บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

ความไม่รู้ข้อเท็จจริง อ้างเป็นข้อแก้ตัวได้ Ignorantia facti excusat

ความไม่รู้ข้อเท็จจริง อ้างเป็นข้อแก้ตัวได้
 Ignorantia facti excusat


        ความไม่รู้อาจมีได้ ๒ ประการ คือ ความไม่รู้ข้อเท็จจริงกับไม่รู้ข้อกฎหมาย ความไม่รู้ข้อเท็จจริงนั้นอาจเป็นข้อแก้ตัวได้ แต่ข้อที่ไม่รู้นั้นต้องเป็นข้อสำคัญ เป็นต้นว่า เราจ่ายเงินให้ชายคนหนึ่งไปโดยคิดว่าเขาเป็นเจ้าหนี้เรา ซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ตามธรรมดาเราเรียกเงินของเราคืนได้
        ในกฎหมายไทยการไม่รู้ข้อเท็จจริงอาจเป็นเหตุให้ได้รับยกเว้นโทษ หรือได้รับโทษน้อยลงได้เช่นกัน กล่าวคือ ถ้าผู้กระทำสำคัญว่ามีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดหรือไม่ต้องรับโทษ ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด หรือได้รับยกเว้นโทษ หรือได้รับโทษน้อยลงแล้วแต่กรณี แต่การสำคัญผิดเกิดขึ้นด้วยความประมาทให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาท (มาตรา ๖๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา) เช่น ตำรวจมีหมายค้นและหมายจับ ไปจับกุมจำเลยที่บ้านซึ่งอยู่ในที่เปลี่ยวในเวลาวิกาลโดยได้ปีนบ้านและรื้อฝาบ้านจำเลยและส่องไฟฉายเข้าไปในบ้าน จำเลยสำคัญผิดว่าโจรเข้าปล้นใช้ปืนยิงตำรวจบาดเจ็บแม้เจ้าหน้าที่จะได้ตะโกนบอกว่าเป็นตำรวจก็ตาม แต่จำเลยก็เคยถูกปล้นโดยคนร้ายปลอมเป็นตำรวจมาก่อน พฤติการณ์ของจำเลยมีลักษณะเป็นการป้องกันสิทธิของตนพอสมควรแก่เหตุ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความผิด1 (ฎีกาที่ ๑๕๕/๒๕๑๒)

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๐), น. ๑๓๘-๑๓๙.
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น