บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

ร้องขัดทรัพย์


ร้องขัดทรัพย์

        คำว่า “ร้องขัดทรัพย์” มิใช่ถ้อยคำที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่เป็นถ้อยคำที่รู้กันอยู่ทั่วไป และใช้กันอยู่เสมอในหมู่นักกฎหมายและในคำพิพากษาของศาล “ร้องขัดทรัพย์” หมายถึงว่า เมื่อมีการบังคับคดียึดทรัพย์สินของผู้แพ้คดีที่เรียกว่า “ลูกหนี้ตามคำพิพากษา” เพื่อจะนำมาขายทอดตลาดและนำเงินมาชำระให้แก่ผู้ชนะคดี ซึ่งเรียกว่า “เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา” แล้ว หากผู้ใดอ้างว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาผู้นั้นมิใช่เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกยึด ก็มีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ปล่อยทรัพย์สินนั้น การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ถูกยึดนี้เรียกว่า “ร้องขัดทรัพย์” การใช้ถ้อยคำสั้น ๆ แทนความหมายที่กฎหมายบัญญัติไว้ยึดยาวนั้น มิใช่มีแต่คำว่าร้องขัดทรัพย์เท่านั้น ยังมีคำอื่นอีกมาก เช่นคำว่า “ครอบครองปรปักษ์” ซึ่งหมายถึง การที่บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 และเมื่อครอบครองในลักษณะเช่นนั้นติดต่อกันมาครบสิบปี ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือห้าปีถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ ผู้ครอบครองปรปักษ์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น หรือคำว่า “รับมรดกความ” ก็หมายถึงการที่เข้าเป็นคู่ความแทน ที่คู่ความเดิมซึ่งมรณะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42, 43 หรือคำว่า “ฟ้องซ้ำ” ก็หมายถึงการที่คู่ความเดียวกันนำคดีซึ่งได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดในประเด็นที่ได้วินิจฉัย โดยอาศัยเหตุเดียวกันมารื้อฟ้องกันอีก ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ดังนี้เป็นต้น
        ในเรื่องร้องขัดทรัพย์นี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 บัญญัติว่า “ภายในบังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 55 ถ้าบุคคลใดกล่าวอ้างว่า ลูกหนี้ตามคำพิพากษามิใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้น ในกรณีเช่นนี้ให้ผู้กล่าวอ้างนั้นส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และลูกหนี้ตามคำพิพากษา และเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยลำดับ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำร้องเช่นว่านี้ให้งดการขายทอดตลาด หรือจำหน่ายทรัพย์สินที่พิพาทนั้นไว้ในระหว่างรอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาล ฯลฯ”
        มาตรา 288 นี้บัญญัติให้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินหรือที่เรียกว่า คำร้องขัดทรัพย์ต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี ซึ่งศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 302 บัญญัติว่า ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีคือ ศาลที่ได้พิจาณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นนั่นเอง แต่ถ้าคดีนั้นมีการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาล และศาลอุทธรณ์ได้ส่งคดีไปให้ศาลชั้นต้นแห่งอื่นทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีคือศาลชั้นต้นแห่งใหม่นี้ เว้นแต่ศาลอุทธรณ์จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
        การที่มาตรา 288 บัญญัติให้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนี้ ต้องถือเป็นบทบัญญัติที่เด็ดขาด ฉะนั้นแม้ทุนทรัพย์ในชั้นร้องขัดทรัพย์ (คือราคาทรัพย์สินที่ร้องขอให้ปล่อย) นั้นจะสูงเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลที่ออกหมายบังคับคดีดังที่บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมก็ตาม ผู้ร้องขัดทรัพย์ก็ต้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น และศาลนั้นก็มีอำนาจพิจารณาคดีไปได้ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 901/2511 ซึ่งวินิจฉัยว่า การร้องขัดทรัพย์ในคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแขวงนั้น แม้ทุนทรัพย์ในชั้นร้องขัดทรัพย์จะเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ศาลแขวงก็มีอำนาจพิพากษาได้ เพราะการพิจารณาชั้นร้องขัดทรัพย์เป็นการพิจารณาในเรื่องเดิมนั่นเอง
        ผู้ที่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์นั้น แม้มาตรา 288 บัญญัติว่า ถ้าบุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ปล่อยทรัพย์สินนั้นได้ ซึ่งแสดงว่าบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกยึดหรือไม่ จะมีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นหรือไม่ ก็มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ก็ตาม แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะถ้ายอมให้บุคคลใดร้องขัดทรัพย์ได้โดยผู้นั้นไม่มีส่วนได้เสียอย่างใดในทรัพย์สินที่ถูกยึดเสียเลยแล้ว ก็จะขัดต่อเหตุผลและสามัญสำนึกอย่างยิ่ง ดังนี้มาตรา 288 จึงได้บัญญัติไว้ในตอนต้นว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 55 ฯลฯ” ซึ่งหมายความว่าผู้ที่จะมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้นั้นจะต้องอยู่ภายใต้บทบังคับของมาตรา 55 ด้วย
        มาตรา 55 บัญญัติว่า “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”
        ตามมาตรา 55 นี้ ย่อมแสดงว่าผู้ที่จะร้องขัดทรัพย์ได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิหรือหน้าที่อย่างใดตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกยึดนั้น และเมื่อทรัพย์สินนั้นถูกยึดไป จึงถือได้ว่าได้มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวแก่สิทธิหรือหน้าที่ของตนแล้ว แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าสิทธิในทรัพย์สินนั้นจะต้องเป็นกรรมสิทธิ์เสมอไป หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้ที่ร้องขัดทรัพย์ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกยึดเสมอไป ได้มีคำอธิบายอยู่ในคำพิพากษาฎีกาที่ 1823/2493 ว่าประเด็นเรื่องร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ถูกยึดมีว่า ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกยึดหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 และ 55 ผู้ใช้สิทธิทางศาลขอให้ปล่อยทรัพย์หาต้องมีกรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิในทรัพย์นั้นไม่ ผู้มีส่วนได้เสีย (ซึ่งในคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้คือกรมป่าไม้ผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาไม้หวงห้าม) มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ขอให้ปล่อยไม้หวงห้ามที่ถูกยึดได้ และคำพิพากษาฎีกาที่ 1824/2493 ก็วินิจฉัยอย่างเดียวกัน โดยถือว่าผู้รับสัมปทานจากรัฐบาลให้มีสิทธิเข้าถือเอาไม้ในป่าตามที่กำหนดไว้ ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้

        ในเรื่องผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้นั้น มีตัวอย่างดังนี้
ผู้ขายฝากมีสิทธิคัดค้านการยึดทรัพย์ได้ เพราะเป็นผู้ที่ชอบจะใช้สิทธิอันได้จดทะเบียนไว้โดยชอบ มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280 (คำพิพากษาฎีกาที่ 810/2487)
ผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว แม้จะยังไม่จดทะเบียนการได้มา ก็มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 456 – 458/2491)
ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280 ซึ่งอ้างว่าจำเลยมิใช่เจ้าของทรัพย์ที่ถูกยึด มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 802 /2491)
ผู้ว่าราชการจังหวัดผู้ดูแลสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีอำนาจร้องขัดทรัพย์เกี่ยวกับสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1370/2492)
สามีมีอำนาจร้องขัดทรัพย์เกี่ยวกับสินบริคณห์ได้ เพราะสามีมีอำนาจจัดการสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1468, 1469 (คำพิพากษาฎีกาที่ 531/2501)
ผู้ที่ครอบครองนาไว้เพราะจำเลยให้ทำกินต่างดอกเบี้ย มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ เมื่อศาลฟังว่านานั้นเป็นของผู้อื่นมิใช่ของจำเลย ก็ต้องปล่อยนาที่ยึดนั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 28/2506)
        แต่ตัวอย่างต่อไปนี้ถือว่าไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ถูกยึด จึงไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์
ผู้ที่ได้รับอำนาจให้เข้าครอบครองที่ดินแทนเจ้าของนั้นไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์แทนเจ้าของโดยเจ้าของมิได้มอบอำนาจ (คำพิพากษาฎีกาที่ 191/2484)
ร้องขัดทรัพย์ต้องเป็นเรื่องที่อ้างว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่ยึด โจทก์ยึดทรัพย์ที่อ้างว่าเป็นมรดกตกได้แก่จำเลยตามคำพิพากษาที่ให้จำเลยชำระหนี้แทนผู้ตาย ผู้ที่อ้างว่าจำเลยไม่ใช่ภริยาผู้ตายและไม่ใช่ผู้รับมรดกจะร้องขัดทรัพย์ให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดนั้นมิได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 515/2488)
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีอำนาจยึดทรัพย์สิน อันเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้มาใช้หนี้ตามคำพิพากษาได้เสมอ แม้ลูกหนี้จะเอาทรัพย์สินนั้นไปวางเป็นประกันเงินกู้หรือจำนำผู้ใด หรือผู้ใดมีบุริมสิทธิหรือสิทธิยึดหน่วงในทรัพย์นั้นอย่างไร ผู้นั้นไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดนั้น คงได้แต่เรียกร้องบังคับตามสิทธิในการบังคับคดีตามกำหนดเวลาในกฎหมายว่าด้วยการนั้นเท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 944/2490, 1413/2498 และ 424/2509)
ผู้จะซื้อทรัพย์ตามสัญญาจะซื้อขายจากจำเลยและได้ครอบครองทรัพย์ไว้ ไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์เกี่ยวกับทรัพย์นั้น เพราะถือว่าเพียงครอบครองไว้แทนจำเลยผู้จะขายเท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 878/2492)
โจทก์ยึดเรือของจำเลยเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษษ แม้เรือนั้นจะถูกพนักงานสอบสวนยึดไว้เป็นของกลางในคดีที่จำเลยทำผิด กรมตำรวจก็ไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์เกี่ยวกับเรือนั้น เพราะกรมตำรวจมิใช่พนักงานสอบสวน (คำพิพากษาฎีกาที่ 1675/2493)
        ตามตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่า การที่จะพิจารณาว่า ผู้ใดมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้นั้น ผู้นั้นจะต้องมีสิทธิหรือหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะร้องขอให้ปล่อย และสิทธิหรือหน้าที่นั้นอาจเป็นสิทธิหรือหน้าที่โดยมีกฎหมายรับรองไว้ก็ได้ เช่น ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 456 – 458/2491 ผู้ที่ครอบครองปรปักษ์ทรัพย์สินของผู้อื่นจนครบกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ย่อมได้กรรมสิทธิ์ ตามมาตรา 1382 ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 802/2491 ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีย่อมมีสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280 ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 531/2501 สามีย่อมมีสิทธิจัดการสินบริคณห์ตามมาตรา 1468, 1469
        หรือสิทธิหรือหน้าที่นั้นอาจเป็นสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาที่ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย เช่น ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 810/2487 ผู้ขายฝากย่อมมีสิทธิจะไถ่ทรัพย์คืนตามสัญญาขายฝาก ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 28/2506 ผู้ครอบครองนาก็มีสิทธิตามสัญญาในอันที่จะครอบครองนาไว้ทำกินต่างดอกเบี้ย
        แต่ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 191/2488 ผู้รับมอบอำนาจให้ครอบครองที่ดินแทน ถือว่าเป็นตัวแทนแต่เฉพาะการครอบครอง จึงไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์แทนตัวการ เพราะถือว่ามิได้เป็นตัวแทนในการร้องขัดทรัพย์ด้วย
        ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 515/2488 เป็นเรื่องที่ผู้ร้องขัดทรัพย์อ้างว่าจำเลยมิใช่ผู้รับมรดกผู้ตาย (จึงไม่ควรต้องรับผิดในหนี้สินของผู้ตาย) มิใช่เป็นการอ้างว่าทรัพย์สินที่ยึดมิใช่ของจำเลย กรณีจึงมิใช่เรื่องร้องขัดทรัพย์
        ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 944/2490, 1413/2498 และ 424/2509 เป็นเรื่องที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ให้สิทธิในการขอรับชำระหนี้ได้ก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่นอยู่แล้ว จึงไม่อาจร้องขัดทรัพย์ได้ แต่ถ้าทรัพย์ที่เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ลูกหนี้นำไปมอบให้อยู่ในความครอบครองของผู้อื่น และผู้อื่นมีสิทธิตามกฎหมายที่จะครอบครองทรัพย์นั้นได้ และหากสิทธินั้นไม่อาจจะบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 แล้ว กรณีน่าจะต้องปรับเข้ามาตรา 287 คือการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิ หรือสิทธิอื่นซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับ………….เหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย เช่น คำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ยึดเงินที่จำเลยวางไว้ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดในการสมัครรับเลือกเป็นผู้แทนราษฎร กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมีสิทธิชนิดหนึ่งอันไม่เข้าลักษณะสิทธิอื่น ๆ โจทก์ได้แต่จะอายัดไว้เท่านั้น
        ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 478/2492 ถือว่าผู้ที่จะซื้อยังมิได้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองอย่างใด เป็นเพียงยึดถือทรัพย์ที่ถูกยึดไว้แทนจำเลยเท่านั้น จึงถือว่าทรัพย์สินนั้นยังเป็นของจำเลยอยู่ ผู้จะซื้อจึงไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ว่าทรัพย์นั้นมิใช่ของจำเลย         ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1675/2493 กรมตำรวจมิใช่ผู้ทำการยึดทรัพย์ไว้เป็นของกลาง แต่พนักงานสอบสวนเป็นผู้ยึดไว้ หนักงานสอบสวนแต่ผู้เดียวจึงมีอำนาจร้องขัดทรัพย์
        แม้ผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของตนตามกฎหมายจะมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ดังกล่าวมาแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากการร้องขัดทรัพย์เพื่อขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ถูกยึดตามมาตรา 288 จะต้องเป็นกรกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษามิใช่เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้นั้น ฉะนั้น หากจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษายังเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกยึดอยู่ แม้จะเป็นเพียงเจ้าของรวมในทรัพย์สินนั้นเท่านั้นก็ตาม เจ้าของร่วมคนอื่นในทรัพย์สินนั้นก็หามีอำนาจร้องขัดทรัพย์เพื่อขอให้ปล่อยทรัพย์นั้ได้ไม่ ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 140/2492, 981/2492, 1492/2510 ซึ่งวินิจฉัยว่าเจ้าของร่วมไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ คำพิพากษาฎีกาที่ 744/2499 วินิจฉัยว่าการที่ผู้ร้องอ้างว่าได้แบ่งที่ดอนกับจำเลยเป็นส่วนสัด และต่างครอบครองส่วนแบ่งมาเกิน 10 ปีแล้ว ถือว่าผู้ร้องดังว่าได้อสังหาริมทรัพย์มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ฉะนั้น เมื่อโจทก์ยึดที่ดินทั้งแปลง ซึ่งมีชื่อจำเลยในโฉนดเพื่อบังคับจำนอง ผู้ร้องจะขอให้ขายเฉพาะที่ดินส่วนของจำเลยมิได้ เพราะมีผลเท่ากับให้ปล่อยทรัพย์ตาม มาตรา 288 แต่ผู้ร้องขอให้แบ่งส่วนของตนตามสิทธิเจ้าของร่วมตามมาตรา 287 ได้ แต่ต่อมาได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 466/2506 และ 1212/2510 วินิจฉัยว่าถ้าได้มีการแบ่งทรัพย์แยกกันครอบครองเป็นเจ้าของ เป็นส่วนสัดของเจ้าของร่วมแต่ละคนเสียก่อนที่จะมีการยึดทรัพย์แล้ว หากมีการยึดทรัพย์สินนั้นทั้งหมด เจ้าของร่วมที่มิใช่จำเลยย่อมมีสิทธิร้องขัดทรัพย์เฉพาะส่วนของตนได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะถือว่าเมื่อมีการแบ่งแยกทรัพย์สินกันครอบครองเป็นเจ้าของเป็นส่วนสัดแล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นเจ้าของร่วมต่อไป จึงมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ โดยนัยนี้จึงถือว่าคำพิพากษษฎีกาที่ 744/2499 ถูกทับเสียแล้ว
        คำพิพากษาฎีกาที่ 174/2504 วินิจฉัยว่า สามีภริยาที่มิได้จดทะเบียนสมรสไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ที่ทำมาหาได้ด้วยกัน เพราะเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์นั้น
        คำพิพากษาฎีกาที่ 288/2488 ผู้ที่เป็นหุ้นส่วนด้วยกันย่อมถือว่าเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์ของหุ้นส่วนนั้น ฉะนั้นเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งกู้เงินมาใช้ในกิจการค้าขายของหุ้นส่วน เมื่อศาลพิพากษาให้ผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นรับผิดชอบแล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมยึดทรัพย์ของหุ้นส่วนได้ ผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นจะร้องขัดทรัพย์มิได้
        สำหรับเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมนี้ แม้จะไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์ได้ก็ตาม แต่ก็มีสิทธิขอรับเงินได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์นั้นได้ตามส่วนแบ่งแห่งความเป็นเจ้าของร่วมของตน แต่จะขอให้แบ่งทรัพย์ที่ถูกยึดออกเป็นส่วนของตนก่อนขายทอดตลาดมิได้ เพราะการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมนั้น ถือว่าเจ้าของร่วมแต่ละคนมีส่วนในทรัพย์นั้นรวมกันโดยไม่แยกออกว่าเจ้าของร่วมคนใดมีส่วนตรงไหน หรือส่วนใดของทรัพย์ ฉะนั้นจึงจะอ้างว่า ตนมีส่วนตรงนั้นตรงนี้ เพื่อขอแยกส่วนของตนเสียก่อนมิได้
        แต่ถ้าทรัพย์ที่ถูกยึดมิใช่ของจำเลยแล้ว เจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงแต่เพียงผู้เดียว แม้จะเป็นเจ้าของรวมร่วมกับผู้อื่นด้วย ก็มีอำนาจร้องขัดทรัพย์ได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องให้เจ้าของรวมทุกคนร้องขัดทรัพย์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 180/2485)
        ถ้าเป็นเรื่องทรัพย์สินของสามีภริยา เช่น สามีหรือภริยาแต่ผู้เดียวถูกฟ้องในหนี้สินส่วนตัวของสามีหรือภริยา และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ยึดสินบริคณห์ของสามีภริยานั้น ถ้าพิจารณาในแง่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมแล้ว ก็ต้องถือว่าสินบริคณห์เป็นของสามีและภริยาร่วมกัน สามีหรือภริยาที่มิได้ถูกฟ้องก็ไม่น่าจะมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ตามเหตุผลในเรื่องเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมดังกล่าวมาแล้ว แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นเสมอไปไม่ เพราะหนี้สินที่ภริยาก่อขึ้นนั้น หากสามีมิได้ให้ความยินยอม ย่อมไม่ผูกพันสินบริคณห์ ฉะนั้นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของภริยาในกรณีเช่นนี้ ย่อมไม่มีสิทธิยึดสินบริคณห์ส่วนของสามี สามีจึงมีอำนาจร้องขัดทรัพย์ได้ ทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 620/2508 ซึ่งวินิจฉัยว่าแม้ผู้ร้อง (สามี) จะรับว่าทรัพย์ยึดเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย (ภริยา) แต่ผู้ร้องยังอ้างว่าผู้ร้องมิได้ยินยอมและมิได้จำนองด้วย ทั้งได้บอกล้างการจำนองแล้ว ดังนั้นหากเป็นจริง โจทก์ย่อมบังคับเอาแก่สินบริคณห์มิได้ ผู้ร้องจึงร้องขัดทรัพย์ได้ หรือถ้าสามีก่อหนี้ขึ้นแต่ฝ่ายเดียว มิใช่หนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482 แล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของสามีก็ไม่อาจยึดสินเดิมของภริยาได้ ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 460/2507 และ 6/2509 ซึ่งวินิจฉัยว่าเจ้าหนี้ของจำเลย (สามี) จะยึดสินเดิมของภริยาจำเลยได้ต่อเมื่อหนี้ตามคำพิพากษานั้นเป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482
        ที่เจ้าหนี้ของสามีไม่มีสิทธิยึดสินเดิมของภริยา แม้ว่าสินเดิมจะเป็นสินบริคณห์ระหว่างสามีภริยาก็ตามนั้น ก็ด้วยเหตุว่าสินเดิมเป็นทรัพย์สินของภริยา ซึ่งเมื่อมีการตายหรือหย่ากันก็ต้องคืนสินเดิมให้แก่กัน และสินเดิมนี้ถือได้ว่าแยกเป็นส่วนสัดต่างหากจากสินสมรส จึงถือมิได้ว่าสินเดิมเป็นทรัพย์สินร่วมกันระหว่างสามีภริยา เพียงแต่กฎหมายถือว่าสินเดิมเป็นส่วนหนึ่งแห่งสินบริคณห์ ซึ่งสามีมีอำนาจจัดการได้ และภริยาจะทำนิติกรรมผูกพันสินบริคณห์โดยสามีมิได้ยินยอมด้วยมิได้เท่านั้น
        แต่ถ้าทรัพย์ที่ถุกยึดนั้นเป็นสินสมรส มิใช่สินเดิมแล้ว แม้หนี้ที่ภริยาก่อขึ้นเป็นส่วนตัวและไม่ได้รับความยินยอมจากสามี และเมื่อสามีได้บอกล้างแล้วหนี้นั้นจะไม่ผูกพันสินบริคณห์ก็ตาม แต่สินสมรสนั้นตราบใดที่ยังมิได้แบ่งกัน ก็ต้องถือว่าสามีและภริยาเป็นเจ้าของรวมในสินสมรสนี้ร่วมกันอยู่ โดยแยกมิได้ว่าผู้ใดเป็นเจ้าของส่วนไหนของสินสมรส ฉะนั้นเมื่อสินสมรสถูกยึดทั้งหมด สามีจึงไม่น่าจะมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ เพราะถือว่าเป็นเจ้าของรวมซึ่งภริยามีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1319/2501 และ 541/2509 ซึ่งวินิจฉัยว่า ภริยาถูกฟ้องแพ้คดี โจทก์ยึดทรัพย์ที่เป็นสินสมรสได้ สามีจะร้องขัดทรัพย์มิได้ ได้แต่เพียงขอกันส่วนของตนเท่านั้น นอกจากนี้ คำพิพากษาฎีกาที่ 928/2503 ก็วินิจฉัยอย่างเดียวกัน เพียงแต่ทรัพย์ที่ถูกยึดได้ความว่าเป็นสินบริคณห์เท่านั้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าสินบริคณห์นั้นเป็นสินเดิมหรือสินสมรส แต่ปรากฏจากคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องว่าเป็นสินบริคณห์ระหว่างผู้ร้องกับจำเลย จึงน่าจะเป็นสินสมรสมากกว่าสินเดิม แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีคำพิพากษาฎีกาก่อนนั้นวินิจฉัยไปในทางตรงกันข้าม คือ คำพิพากษาฎีกาที่ 1792/2492 และ 1902/2494 ซึ่งวินิจฉัยว่าหนี้ที่ภริยาก่อขึ้นโดยสามีมิได้รู้เห็นยินยอมอนุญาต และสามีได้บอกล้างแล้วนั้น เจ้าหนี้จะยึดสินบริคณห์ทั้งหมดมาชำระหนี้มิได้ เจ้าหนี้ต้องขอแบ่งแยกสินบริคณห์ของภริยาตามมาตรา 1483 ถ้าเจ้าหนี้ไม่ขอแบ่งแยก ศาลจะแบ่งมิได้ แนววินิจฉัยตามคำพิพากษาฎีกาเหล่านี้น่าจะต้องถือว่าถูกทับโดยคำพิพากษาฎีกาฉบับหลัง ๆ แล้ว
        อย่างไรก็ตาม แม้สามีจะร้องขัดทรัพย์สินสมรสที่ถูกยึดมิได้ก็ตาม แต่เจ้าหนี้ของภริยาก็ไม่อาจได้รับชำระหนี้จากสินสมรสนั้นทั้งหมด (เว้นแต่จะเป็นหนี้ร่วมตามมาตรา 1482) คงมีสิทธิเพียงร้องขอต่อศาลให้แยกสินบริคณห์ออกเป็นส่วนของลูกหนี้ เพื่อดำเนินการไปตามคำพิพากษาตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1483 เท่านั้น ปัญหาจึงมีว่า การที่มาตรา 1483 ให้เจ้าหนี้เป็นฝ่ายขอแยกสินบริคณห์นั้น จะหมายความว่าให้แยกสินบริคณห์ออกเป็นส่วนสัดเสียก่อนแล้วจึงจะยึดได้ หรือมีสิทธิยึดสินบริคณห์ทั้งหมดนำออกขายทอดตลาดแล้วจึงขอแยกตอนจะนำเงินที่ขายทอดตลาดได้นี้มาชำระหนี้ เฉพาะสินเดิมนั้น น่าจะไม่มีปัญหา เพราะได้กล่าวมาแล้วว่าไม่ถือเป็นทรัพย์สินรวมของสามีหรือภริยา ฉะนั้นถ้าหนี้นั้นมิใช่หนี้ร่วมแล้ว เจ้าหนี้จะยึดสินเดิมของสามีหรือภริยาที่มิได้ถูกฟ้องด้วยมิได้ ถ้ายึดมา สามีหรือภริยาเจ้าของสินเดิมย่อมมีอำนาจร้องขัดทรัพย์ได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 460/2507 และ 6/2509 ดังกล่าวมาแล้ว แต่ถ้าเป็นสินสมรส ก็จะเกิดปัญหาการแยกได้ว่า เจ้าหนี้จะต้องขอแยกก่อนยึดสินสมรสหรือไม่ ถ้าแปลความว่าเจ้าหนี้ต้องขอแยกก่อนยึดแล้ว หากไปยึดเสียก่อน สามีหรือภริยาที่มิได้ถูกฟ้องด้วยก็น่าจะมีสิทธิร้องขัดทรัพย์เฉพาะส่วนของตนได้ แต่ถ้าแปลว่ามีสิทธิขอแยกตอนของรับชำระหนี้หลังจากขายทอดตลาดแล้ว สามีหรือภริยาที่มิได้ถูกฟ้องด้วย ก็จะร้องขัดทรัพย์มิได้ ได้แต่เพียงขอรับส่วนแบ่งของตน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 เท่านั้น
        เนื่องจากมีคำพิพากษาฎีกาที่ 1315/2501, 928/2503 และ 541/2509 ดังกล่าวมาแล้วได้วินิจฉัยว่า สามีจะร้องขัดทรัพย์มิได้ ฉะนั้นหากจะแปลว่าการขอแยกสินสมรสต้องร้องขอก่อนยึดแล้ว ย่อมจะขัดกับคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว และถ้อยคำตามมาตรา 1483 ก็มิได้บัญญัติชัดแจ้งว่าต้องขอแยกก่อนยึดทรัพย์ เพราะใช้ถ้อยคำว่า (เจ้าหนี้อาจร้องขอต่อศาลให้แยกสินบริคณห์ออกเป็นส่วนของลูกหนี้ เพื่อดำเนินการไปตามคำพิพากษาได้) ฉะนั้นเมื่อมีคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวว่า สามีร้องขัดทรัพย์สินสมรสมิได้ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 การร้องขัดทรัพย์จะทำได้แต่เฉพาะมีข้ออ้างว่า จำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษามิใช่เจ้าของทรัพย์สินที่ยึดเท่านั้น เข้าหลักที่ว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมร่วมกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินรวมนั้นแล้วน่าจะต้องแปลมาตรา 1483 ว่า การร้องขอแยกสินสมรสของเจ้าหนี้นั้นอาจกระทำหลังจากที่ได้มีการขายทอดตลาด ตอนจะนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาก็ได้ ฉะนั้นเจ้าหนี้จึงมีสิทธิยึดสินสมรสได้ โดยสามีหรือภริยาที่มิได้ถูกฟ้องด้วยไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์
        แต่ถ้าสามีหรือภริยาได้หย่าขาดจากกัน และได้แบ่งทรัพย์สินก่อนที่จะมีการยึดทรัพย์แล้ว ก็ต้องถือว่สินสมรสได้แยกออกเป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละฝ่ายโดยเด็ดขาด ไม่เป็นทรัพย์สินรวมอีกต่อไป หากเจ้าหนี้ไปยึดทรัพย์สินที่แบ่งไปแล้วของอีกฝ่ายหนึ่งเข้า เจ้าของทรัพย์สินจึงมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 749/2483 ที่ว่าหนี้สินที่เกิดระหว่างเป็นสามีภริยากัน ถ้าเจ้าหนี้ร้องเรียกหนี้จากสามีผู้เดียว เมื่อสามีภริยาได้หย่าขาดจากกันแล้ว เจ้าหนี้ของสามีจะยึดทรัพย์สินของภริยาด้วยไม่ได้
        การให้การต่อสู้คำร้องขัดทรัพย์ที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นต่อศาลนั้น มิใช่การฟ้องคดี ฉะนั้นแม้บุตรจะยึดทรัพย์สินของมารดาเลี้ยง และบิดาของบุตรนั้นร้องขัดทรัพย์ บุตรก็มีสิทธิต่อสู้กับบิดาว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นของมารดาเลี้ยงได้ ไม่เป็นอุทลุมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534
        การยึดทรัพย์ก็ดี การร้องขัดทรัพย์ก็ดี ถ้ากระทำโดยสุจริต มิได้เจตนาจะกลั่นแกล้งให้เจ้าของทรัพย์เสียหายแล้ว ย่อมไม่เป็นละเมิด ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 960/2485 ซึ่งวินิจฉัยว่าศาลสั่งให้ขายทอดตลาดที่ดิน โจทก์ยื่นคำร้องเมื่อโจทก์เป็นทายาทขอแบ่งมรดก ศาลสั่งให้ร้องขัดทรัพย์เข้ามา โจทก์มิได้จัดการอย่างใด จนศาลได้ขายที่ดินไปแล้ว โจทก์จะฟ้องผู้นำยึดทรัพย์ว่าทำละเมิดมิได้ และถือว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต และคำพิพากษาฎีกาที่ 376/2481 วินิจฉัยว่า เพียงแต่ศาลยกคำร้องขัดทรัพย์ เมื่อไม่ปรากฏว่าการร้องขัดทรัพย์นั้นทำลงโดยไม่สุจริต จงใจทำให้โจทก์เสียหายแต่ฝ่ายเดียวแล้ว ย่อมไม่ถือเป็นการทำละเมิด
        ในการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ผู้ที่อ้างว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่เป็นของตนหรือตนมีส่วนได้เสีย ย่อมมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ดังกล่าวมาแล้ว แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าทรัพย์นั้นเดิมเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ลูกหนี้นั้นได้โอนให้ผู้ร้องขัดทรัพย์โดยสมยอมอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 แล้ว มีปัญหาว่า ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดปัญหานี้ไปในคดีร้องขัดทรัพย์ได้หรือไม่ หรือจะต้องไปฟ้องผู้ร้องขัดทรัพย์ และจำเลยให้เพิกถอนการโอนเสียก่อน ปัญหานี้ได้มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยเป็นแนวทางตลอดมาว่า เมื่อมีผู้ร้องขัดทรัพย์ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบจะอ้างได้ว่า การโอนทรัพย์ให้ผู้ร้องขัดทรัพย์นั้นเป็นการสมยอม ทำให้ตนเสียเปรียบ ขอให้ยกคำร้อง และศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหานี้ได้โดยไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนก่อน (คำพิพากษาฎีกาที่ 181/2481, 660/2481, 254/2482, 1367/2492 และ 1151 – 1152/2503 ฯลฯ)
        การร้องขัดทรัพย์นี้ จะต้องร้องเสียภายในกำหนดเวลาตามที่มาตรา 288 บัญญัติไว้ มิใช่ว่าจะร้องตามชอบใจเมื่อใดก็ได้ ตามมาตรา 288 ผู้ร้องขัดทรัพย์จะต้องร้องเสียก่อนที่จะเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น ที่กฎหมายบัญญัติเช่นนี้ เพราะถ้าศาลขายทอดตลาดทรัพย์นั้นไปแล้ว ผู้ซื้อย่อมได้ทรัพย์สินนั้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 โดยไม่ต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ ฉะนั้นการที่จะร้องให้ปล่อยทรัพย์จึงต้องร้องเสียก่อนนั้น
        เกี่ยวกับการร้องขัดทรัพย์นี้ นอกจากจะศึกษาจาก มาตรา 288 แล้ว ในบางกรณียังต้องพิจารณามาตรา 287 ประกอบด้วย เช่น ในกรณีที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความจะโอนทรัพย์ให้ผู้อื่น และศาลได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแล้ว หรือศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยโอนทรัพย์ให้โจทก์ แต่จำเลยยังไม่ทันโอนทรัพย์นั้นให้โจทก์ ต่อมาเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยอีกคดีหนึ่งมายึดทรัพย์นั้น ดังนี้แม้ทรัพย์นั้นจะยังเป็นของจำเลยอยู่ เพราะจำเลยยังมิได้โอนให้ผู้อื่นตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือยังมิได้โอนให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาก็ตาม ผู้อื่นหรือโจทก์นั้นก็มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ แต่มิใช่อาศัยมาตรา 288 หากอาศัยมาตรา 287 แห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งบัญญัติว่า การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินตามคำพิพากษาของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่วถึงบุริมสิทธิ หรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินได้ตามกฎหมาย ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 737/2511, 739/2511 และ 680/2512 ทั้งนี้เพราะถือว่าสิทธิที่จะได้รับโอนทรัพย์ตามคำพิพากษานั้น ถ้าทรัพย์นั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็ถือเป็นสิทธิที่จะได้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ซึ่งกรณีจะอ้างมาตรา 1300 มิได้ ก็น่าจะถือว่าเป็นสิทธิที่จะบังคับคดีได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ฉะนั้นการบังคับคดีของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงจะกระทบกระทั่งสิทธิของบุคคลภายนอกเช่นว่านี้มิได้.

ขอขอบคุณข้อมุลจาก
www.lawonline.co.th
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น