บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สัญญาตัวแทนนายหน้า


สัญญาตัวแทนและนายหน้า
         การปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ของบุคคล รวมทั้งการทำนิติกรรมต่าง ๆ ส่วนมากกระทำด้วยตนเอง แต่ในบางครั้งผู้เป็นเจ้าของเรื่องไม่อาจปฏิบัติภารกิจได้ด้วยตนเอง จึงจำเป็นต้องตั้งตัวแทนขึ้นมาให้ปฏิบัติภารกิจหรือทำนิติกรรมต่าง ๆ แทน ดังนั้นกฎหมายจึงได้บัญญัติเรื่อง สัญญาตัวแทนและสัญญานายหน้าขึ้น เพื่อเป็นการรับรองการปฏิบัติภารกิจของผู้ทำการแทน
         สัญญาตัวแทน
“ สัญญาตัวแทน (agency) ” คือสัญญาซึ่งให้บุคคลหนึ่งเรียกว่า “ ตัวแทน” มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า “ ตัวการ” และตกลงจะทำการดังนั้น
ลักษณะของสัญญาตัวแทน
1.เป็นสัญญาสองฝ่าย ประกอบด้วยตัวการฝ่ายหนึ่ง และตัวแทนอีกฝ่ายหนึ่ง
2.เป็นสัญญาที่ต้องมีการตกลงยินยอมเป็นตัวการและตัวแทน
3.อาจเป็นสัญญาที่มีค่าตอบแทนก็ได้
4.กิจการที่ตัวแทนกระทำต้องเป็นกิจการทั่วไป มิใช่กิจการเฉพาะตัว
5.การเป็นตัวแทนอาจเกิดขึ้นได้ 2 ทาง คือ
5.1 การเป็นตัวแทนโดยชัดแจ้ง เช่น นายเอกมอบอำนาจให้นายโท ไปซื้อรถยนต์ นายโทก็ตกลงไปหาซื้อรถยนต์ให้ ดังนี้เป็นสัญญาตัวแทนเกิดขึ้นแล้ว โดยนายเอกเป็นตัวการและนายโทเป็นตัวแทน นายเอกต้องผูกพันในสัญญาซื้อขายรถยนต์ที่นายโท กระทำไปทุกประการ
5.2 การเป็นตัวแทนโดยปริยาย คือไม่ได้ตกลงกันอย่างชัดแจ้ง แต่จากพฤติการณ์ทำให้เข้าใจได้ว่ามีการเป็นตัวการตัวแทนกันแล้ว เช่น เวลามีคนมาติดต่อเอก เมื่อเอกไม่อยู่ โท ก็เจรจาแทนเอกเสมอ เอกก็ไม่ได้ว่าอะไร และก็รับเอาสิ่งที่โท เจรจาไว้มาปฏิบัติ ดังนี้ถือโดยปริยายว่า โท เป็นตัวแทนของเอก
อนึ่ง ผู้จะเป็นตัวแทนนั้นต้องอาศัยอำนาจของตัวการ ดังนั้น ถ้าตัวการไม่สามารถทำกิจการนั้นได้ด้วยตัวเอง ตัวแทนก็ไม่มีอำนาจจัดการ เช่น ผู้เยาว์ต้องการซื้อโทรศัพท์มือถือราคาแพง จึงตั้งตัวแทนอายุกว่า 20 ปี ไปซื้อให้ดังนี้ ถ้าไม่ได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม ตัวแทนดังกล่าวก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมที่เกินไปกว่าความสามารถของผู้เยาว์ ซึ่งเป็นตัวการ
         แบบของการตั้งตัวแทน
         ดังที่กล่าวแล้วว่า ตัวแทนอาจมีการแต่งตั้งโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้ สัญญาตัวแทนตามปกติ จึงไม่มีแบบ อยู่ที่ตัวการกับตัวแทนจะตกลงกันอย่างไร
         อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้วางหลักเอาไว้ว่า ถ้ากิจการใดกฎหมายบังคับว่า ต้องทำเป็นหนังสือ เช่น การทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์(ม.456) สัญญาจำนอง(ม.714) การตั้งตัวแทนเพื่อทำกิจการนั้น ต้องทำเป็นหนังสือด้วย ส่วนถ้ากิจการใดกฎหมายบังคับว่าต้องมี หลักฐานเป็นหนังสือ ดังเช่น การกู้ยืมเงิน(ม.653) การเช่าอสังหาริมทรัพย์ (ม.538) หรือ การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ (ม.851) เป็นต้น การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้น ก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย ดังนั้น การที่ตัวแทนไปตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งเป็นสัญญาที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ (ม.851) โดยไม่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากตัวการ การกระทำนั้นย่อมไม่ผูกพันตัวการ
         ประเภทของตัวแทน
ตัวแทนแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
1.ตัวแทนเฉพาะการ
2.ตัวแทนทั่วไป
         ตัวแทนเฉาะการ หมายถึง ตัวแทนที่ได้รับแต่งตั้งและมอบอำนาจจากตัวการให้กระทำการเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ตัวแทนเฉพาะการจะทำนอกขอบเขตอำนาจที่ได้ให้ไว้ไม่ได้ มีอำนาจทำเฉพาะ สิ่งที่จำเป็นเพื่อให้กิจการที่ได้รับมอบหมายนั้นสำเร็จลุล่วงไป ถ้ากระทำนอกขอบอำนาจตัวการย่อมไม่ต้องผูกพันหรือรับผิดชอบในการกระทำนั้น
ตัวอย่าง ใบมอบอำนาจมีข้อความว่า ให้ผู้รับมอบอำนาจแต่งตั้งทนายความดำเนินคดีขับไล่ทางศาลต่อผู้
อยู่อาศัย ผู้เช่าเดิมและผู้ครอบครองที่ดินให้ออกไปจากที่ดิน ดังนี้ เป็นเรื่องที่ผู้มอบอำนาจได้
ระบุมอบอำนาจเฉพาะการ มิใช่มอบอำนาจทั่วไป
“สิ่งจำเป็น ” นั้นต้องพิจารณาจากกพฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงว่าการกระทำนั้นเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การกระทำที่จะถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นนั้นต้องเกี่ยวข้องกับกิจการที่ตัวแทนได้รับมอบหมายจากตัวการด้วย ซึ่งถ้าไม่กระทำเช่นนั้นแล้ว กิจการที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวอาจจะไม่สำเร็จ
ตัวอย่าง เอกมอบหมายให้โท ขายรถยนต์หมายเลขทะเบียน กท.3133 นครราชสีมา ในราคา 400,000 บาทถ้าโทจ้างช่างมาติดเครื่องเสียงภายในรถยนต์คันดังกล่าว ราคา 50,000 บาท เช่นนี้การกระทำดังกล่าว ไม่อยู่ในขอบอำนาจของโท ตัวแทน เพราะไม่ถือว่า เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้การขายรถยนต์คันดังกล่าวของเอกสำเร็จลุล่วง
แต่ถ้า โท จ้างช่างมาซ่อมบัดกรีหม้อน้ำรถยนต์คันดังกล่าวเนื่องจากหม้อน้ำรั่วโดยเสียค่าจ้าง 1,000 บาทเช่นนี้ การกระทำนั้นอยู่ภายในขอบเขตอำนาจของโท ตัวแทน เพราะถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้การขายรถยนต์คันดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไป ซึ่งถ้าหากรถยนต์คันนั้นหม้อน้ำรั่วก็คงขายไม่ได้ราคา
ตัวแทนทั่วไป หมายถึง ตัวแทนที่ได้รับแต่งตั้ง และมอบหมายอำนาจจากตัวการให้กระทำกิจการใด ๆ ในการจัดทำการงานแทนตัวการได้ทุกอย่าง กล่าวคือมีอำนาจที่จะกระทำการทั้งปวง ที่เป็นปกติหรือมีประเพณีทางการค้าหรือการประกอบอาชีพ ถือเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจที่กระทำได้ เช่น การแต่งตั้งทนายความ การแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลร้านค้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีกิจการบางอย่างที่ตัวแทนทั่วไป ไม่มีอำนาจกระทำการแทนตัวการได้ อันได้แก่
ก.การขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์ 
ถ้าเป็นการขายสังหาริมทรัพย์หรือจำนองสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ เช่น เรือมีระวางตั้งแต่ ห้าตันขึ้นไป แพและสัตว์พาหนะ เป็นต้น ตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วๆไปย่อมมีอำนาจกกระทำได้
ข.ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่า 3 ปีขึ้นไป
ถ้าเป็นการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ หรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 3 ปี ตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปย่อมมีอำนาจกระทำได้
ค.ให้ เป็นการให้โดยเสน่หา ไม่ได้อะไรตอบแทน ซึ่งรวมถึงการบริจาคด้วย
ง. ประนีประนอมยอมความ เป็นการผ่อนปรนผ่อนผันข้อพิพาทให้แก่กัน ไม่ว่าจะกระทำในศาลหรือนอกศาลก็ได้
จ. ยื่นฟ้องคดีต่อศาล
ฉ. มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา ไม่ว่าจะในศาลหรือนอกศาลก็ได้
แต่อย่างไรก็ตาม ตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป อาจมีอำนาจกระทำการในเรื่องสำคัญ 6 ประการดังกล่าวนั้นได้ เมื่อ
1) ตัวการอนุญาตหรือมอบหมายให้กระทำได้ หรือ
2) กรณีที่มี เหตุฉุกเฉิน เพื่อป้องกันมิให้ตัวการเสียหาย
“ เหตุฉุกเฉิน” หมายความว่าเป็นกรณีรีบด่วนที่ตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป ไม่สามารถขออนุญาตจากตัวการได้ทัน เช่น ตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปไม่ทราบว่า ตัวการไปอยู่ ณ ที่ใดเป็นต้น ถ้าหากตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปได้กระทำไปอย่าง วิญญูชนคนทั่วไปพึงกระทำ เพื่อป้องกันมิให้ตัวการเสียหายแล้ว ตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปย่อมมีอำนาจกระทำได้ และการกระทำนั้นถือว่า อยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป
เหตุที่กฎหมายจำกัดอำนาจตัวแทนทั่วไปใน 6 ประการที่กล่าวมาเป็นเพราะว่าเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามีการจัดการผิดพลาดไปอาจทำให้ตัวการเสียหายได้ กฎหมายจึงกำหนดให้ตัวแทนต้องได้รับมอบอำนาจหรือได้รับอนุญาตไว้โดยชัดแจ้ง จึงจะกระทำกิจการดังกล่าวได้ เว้นแต่จะเป็นกรณีฉุกเฉินเพื่อป้องกันมิให้ตัวการเสียหาย ตัวแทนก็อาจกระทำการดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องรับมอบอำนาจจากตัวการ เช่นคดีจะขาดอายุความ เป็นต้น
         ตัวแทนเชิด
ตัวแทนที่เกิดขึ้นโดยกฎหมายปิดปาก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ตัวแทนเชิด” เป็นกรณีที่บุคคลหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตัว หรือยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนตน บุคคลนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต เสมือนหนึ่งว่า บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน
ตัวอย่าง สหกรณ์แท็กซี่ยอมให้นายเก่ง นำรถแท๊กซี่ของสหกรณ์เดินรับบรรทุกคนโดยสารในกิจการของสหกรณ์เป็นการเชิดให้เข้าใจว่า นายเก่งเป็นตัวแทน นายเก่งทำละเมิดขับรถชนรถ ของแก้ว สหกรณ์ต้องรับผิดร่วมด้วย
ตัวอย่าง โท อ้างว่าเป็นตัวแทนของเอก โทสั่งซื้อกระดาษ A 4 จำนวน 20 รีม ในพ.ศ. 2548 ส่งของและเก็บเงินจากเอกโดยผ่านธนาคารไปแล้ว ต่อมาโท อ้างเป็นตัวแทนของเอก สั่งซื้อกระดาษ A4 อีก 20 รีม คราวนี้เอกปฏิเสธ ดังนี้เป็นกรณีที่เอกเชิดโท ออกเป็นตัวแทน เอกต้องรับผิดชอบต่อ ตรีผู้ขาย
http://www.siamjurist.com/forums/2615.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น