บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

สารพันกฎหมายที่เด็ก ๆ ควรรู้


สารพันกฎหมายที่เด็ก ๆ ควรรู้

ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
ลักทรัพย์
        ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 บัญญัติว่า “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท”
        ความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นเมื่อมีการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น ไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ โดยมีเจตนายึดถือเป็นของตนเองหรือเอาไปเป็นประโยชน์ของตน
        เช่น แดงอยากได้โทรศัพท์มือถือของดำ จึงแอบไปหยิบโทรศัพท์มือถือของดำขณะพักเที่ยง แล้วนำไปเก็บไว้ที่กระเป๋าของตนเอง ถือว่าแดงมีความผิดฐานลักทรัพย์
        โทษลักทรัพย์จะหนักขึ้น หากลักทรัพย์ในเวลากลางคืน หรือทำอันตรายสิ่งกีดขวาง เช่น ตัดเหล็กดัด พังประตูหน้าต่าง หรือลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ เป็นต้น

วิ่งราวทรัพย์
        ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 บัญญัติว่า “ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ผู้นั้นกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท”
        ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ เป็นการลักทรัพย์ของผู้อื่นโดยวิธีการฉกฉวยเอาซึ่งหน้าหรือแย่งเอาไป คว้าหรือกระชากทรัพย์ไปจากผู้อื่นอย่างรวดเร็วต่อหน้าต่อตา เช่น แดงวิ่งไปกระชากกระเป๋าถือของจิ๋ม หรือแดงกระชากสร้อยคอของดำไป ถือว่าแดงมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
        โทษวิ่งราวทรัพย์จะหนักขึ้น หากการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย จิตใจ หรือบาดเจ็บสาหัส หรือเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ชิงทรัพย์
        ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 บัญญัติว่า “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุม ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 20,000 บาท” ความผิดฐานชิงทรัพย์ เป็นการลักทรัพย์ของผู้อื่น โดยใช้วิธีการทำร้ายหรือใช้คำพูดหรือการกระทำข่มขู่เพื่อให้เจ้าทรัพย์มอบทรัพย์ให้แก่ตน
        เช่น แดงชกหน้าดำจนดำล้มลง แล้วแดงล้วงเงินจากกระเป๋าของดำไป หรือแดงซึ่งถือมีดอยู่พูดของเงินจากดำ ดำกลัวจึงยอมมอบเงินให้แดงไป ถือว่าแดงมีความผิดฐานชิงทรัพย์
        โทษชิงทรัพย์จะหนักขึ้นหากเป็นการชิงทรัพย์ในเวลากลางคืน หรือมีอาวุธ หรือการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย จิตใจ หรือรับอันตรายสาหัส หรือเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ปล้นทรัพย์
        ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 บัญญัติว่า “ผู้ใดชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 14 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 30,000 บาท”
        ความผิดฐานปล้นทรัพย์ เป็นการชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป
        เช่น แดง เขียว และส้ม เดินเข้าไปล้อมขาวซึ่งกำลังเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้าโดยเขียวกับส้มช่วยกันจับแขนของขาว แล้วแดงชักมีดออกมาพร้อมพูดกับขาวว่า ขอโทรศัพท์มือถือไม่อย่างงั้นจะแทงให้ตาย จนขาวยอมมอบโทรศัพท์มือถือให้แก่แดง ถือว่าแดง เขียว และส้ม มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์
        โทษปล้นทรัพย์จะหนักขึ้น หากผู้กระทำผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธติดตัวไป หรือใช้ปืนยิง หรือการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ความผิดเกี่ยวกับเพศและความผิดต่อเสรีภาพ
พรากผู้เยาว์
        ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 บัญญัติว่า “ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 6,000 ถึง 30,000 บาท”
        ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 บัญญัติว่า “ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 4,000 ถึง 20,000 บาท”
        ความผิดฐานพรากเด็กหรือพรากผู้เยาว์ เป็นการพาเด็กหรือผู้เยาว์ไป หรือแยกเด็กหรือผู้เยาว์ออกไปจากความปกครองดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครองของเด็กหรือผู้เยาว์นั้นโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองของเด็กหรือผู้เยาว์
        หากการพรากเด็กหรือผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร เช่น พาไปกอดจูบลูบคลำ ผู้นั้นจะต้องได้รับโทษหนักยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหากมีการร่วมประเวณีหรือมีเพศสัมพันธ์กัน ผู้นั้นจะต้องถูกดำเนินคดีข้อหาข่มขืนกระทำชำเราอีกข้อหาหนึ่ง ซึ่งมีโทษหนักมาก
        แม้ผู้เยาว์นั้นจะยินยอมไปด้วย ผู้ที่พรากก็ต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 4,000 บาท ถึง 20,000 บาท”
        เช่น แดงพบเด็กหญิงเขียวจึงชวนไปเที่ยวค้างคืนที่พัทยา โดยไม่ได้ขออนุญาตจากบิดามารดาของเด็กหญิงเขียว แม้แดงจะไม่ได้ล่วงเกินเด็กหญิงเขียวก็ตาม ถือว่าแดงมีความผิดฐานพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร หากแดงล่วงเกินทางเพศเด็กหญิงเขียว แดงจะต้องได้รับโทษที่หนักขึ้น

กระทำอนาจาร
        ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
        ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
        ความผิดฐานกระทำอนาจาร เป็นการกระทำที่น่าอับอาย น่าบัดสี ลามก เช่น กอดจูบ ลูบคลำ หรือจับอวัยวะของเพศหญิง หน้าอก รวมถึงการจับเนื้อต้องตัวหญิงก็ตาม ก็ถือว่าเป็นความผิดข้อหากระทำอนาจาร แม้ว่าเด็กที่ถูกกระทำจะยินยอมให้กระทำการดังกล่าวก็ยังมีความผิด หากเด็กนั้นอายุไม่เกินสิบห้าปี
        เช่น แดงพาเด็กหญิงเขียว (อายุ 14 ปี) ไปดูภาพยนตร์ โดยได้รับอนุญาตจากบิดามารดาของเด็กหญิงเขียว แต่แดงได้กอดจูบเด็กหญิงเขียวขณะดูภาพยนตร์ แม้เด็กหญิงเขียวจะยินยอมให้แดงกอดจูบก็ตาม ถือว่าแดงมีความผิดข้อหากระทำอนาจาร และหากเป็นกรณีที่แดงพาเด็กหญิงเขียวไปดูภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาของเด็กหญิงเขียว แดงมีความผิดฐานพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรอีกข้อหาหนึ่ง

ข่มขืนกระทำชำเรา
        ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 บัญญัติว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 8,000 บาท ถึง 40,000 บาท”
        ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา เป็นการบังคับใจ ฝืนใจหญิงอื่นที่มิใช่ภริยาของตน โดยหญิงนั้นไม่ยินยอมหรือใช้กำลังบังคับ จนหญิงนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ จนผู้กระทำผิดล่วงเกินทางเพศ หรือมีเพศสัมพันธ์กับหญิงนั้น
        หากเป็นการข่มขืนกระทำชำเรา เด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ผู้นั้นจะต้องได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 8,000 บาท ถึง 40,000 บาท

ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
        ยาเสพติดให้โทษ หมายความว่า สารเคมี หรือวัตถุชนิดใด ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยประการใด ๆ แล้วทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญ เช่น ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเป็นลำดับ มีอาการถอนยาเมื่อขาดยา มีความต้องการเสพทั้งร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงอยู่ตลอดเวลา และสุขภาพโดยทั่วไปจะทรุดโทรมลง
เสพ หมายความว่า การรับยาเสพติดให้โทษเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ
ยาเสพติดให้โทษ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ
ประเภท 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน
ประเภท 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟีน โคคาอีน ฝิ่นยา
ประเภท 3 ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยาและมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ผสมอยู่ด้วย
ประเภท 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือประเภท 2 เช่น อาเซติกแอนด์ ไอไดร์
ประเภท 5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึง ประเภท 4 เช่น กัญชา พืชกระท่อม

ความผิดฐานยาเสพติด
เสพกัญชา
        ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 92 บัญญัติว่า “ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
        ดังนั้นผู้ใดเสพกัญชา ไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ เช่น เอากัญชาผสมบุหรี่แล้วสูบ หรือเสพกัญชาโดยใช้บ้องกัญชา ถือว่าผู้นั้นมีความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท

เสพยาบ้าหรือเฮโรอีน
        ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 บัญญัติว่า “ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
        ดังนั้นผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เช่น ยาบ้า เฮโรอีน ไม่ว่าโดยวิธีการสูดดมจากการรมควัน หรือฉีดเฮโรอีนเข้าเส้นเลือด หรือสูดดมเข้าทางจมูก ถือว่าผู้นั้นมีความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ซึ่งมีโทษจำคุกหนักกว่าเสพกัญชา

เสพสารระเหย
สารระเหย หมายความว่า สารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศว่าเป็นสารระเหย เช่น กาวต่าง ๆผู้ติดสารระเหย หมายความว่า ผู้ซึ่งต้องใช้สารระเหยบำบัดความต้องการของร่างกายและจิตใจเป็นประจำ ความผิดฐานเสพสารระเหยนั้น ตาม พ.ร.ก.ป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533 มาตรา 17 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้สารระเหยบำบัดความต้องการของร่างกายหรือจิตใจ ไม่ว่าโดยวิธีสูดดม หรือวิธีอื่นใด หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ความผิดฐานครอบครองยาเสพติดให้โทษ
        ความผิดฐานครอบครองยาบ้าหรือเฮโรอีน ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1” ซึ่งมาตรา 67 บัญญัติว่า “ผู้ใดมีไว้ในความครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้ใดครอบครองยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภทยาบ้าเกิน 15 เม็ด กฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นใดครอบครองยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้เพื่อจำหน่าย ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึงตลอดชีวิต”

ความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จราจรทางบก และ พ.ร.บ.รถยนต์
        ผู้ขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่นายทะเบียนเสียก่อน โดยกล่าวคือ ต้องมีใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งออกให้โดยนายทะเบียน มิฉะนั้นจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 42 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ขับรถต้องได้รับใบอนุญาตขับรถ และต้องมีใบอนุญาตขับรถ และสำเนาภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถในขณะขับรถ” และมาตรา 34 บัญญัติว่า “ผู้ใดขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
        นอกจากนี้ขณะขับรถหรือขับขี่รถจักรยานยนต์ สภาพร่างกายของผู้ขับขี่จะต้องปกติ สมบูรณ์ ไม่มีอาการหย่อนความสามารถในการขับขี่ หรือมีอาการเมาสุรา หรือของเมาอย่างอื่น มิฉะนั้นผู้ขับขี่จะต้องมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคสาม ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
        นอกจากนี้การขับขี่หรือแข่งรถในทางสาธารณะก็ถือว่ามีความผิด หากไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานจราจร ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้น มีกำหนดไม่น้อยกว่า 1 เดือน หรืออาจจะเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ก็ได้
        สำหรับกลุ่มบุคคลที่ไปยืนดูการแข่งรถในทางสาธารณะและผู้ที่ซ้อนท้ายผู้ขับแข่งก็ถือว่ามีความผิดในฐานะผู้สนับสนุนหรือส่งเสริมให้มีการแข่งขันรถในทางสาธารณะ ซึ่งได้ต้องโทษเช่นเดียวกับผู้ขับขี่หรือผู้แข่งรถในทางสาธารณะ

ความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ
        อาวุธปืน หมายความร่วมตลอดถึงอาวุธทุกชนิด ที่ใช้ส่งเครื่องกระสุนปืน โดยวิธีระเบิด หรือกำลังดันของแก๊ส หรืออัดลม หรือเครื่องกลไกอย่างใด ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของพลังงานและส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธนั้น ๆ
        ความผิดฐานมีอาวุธปืนในความครอบครอง ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำ มี ซื้อ ใช้ สั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่”
        ดังนั้น ผู้ใดต้องการมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่เสียก่อน ซึ่งปัจจุบันก็คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากผู้ใดมีหรือครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่จะต้องมีความผิด โดยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 20,000 บาท
        เช่น ปืนปากกา ซึ่งถือว่าเป็นอาวุธปืนชนิดหนึ่ง และเป็นอาวุธที่นายทะเบียนไม่สามารถออกทะเบียนให้ได้ ผู้ใดมีไว้ในความครอบครองถือว่ามีความผิด
        ความผิดฐานพกพาอาวุธปืน ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ บัญญัติว่า “ห้ามิให้ผู้ใดพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์
        ความผิดฐานพกพาอาวุธปืน นั้น เป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดพกพาอาวุธปืนติดตัวไป เช่น พกปืนปากกาติดตัวไปในทางสาธารณะ หรือเข้าห้างสรรพสินค้า หรือพกไปยังโรงเรียน หรือแม้กระทั่วเป็นอาวุธปืนที่มีทะเบียนและถูกกฎหมาย เช่น เป็นอาวุธปืนของบิดาหรือผู้ปกครอง หากไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ให้มีอาวุธปืนติดตัวแล้ว ผู้นั้นก็มีความผิดฐานพกพาอาวุธปืนฯ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
        ความผิดข้อหาพกพาอาวุธปืนนั้น หากพกพาโดยเปิดเผย เช่น ถืออาวุธปืนหรือเหน็บที่เอวกางเกง ซี่งผู้อื่นสามารถเห็นได้ หรือพกพาไปในชุมนุมชนที่จัดให้มีขึ้น เพื่องานนมัสการ งานรื่นเริง หรืองานมหรสพ ผู้ที่พกพาดังกล่าว จะต้องรับโทษหนักขึ้น คือ จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 10,000 บาท
        และแม้ผู้ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ให้มีอาวุธปืนติดตัว แต่ปรากฏว่าผู้นั้นพกพาอาวุธปืนโดยเปิดเผย หรือพกพาไปในชุมนุมชน ซึ่งจัดให้มีขึ้นเพื่องานนมัสการ งานรื่นเริง หรืองานมหรสพ ผู้นั้นก็ยังมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปืนผิดมือ
        ถึงแม้จะเป็นปืนที่นายทะเบียนอนุญาตให้มีไว้ในความครอบครอง เมื่อผู้อื่นนำอาวุธปืนดังกล่าวไปพกพา หรือมีไว้ในความครอบครอง ก็มีความผิดเช่นเดียวกันตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเรียกว่า การครอบครองปืนผิดมือ

 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก Convention on the Rights of the Child
        สิทธิเด็ก เป็นสิทธิสากล (Universal Rights) และเป็นสิทธิเด็ดขาด (Absolute Rights) ที่ต้องได้รับการรับรองและคุ้มครอง อนุสัญญาฯ ฉบับนี้ไม่ได้ใช้เพื่อการเรียกร้องสิทธิเด็ก แต่ใช้เพื่อการพัฒนาเด็กทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา ให้เจริญเติบโตรอบด้านเต็มศักยภาพ และไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยการผนึกกำลังร่วมกันในทุกสถาบันทั่วโลก
ไม่เลือกปฏิบัติ ทุกเชื้อชาติ ศาสนา สถานะทางสังคม วรรณะ เพศ ผิด
        อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เป็นผลมาจากการทำงานของคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ และได้ประกาศใช้ครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2533 และประเทศไทยได้ลงนามเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2535 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 เมษายน พุทธศักราช 2535
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มีทั้งสิ้น 54 ข้อ โดย
40 ข้อแรก เป็นสาระสำคัญด้านสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก 4 ประการ
14 ข้อหลัง เป็นส่วนทีเกี่ยวกับกระบวนการพันธกรณีที่ระบุไว้
        เด็กในความมุ่งหมายของอนุสัญญานี้ หมายถึง มนุษย์ทุกคนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ยกเว้นผู้ที่แต่งงานถูกต้องตามกฎหมายของประเทศ

สิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก 4 ประการ
1. สิทธิในการอยู่รอด (Right of Survival)
สิทธิในการมีชีวิตรอดและส่งเสริมชีวิต
ได้รับโภชการที่ดี
ได้รับความรักความเอาใจใส่จากครอบครัวและสังคม
ได้รับการบริการด้านสุขภาพ
การให้ทักษะชีวิตที่ถูกต้อง
การให้ที่อยู่อาศัยและการเลี้ยงดู
2. สิทธิในการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection)
การคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ
การล่วงละเมิด การทำร้าย การกลั่นแกล้งรังแก
การถูกทอดทิ้ง ละเลย
การลักพาตัว
การใช้แรงงานเด็ก
ความยุติธรรมต่อผู้เยาว์
การเอารัดเอาเปรียบทางเพศ
3. สิทธิในการพัฒนา (Right of Development)
ได้รับการศึกษาทั้งใน/นอกระบบ
เข้าถึงข่าวสารที่เหมาะสม
พัฒนาบุคลิกภาพ ทั้งทางสังคมและจิตใจ
พัฒนาสุขภาพร่างกาย
4. สิทธิในการมีส่วนร่วม (Right of Participation)
แสดงทัศนะของเด็ก
เสรีภาพในการติดต่อข่าวสารข้อมูล
มีบทบาทในชุมชน
แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก
[แก้ไข] โลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก A World fit for Children
เกิดขึ้นจากการประชุมครั้งที่ 27 สมัชชาทั่วไป สหประชาชาติเพื่อการระดมความคิดจากประเทศทั่วโลก เพื่อประกาศว่า เรา…ผู้นำของประเทศต่าง ๆ จะดำเนินงานส่งเสริมและปกป้องสิทธิเด็กทุกคนผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมทั้งเยาวชนวัยรุ่นหนุ่มสาวยอมรับในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเพื่อการปกป้องและคุ้มครอง และเพื่อสวัสดิภาพของเด็กรวมทั้งสนับสนุนครอบครัวในการเลี้ยงดูและคุ้มครองดูแลเด็กจะร่วมกันสร้างโลกที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่จะทำให้เกิดการพัฒนามนุษย์อย่างยั่งยืนและคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญจะร่วมกันสร้างโลกที่เหมาะสมบนพื้นฐานของประชาธิปไตยความเสมอภาค ปราศจากการแบ่งแยก กีดกัน สันติภาพความยุติธรรมทางสังคม ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันพึ่งพาอาศัยกัน และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น