคัญในสัญญาเข้าร่วมงานฯ

        จึงต้องเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในเรื่องนี้ผู้ร้องและผู้คัดค้านยอมรับว่าได้มีการลงนามในสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้าน เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 โดยที่ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญดังกล่าว และเชื่อว่าคู่สัญญาได้ลงนามในสัญญาโดยรู้หรือควรรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว

        ดังนั้น ข้อ 5 วรรคสี่ ของสัญญาเข้าร่วมงานฯ จึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา คณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่อาจอาศัยข้อ 5 วรรคสี่ ของสัญญาเข้าร่วมงานฯ มีคำชี้ขาดกำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายต่างๆ ให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งรวมถึงความเสียหายในประเด็นนี้ด้วย

        ดังนั้น การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในประเด็นนี้ จึงเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แม้ว่าผู้ร้องมิได้ยกเป็นข้อโต้แย้งในชั้นอนุญาโตตุลาการอันเป็นเหตุให้คณะอนุญาโตตุลาการมิได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ก็ตาม แต่ศาลสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เนื่องจากเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

        สำหรับคำชี้ขาดให้ปรับลดผลประโยชน์ตอบแทนตามข้อ 5 วรรคหนึ่ง ของสัญญาเข้าร่วมงานฯ และให้ผู้ร้องคืนเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ผู้คัดค้านได้ชำระโดยมีเงื่อนไขระหว่างพิจารณาข้อพิพาทนี้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2546 จำนวน 800 ล้านบาท ให้แก่ผู้คัดค้านจำนวน 570 ล้านบาทนั้น เห็นว่า เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการไม่อาจนำข้อ 5 วรรคสี่ ของสัญญาเข้าร่วมงานฯ มากำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้คัดค้าน เนื่องจากข้อ 5 วรรคสี่ของสัญญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา

        คณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่มีอำนาจชี้ขาดให้ปรับลดเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้คัดค้านต้องชำระให้แก่ผู้ร้องตามข้อ 5 วรรคหนึ่งของสัญญาเข้าร่วมงานฯ เนื่องจากเป็นการชี้ขาดที่ขัดกับข้อสัญญา หรือมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของคู่สัญญาที่จะตกลงกันตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 34 วรรคสี่ และมาตรา 37 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545

        ดังนั้น คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในประเด็นนี้ จึงเป็นคำชี้ขาดที่ไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

        สำหรับคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชดเชยความเสียหายโดยให้ผู้คัดค้านสามารถออกอากาศในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ (Prime Time) คือ ช่วงเวลาระหว่าง 19.00-21.30 น. ได้โดยไม่ต้องถูกจำกัดเฉพาะรายการข่าว จากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของเวลาออกอากาศทั้งหมด เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 นั้น เห็นว่า เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการไม่อาจนำข้อ 5 วรรคสี่ของสัญญาเข้าร่วมงานฯ มากำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้คัดค้าน การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดให้ปรับสัดส่วนการเสนอรายการข่าว สารคดีและสารประโยชน์ลงเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเวลาออกอากาศทั้งหมด โดยที่ผู้คัดค้านมิได้ร้องขอ จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเกินคำขอของผู้คัดค้านและขัดต่อมาตรา 37 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545

        ทั้งยังมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของการจัดทำบริการสาธารณะ เป็นการขัดกับข้อสัญญาและวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ดังกล่าว ที่ประสงค์จะจัดทำบริการสาธารณะให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆ ไม่ใช่เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อความบันเทิงเช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์อื่นๆ ทั่วไป

        ดังนั้น คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในประเด็นนี้ จึงเป็นคำชี้ขาดที่เกินคำขอของผู้คัดค้านและเกินขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งนี้ ตามมาตรา 40 วรรคสาม (1) (ง) และ (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545

        พิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำ ที่ 29/2545 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 4/2547 ลงวันที่ 30 มกราคม 2547 ทั้งหมด

สำนักงานศาลปกครอง 9 พฤษภาคม 2549 หน้า 20

ที่มา : http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/
 -learners.in.th
 - สำนักงานผู้ตรวจราชการอัยการ
 -nidambe11.net
 -smethai.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น