บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

หมิ่นประมาท กับ ดูหมิ่น


หมิ่นประมาท กับ ดูหมิ่น

เรื่องคดีดูหมิ่น หมิ่นประมาทในทางอาญาและหมิ่นประมาทในทางแพ่งแตกต่างกันอย่างไร เพราะบางครั้งมีการแจ้งความฟ้องศาลให้ลงโทษจำคุกได้ แต่บางครั้งฟ้องเรียกแต่ค่าเสียหายกันอย่างเดียว
        การฟ้องให้ลงโทษจำคุกจะเป็นเรื่องของความรับผิดทางอาญา ส่วนการฟ้องเรียกค่าเสียหายจะเป็นเรื่องของความรับผิดในทางแพ่ง ซึ่งการหมิ่นประมาทนั้นอาจเป็นทั้งความรับผิดในทางอาญาและทางแพ่ง หรืออาจเป็นเพียงความผิดฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งได้อย่างเดียว หรืออาจจะเป็นความรับผิดในทางอาญาอย่างเดียว ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทในทางอาญาและทางแพ่งนั้นมีมากมายในที่นี้จึงขออธิบายเพียงกว้าง ๆ ว่าการหมิ่นประมาทในทางแพ่งและหมิ่นประมาทในทางอาญานั้นโดยทั่วไปมีความคล้ายกัน ซึ่งพอจะแยกความแตกต่างได้บ้างคือ
        1.ดูจากเจตนา กล่าวคือ ในทางอาญา การหมิ่นประมาทนั้นต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น ดังนั้นถ้าเป็นการกระทำโดยไม่เจตนาหรือเป็นการกระทำโดยประมาทในความรับผิดทางอาญาจะไม่ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท แต่หมิ่นประมาทในทางแพ่งนั้นนอกจากจะกระทำโดยเจตนาคือ จงใจกระทำแล้ว ในบางกรณีแม้เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการกล่าวหรือไขข่าว ก็อาจมีความผิดในทางแพ่งเรื่องละเมิดได้ แม้ว่าผู้กล่าวหรือไขข่าวจะไม่มีเจตนาให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ และทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของผู้อื่น
        2.ดูจากความที่กล่าวหรือไขข่าว กล่าวคือ การหมิ่นประมาทในทางแพ่งนั่นถ้าเป็นการพูดเรื่องจริง กล่าวหรือไขข่าวในข้อความที่เป็นจริงจะไม่ถือว่าเป็นการละเมิด เพราะว่าหากเป็นเรื่องจริงผู้ถูกกล่าวถึงนั้นย่อมไม่ได้รับความเสียหาย แต่สำหรับความรับผิดทางอาญานั้น แม้ข้อความที่กล่าวนั้นจะเป็นเรื่องจริงก็อาจเป็นความรับผิดทางอาญาได้ โดยจะเห็นได้จากในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 ที่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ว่าเป็นจริงหรือไม่จริง ถ้าหากคำกล่าวหรือข้อความที่กล่าวใส่ความนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวและการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน
        3.ดูเรื่องความเสียหายที่ได้รับ ในทางอาญาผลของการใส่ความจะเป็นการเสียหายต่อชื่อเสียง ทำให้ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง แต่การหมิ่นประมาทในทางแพ่งนั้น กฎหมายจะกำหนดความเสียหายไว้กว้างกว่าคือ นอกจากจะเป็นการเสียหายต่อชื่อเสียงแล้ว ยังรวมถึงความเสียหายต่อทางทำมาหาได้ เกียรติคุณหรือทางเจริญด้วย
        นอกจากนี้ในความรับผิดทางอาญานั้น บางครั้งการพูดดูถูกผู้อื่นอาจเป็นเพียงการดูหมิ่นอันเป็นเพียงความผิดที่มีโทษเพียงเล็กน้อยซึ่งเรียกว่า ความผิดลหุโทษ คือ ความผิดฐานดูหมิ่นนั้นจะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเหยียดหยามบุคคลอื่น แต่ไม่ถึงกับทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณเพราะคำดูหมิ่นนั้นไม่อาจจะเป็นความจริงได้ ได้แก่คำด่าต่าง ๆ เช่น คำว่า ไอ้สัตว์เดรัจฉาน ไอ้เหี้ย ไอ้ผีปอบ ฯลฯ หรืออาจเป็นอาการดูหมิ่นต่าง ๆ เช่น การแลบลิ้นใส่ การยกเท้าแสดงอาการไม่สุภาพ ฯลฯโดยไม่ต้องเป็นการกล่าวต่อบุคคลที่สาม
        แต่ถ้าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทในทางอาญาแล้วจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญเข้ามาอีกประการหนึ่งคือ ต้องเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมากล่าวอ้างต่อบุคคลที่สามด้วย ซึ่งจะทำให้บุคคลที่สามได้เห็นพฤติกรรมการกระทำของบุคคลนั้น และความผิดฐานหมิ่นประมาทในทางอาญานั้นโทษจะหนักกว่าคือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ.


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.dtl-law.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น