บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

หมิ่นประมาทในทางแพ่งกับหมิ่นประมาทในทางอาญา


หมิ่นประมาทในทางแพ่งกับหมิ่นประมาทในทางอาญา

        คำว่า หมิ่นประมาท ตามพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง " ชื่อความผิดทางอาญาฐานใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง"
        หมิ่นประมาทตามกฎหมาย แยกออกได้เป็น
        หมิ่นประมาทในทางแพ่ง กับ หมิ่นประมาทในทางอาญา

หมิ่นประมาทในทางแพ่ง
        ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 บัญญัติว่า
        "ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ข้อความนั้นไม่จริงแต่หากควรจะรู้ได้ ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความจริงไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้น มีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้น หาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน"

ส่วนความผิดฐานหมิ่นประมาทในทางอาญา
        ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 บัญญัติว่า
        "ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท"
        การกล่าวถ้อยคำต่อผู้เสียหายโดยตรง ไม่เป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สาม ไม่เป็นหมิ่นประมาท แต่อาจมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า
        ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่า ข้อที่หาว่าหมิ่นประมาทนั้น เป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
        คู่ความหรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความเห็นหรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ความแตกต่างของหมิ่นประมาทในทางแพ่งกับหมิ่นประมาททางอาญาต่างกันตรงที่ "เจตนา"
        กล่าวคือ หมิ่นประมาททางอาญา จะต้องกระทำโดยเจตนา การกระทำโดยไม่เจตนา หรือโดยประมาท ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทในทางอาญา
        ส่วนในทางแพ่ง แม้ไม่มีเจตนาก็ถือว่าหมิ่นประมาท ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลิ่นเล่อ ก็ต้องรับผิดทางละเมิด
        ความต่างอีกประการหนึ่ง คือ "ข้อความที่กล่าว"
        ในกรณีหมิ่นประมาททางแพ่งนั้น การกล่าวหรือไขข่าวข้อความที่เป็นความจริง ไม่ถือเป็นละเมิด
        ตรงข้ามกับทางอาญา แม้จะเป็นข้อความที่เป็นจริง ก็อาจมีความผิดได้ เพราะกฎหมายห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

        นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องความเสียหาย....
        ความผิดฐานหมิ่นประมาทในทางอาญา ผลของการใส่ความจะเป็นการเสียหายต่อชื่อเสียง ทำให้ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ส่วนความเสียหายอื่นๆ นอกจากที่กฎหมายกำหนด เช่น เสียหายต่อทางทำมาหาได้ การใส่ความนั้นก็ไม่เป็นการหมิ่นประมาทในทางอาญาแต่เป็นหมิ่นประมาททางแพ่ง
        ส่วนหมิ่นประมาทในทางแพ่ง กำหนดความเสียหายไว้กว้างกว่าทางอาญา พราะนอกจากความเสียหายต่อชื่อเสียงแล้ว ยังรวมถึงความเสียหายต่อทางทำมาหาได้ เกียรติคุณ หรือทางเจริญอีกด้วย เช่นนาง ก. แม่ค้าขายหมูปิ้งได้กล่าวกับลูกค้าที่มาซื้อของตนว่าอย่าไปซื้อไก่ปิ้งของนาย ข. เด็ดขาดเพราะนาย ข. ใช้ไก่ที่ตายด้วยโรคมาปิ้งขาย เช่นนี้ก็เป็นหมิ่นประมาททางแพ่งได้เพราะเป็นการเสียหายต่อทางทำมาหาได้ของนาย ข. เป็นต้น

หมิ่นประมาท ต่างกับ ดูหมิ่น คือ
        หมิ่นประมาทเป็นการใส่ความโดยยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลที่สาม ทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดในพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกกล่าวถึง
        ส่วนการดูหมิ่นเป็นการกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการเหยียดหยามบุคคลอื่น ซึ่งไม่ถึงกับให้ผู้อื่นนั้นได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณ
        ในกรณีหมิ่นประมาททางแพ่งนั้น การกล่าวหรือไขข่าวข้อความที่เป็นความจริง ไม่ถือเป็นละเมิด และไม่เป็นหมิ่นประมาททางแพ่ง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.dtl-law.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น