บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สรุปกฎหมายละเมิด


สรุปกฎหมายละเมิด

หลักเกณฑ์การละเมิด
ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น (มาตรา ๔๒๐)
องค์ประกอบของการทำละเมิด
๑. จงใจหรือประมาทเลินเล่อ
ข้อสังเกต
(๑.๑) ข้าราชการได้รับมอบหมายให้อยู่เวรรักษาราชการ ปรากฏว่ามีทรัพย์สินของราชการหายไประหว่างอยู่เวรในในขณะนอนหลับไม่ถือว่าข้าราชการนั้นจงใจหรือประมาทเลินเล่อ หรือแม้จะได้รับมอบหมายให้มาอยู่เวรแต่ไม่มาอยู่เวร หากทรัพย์สินของทางราชการหายไปไม่ใช่เหตุโดยตรงทำให้ทรัพย์สินถูกลัก แต่ถ้าข้าราชการมีหน้าที่เป็นเวรรักษาความปลอดภัย ไม่ได้อยู่เวร เป็นเหตุให้ทรัพย์สินหายถือว่าเป็นเหตุโดยตรงที่จะต้องรับผิด
(๑.๒) กรณีที่ข้าราชการทุจริต ผู้บังคับบัญชาจะต้องร่วมรับผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าผู้บังคับบัญชาจงใจหรือประมาทเลินเล่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำทุจริตหรือไม่ตามมาตรา ๔๒๐ เช่น ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของทางราชการ หรือไม่ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของทางราชการจนเป็นเหตุให้ผู้ใต้บังคับบัญชายักยอกเงินไป หรือว่าผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของทางราชการซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายได้แต่ก็มิได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปทราบในทันที กลับปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุจริตเงินของทางราชการ เป็นการกระทำโดยละเมิด เป็นต้น
ความยินยอมไม่เป็นละเมิด
ในกรณีที่ผู้เสียหายยินยอมให้กระทำหรือเสี่ยงเข้ารับความเสียหายนั้นเอง ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายที่ยินยอมนั้นได้รับความเสียหาย จึงไม่เป็นละเมิด แต่ทั้งนี้ตามกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมได้กำหนดว่า ความตกลงหรือยินยอมของผู้เสียหายสำหรับการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จะนำมาอ้างเป็นเหตุยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเพื่อละเมิดมิได้ ดังนั้น ความยินยอมของผู้เสียหายที่ให้ผู้อื่นทำร้ายร่างกายถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงเป็นละเมิด
ข้อสังเกต
(๑) ความยินยอมจะยกเลิกเมื่อใดก็ได้
(๒) ปลูกสร้างรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยเจ้าของที่ดินยินยอม ไม่เป็นการละเมิด แต่ความยินยอมไม่ผูกพันผู้รับโอนที่ดินคนต่อมา เจ้าของที่ดินผู้รับโอนจึงขอให้ผู้ปลูกสร้างรื้อถอนรั้วออกไปได้ ถ้าไม่รื้อถอนออกไปก็เป็นละเมิด
(๓) หญิงยินยอมร่วมประเวณีกับชายโดยถูกชายหลอกลวงว่าจะเลี้ยงดูเป็นภริยา ไม่เป็นละเมิด
การใช้สิทธิเกินส่วน
การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น เป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา ๔๒๑)
ข้อสังเกต การปลูกอาคารสูงบังบ้านที่อยู่ใกล้เคียงจนไม่ได้รับลมและแสงสว่างจากภายนอกพอสมควร เป็นละเมิด แต่ถ้าเป็นย่านการค้าที่มีความเจริญมาก ที่ดินมีราคาแพง แม้จะปลูกสร้างอาคารสูงบังบ้านผู้อื่น ก็ถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามควรแก่สภาพที่ตั้งที่ดินนั้น ไม่เป็นละเมิด
ความเสียหายเกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมายที่ปกป้องผู้อื่น
ถ้าความเสียหายเกิดแต่การฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายใดอันมีที่ประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่นๆ ผู้ใดทำการฝ่าฝืนเช่นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นผู้ผิด (มาตรา ๔๒๒)
ข้อสังเกต กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก เป็นกฎหมายที่มุ่งประสงค์จะคุ้มครองบุคคลอื่นๆ
หมิ่นประมาท
ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้ และผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความเท็จ หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว เพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ (มาตรา ๔๒๓)
ความรับผิดของนายจ้าง
นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น (มาตรา ๔๒๕)
ข้อสังเกต
(๑) สัญญาระหว่างนายจ้างและลูกจ้างต้องเป็นสัญญาจ้างแรงงานไม่ใช่สัญญาจ้างทำของ
(๒) กรณีลูกจ้างทำละเมิดแล้ว ลูกจ้างได้ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้เสียหาย การทำสัญญาดังกล่าวเป็นผลทำให้มูลหนี้ละเมิดระงับไปตามมาตรา ๘๕๒ ความรับผิดของนายจ้างตามมาตรา ๔๒๕ ย่อมระงับไปด้วย
(๓) ลูกจ้างที่มีหน้าที่ขับรถในกิจการของนายจ้าง ถ้าได้ขับรถออกนอกเส้นทางไป ก็ยังถือว่าอยู่ในทางการที่จ้าง ในกรณีลูกจ้างเปลี่ยนเส้นทางเดินรถก็ยังอยู่ในทางการที่จ้าง
(๔) ลูกจ้างนำรถกลับคืนสู่ความครอบครองของนายจ้างแล้ว แม้จะยังไม่ได้นำไปเก็บเข้าที่ลานจอดรถก็ตาม หากลูกจ้างได้นำรถออกไปใช้จนเกิดเหตุละเมิด ถือว่าเป็นกิจส่วนตัวของลูกจ้าง ไม่ใช่กระทำไปในทางการที่จ้าง
(๕) นายจ้างยินยอมให้ลูกจ้างนำรถไปใช้ในวันหยุดหรือนอกเวลาทำงานได้เมื่อลูกจ้างขับรถไปในวันหยุดก็ถือว่าอยู่ในทางการที่จ้าง
(๖) ในกรณีที่ลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถยนต์ ได้ใช้หรือมอบหมายให้ผู้อื่นขับรถแทนตน ก็ยังถือว่าอยู่ในทางการที่จ้างของนายจ้าง เพราะการมอบหมายดังกล่าวก็ต้องอยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง
นายจ้างมีสิทธิไล่เบี้ยลูกจ้าง
นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น นายจ้างจึงชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น (มาตรา ๔๒๖)
ข้อสังเกต
(๑) สิทธิของนายจ้างที่จะไล่เบี้ยจากลูกจ้าง นายจ้างต้องได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายไปแล้วจึงจะมีสิทธิไล่เบี้ยเอากับลูกจ้าง หากยังไม่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ยังไม่มีสิทธิไล่เบี้ย
(๒) อายุความไล่เบี้ยของนายจ้างต่อลูกจ้างตามมาตรา ๔๒๖ ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๙๓/๓๐
ความรับผิดของตัวการ
มาตรา ๔๒๗ บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม (กรณีตัวการตัวแทนก็นำเรื่องนายจ้างลูกจ้างมาใช้ด้วย)
ข้อสังเกต
(๑) เป็นเรื่องที่ตัวการตั้งตัวแทนให้ไปติดต่อหรือสัมพันธ์กับบุคคลที่ ๓ หากไม่มีการให้ไปติดต่อหรือสัมพันธ์กับบุคคลที่ ๓ ก็ไม่มีความสัมพันธ์เป็นตัวการตัวแทนไม่ต้องรับผิดตามมาตรานี้
(๒) ใช้ให้ขับรถไปทำกิจการของผู้ใช้ถือว่าผู้ถูกใช้เป็นตัวแทนของผู้ใช้โดยปริยาย เมื่อผู้ถูกใช้ขับรถไปชนรถผู้อื่น ผู้ใช้ต้องรับผิดตามมาตรานี้
(๓) ใช้ให้ผู้อื่นขับรถหรือเรือโดยผู้ใช้นั่งไปด้วยถือว่าผู้ถูกใช้เป็นตัวแทนโดยปริยาย
ความรับผิดของผู้ว่าจ้างทำของ
ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง (มาตรา ๔๒๘)
ข้อสังเกต
(๑) จ้างให่ฝังเสาเข็มโดยไม่ได้กำหนดวิธีการฝังเสาเข็มไว้ เมื่อผู้รับจ้างตอกเสาเข็มก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งปลูกสร้างข้างเคียง ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดแต่ถ้าผู้ว่าจ้างเลือกจ้างให้ผู้รับจ้างฝังเสาเข็มโดยวิธีการตอกเสาเข็มเพราะเห็นว่าเสียค่าใช้จ่ายน้อย ถ้าเกิดความเสียหายแก่ที่ดินข้างเคียง ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดเพราะการงานที่สั่งให้ทำ หรือหากผู้ว่าจ้างเป็นผู้ควบคุมการตอกเสาเข็มเองผู้ว่าจ้างก็ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดเช่นกัน
(๒) ถ้าตามสัญญาจ้างทำของมีข้อสัญญาว่าหากผู้รับจ้างไม่ทำตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง ให้ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาได้และผู้ว่าจ้างได้ไปควบคุมการทำงานด้วย ถือว่าผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดร่วมด้วย
ความรับผิดของบิดามารดา ผู้อนุบาล
บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น (มาตรา ๔๒๙)
ข้อสังเกต
(๑) ต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงจะนำมาตรา ๔๒๙ มาใช้บังคับ ถ้าเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายถือว่าเป็นผู้ดูแลผู้เยาว์ต้องบังคับตามมาตรา ๔๓๐
(๒) เห็นบุตรถือปืนเพียงแต่ได้ว่ากล่าวตักเตือนให้บุตรนำปืนไปเก็บไว้เท่านั้น ถือว่าไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
(๓) บิดาเคยห้ามบุตรไม่ให้เอารถออกไปใช้และเก็บลูกกุญแจรถไว้ที่สูง แต่บุตรรู้ที่เก็บจึงลักเอากุญแจนำรถไปขับเล่นแล้วเกิดละเมิด ถือว่าบิดาไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
(๔) กรณีที่ผู้เยาว์ไปกระทำการซึ่งบิดามารดาไม่รู้มาก่อนหรือไม่อาจคาดหมายได้ว่าผู้เยาว์จะไปทำการนั้น ทำให้บิดามารดาไม่มีโอกาสได้ทักท้ายว่ากล่าวตักเตือนได้ ถือว่าบิดามารดาได้ใช้ความระมัดระวังดูแลผู้เยาว์ตามสมควรแล้ว เช่น ผู้เยาว์ไปฉุดคร่าหญิงอื่นมาหรือผู้เยาว์ขับรถยนต์ของผู้อื่นจนเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็มีคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๗๗๔/๒๕๔๔ ที่วินิจฉัยว่าการที่ผู้เยาว์ไปกระทำละเมิดที่อื่นโดยบิดามารดาไม่รู้เห็นด้วย บิดามารดาไม่อาจยกขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้
ความรับผิดของครู อาจารย์ นายจ้าง หรือผู้รับดูแล
ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร (มาตรา ๔๓๐)
ข้อสังเกต กรณีอ้างเหตุยกเว้นความผิดตามมาตรานี้แตกต่างจากมาตรา ๔๒๙ เนื่องจากมาตรา ๔๓๐ เป็นหน้าที่ของผู้ถูกทำละเมิดจะต้องพิสูจน์ ส่วนมาตรา ๔๒๙ ผู้ทำละเมิดต้องเป็นผู้พิสูจน์
การทำละเมิดร่วมกัน
มาตรา ๔๓๒ ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้นคนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย
อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย
ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่า ต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น
ข้อสังเกต
(๑) ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องให้ผู้ทำละเมิดคนใดคนหนึ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้อย่างสิ้นเชิงโดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ละเมิดคนที่ถูกฟ้องมีส่วนทำให้เกิดความเสียหายมากน้อยแค่ไหน เมื่อผู้ที่ถูกฟ้องได้ชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายไปแล้วย่อมรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยแก่ผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นได้ตามส่วน
(๒) กรณีที่ต่างคนต่างทำละเมิดโดยมิได้ร่วมกันหรือในทางพิจารณาฟังไม่ได้ว่าร่วมกันละเมิด ผู้ทำละเมิดแต่ละคนย่อมรับผิดเฉพาะการกระทำของตน แม้จะถือว่าความตายหรือบาดเจ็บของผู้เสียหายเกิดจากผลของการกระทำของผู้ทำละเมิดทุกคนร่วมกันและไม่อาจแบ่งแยกกันได้ก็ตาม แต่ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งต้องชดใช้กันเป็นเงินสามารถแบ่งกันรับผิดได้ ผู้ทำละเมิดคนใดจะต้องรับผิดเพียงใดต้องพิจารณาตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามมาตรา ๔๓๘
ความเสียหายอันเกิดจากสัตว์
มาตรา ๔๓๓ ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น
อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้นๆ ก็ได้
ข้อสังเกต
(๑) ในกรณีที่มีผู้รับเลี้ยงรับรักษาสัตว์โดยเจ้าของไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ผู้รับเลี้ยงรับรักษาจะต้องรับผิดแต่ผู้เดียว เจ้าของไม่ต้องรับผิดด้วย แต่ถ้าผู้ที่เลี้ยงรับรักษาเป็นการทำแทนเจ้าของทรัพย์ เจ้าของไม่พ้นความรับผิด
คำพิพากษฎีกาที่ ๑๐๖๗/๒๔๙๖ มารดาเป็นเจ้าของช้างแต่บุตรเป็นผู้ดูแลรักษาช้างนั้นไว้แทนมารดา และบุตรยังได้จ้างลูกจ้างให้เป็นควานและเป็นผู้เลี้ยงรักษาช้างนั้นเมื่อเกิดการละเมิด โดยลูกจ้างปล่อยปละประมาทเลินเล่อไม่ระมัดระวังช้างเป็นเหตุให้ช้างไปทำลายสิ่งของของผู้อื่นเสียหายเช่นนี้ บุตรกับลูกจ้างต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เขา แต่มารดาผู้เป็นเจ้าของช้างไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๐๖/๒๕๑๐ ขณะเกิดเหตุโจทก์กำลังทำงานบังคับช้างของโจทก์ให้ลากซุงลงเนินอยู่ ลูกช้างของจำเลยผละจากช้างพังซึ่งเป็นแม่ของมันไปที่ช้างของโจทก์ ซึ่งเป็นช้างพังแล้วเข้าทำร้ายโจทก์ โดยในขณะนั้นผู้เลี้ยงรักษาลูกช้างก็อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร เมื่อลูกช้างวิ่งเข้าทำร้ายโจทก์แล้วจึงได้วิ่งไปบอกให้ลูกช้างถอย นับว่านายสายผู้เลี้ยงรักษาลูกช้างมิได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควร และฟังว่าการที่นายสายเอาช้างจำเลยไปรับจ้างลากไม้ในคราวนี้โดยจำเลยใช้ให้ไป จึงเป็นการที่นายสายทำแทนจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดในการกระทำของนายสาย และใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๔๒๗ และ ๔๓๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(๒) สุนัขของจำเลยหลบหนีออกไปได้ขณะที่จำเลยเปิดประตูบ้าน สุนัขจึงวิ่งออกไปกัดโจทก์ แสดงว่าจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรในการเลี้ยงดูสุนัข จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์รวมทั้งทดแทนความตกใจและความทุกข์ทรมานอันเนื่องมาจากการถูกสุนัขของจำเลยกัดด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๘๘/๒๕๒๓)
ความเสียหายเกิดจากโรงเรือนฯ
มาตรา ๔๓๔ ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูสร้างนั้นๆ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย
ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคข้างต้นนั้น ถ้ายังมีผู้อื่นอีกที่ต้องรับผิดชอบในการก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วยไซร้ ท่านว่าผู้ครองหรือเจ้าของจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้นั้นก็ได้
ข้อสังเกต
(๑) การที่ท่อน้ำจากดาดฟ้าของโรงเรือนชำรุดบกพร่อง ทำให้ท่อแตกน้ำไหลลงมาก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น ถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากโรงเรือน (เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ส่วนใดส่วนหนึ่งของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างก็ไม่เข้ามาตรานี้ แต่อาจเข้ามาตรา ๔๓๖)
(๒) ในกรณีที่เจ้าของและผู้ครอบครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นคนละคนกัน ถ้าผู้ครอบครองต้องรับผิดแล้ว เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างก็ไม่ต้องรับผิด แต่ทั้งนี้ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายแล้ว ผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา ๔๓๔ วรรคหนึ่งตอนท้าย
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากของตกหล่นจากโรงเรือน
มาตรา ๔๓๖ บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนนั้น หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร
ข้อสังเกต
(๑) บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือน หมายถึง เฉพาะผู้ที่มีอำนาจควบคุมดูแลหรือบังคับบัญชาบุคคลอื่นในโรงเรือนนั้น ไม่รวมถึงผู้ที่อาศัยในบ้านในฐานะคนรับใช้หรือแขกที่มาพักอาศัยด้วย
(๒) ต้องเป็นของที่ตกหล่นจากโรงเรือนเท่านั้น ไม่รวมถึงของที่ตกหล่นจากต้นไม้
(๓) ของที่ตกหล่นต้องไม่ใช่ส่วนใดส่วนหนึ่งของโรงเรือนเพราะถ้าเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของโรงเรือน เป็นกรณีโรงเรือนชำรุดบกพร่องผู้ครองโรงเรือนต้องรับผิดตามมาตรา ๔๓๔ ไม่ใช่มาตรา ๔๓๖
(๔) การทำให้ของตกหล่นหรือทิ้งขว้างไม่จำต้องเกิดจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ได้ ถ้ามีการจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ต้องรับผิดตามมาตรา ๔๒๐
ความเสียหายที่เกิดจากยานพาหนะ
มาตรา ๔๓๗ บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง
ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตน ซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ หรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย
ข้อสังเกต
(๑) ผู้รับผิดตามมาตรานี้ ต้องเป็นผู้ครอบครองยานพาหนะในขณะเกิดเหตุ ในกรณีเจ้าของรถยนต์หากไม่ได้ขับหรือโดยสารรถยนต์ไปในขณะเกิดเหตุด้วยไม่ถือว่าเป็นผู้ครอบครองตามมาตรานี้ จึงไม่ต้องรับผิด
(๒) ในกรณีเจ้าของรถยนต์ต้องร่วมรับผิดกับบุคคลอื่นในผลแห่งการละเมิด ต้องเป็นกรณีผู้กระทำละเมิดเป็นลูกจ้าง (มาตรา ๔๒๕) หรือตัวแทนของเจ้าของรถยนต์ (๔๒๗) หรือเจ้าของรถยนต์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ขณะเกิดเหตุโดยเจ้าของรถยนต์โดยสารไปด้วย (มาตรา ๔๓๗)
(๓) กรณีแม้เจ้าของรถยนต์จะนั่งไปด้วยโดยมีผู้อื่นเป็นผู้ขับ แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าของรถเมาสุรานอนหลับอยู่ในรถ ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมยานพาหนะ
(๔) กรณีเช่าซื้อรถยนต์แม้ผู้ให้เช่าซื้อจะเป็นเจ้าของรถยนต์ก็ตาม แต่ก็มิใช่ผู้ครอบครองหรือควบคุมยานพาหนะนั้น ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากรถยนต์นั้น (ผู้เช่าซื้อถือว่าเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์แต่ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ใช่ผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในขณะเกิดเหตุ ผู้เช่าซื้อก็ไม่ต้องรับผิดเช่นกัน)
ข้อสังเกต เจ้าของรถยนต์หรือผู้เช่าซื้ออาจจะต้องรับผิดในฐานะนายจ้างหรือตัวการตามมาตรา ๔๒๕ และ ๔๒๗ ได้
(๕) มาตรา ๔๓๗ ต้องเป็นกรณีที่ยานพาหนะของฝ่ายหนึ่งเดินด้วยเครื่องจักรกลอีกฝ่ายหนึ่งไม่ใช่ หากเป็นยานพาหนะที่เดินด้วยเครื่องจักรกลทั้งคู่ ก็ไม่ใช่กรณีตามมาตรา ๔๓๗ แต่เป็นกรณีตามมาตรา ๔๒๐ (ถ้าคันหนึ่งเดินด้วยเครื่องจักรกลอีกคันหนึ่งจอดไว้เฉยๆ เช่นนี้ก็น่าที่จะเข้ามาตรา ๔๓๗ ได้เช่นกัน)
(๖) ไฟฟ้าเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายโดยสภาพ หากไฟไหม้อันเนื่องมาจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ผู้เช่าบ้านถือว่าเป็นผู้ครอบครองไฟฟ้าจึงต้องรับผิด แต่ถ้าเป็นกรณีไฟฟ้าที่พาดสายไปตามถนนผู้ครอบครองคือผู้จำหน่ายไฟฟ้า แต่ถ้าได้ต่อสายไฟฟ้าเข้าไปยังสถานที่ของผู้ใช้ไฟฟ้า ดังนี้ ถือว่าสายไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของผู้ใช้ไฟฟ้าแล้ว หากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับผิดชอบ
(๗) แท่นไฮดรอลิกเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายได้โดยสภาพผู้ครอบครองจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์นั้น
(๘) เครื่องบินเป็นยานพาหนะที่เดินด้วยเครื่องจักรกล
ค่าสินไหมทดแทน
มาตรา ๔๓๘ ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
ข้อสังเกต
(๑) ความเสียหายที่ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดต้องเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิด
(๑.๑) กรณีที่ไม่เป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการกระทำละเมิด เช่น ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่ารถในการพาพยานไปให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน ค่าจ้างทนายความ เป็นต้น
(๑.๒) กรณีที่เป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการกระทำละเมิด เช่น ค่ายานพาหนะไปกลับโรงพยาบาลเพื่อรักษาแผลที่ถูกทำละเมิด ค่าจ้างรถนั่งไปทำงานเพราะเดินไม่ได้ เป็นต้น
(๒) การใช้ราคาทรัพย์สินที่เสียหายจากเหตุละเมิดต้องคำนวณราคาทรัพย์โดยคิดราคาในขณะเกิดเหตุละเมิด ไม่ใช่คิดจากราคาที่ซื้อเดิม
การใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ครองสังหาริมทรัพย์
มาตรา ๔๔๑ ถ้าบุคคลจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ เพราะเอาสังหาริมทรัพย์ของเขาไปก็ดี หรือเพราะทำของเขาให้บุบสลายก็ดี เมื่อใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลซึ่งเป็นผู้ครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะที่เอาไป หรือขณะที่ทำให้บุบสลายนั้นแล้ว ท่านว่าเป็นอันหลุดพ้นไปเพราะการที่ได้ใช้ให้เช่นนั้น แม้กระทั่งบุคคลภายนอกจะเป็นเจ้าของทรัพย์หรือมีสิทธิอย่างอื่นเหนือทรัพย์นั้น เว้นแต่สิทธิของบุคคลภายนอกเช่นนั้นจะเป็นที่รู้อยู่แก่ตนหรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน
ข้อสังเกต
(๑) เมื่อผู้ครอบครองทรัพย์มีสิทธิรับค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิด ผู้ครองทรัพย์ย่อมมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความได้มีผลให้หนี้ละเมิดระงับไป
(๒) มาตรา ๔๔๑ นี้ ต้องเป็นการละเมิดต่อสังหาริมทรัพย์ไม่รวมถึงการทำละเมิดต่ออสังหาริมทรัพย์ โดยจะต้องเป็นการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ครอบครองสังหาริมทรัพย์ที่ถูกทำละเมิดนั้น และถ้าผู้ทำละเมิดรู้อยู่แล้วว่าผู้ครอบครองสังหาริมทรัพย์นั้นไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงหรือไม่รู้ถึงสิทธิดังกล่าวเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การใช้ค่าสินไหมทดแทนไปนั้นย่อมไม่ทำให้หนี้ระงับไปแต่อย่างใด
(๓) ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะผู้เสียหายมีส่วนรับผิดอยู่ด้วย การใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องดูพฤติการณ์เป็นประมาณว่าฝ่ายใดก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากัน (มาตรา ๔๔๒ ประกอบมาตรา ๒๒๓) ถ้าทั้งสองฝ่ายประมาทพอๆ กัน ศาลฎีกามักวินิจฉัยว่า ให้ค่าสินไหมทดแทนเป็นพับกันไป ฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องจากอีกฝ่ายไม่ได้ แต่ถ้าผู้เสียหายเป็นเพียงผู้ที่นั่งโดยสารมาเท่านั้นโดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุประมาทด้วย จึงอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา ๔๔๒
ค่าสินไหมทดแทนในกรณีทำให้เขาตาย
๑. ค่าปลงศพ (มาตรา ๔๔๓ วรรคหนึ่ง)
๒. ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น (มาตรา ๔๔๓ วรรคหนึ่ง)
๓. ค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย (มาตรา ๔๔๓ วรรคสอง)
๔. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย (มาตรา ๔๔๓ วรรคสอง)
๕. ค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย (มาตรา ๔๔๓ วรรคสาม)
๖. ค่าขาดแรงงาน (มาตรา ๔๔๕)
ข้อสังเกต
(๑) จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนนอกเหนือจากนี้อีกไม่ได้ เช่น ค่าเสียหายทางจิตใจเพราะเกิดความว้าเหว่ หรือค่าเสียใจเพราะสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เป็นต้น
(๒) แม้ผู้ตายจะได้รับส่วนลดในการรักษาพยาบาลก็จะนำมาหักออกจากส่วนที่ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดไม่ได้
ค่าปลงศพ
(๑) ผู้ที่มีอำนาจจัดการศพเป็นไปตามมาตรา ๑๖๔๙
มาตรา ๑๖๔๙ ผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ตายตั้งไว้ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ในอันที่จะจัดการทำศพของผู้ตาย เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการดั่งว่านั้น
ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพ หรือทายาท มิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด เป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้น ในเมื่อบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอขึ้น
(๒) ผู้ที่ไปจัดการศพโดยไม่มีอำนาจหน้าที่จะฟ้องเรียกร้องค่าจัดการศพไม่ได้
(๓) บุตรนอกกฎหมายที่บิดามารดาที่บิดารับรองแล้วถือว่าเป็นผู้สืบสันดานของเจ้ามรดกมีสิทธิเรียกค่าปลงศพได้ แต่ไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู (เป็นสิทธิของบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น)
(๔) ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพ เช่น ค่าดอกไม้ ค่าบุหรี่ถวายพระ ค่าเดินทางของผู้มีหน้าที่ปลงศพ ค่าส่งศพกลับภูมิลำเนา ค่าหนังสือแจกในงานศพ ค่าของชำร่วย ค่าทำเจดีย์บรรจุอัฐิผู้ตายที่ใช้ตามสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้ตาย ค่าซื้อที่ฝังศพ ค่าเซ่นไหว้ ค่าอาหารเลี้ยงแขกที่ไปร่วมงานพิธีฝังศพซึ่งเป็นประเพณีจัดการศพของชาวจีนที่จ่ายไปตามสมควรแก่ฐานนานุรูป เป็นต้น แต่ถ้าเป็นค่าใช้จ่ายของญาติหรือแขกที่ไปร่วมงานศพ หรือค่าใช้จ่ายที่ญาติต้องเดินทางไปเคารพศพหลังทำพิธีศพแล้ว ค่าทำอนุสาวรีย์ไว้กระดูกผู้ตาย ค่าใช้จ่ายในการทำพิธีหลังงานศพ ค่าทำบุณครบ ๑๐๐ วัน ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพ
(๕) แม้จะมีบุคคลภายนอกนำเงินมาช่วยในงานศพก็ไม่ทำให้ความรับผิดของผู้ทำละเมิดหมดไปหรือลดน้อยลงไปได้ ผู้ทำละเมิดจึงจะนำเงินช่วยงานศพมาหักออกจากค่าสินไหมทดแทนไม่ได้ แม้จะเป็นเงินที่ผู้ทำละเมิดนำมาช่วยงานศพตามหลักมนุษย์ธรรมมิได้ให้ในฐานะเป็นค่าเสียหาย จะนำมาหักออกจากเงินค่าปลงศพที่ต้องรับผิดไม่ได้เช่นกัน
ค่าขาดไร้อุปการะ
ค่าขาดไร้อุปการะต้องเป็นค่าขาดไร้อุปการะตามที่กฎหมายกำหนด เช่น สามีภริยามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกัน (มาตรา ๑๔๖๑) หรือบิดามารดาต้องอุปาระเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ (มาตรา ๑๕๖๔) บิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่บรรลุนิติภาวะที่ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ (มาตรา ๑๕๖๔) บุตรต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (มาตรา ๑๕๖๓)
ค่าขาดแรงงาน
มาตรา ๔๔๕ ในกรณีทำให้เขาถึงตาย หรือให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมาย จะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่า บุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย
ข้อสังเกต มาตรานี้ต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างได้รับบาดเจ็บเพราะถ้าลูกจ้างถึงแก่ความตาย สัญญาจ้างย่อมระงับลง นายจ้างเรียกร้องตามมาตรานี้ไม่ได้
ค่าสินไหมทดแทนกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายและอนามัย (กรณีไม่ถึงแก่ความตาย)
๑. ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป (มาตรา ๔๔๔ วรรคหนึ่ง)
๒. ค่าเสียความสามารถประกอบการงานทั้งในปัจจุบันและในอนาคต (มาตรา ๔๔๔ วรรคหนึ่ง)
๓. ค่าขาดแรงงาน (มาตรา ๔๔๕)
๔. ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน (มาตรา ๔๔๖)
ข้อสังเกต
(๑) ค่าขาดประโยชน์ที่มารดาของผู้ถูกทำละเมิดไม่ได้ประกอบการงานเพราะต้องมาดูแลผู้ถูกทำละเมิด ไม่สามารถเรียกค่าเสียหายได้ตามมาตรานี้
(๒) ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป ได้แก่ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล ค่าพาหนะไปโรงพยาบาล ค่าแท็กซี่ที่นั่งไปทำงานเพราะเดินไม่ได้ ค่าโดยสารเครื่องบินไปต่างประเทศเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจรักษา ค่าที่ต้องผ่าตัดแก้ไขหลายครั้งเพราะแพทย์ผ่าตัดโดยประมาทเลินเล่อ ค่ารักษาอาการเครียดภายหลังการผ่าตัด แต่เงินที่จ่ายให้คณะแพทย์เป็นสินน้ำใจไม่ใช่ค่ารักษาพยาบาล
ข้อสังเกต กรณีที่ผู้เสียหายเบิกค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการแล้วก็ยังเรียกร้องเอาจากผู้ทำละเมิดได้อีกเพราะไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลย
(๓) ค่าเสียความสามรถประกอบการงานในอนาคตผู้ทำละเมิดต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำละเมิดซึ่งเป็นวันผิดนัด
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๒๐/๒๕๓๙ กรณีโจทก์ถูกทำละเมิดจนต้องกลายเป็นคนทุพพลภาพค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายในอนาคตค่าจ้างคนขับรถยนต์ตลอดชีวิตค่าเสียหายมิใช่ตัวเงินกรณีเสียโฉมและเสียบุคคลิกภาพค่าเสียความสามารถประกอบการงานในอนาคตและค่าทุกข์ทรมานเป็นหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งศาลกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับความเสียหายมาแล้วตั้งแต่วันทำละเมิดเมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินก้อนแม้จะขอค่าเสียหายที่คำนวณในอนาคตเข้ามาด้วยจำเลยก็ต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด
ค่าเสียหายที่ไม่เป็นตัวเงิน
ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่น อันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว อนึ่ง หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตนก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้ (มาตรา ๔๔๖)
ข้อสังเกต
(๑) เรียกได้เฉพาะกรณีที่เสียหายแก่ร่างกาย อนามัย และเสรีภาพเท่านั้น จะเรียกร้องค่าเสียหายในกรณีที่ทำให้ผู้กระทำละเมิดตายไม่ได้
(๒) ค่าเสียหายที่ไม่เป็นตัวเงิน เช่น การขาดความสะดวกหรือสำราญในชีวิตอันเรื่องมาจากร่างกายพิการหรือทุพพลภาพ หรือความรู้สึกทรมานจากบาดแผลที่ถูกทำละเมิด เป็นต้น
(๓) ค่าเสียหายที่ไม่เป็นตัวเงินเกิดขึ้นหลายกรณี ผู้เสียหายก็ฟ้องเรียกได้ทุกกรณี และศาลก็แยกคิดค่าเสียหายให้เป็นรายกรณีได้ไม่เป็นการซ้ำซ้อนกัน
(๔) ความเศร้าโศกเสียใจเป็นเพียงอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความเสียหายตามมาตรานี้ ไม่อาจเรียกร้องได้
การจัดการเพื่อให้ชื่อเสียงกลับคืนดี
บุคคลใดทำให้เขาต้องเสียหายแก่ชื่อเสียง เมื่อผู้ต้องเสียหายร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นจัดการตามควรเพื่อทำให้ชื่อเสียงของผู้นั้นกลับคืนดีแทนให้ใช้ค่าเสียหาย หรือทั้งให้ใช้ค่าเสียหายด้วยก็ได้ (มาตรา ๔๔๗)
อายุความ
สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น มีอายุความ ๑ ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้น ๑๐ ปี นับแต่วันทำละเมิด (มาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง) แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ (มาตรา ๔๔๘ วรรคสอง)
ข้อสังเกต
(๑) อายุความตามมาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง ใช้บังคับเฉพาะกรณีเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดเท่านั้น ถ้าไม่ใช่เรื่องฟ้องเรียกค่าเสียหายแล้ว ก็ไม่อยู่ในอายุความดังกล่าว
(๒) การใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืนจากผู้ที่ไม่มีสิทธิยึดถือไว้เป็นการใช้สิทธิตามาตรา ๑๓๓๖ ไม่ใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายตามมาตรา ๔๔๘ จึงไม่มีกำหนดอายุความ แต่ทั้งนี้ต้องได้ความว่าทรัพย์นั้นยังอยู่ในความครอบครองของผู้ทำละเมิด
(๓) การฟ้องขอให้รื้อถอนอาคารที่ปลูกสร้างรุกล้ำเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๑๓๓๖ จึงไม่มีกำหนดอายุความ
(๔) กรณีผู้เสียหายเป็นนิติบุคคล อายุความละเมิดต้องนับแต่วันที่ผู้มีอำนาจทำการแทนผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ไม่ใช่นับแต่วันที่พนักงานอื่นของผู้เสียหายรู้ เมื่อผู้แทนนิติบุคคลรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว แม้จะมีการสอบสวนเพิ่มเติมหรือให้คณะกรรมการพิจารณาอีก ก็ไม่ทำให้อายุความขยายออกไป
(๕) อายุความฟ้องผู้รับประกันภัยเกิดจากสัญญาประกันภัย จึงต้องนำอายุความ ๒ ปี ตามมาตรา ๘๘๒ มาใช้บังคับ แต่ถ้าผู้ถูกละเมิดฟ้องผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีเดียวกัน หากศาลฟังว่าฟ้องสำหรับผู้เอาประกันภัยขาดอายุความ ผู้รับประกันภัยค้ำจุนก็ไม่ต้องรับผิดด้วยตามมาตรา ๘๘๗
(๖) อายุความอาญาให้ถืออายุความตามมาตรา ๙๕ ไม่ใช่อายุความตามมาตรา ๙๖ ดังนั้น ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความตามมาตรา ๙๖ จึงไม่นำมาใช้บังคับ แต่ต้องนำอายุความอาญาทั่วไปตามมาตรา ๙๕ มาใช้บังคับ

ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ (พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙)
คำจำกัดความ (มาตรา ๔)
เจ้าหน้าที่ หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือฐานะอื่นใด
หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย
ผู้รับผิดในการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่
๑. กรณีกระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย
๑.๑ กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา ๕)
หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง
ข้อสังเกต ผู้เสียหายต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐแต่ห้ามฟ้องเจ้าหน้าที่
๑.๒ กระทำละเมิดโดยมิใช่กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา ๖)
ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการนั้นเป็นการเฉพาะตัว ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรงแต่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้
ข้อสังเกต ผู้เสียหายต้องฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐจะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้
๒. กรณีกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ
๒.๒ กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง)
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้ามิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อสังเกต รัฐฟ้องเรียกจากเจ้าหน้าที่ได้โดยจำกัด กล่าวคือ ฟ้องได้เฉพาะกรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้นและเรียกได้ไม่เต็มจำนวน
๒.๒ กระทำละเมิดโดยมิใช่กระทำในการปฏิบัติหน้าที่
ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ก็จะต้องบังคับตามหลักเรื่องละเมิดในทางแพ่งคือมาตรา ๔๒๐ , ๔๓๘ และ ๔๓๓-๔๓๗ และเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา ๔๓๘ เป็นต้นไป
ข้อสังเกต แม้จะเป็นการละเมิดโดยประมาทเลินเล่อธรรมดาก็ต้องรับผิดและเรียกได้เต็มความเสียหายโดยนำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ
การขอให้เรียกเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐเข้ามาเป็นคู่ความร่วม (มาตรา ๗ วรรคหนึ่ง)
ในคดีที่ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐ ถ้าหน่วยงานของรัฐเห็นว่า เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดหรือต้องร่วมรับผิด หรือในคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเจ้าหน้าที่ถ้าเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดหรือต้องร่วมรับผิด หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีสิทธิขอให้ศาลที่พิจารณาคดีนั้นอยู่เรียกเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐแล้วแต่กรณี เข้ามาเป็นคู่ความในคดี
ถ้าฟ้องผิดตัวให้ขยายอายุความออกไปอีก ๖ เดือน (มาตรา ๗ วรรคสอง)
ถ้าศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่ถูกฟ้องมิใช่ผู้ต้องรับผิด ให้ขยายอายุความฟ้องร้องผู้ที่ต้องรับผิดซึ่งมิได้ถูกเรียกเข้ามาในคดีออกไปถึง ๖ เดือนนับแต่วันที่คำพิพากษานั้นถึงที่สุด
หน่วยงานของรัฐฟ้องไล่เบี้ยเจ้าหน้าที่ (มาตรา ๘)
ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง สิทธิเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะมีได้เพียงใดให้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์โดยมิต้องให้ใช้เต็มจำนวนของความเสียหายก็ได้
ถ้าการละเมิดเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวม ให้หักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าวออกด้วย ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับและเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น
อายุความสิทธิไล่เบี้ยมี ๑ ปี (มาตรา ๙)
ถ้าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย สิทธิที่จะเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนให้มีกำหนดอายุความ ๑ ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นแก่ผู้เสียหาย
อายุความหน่วยงานของรัฐถูกละเมิด (มาตรา ๑๐)
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้ามิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ทั้งสองประการข้างต้น ให้มีกำหนดอายุความ ๒ ปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีกำหนดอายุความ ๑ ปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
การเรียกร้องต่อหน่วยงานของรัฐ (มาตรา ๑๑)
ในกรณีที่ผู้เสียหายเห็นว่า หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดตามมาตรา ๕ ผู้เสียหายจะยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดแก่ตนก็ได้ ในการนี้หน่วยงานของรัฐต้องออกใบรับคำขอให้ไว้เป็นหลักฐานและพิจารณาคำขอนั้นโดยไม่ชักช้า เมื่อหน่วยงานของรัฐมีคำสั่งเช่นใดแล้วหากผู้เสียหายยังไม่พอใจในผลการวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐก็ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ภายใน ๙๐ วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งผลการวินิจฉัย
ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาคำขอที่ได้รับตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายใน ๑๘๐ วัน หากเรื่องใดไม่อาจพิจารณาได้ทันในกำหนดนั้นจะต้องรายงานปัญหาและอุปสรรคให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือกำกับหรือควบคุมดูแลหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นทราบและขออนุมัติขยายระยะเวลาออกไปได้ แต่รัฐมนตรีดังกล่าวจะพิจารณาอนุมัติให้ขยายระยะเวลาให้อีกได้ไม่เกิน ๑๘๐ วัน
หน่วยงานของรัฐออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชำระเงิน (มาตรา ๑๒)
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่หน่วยงานของรัฐได้ใช้ให้แก่ผู้เสียหายตามมาตรา ๘ หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๑๐ ประกอบกับมาตรา ๘ ให้หน่วยงานของรัฐที่เสียหายมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชำระเงินดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด

ที่มา : http://www.lawsiam.com/?name=webboard&file=read&id=2994

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น