บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

ความรับผิดในการทำละเมิด

ความรับผิดในการทำละเมิด


        สมมุติว่า ก. ขับรถยนต์มาตามถนนด้วยความเร็วสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ และเมื่อถึงหัวเลี้ยวก็มิได้ลดความเร็วลง จึงเป็นเหตุให้รถพุ่งไปชนรถยนต์อีกคันหนึ่งซึ่งจอดอยู่ริมถนนอย่างแรง ทำให้เกิดไปลุกขึ้นที่รถยนต์คันนั้น และเผอิญตรงที่รถยนต์จอดอยู่นั้นเป็นอู่รถยนต์ซึ่งรับจ้างซ่อมแซมเครื่องยนต์ จึงมีน้ำมันเปรอะเปื้อนออกมาถึงริมถนนบ้าง ไฟที่ไหม้รถยนต์จึงลุกลามตามรอยน้ำมันเข้าไปไหม้อู่รถยนต์นั้น และก่อนที่รถดับเพลิงจะมาดับทัน ไฟก็ไหม้อู่รถยนต์นั้นจนหมดสิ้นและยังลุกลามไปไหม้ร้านค้าบริเวณนั้นอีกหลายร้าน ข. เจ้าของร้านค้าคนหนึ่งถึงแก่ความตายเพราะหนีไฟไม่ทัน เจ้าของรถยนต์คันที่ถูกชน เจ้าของอู่รถยนต์ และเจ้าของร้านค้าต่าง ๆ จึงนำคดีมาสู่ศาลเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก ก. นอกจากนี้ทายาทของ ข. ยังเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการตายของ ข. อีกด้วย ดังนี้ศาลจะพิพากษาให้ ก. ต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนตามฟ้องทุกคดีหรือไม่

        ในการตอบปัญหาที่สมมุติขึ้นนี้ มีหลักที่จะต้องพิจารณาเป็นขั้น ๆ ดังนี้
ก. เป็นผู้ผิดในการขับรถชนรถยนต์คันที่จอดอยู่หรือไม่ หรือถ้าจะกล่าวตามภาษากฎหมายก็คือ ก. ทำละเมิดหรือไม่
ถ้าฟังได้ว่า ก. ทำละเมิดแล้ว ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า ก. จะต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดนั้นเพียงไร กล่าวคือ จะต้องรับผิดเพียงเฉพาะในความเสียหายที่เกิดแก่รถยนต์คันที่ถูกชนเท่านั้น หรือจะต้องรับผิดต่อไปในความเสียหายของอู่รถยนต์และร้านค้าที่ถูกไฟไหม้ หรือยังจะต้องรับผิดต่อไปถึงความตายที่เกิดขึ้นแก่ ข. ด้วย
เมื่อผ่านการพิจารณาใน 2. มาแล้ว จึงต้องมาพิจารณาเป็นปัญหาสุดท้ายว่า ก. จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงินเท่าใด
        การที่จะวินิจฉัยว่า ก. ทำละเมิดดังกล่าวใน 1. หรือไม่นั้น ย่อมอาศัยข้อเท็จจริงที่ฟังได้จากพยานหลักฐานในคดี และกฎหมายที่จะนำมาปรับปก่ข้อเท็จจริงนั้นก็คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ซึ่งเป็นแม่บทใหญ่ในเรื่องละเมิด สำหรับการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายตาม 3. นั้น ก็ย่อมขึ้นอยู่แก่พยานหลักฐานของคู่ความ โดยอาศัยบทบัญญัติในมาตรา 438 และมาตราต่อ ๆ ไปในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 2 ลักษณะละเมิดเป็นหลัก ส่วนการที่จะไปวินิจฉัยว่า ก. จะต้องรับผิดในผลแห่งการทำละเมิดเพียงไรนั้น ก็ดูเหมือนจะต้องอาศัยมาตรา 438 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกเช่นกัน มาตรา 438 บัญญัติว่า “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
        อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่ การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้นรวมทั้งค่าเสียหาย อันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย”
        ความในวรรคแรกที่ว่า “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้ โดยสถานใด เพียงใด นั้น” คำว่า โดยสถานใด น่าจะหมายถึงวิธีที่จะให้ค่าสินไหมทดแทน เช่นจะให้เป็นตัวเงินหรือเป็นค่าสินไหมทดแทนอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน ตามที่ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 446 หรือ มาตรา 447 ส่วนคำว่า เพียงใด นั้นมีความหมายกว้าง ซึ่งควรจะหมายถึงทั้งความรับผิดของผู้ทำละเมิดว่าจะมีแค่ไหน และทั้งจำนวนค่าสินไหมทดแทนว่าจะมีเท่าใดด้วย ซึ่งมาตรานี้ยกให้เป็นดุลพินิจของศาลโดยอาศัยพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดเป็นหลัก
        ส่วนความในวรรคสองที่ว่า “ค่าสินไหมทดแทน ฯลฯ รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นนั้นด้วย” ความที่ว่า เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อให้เกิดขึ้น นั้น จะหมายถึงความเสียหายใด ๆ อันเป็นผลเกิดจากการทำละเมิดนั้นทั้งสิ้น หรือว่าหมายความเพียงความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงและใกล้ชิดกับการกระทำละเมิดนั้นเท่านั้น
        การที่ศาลจะวินิจฉัยว่า ความเสียหายใด แค่ไหน ผู้ทำละเมิดจึงจะต้องรับผิดนั้นเป็นของที่ยากยิ่ง ประการหนึ่งตามหลักกฎหมายอังกฤษเรียกว่า remoteness of consequence หรือ remoteness of damage ซึ่งมีหลักพอจะยึดถืออยู่ 2 หลัก คือ
        1. ถือเอาการมองเห็นผลแห่งการทำละเมิดหรืออาจจะคาดคะเนเห็นผลนั้นได้ในขณะทำละเมิดเป็นสำคัญ แต่จะไม่จำเป็นต้องเป็นการมองเห็น หรืออาจมองเห็นของผู้ทำละเมิดเอง เพียงแต่บุคคลธรรมดาในฐานะเป็นผู้ทำละเมิดนั้น อาจมองเห็นได้แล้วก็ถือว่าผู้ทำละเมิดต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิดเช่นว่านั้น ตัวอย่างเช่น ก. ทิ้งก้นบุหรี่ลงไปบนกองฟาง ซึ่งอยู่ติดกับบ้าน ข. เมื่อไฟเกิดไหม้ฟางและลุกลามไปไหม้บ้าน ข. เข้า ดังนี้ในความนึกคิดของสามัญชนก็ย่อมจะรู้แล้วว่าฟางนั้นติดไฟง่าย และเมื่อกองฟางอยู่ติดกับบ้าน ข. ถ้ากองฟางไหม้ก็ย่อมจะลุกลามไปไหม้บ้าน ข. ได้ ดังนั้น ก. จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่บ้าน ข. ถูกไฟไหม้นั้นด้วย
        2. ถือเอาผลที่เกิดขึ้นนั้นว่าสืบเนื่องมาจากการทำละเมิดหรือไม่ ถ้าเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำละเมิดและขณะทำละเมิดสามัญชนในฐานะเช่นนั้นย่อมรู้อยู่ว่าต้องมีความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น จากการทำละเมิดของตนแล้ว ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดในความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำละเมิดนัน ไม่ว่าตนหรือบุคคลธรรมดาที่ตกอยู่ในฐานะอย่าผู้ทำละเมิดนั้นจะมองเห็น หรืออาจจะมองเห็นความเสียหายนั้นหรือไม่ก็ตาม เช่นตามตัวอย่างข้างต้นที่ว่า ก. ทิ้งก้นบุหรี่ลงบนกองฟาง ถ้ากองฟางนั้นอยู่ห่างบ้าน ข. ประมาณ 4 – 5 เส้น และจากกองฟางไปถึงบ้าน ข. นั้นไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นเชื้อเพลิงนำไปสู่การไหม้บ้าน ข. ได้ แต่บังเอิญขณะที่ไฟไหม้กองฟางอยู่นั้น มีลมจัดพัดเอาฟางที่ติดไฟปลิวไปถูกบ้าน ข. เข้า ไฟจึงไหม้บ้าน ข. หมด ถ้าถือตามหลักนี้แล้ว ก. ก็ยังต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดแก่บ้าน ข. อยู่นั่นเอง เพราะขณะที่ ก. ทิ้งก้นบุหรี่ไปย่อมเห็นได้แล้วว่ากองฟางนั้นต้องติดไฟ และการที่บ้าน ข. ถูกไฟไหม้ก็จะปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่เกิดจากก้นบุหรี่ที่ตนทิ้งบนกองฟางนั้น ถ้าถือตามหลักแรกที่ถือเอาการมองเห็นหรืออาจจะมองเห็นในขณะทำละเมิดเป็นสำคัญแล้ว ก. ก็ไม่น่าจะต้องรับผิดในความเสียหายของบ้าน ข.
        สำหรับศาลไทยเรา ยังไม่มีคำพิพากษาฎีกาฉบับใดพิพากษาวางหลักเกณฑ์ในเรื่องความรับผิดของผู้ทำละเมิดไว้โดยแน่นอนลงไป แต่พอจะจับแนวได้ว่าศาลฎีกาถือเอาการมองเห็นหรืออาจมองเห็นผลแห่งการทำละเมิดเป็นหลัก ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาบางเรื่องต่อไปนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่ 809/2487 ระหว่างนายพัว แพ่นจันทร์ ผู้รับมอบอำนาจจากวัดสนธิ โจทก์ นายเหมหรือหุ้ยกับพวก จำเลย ซึ่งข้อเท็จจริงมีว่าจำเลยสมคบกันมีปืนและไม้เข้าทำการขัดขวางงานของวัดสนธิ ห้ามิให้มโนราเล่นโดยไม่มีอำนาจ เป็นเหตุให้มโนราต้องเลิก และทำให้โจทก์ขาดรายได้ในการเรี่ยไรเก็บเงินจากประชาชนผู้มาดูงาน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการรบกวน จำกัดตัดเสรีภาพของวัดในการที่จะดำเนินงาน จนทำให้ขาดประโยชน์ควรได้ ประโยชน์ที่ขาดจึงเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย ซึ่งจำเลยจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ จะว่าไกลต่อเหตุไม่ได้
        คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ใช้คำว่า “ประโยชน์ที่ทางวัดขาดรายได้เป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลยจะว่าไกลต่อเหตุไม่ได้” ซึ่งพยจะอนุมานได้ว่า ค่าเสียหายโดยตรงจากการทำละเมิดนั้นย่อมเป็นค่าเสียหายที่บุคคลธรรมดามองเห็นได้อยู่
        คำพิพากษาฎีกาที่ 1869/2492 ระหว่างนายง่วน วรรณุรักษ์กับพวก โจทก์ บริษัทเลี้ยวยงเฮง หรือ นันทผลพาณิชย์ จำกัด กับพวก จำเลย ข้อเท็จจริงมีว่า จำเลยได้รับสัมปทานทำการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าแก่ประชาชน คืนวันหนึ่งมีพายุฝน สายไฟฟ้าของจำเลยขาดตกลงมาระหว่างนั้น สายไฟนี้ชำรุดไม่มียางหุ้นในบางตอน ได้พาดอยู่บนพื้นในทางสาธารณะ รุ่งเช้าบุตรโจทก์เดินไปโรงเรียนและสะดุดสายไฟเข้าถึงแก่ความตายด้วยกระแสไฟฟ้าจากสายไฟฟ้านั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีต้องด้วยมาตรา 437 (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นเพราะกระแสไฟฟ้านั้น จำเลยต้องรับผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายเอง และกรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ตาย เพราะไม่ใช่วิสัยที่ผู้สัญจรตามทางสาธารณะจะพึงคาดหมาย จำเลยว่าแล้วว่าเมื่อมีฝนตกดินเปียก กระแสไฟฟ้าเดินแรงขึ้น ก็ควรจะตรวจตราให้ดีขึ้น
        ศาลฎีกาใช้คำว่า “จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเมื่อมีฝนตกดินเปียก กระแสไฟฟ้าเดินแรงขึ้น ก็ควรจะตรวจตราให้ดีขึ้น” ซึ่งแสดงว่าเมื่อเป็นความผิดของจำเลยที่มิได้ระมัดระวังตรวจตราสายไฟให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ จำเลยหรือบุคคลธรรมดาก็ควรจะคาดการณ์ได้ ว่าสายไฟนี้อาจขาดตกลงบนถนนซึ่งเป็นทางสาธารณะ และอาจจะถูกผู้ที่สัญจรไปมาได้ จำเลยจึงต้องรับผิดเมื่อมีการตายเกิดขึ้น
        คำพิพากษาฎีกาที่ 844/2494 ระหว่างนายพร้อม เทพทวี โจทก์ นายพัน กับพวก จำเลย ข้อเท็จจริงมีว่า จำเลยไปแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้านว่า บุตรโจทก์เป็นผู้ร้ายซึ่งจำเลยรู้อยู่ว่าไม่เป็นความจริง และทั้งรู้ด้วยว่าเขาจะจัดการอุปสมบทบุตรโจทก์ เพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านคัดค้านต่อพระอุปัชฌาย์ ผู้ใหญ่บ้านมีหนังสือถึงพระอุปัชฌาย์ ๆ จึงไม่ยอมบวชให้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เรียกค่าเสียหายในการซื้อของเพื่ออุปสมบทได้
        การที่ศาลฎีกาให้ค่าเสียหายในการซื้อของเพื่ออุปสมบทนั้น ก็เพราะข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยรู้อยู่ว่าโจทก์จะจัดการอุปสมบทบุตรโจทก์ และการที่ไปแจ้งเท็จต่อผู้ใหญ่บ้านนั้นก็ประสงค์จะให้ผู้ใหญ่บ้านคัดค้านต่อพระอุปัชฌาย์ เพื่อไม่ให้บวชบุตรโจทก์ ดังนั้นความเสียหายที่โจทก์ได้จ่ายเงินทองซื้อของอุปสมบทไป จึงเป็นผลที่จำเลยควรจะมองเห็นได้
        คำพิพากษาฎีกาที่ 1300 – 1315/2499 ระหว่างนายเจือ เอโกมลกับพวก โจทก์ กรมรถไฟกับพวก จำเลย ข้อเท็จจริงมีว่า จำเลยใช้รถจักร์เก่าซึ่งใช้งานมาเกือบ 50 ปี ลากจูงตู้รถคนโดยสารและ ตู้สินค้ามากกว่าปกติ ต้องเร่งไฟและกำลังไอน้ำของตัวรถจักร์เพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้ลูกไฟและประกายไฟปลิวไปตามลมมาก เลยไปไหม้บ้าน ก. ซึ่งอยู่ข้างทางรถไฟ แล้วลุกลามไปไหม้บ้านโจทก์ทุกสำนวนเสียหาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งหมด
        ตามคำพิพากษานี้ จะเห็นได้ว่าการที่จำเลยใช้รถจักร์เก่าวิ่งลากตู้รถคนโดยสารและตู้สินค้านั้น ย่อมต้องรู้อยู่ว่าจะต้องมีลูกไฟปลิวออกไปนอกรถเป็นธรรมดา และการที่ใช้รถจักร์ซึ่งมีลูกไฟปลิวออกไปวิ่งผ่านหมู่บ้านริมทางรถไฟเช่นนี้ก็น่าจะมองเห็นผลได้ว่า ถ้าลูกไฟปลิวไปตกบนหลังคาบ้าน (ซึ่งตามท้องสำนวนฟังได้ว่าเป็นหลังคาจาก) เข้าก็จะเกิดไฟไหม้ได้ จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น
        คำพิพากษาฎีกาที่ 1691/2499 ระหว่าง น.ส. สมสนิท จำเนียรกุล โจทก์ นางเป้า ธงชัย จำเลย ข้อเท็จจริงมีว่า โจทก์จะแบ่งขายที่ดินให้ผู้มีชื่อ 3 คน และได้ตกลงซื้อที่ดินอื่นไว้แแปลงหนึ่ง โดยวางมัดจำไว้ 10,000 บาท จำเลยขัดขวางการรังวัดที่โจทก์จะรังวัดแบ่งขายที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงไม่ได้เงินมาซื้อที่ดินที่ตกลงไว้ เจ้าของที่ดินจึงริบเงินมัดจำนั้นเสีย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เงินวางมัดจำที่ถูกริบจะนำมาเป็นค่าเสียหายให้จำเลยต้องรับผิดไม่ได้ แต่เมื่อจำเลยทำละเมิดค่าเสียหายก็มีอยู่ จึงพิพากษาให้ 1,000 บาท
        ปัญหาสำหรับคดีนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยหรือบุคคลธรรมดาในฐานะดั่งจำเลยได้คาดคิด หรืออาจจะคาดคิดหรือไม่ว่าการทำละเมิดของตนนั้นจะเป็นผลให้โจทก์ต้องถูกริบมัดจำ ถ้าพูดถึงปกติธรรมดาสามัญชนแล้ว หากไม่รู้มาก่อนว่า โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อที่ดินแปลงอื่นและได้วางมัดจำไว้แล้ว ก็ยากที่จะให้คาดคิดหรือคาดเห็นไปเช่นนั้นได้ แม้ว่าการที่โจทก์ต้องถูกริบมัดจำนั้นจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำละเมิดของจำเลยก็ตาม แต่ถ้าจำเลยรู้อยู่แล้วว่ามีการวางมัดจำแล้วยังเข้าขัดขวาง จำเลยก็น่าจะต้องรับผิดชดใช้เงินวางมัดจำ ที่ถูกริบไปนั้น
        คำพิพากษาฎีกาที่ 940/2501 ระหว่างนายแพทย์มนตรี มงคลสมัย โจทก์ หลวงสุจิตภารพิทยากับพวก จำเลย ข้อเท็จจริงมีว่า จำเลยสร้างโรงภาพยนต์ในที่ดินของจำเลย ซึ่งติดต่อกับตึกของโจทก์ การตอกเสาเข็มสร้างโรงภาพยนต์ของจำเลยทำให้เกิดการแตกร้าวที่คานดาดฟ้าตึกของโจทก์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อความเสียหายเกิดจากการตอกเสาเข็มสร้างโรงภาพยนต์ของจำเลย ๆ ก็ต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดนั้น แม้จำเลยจะได้จ้างเหมาบุคคลอื่นตอกเสาเข็มและควบคุมตามสัญญา จำเลยก็ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 เพราะจำเลยเป็นผู้ผิดในการงานที่สั่งให้ทำ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
        การตอกเสาเข็มโรงภาพยนต์ของจำเลย แม้จำเลยจะได้จ้างเหมาบุคคลอื่นทำ แต่ผู้รับจ้างที่สามารถก็น่าจะมองเห็นได้ว่า อาจกระเทือนถึงตึกของโจทก์ ซึ่งอยู่ติดต่อกันได้เมื่อไม่ใช้ความระมัดระวัง ป้องกันตามวิชาความรู้ของงานชนิดนี้ การแตกร้ายที่ตึกของโจทก์ จึงเป็นความเสียหายไม่ไกลกว่าเหตุ และโดยที่จำเลยมีส่วนผิดในงานที่สั่งให้ทำ จึงต้องรับผิดในการละเมิดของผู้รับจ้างนั้นด้วย
        ตามกฎหมายอังกฤษได้มีการถกเถียงกันมากกว่าในเรื่อง remoteness of damage นี้จะควรใช้หลักใดเป็นเครื่องวินิจฉัย คำพิพากษาของศาลสูงก็มีวินิจฉัยไว้ทั้งสองหลัก แต่เมื่อ พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1921) ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาคดีไว้คดีหนึ่ง ซึ่งถือเอาผลที่เกิดสืบเนื่องจากการทำละเมิดเป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงว่าผู้ทำละเมิดหรือบุคคลธรรมดาในฐานะเช่นนั้นจะมองเห็น หรืออาจจะมองเห็นผลนั้นหรือไม่ก็ตาม คดีนั้นคือ Polemis v. Furness Willy & Co หรือที่รู้กันอย่างแพร่หลายว่า Re Polemis ข้อเท็จจริงมีว่า บริษัทจำเลยเช่าเรือลำหนึ่งจากโจทก์ เพื่อบรรทุกสินค้า และได้บรรทุกน้ำมันเบนซินบรรจุถังไว้ด้วย ระหว่างทางถังน้ำมันรั่ว เป็นเหตุให้น้ำมันระเหยไปทั่วห้องที่เก็บสินคา เมื่อเรือถึงท่าคนงานของจำเลยก็ขนย้ายสินค้า และด้วยความประมาทของคนงานนั้น ทำให้ไม้กระดานตกไปที่ห้องเก็บน้ำมันซึ่งมีไอระเหยของน้ำมันอยู่ จึงทำให้เกิดไฟลุกขึ้นและไหม้เรือนั้นทั้งลำ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยชดใช้ราคาเรือนั้นเป็นเงินเกือบ 200,000 ปอนด์ โดยวินิจฉัยว่าการที่ไฟไหม้เรือนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างของจำเลย ซึ่งจำเลยผู้เป็นนายจ้างจำต้องรับผิดร่วมด้วย แม้ว่าบุคคลธรรมดาอาจจะมองไม่เห็นได้เลยว่า การที่ไม้กระดานหล่นไปถูกห้องเก็บสินค้านั้น จะทำให้เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นได้อย่างไร
        หลังจากคดีนี้แล้ว ก็มีคำพิพากษาศาลสูงอีกหลายเรื่องที่เดินตามหลักนี้ แต่ก็ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลสูงสุด (House of Lords) วินิจฉัยในเรื่องนี้ไว้ จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) นี้เอง กรรมการตุลาการของ Privy Council ได้พิพากษาคดี Overseas Tankship (U. K.) Ltd. V. Morts Dock and Engineering Co. Ltd. โดยเปลี่ยนหลักไปจากหลักเดิมในคดี Re Polemis หันไปถือเอาหลักการมองเห็นหรืออาจมองเห็นผลแห่งการละเมิดเป็นสำคัญ ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีอยู่ว่า ด้วยความประมาทเลินเล่อของคนเรือของจำเลยทำให้น้ำมันไหลจากเรือของจำเลยลอยไปตามน้ำในเมืองท่าซิดนีย์ บนท่าจอดเรือนั้นมีโรงงานของโจทก์อยู่ และคนงานของโจทก์ได้ทำงานหลอมโลหะอยู่ในขณะนั้น โลหะที่หลอมเหลวบางส่วนได้ไหลตกลงไปถูกน้ำที่มีน้ำมันลอยเข้า เกิดไฟลุกไหม้น้ำมันขึ้น และได้ไหม้ท่าจอดเรือของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่รู้หรือไม่อาจจะมีทางรู้ได้เลยว่า ตามพฤติการณ์เช่นนั้น น้ำมันจะติดไฟ และทำให้ไฟไหม้ท่าจอดเรือของโจทก์ได้ กรรมการตุลาการของ Privy Council วินิจฉัยว่า จำเลยไม่ต้องรับผิด เพราะไม่อาจมองเห็นผลแห่งการทำละเมิดนั้นได้
        โดยที่กรรมการตุลาการของ Privy Council ไม่ใช่ศาลสูงสุดของอังกฤษ ฉะนั้นจึงไม่แน่ว่าคำพิพากษาในคดีนี้จะได้รับการถือตามโดยคำพิพากษาของศาลอังกฤษต่อไปหรือไม่ แต่นักกฎหมายอังกฤษส่วนมากเห็นด้วยกับคำพิพากษาฉบับนี้
        อย่างไรก็ตามในการที่จะวินิจฉัยว่า ผู้ทำละเมิดจะต้องรับผิดในผลแห่งการทำละเมิดของตนเพียงใดนั้น นอกจากจะยึดถือเอาหลักใดหลักหนึ่งใน 2 หลักดังกล่าวมาแล้ว ยังอาจถือเอาหลักเกณฑ์ต่อไปนี้เป็นเครื่องช่วยการวินิจฉัยได้อีกด้วย คือ
        1. การทำละเมิดใด ๆ ก็ตาม ที่ทำไปโดยจงใจและประสงค์ต่อผล ย่อมถือว่าผู้ทำละเมิดต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นโดยการจงใจนั้น แม้ว่าผลนั้นจะไม่บังเกิดต่อบุคคลหรือทรัพย์ที่ตนมุ่งกระทำละเมิด แต่กลับไปบังเกิดต่อบุคคลอื่น หรือทรัพย์อื่นก็ตาม เช่น ก. จุดประทัดขว้างไปที่กลุ่มแผงลอย ประทัดตกไปถูกร้านของ ข. ค. เกรงจะเกิดอันตรายต่อคนและสินค้าของ ข. ได้จับประทัดขว้างต่อไป เผอิญไปตกที่ร้านของ ง. ง. จับขว้างต่อไปจึงไประเบิดถูกตา จ. เข้ามีบาดเจ็บ ดังนี้ ก. ก็ต้องรับผิดต่อ จ. ในบาดเจ็บที่เกิดขึ้นนั้น แม้ว่า ก. มิได้ตั้งใจจะให้ประทัดระเบิด ไปถูก จ. ก็ตาม ทั้งนี้เพราะถือว่า ก. ตั้งใจและประสงค์ต่อผลที่จะเกิดขึ้นจากการขว้างประทัดที่ติดไฟเข้าไปที่กลุ่มแผงลอยนั้นแล้ว ส่วน ค. และ ง. เป็นเพียงผู้บำบัดปัดเป่าภัยที่จะเกิดขึ้นแก่ตนและทรัพย์ของตนเท่านั้น จึงไม่ถือว่าได้ทำละเมิดร่วมกับ ก. ด้วย
        2. ถ้าการทำละเมิดมิได้เป็นไปโดยจงใจและประสงค์ต่อผล ผู้ทำละเมิดจะต้องรับผิดก็แต่เฉพาะผลที่สืบเนื่องโดยตรงจากการทำละเมิดนั้นเท่านัน กล่าวคือ มิใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยการแทรกแซงหรือเกี่ยวข้องของบุคคลภายนอกหรือเหตุการณ์ใหม่ ตัวอย่างเช่น เรือ ก. แล่นไปขนเรือ ข. เข้า ด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้เรือ ข. ต้องเข้าไปจอดซ่อม เมื่อซ่อมเสร็จแล้วได้แล่นออกไปใหม่ แต่เนื่องจากมีลมพายุพัดแรงเลยทำให้เรือ ข. จมลง ดังนี้ แม้ว่าการจมของเรือ ข. อาจมีส่วนเนื่องมาจากถูกเรือ ก. ชนอยู่บ้าง คือ ถ้าเรือ ข. ไม่ถูกเรือ ก. ชน ก็อาจจะไม่จมแม้จะถูกพายุพัดก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่าการที่เรือ ข. จมก็เพราะถูกพายุพัดต่างหาก หาใช่เกิดจากการชนของเรือ ก. ไม่ เรือ ก. จึงไม่ต้องรับผิดในการจมของเรือ ข. แต่บังคับต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากการชนนั้นอยู่ เช่น ต้องรับผิดในค่าซ่อมแซมเรือ ข. นั้นเป็นต้น
        แต่การที่ผู้ทำละเมิดจะไม่ต้องรับผิดในการกระทำของบุคคลภายนอก หรือการแทรกแซงของเหตุการณ์ใหม่นั้น จะต้องเป็นการกระทำ หรือแทรกแซงของบุคคลหรือเหตุการณ์ที่ผู้ทำละเมิดไม่ต้องรับผิดชอบด้วย ถ้าเป็นการแทรกแซงหรือเกี่ยวข้องของบุคคลหรือ เหตุการณ์ที่ผู้ทะละเมิดต้องรับผิดชอบด้วยแล้ว ผู้ทำละเมิดก็จำต้องรับผิด ในผลที่เกิดนั้นอยู่ ตัวอย่างเช่น ก. จ้าง ข. มาทาสีและตบแต่งบ้าน ระหว่างที่ ข. ทำงานอยู่นั้น ก. เผอิญมีธุระต้องไปที่อื่น และไม่มีใครอยู่ที่บ้านนั้น จึงสั่ง ข. ไว้ว่า ถ้า ข. จะไปไหนก็ให้ปิกประตูบ้านไว้ ต่อมา ข. จำเป็นต้องออกไปหาซื้อของบางอย่าง จึงได้ออกไปและปิดประตูบ้านแต่ได้กดปุ่มกันกุญแจมิให้ติดประตูไว้ ทำให้เปิดประตูจากด้านนอกเข้าไปได้โดยไม่ต้องใช้กุญแจไข ระหว่างนั้นได้มีคนร้ายเปิดประตูเข้าไปลักของ ๆ ก. ไป ศาลอังกฤษพิพากษาว่า ข. ต้องรับผิดชดใช้ราคาของที่ถูกลักไปนั้น เพราะถือว่าแม้ของ ก. ที่หายจะเกิดจากการกระทำของคนร้ายก็ตาม แต่ ข. ก็มีส่วนผิดที่ประมาทเลินเล่อปิดประตูโดยทำให้กุญแจไม่ติดประตูไว้ด้วย
        ในเรื่องความรับผิดในการทำละเมิดนี้ ยังมีปัญหาต่อไปว่า ถ้าการทำละเมิดนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแต่เพียงทางจิตใจของผู้เสียหายเท่านั้น เช่น ทำให้ผู้เสียหายตกใจจนเป็นโรคประสาท หรือทำให้จิตใจวิปริตปรวนแปรไปเช่นนี้ จะถือว่าผู้ทำละเมิดต้องรับผิดในความเสียหายทางจิตใจนั้นหรือไม่ ตามหลักกฎหมายอังกฤษถือว่าผู้ทำละเมิดต้องรับผิดในทำนองเดียว กับการทำอันตรายต่อร่างกาย ดั่งตัวอย่างคดี Schneider V. Eisovitch ซึ่งข้อเท็จจริงมีว่า โจทก์และสามีได้ยืมรถยนต์จากพี่ชายของสามีโจทก์ขับไปเที่ยวในฝรั่งเศส โดยจำเลยเป็นผู้ขับ ระหว่างทางจำเลยด้วยความประมาทเลินเล่อได้ขับรถยนต์ไปชนต้นไม้ เป็นเหตุให้สามีของโจทก์ตายและโจทก์สลบไป เมื่อทราบข่าวพี่ชายสามีโจทก์และภรรยาได้บินไปยังที่เกิดเหตุ และนำโจทก์กับศพสามีโจทก์กลับอังกฤษ เมื่อโจทก์พื้นขึ้นจึงทราบว่า สามีตนตาย เพราะความตกใจที่ทราบว่าสามีตายประการหนึ่ง เพราะบาดเจ็บที่ตนได้รับตอนรถยนต์ชนต้นไม้ประการหนึ่ง ประกอบกับคิดว่าตนจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเลี้ยงดูบุตรเล็ก ๆ อีก 2 คน และมารดาของตนด้วยอีกประการหนึ่ง เลยทำให้โจทก์เป็นโรคประสาททางผิวหนัง โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายคือค่าใช้จ่ายของพี่ชายสามีโจทก์ และภรรยาในการเดินทางไปรับโจทก์และศพสามีโจทก์ กับค่าเสียหายเนื่องจากโรคประสาทนั้น ศาลพิพากษาว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินที่เรียกร้องทั้งสองจำนวนนี้
        สำหรับไทยเรา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 ได้บัญญัติว่า “ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น ผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป ฯลฯ” คำว่า อนามัย นั้นจะกินความถึงความเสียหายทางจิตใจ เช่นโรคประสาทหรือไม่นั้น ยังไม่พบคำพิพากษาฎีกา ที่วินิจฉัยเรื่องนี้ไว้โดยตรง เพียงแต่มีคำพิพากษาฎีกาที่ 620/2502 ระหว่าง ม.ร.ว. สุรธวัช ศรีธวัช โจทก์ นายฮุ่งจิง แซ่อึ้ง จำเลย วินิจฉัยว่า การที่จำเลยขับรถโดยประมาทชนโจทก์ จนร่างกายโจทก์ทุพพลภาพ และโจทก์ได้รับอันตรายเกี่ยวกับสมองอีก เช่น โจทก์ต้องปวดศรีษะอยู่เสมอ ความจำเสื่อมลง การศึกษาเลวลงนั้น เป็นความเสียหายแก่ร่างกายและสมองนับว่าเป็นพฤติการณ์ร้ายแรงอยู่ ศาลฎีกาให้ค่าสินไหมทดแทน 20,000 บาท
        การที่ศาลฎีกาให้ค่าเสียหาย เพราะโจทก์ต้องบาดเจ็บ ทุพพลภาพทั้งทางกายและสมองนั้น หากจะเข้าใจว่าศาลฎีกาคงเห็นว่า ความเสื่อมโทรมทางสมองนั้นก็เป็นความเสียหายอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ทำละเมิดจะต้องรับผิดด้วย ก็ไม่น่าจะเป็นความเข้าใจที่ผิด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย์สถาน พ.ศ. 2493 ให้ความหมายของคำ อนามัย ว่า “ความไม่มีโรค ความสบายกาย” คำในตัวบทกฎหมายอังกฤษใช้ว่า health ซึ่งก็มีความหมายอย่างเดียวกับความหมายที่พจนานุกรมไทยให้ไว้ ความไม่มีโรค ควรจะเกิดความทั้งโรคทางกายและโรคทางใจด้วย เพราะถ้าคนเป็นโรคประสาท ก็ยังต้องถือว่ามีโรคอยู่นั่นเอง ถ้าจะตีความคำ อนามัย ให้หมายถึงความสุขสบายทางกาย หรือสุขภาพทางกายแล้ว ก็จะเป็นการซ้ำกับคำว่า ร่างกายที่มาตรา 444 ได้บัญญัติไว้แล้ว การตีความควรตีความไปในทางที่เป็นผล ผู้เขียนจึงมีความเห็นเป็นส่วนตัวว่า คำว่า อนามัย ในมาตรา 444 นี้ควรจะหมายถึงสุขภาพทางจิต มากกว่าทางกาย ฉะนั้นถ้าโดยผลของการทำละเมิด ผู้เสียหายเป็นโรคทางจิตอย่างใดขึ้น เช่นเป็นโรคประสาท ผู้ทำละเมิดก็ควรต้องรับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนให้
        ผู้เขียนเพิ่งจะนึกได้ว่ายังมิได้ให้คำตอบแก่ปัญหาที่สมมุติไว้ในตอนต้นเลย จึงขอความกรุณาฝากไว้เป็นการบ้านสำหรับท่านที่สนใจด้วย

ขอขอบคุณข้อมุลจาก
www.lawonline.co.th
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น