บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

ฟ้องซ้อน


ฟ้องซ้อน

        คำว่า “ฟ้องซ้อน” มิได้มีบัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่เป็นคำที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในหมู่นักกฎหมาย ซึ่งหมายถึงการห้ามไม่ให้โจทก์ซึ่งได้ยื่นคำฟ้องไว้แล้ว และคดีนั้นยังอยู่ในระหว่างพิจารณาฟ้องคดีเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลอีก ไม่ว่าศาลที่ฟ้องใหม่นี้จะเป็นศาลเดียวกับที่ตนเคยฟ้องคดีแรกไว้แล้ว หรือจะเป็นศาลอื่นที่ตนมิได้ฟ้องคดีแรกไว้ก็ตาม
        บทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามฟ้องคดีดังกล่าว ซึ่งต่อไปจะขอใช้คำว่า “ฟ้องซ้อน” คือ มาตรา 173 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
        มาตรา 173 บัญญัติว่า “…นับแต่เวลาที่ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้
        (1) ห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น…”

        ข้อที่ควรทำความเข้าใจตามมาตรา 173 นี้มีดังนี้
        1. คำว่า “คำฟ้อง” หมายถึง “คำฟ้อง” ตามวิเคราะห์ศัพท์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (3) ฉะนั้น “คำฟ้อง” จึงหมายถึงคำร้องขอ เช่น คำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน คำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก และหมายถึงฟ้องแย้งด้วย ดังนั้นคำว่า “โจทก์” ในมาตรา 173 (1) จึงหมายความรวมถึง ผู้ร้องขอ และจำเลยผู้ฟ้องแย้งด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ 1673/2517 วินิจฉัยว่าจำเลยเคยฟ้องโจทก์ฐานละเมิด คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์ฟ้องว่าจำเลยแกล้งฟ้องโจทก์จึงเรียกค่าเสียหาย จำเลยให้การและฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดฐานะละเมิดเช่นคดีก่อน เพียงแต่เรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม ดังนี้ฟ้องแย้งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1))
        2. ถ้อยคำที่ว่า “คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา” มิได้หมายความว่า คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นเท่านั้น แต่หมายความว่า “คดียังไม่ถึงที่สุด” เช่น คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว แต่คู่ความยังอุทธรณ์อยู่ หรือคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว แต่คู่ความยังฎีกาอยู่ ก็ถือว่า คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาทั้งสิ้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 466/2503 โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยว่าผิดสัญญาเช่า คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ โจทก์มาฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายและเงินที่โจทก์จ่ายทดรองไปในการปลูกสร้างอาคารตามสัญญาฉบับเดียวกัน เป็นการเรียกค่าเสียหายสืบเนื่องจากเหตุที่จำเลยไม่ส่งมอบสถานที่เช่าคืน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1))
        3. คำว่า “โจทก์” ตามมาตรา 173 (1) นอกจากจะหมายถึงโจทก์คนเดียวกับโจทก์ในคดีเดิมแล้ว ยังหมายถึงผู้ที่มีอำนาจทำการแทนโจทก์คนเดิมด้วย เช่น ตัวแทน เจ้าของรวม ผู้จัดการมรดก และทายาท เป็นต้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 966/2518 วินิจฉัยว่า เจ้าของรวมคนหนึ่งให้จำเลยเช่าที่ดินและฟ้องขับไล่ คดีอยู่ระหว่างพิจารณา เจ้าของรวมอีกคนหนึ่งมาฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินนั้นอีก เป็นฟ้องซ้อน คำพิพากษาฎีกาที่ 2588/2523 ผู้จัดการมรดกฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดก คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ทายาทของเจ้ามรดกได้ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินแปลงเดียวกันนั้นอีก ถือว่าผู้จัดการมรดกฟ้องในฐานะตัวแทนของทายาท และเป็นเรื่องเดียวกัน มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอย่างเดียวกัน ต้องห้ามตามมาตรา 173 (1))

        4. ถ้อยคำที่ว่า “คำฟ้องเรื่องเดียวกัน” มีความหมายดังนี้
        (1) สภาพแห่งข้อหาของคำฟ้องทั้งสองต้องเป็นอย่างเดียวกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ 3019/2517 วินิจฉัยว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอแบ่งห้องพิพาทอ้างว่าเป็นหุ้นส่วนกัน คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ว่ายอมให้จำเลยที่ 2 เข้าอยู่ในห้องพิพาทเป็นเหตุให้เสื่อมประโยชน์ของโจทก์ จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ดังนี้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1) เพราะสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับของสองคดีต่างกัน และคดีหลังมูลคดีเกิดหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีก่อน จึงมิใช่ฟ้องเรื่องเดียวกัน คำพิพากษาฎีกาที่ 365/2519 คดีแรกโจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมทำการโอนที่พิพาทเป็นของจำเลย คดีหลังโจทก์คนเดียวกันนั้นฟ้องจำเลยว่า หลังจากฟ้องคดีแรกแล้ว โจทก์จำเลยทำยอมความกัน โดยจำเลยยอมโอนที่พิพาทให้โจทก์ และโจทก์ยกหนี้และถอนฟ้องให้แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง จึงฟ้องขอให้จำเลยโอนที่พิพาทให้ ดังนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อน เพราะสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งสองคดีต่างกัน)
        (2) กรณีเป็นเรื่องที่ควรจะฟ้องในคดีเดิมหรือควรแก้ไขคำฟ้องคดีเดิมได้ แต่กลับมาฟ้องเป็นคดีใหม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 466/2503 วินิจฉัยว่า เคยฟ้องขับไล่จำเลยว่าผิดสัญญาเช่า คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์มาฟ้องจำเลยใหม่เรียกค่าเสียหายและเงินที่โจทก์จ่ายทดรองไปในการปลูกสร้างอาคารตามสัญญาฉบับเดียวกันนี้ เป็นการเรียกค่าเสียหายสืบเนื่องมาจากเหตุที่จำเยไม่ส่งมอบสถานที่เช่าคืน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1) คำพิพากษาฎีกาที่ 1803/2512 ฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวนหนึ่ง ต่อมาระหว่างพิจารณาคดี ปรากฏว่าค่าเสียหายมากกว่าเดิม ต้องแก้ไขฟ้อง จะมาฟ้องเรียกค่าเสียหายที่มากกว่าเป็นคดีใหม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1) คำพิพากษาฎีกาที่ 56 – 57/2519 จำเลยผิดสัญญาแลกเปลี่ยนรถยนต์ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายระหว่างพิจารณา โจทก์ฟ้องเรียกราคารถยนต์ เป็นเรื่องโจทก์ควรเรียกราคารถยนต์ในคดีแรกได้อยู่แล้ว จึงเป็นฟ้องซ้อนและศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 2879/2525 เดิมโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดิน คดีอยู่ระหว่างพิจารณา โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเช่าหรือค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ไม่ได้ใช้ที่ดิน เป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในคดีเดิมได้อยู่แล้ว จึงเป็นฟ้องซ้อน)
        (3) จำเลยในคดีเดิมและจำเลยในคดีใหม่จะต้องเป็นจำเลยคนเดียวกัน ถ้าเป็นจำเลยต่างคนกันแล้วไม่เป็นฟ้องซ้อน (คำพิพากษาฎีกาที่ 1337/2519 วินิจฉัยว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ขอแบ่งมรดก คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอแบ่งมรดกอีก และจำเลยที่ 2 เข้ามาในคดีเพราะศาลเรียกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ดังนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อน คำพิพากษาฎีกาที่ 1162/2520 คดีเดิม จำเลยที่ 2 มิได้ถูกฟ้องด้วย จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน)
        (4) มูลฟ้องคดีเดิมและมูลฟ้องคดีหลัง ต้องเป็นมูลเดียวกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ 11/2505 วินิจฉัยว่า ฟ้องเรียกที่ดินมรดกแปลงหนึ่งจากภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก ต่อมาฟ้องเรียกที่ดินมรดกอีกแปลงหนึ่งไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1) เพราะเป็นการเรียกทรัพย์จากผู้ไม่มีอำนาจยึดถือไว้และเป็นที่ดินต่างแปลงกับคดีก่อน คำพิพากษาฎีกาที่ 316/2511 เดิมฟ้องขับไล่เรยกค่าเสียหายอ้างว่าผิดสัญญาเช่า เพราะจำเลยให้เช่าช่วงและทำให้อาคารของโจทก์เสียหาย ระหว่างพิจารณา สัญญาเช่าหมดอายุ โจทก์ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายอ้างว่า สัญญาเช่าระงับแล้ว ดังนี้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1) เพราะมูลฟ้องคดีหลังเกิดขึ้นหลังจากฟ้องคดีเดิมแล้ว มิใช่เรื่องเดียวกับคดีเดิม คำพิพากษาฎีกาที่ 331/2516 คดีก่อนฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้รับพินัยกรรมที่นา แต่จำเลยขอรับมรดกที่นานั้น จึงขอให้เพิกถอน คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ฟ้องว่าโจทก์จะเข้าทำนานั้น ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าเป็นของโจทก์ จำเลยไม่ยอมให้ทำ จึงเรียกค่าเสียหาย ดังนี้คดีหลังมิใช่เรื่องเดียวกับฟ้องคดีก่อน ไม่เป็นฟ้องซ้อน คำพิพากษาฎีกาที่ 646/2522 คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เข้าทำนาของโจทก์ใน พ.ศ.2519 ระหว่างพิจารณาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และพวกว่าเข้าทำนาใน พ.ศ. 2520 เป็นการละเมิดคนละคราวถือไม่ได้ว่าเป็นฟ้องเรื่องเดียวกัน ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1) แต่มีคำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยไปอีกทางหนึ่งคือ คำพิพากษาฎีกาที่ 121/2506 และคำพิพากษาฎีกาที่ 1461/2515 กล่าวคือ คำพิพากษาฎีกาที่ 121/2506 วินิจฉัยว่า ฟ้องขอแบ่งที่นา อ้างว่าเป็นมรดก ซึ่งปกครองร่วมกันมากับจำเลย จำเลยต่อสู่ว่าเคยทำยอมความในเรื่องทรัพย์มรดกรายนี้แล้ว คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์มาฟ้องขอแบ่งที่นารายนี้อีก แต่อ้างสิทธิตามสัญญายอมความ ดังนี้ คดีหลังต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1) และคำพิพากษาฎีกาที่ 1461/2515 วินิจฉัยว่าฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกของโจทก์ จำเลยสู่ว่าตึกเป็นของจำเลย เพราะจำเลยปลูกตึกในที่ดินของโจทก์และยังมิได้โอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ ศาลฟังว่าตึกเป็นของโจทก์แต่ยังไม่ครบกำหนดอายุสัญญาเช่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจึงพิพากษายกฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ฟ้องขับไล่ จำเลยจากตึกนั้นอีก อ้างว่าสัญญาเช่าระงับแล้ว จำเลยต่อสู้ว่าตึกเป็นของจำเลย เป็นฟ้องซ้อน)
        5. ที่จะเป็นฟ้องซ้อน จะต้องเคยเป็นโจทก์ (รวมทั้งผู้ร้องขอและจำเลยผู้ฟ้องแย้ง) ในคดีเดิม และมาเป็นโจทก์ (รวมทั้งผู้ร้องขอและจำเลยผู้ฟ้องแย้ง) ในดคีใหม่ ถ้าเป็นเพียงผู้คัดค้านหรือเป็นเพียงจำเลยซึ่งมิได้ฟ้องแย้งในคดีเดิมหรือในคดีใหม่ ย่อมไม่ป็นฟ้องซ้อน (คำพิพากษาฎีกาที่ 640/2515 วินิจฉัยว่าคดีก่อน มารดาของผู้คัดค้านร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องคัดค้าน คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา ผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกรายเดียวกันนั้น ดังนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อน เพราะผู้ร้องมิได้เคยเป็นผู้ร้องขอให้ตั้งผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในคดีก่อน) ถ้าโจทก์มิได้ฟ้องบุคคลใ แต่บุคคลนั้นร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยเอง หรือถูกศาลหมายเรียกให้เข้ามาเป็นจำเลย จะถือว่าโจทก์ฟ้องผู้นั้นมิได้ ทั้งนี้ตามนับคำพิพากษาฎีกาที่ 1337/2519 ที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อเรื่องจำเลยในคดีเดิมและจำเลยในคดีใหม่ต้องเป็นจำเลยคนเดียวกัน
        6.มีข้อน่าสังเกตว่า คดีที่ได้ฟ้องและถอนฟ้องแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ถอนฟ้องได้ แต่ถ้าจำเลยยังอุทธรณ์อยู่ ก็ต้องถือว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา หากโจทก์ผู้ถอนฟ้องมาฟ้องจำเลยคนเดียวกัน ในเรื่องเดียวกันนั้นอีก ก็เป็นฟ้องซ้อน (คำพิพากษาฎีกาที่ 1068/2517 วินิจฉัยว่า ฟ้องเรียกค่าซื้อของและถอนฟ้องไป ศาลอนุญาต แต่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ถอนฟ้อง คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์มาฟ้องจำเลยในมูลหนี้เดียวกันนั้นอีก เป็นฟ้องซ้อน)
        เรื่องฟ้องซ้อนมิใช่จะใช้แต่เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ยังนำไปใช้ในคดีอาญาได้ด้วย โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 (คำพิพากษาฎีกาที่ 328/2494 วินิจฉัยว่า ผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการฟ้องจำเลยในความผิดฐานหนึ่งแล้ว จะเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในเรื่องการกระทำของจำเลยอันเดียวอีกมิได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 คำพิพากษาฎีกาที่ 298 – 299/2510 บริษัทโจทก์เข้าร่วมเป็นโจทก์กับผู้ว่าคดีในข้อหาว่าเรียนเครื่องหมายการค้า ต่อมาบริษัทโจทก์ฟ้องจำเลยคนเดียวกันนั้นในข้อหาเดียวกันอีก ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 คำพิพากษาฎีกาที่ 2429/2521 ฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญา ศาลอาญาไม่รับฟ้องเพราะความผิดเกิดในเขตศาลจังหวัดสมุทรปราการ โจทก์อุทธรณ์ ระหว่างอุทธรณ์โจทก์ฟ้องคดีนั้นต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ เป็นฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15)
        หลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางที่จะวินิจฉัยว่า คดีใดเป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ เพราะปัญหาเรื่องฟ้องซ้อนเกิดขึ้นได้เสมอในการดำเนินคดี และเป็นเรื่องที่กฎหมายห้ามเป็นเด๊ดขาดมิให้ฟ้องซ้อน ฉะนั้น ผู้ที่ได้เป็นโจทก์ฟ้องคดีไว้แล้ว หากคดีนั้นยังไม่ถึงที่สุดก่อนจะฟ้องจำเลยคนเดียวกันในเรื่องเดียวกันนั้นอีกน่าจะพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า จะฟ้องได้หรือไม่ มิฉะนั้นจะเสียทั้งเวลาและเสียทั้งเงินโดยเปล่าประโยชน์

ขอขอบคุณข้อมุลจาก
www.lawonline.co.th
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น