บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สรุปกฎหมายนิติกรรมและสัญญา

สรุปกฎหมายนิติกรรมและสัญญา

1. นิติกรรม คืออะไร
คือการใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ (ป.พ.พ.ม. 149)
กล่าวโดยย่อ นิติกรรม คือ การกระทำของบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายและมุ่งต่อผลในกฎหมายที่จะเกิดขึ้นอันได้แก่ การเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ มีการก่อสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิและระงับซึ่งสิทธิ เช่น สัญญาซื้อขาย, สัญญากู้เงิน, สัญญาจ้างแรงงาน สัญญาให้และพินัยกรรมเป็นต้น
การแบ่งแยกประเภทของนิติกรรม
1.1 นิติกรรมฝ่ายเดียว ได้แก่ นิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวและมีผลตามกฎหมาย ซึ่งบางกรณีก็ทำให้ผู้ทำนิติกรรมเสียสิทธิได้ เช่น การก่อตั้งมูลนิธิ คำมั่นโฆษณาจะให้รางวัล การรับสภาพหนี้ การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้ คำมั่นจะซื้อหรือจะขาย การทำพินัยกรรม การบอกกล่าวบังคับจำนอง เป็นต้น
1.2 นิติกรรมสองฝ่าย (นิติกรรมหลายฝ่าย) ได้แก่ นิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปและทุกฝ่ายต้องตกลงยินยอมระหว่างกันกล่าวคือฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาทำเป็นคำเสนอ แล้วอีกฝ่ายหนึ่งแสดงเป็นเจตนาเป็นคำสนอง เมื่อคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกันจึงเกิดมีนิติกรรมสองฝ่ายขึ้นหรือเรียกกันว่า สัญญา เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญากู้ยืม สัญญาแลกเปลี่ยน สัญญาขายฝาก จำนอง จำนำ เป็นต้น

2. ความสามารถของบุคคลในการทำนิติกรรมสัญญา
โดยหลักทั่วไป บุคคลย่อมมีความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา แต่มีข้อยกเว้นคือ บุคคลบางประเภทกฎหมายถือว่าหย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา เช่น ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ และบุคคลล้มละลาย สำหรับผู้เยาว์จะทำนิติกรรมได้ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม (ป.พ.พ.ม.21) เว้นแต่นิติกรรมที่ได้มาซึ่งสิทธิโดยสิ้นเชิงหรือเพื่อให้หลุดพ้นหน้าที่ หรือการที่ต้องทำเองเฉพาะตัวหรือกิจกรรมที่สมแก่ฐานานุรูป และจำเป็นในการเลี้ยงชีพเหล่านี้ผู้เยาว์ทำด้วยตนเองได้ (ป.พ.พ.ม.22,23,24) ส่วนคนไร้ความสามารถต้องอยู่ในความอนุบาลกิจการใดๆ ของคนไร้ความสามารถผู้อนุบาล ซึ่งแต่งตั้งโดยศาลต้องเป็นผู้ทำเองทั้งสิ้น (ป.พ.พ.ม. 28 วรรคสอง) สำหรับคนเสมือนไร้ความสามารถทำกิจการเองได้ทุกอย่าง เว้นแต่กิจกรรมบางอย่างตาม ป.พ.พ.ม. 34 จะทำได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์เช่น สัญญา ซื้อขายที่ดิน เป็นต้น
บุคคลล้มละลายจะทำนิติกรรมใดไม่ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามคำสั่งศาลเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทน
2.1 ผู้มีสิทธิในการทำนิติกรรมสัญญา ปกติแล้ว บุคคลทุกคนต่างมีสิทธิในการทำนิติกรรมสัญญา แต่ยังมีบุคคลบางประเภทเป็นผู้หย่อนความสามารถ กฎหมายจึงต้องเข้าดูแลคุ้มครองบุคคลเหล่านี้ไม่ให้ได้รับความเสียหายในการกำหนดเงื่อนไขในการเข้าทำนิติกรรมของผู้นั้น
2.2 ผู้หย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา
(1) ผู้เยาว์ คือบุคคลที่ยังมีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ การทำนิติกรรมสัญญาใดๆของผู้เยาว์ กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม คือบิดามารดาหรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณีเสียก่อน การทำนิติกรรมสัญญาใดที่ปราศจากความยินยอมกฎหมายเรียกว่าเป็นโมฆียะซึ่งอาจถูกบอกล้างภายหลังได้ต่อเมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์แล้วจึงพ้นจากภาวะเป็นผู้เยาว์และเป็นผู้บรรลุนิติภาวะเป็นผู้เยาว์และเป็นผู้บรรลุนิติภาวะจึงมีความสามารถใช้สิทธิในการทำนิติกรรมสัญญาได้เอง
แม้จะอายุยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ แต่ได้บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสแล้วก็ย่อมทำนิติกรรมสัญญาได้ดังเช่นผู้บรรลุนิติภาวะทุกประการ (การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว(มาตรา 1448))
(2) คนวิกลจริต คือบุคคลที่มีสมองพิการหรือว่าจิตใจไม่ปกติ โดยมีอาการหนักถึงขนาดเสียสติทุกสิ่งทุกอย่าง พูดกันไม่เข้าใจและไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
(3) คนไร้ความสามารถ คือ คนวิกลจริตที่ศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถการที่ศาลจะมีคำสั่งให้คนวิกลจริตคนใดเป็นคนไร้ความสามารถนั้น จะต้องมีผู้เสนอเรื่องต่อศาลโดยกฎหมายได้ระบุให้บุคคลดังต่อไปนี้เสนอเรื่อง โดยร้องขอต่อศาลได้ คือสามีหรือภริยาของคนวิกลจริต ผู้สืบสันดานของคนวิกลจริต (ลูก,หลาน,เหลน,ลื้อ) ผู้บุพการีของคนวิกลจริต (บิดา,มารดา,ปู่,ย่า,ตา,ยาย,ทวด) หรือผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ ผู้ซึ่งปกครองดูแลคนวิกลจริตหรือพนักงานอัยการ (ป.พ.พ. มาตรา 28) เมื่อศาลไต่สวนได้ความว่าวิกลจริตจริงก็จะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาล โดยศาลจะตั้งผู้อนุบาลให้
(4) คนเสมือนไร้ความสามารถ คือบุคคลผู้ใดไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ หรือจัดการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเอง หรือครอบครัว เพราะ
1. กายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
2. ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ
3. ติดสุรายาเมา
4. มีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น
เมื่อบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดดังต่อไปนี้ คือ สามีหรือภริยา ผู้บุพการี หรือผู้สืบสันดาน หรือผู้พิทักษ์หรือผู้ปกครองหรือผู้ซึ่งปกครองดูแลคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลดังกล่าวเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและสั่งให้ผู้นั้นอยู่ในความพิทักษ์ก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 32)
(5) ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลายตามกฎหมายล้มละลาย เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ก็ตกเป็นผู้หย่อนความสามารถ กล่าวคือลูกหนี้จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตนไม่ได้ เว้นแต่จะกระทำได้ตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล, เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์, ผู้จัดการทรัพย์, หรือที่ประชุมเจ้าหนี้
และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจในการจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ และการกระทำการอื่นๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ เช่น การฟ้องร้อง การต่อสู้คดี การประนีประนอม เป็นต้น
(6) สามีและภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกันจึงต้องให้ความยินยอมซึ่งกันและกัน ในการทำสัญญาผูกพันสินสมรส กฎหมายได้วางหลักในเรื่องนี้ไว้ดังนี้
1. มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สิ้นสุดทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคมหรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้วรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
2. สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ทั้งหมด หรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1465 และมาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส
ในกรณีที่สัญญาก่อนสมรสระบุการจัดการสินสมรสไว้แต่เพียงบางส่วนของมาตรา 1476 การจัดการสินสมรสนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสให้เป็นไปตามมาตรา 1476 (ป.พ.พ. มาตรา 1476/1)
3. การใดที่สามีหรือภริยากระทำ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมร่วมกันและถ้าการนั้นมีกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือ หรือให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือ (ป.พ.พ. มาตรา 1476)
4. การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้รับนิติกรรมนั้น (ป.พ.พ. มาตรา 1480)

3. นิติกรรมสัญญาต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่เป็นการพ้นวิสัย และต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
การทำนิติกรรมสัญญาใดๆ นอกจาไม่หย่อนความสามารถดังกล่าวในข้อ 2 แล้วจะต้องไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่เป็นการพ้นวิสัย และต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย (ป.พ.พ. มาตรา 150) ถ้าฝ่าฝืนหลักดังกล่าวนิติกรรมสัญญานั้นก็เป็นโมฆะ กล่าวคือใช้ไม่ได้ไร้ผลบังคับโดยสิ้นเชิง
ที่ว่าเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจะต้องเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมสัญญานั้นจึงจะเป็นโมฆะ
แต่ถ้านิติกรรมสัญญาเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายที่มิใช่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วก็ไม่ทำให้นิติกรรมสัญญานั้นเป็นโมฆะ ข้อตกลงนั้นใช้บังคับได้ เช่น ป.พ.พ.ม 733 บัญญัติไว้ว่า “ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น” หากคู่สัญญา ตกลงกันว่า ถ้าเอาทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ลูกหนี้ยังต้องรับผิดในหนี้ที่เหลืออยู่ ข้อตกลงดังกล่าวใช้บังคับได้เพราะศาลฎีกาถือว่า ป.พ.พ.ม 733 มิใช่กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
ตัวอย่างที่ 1 ทำสัญญาขยายอายุความฟ้องร้องออกไปเกินกว่าที่กฎหมายกำนหดไว้ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะเพราะขัดต่อ ป.พ.พ.มาตรา 193/11
ตัวอย่างที่ 2 ทำสัญญาจ้างให้คนเหาะหรือให้กระโดดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะ เพราะเป็นการพ้นวิสัย
ตัวอย่างที่ 3 ทำสัญญาจ้างให้มือปืนไปยิงคน ข้อตกลงเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อย
ตัวอย่างที่ 4 ทำสัญญาจ้างให้ไปทำชู้กับภรรยาของผู้อื่นๆ ข้อตกลงเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

4. นิติกรรมสัญญาต้องทำตามแบบ
ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติบังคับให้นิติกรรมสัญญาบางประเภทต้องทำตามแบบ ถ้าฝ่าฝืนไม่ทำตามแบบ การนั้นเป็นโมฆะ (ป.พ.พ. มาตรา 152)
อุทาหรณ์ 1 สัญญาจำนองซึ่งมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นเป็นโมฆะ (ป.พ.พ.ม.714)
อุทาหรณ์ 2 ซื้อขายที่ดินโดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การซื้อขายนั้นเป็นโมฆะ (ป.พ.พ.ม 456)
4.1 นิติกรรมสัญญาที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน มีดังนี้
(1) การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เช่น ที่ดิน บ้าน ซึ่งหมายถึงการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด รวมทั้งเรือกำปั่น เรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป แพและสัตว์พาหนะ ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ 6 อย่าง (ป.พ.พ.ม. 456)
ถ้าทำสัญญาจะซื้อขายทรัพย์ดังกล่าวใน ป.พ.พ.ม. 456 จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิด หรือวางประจำหรือชำระหนี้บางส่วนซึ่งจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้
(2) การแลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษดังกล่าวในข้อ 1
(3) การให้ทรัพย์สินดังกล่าวในข้อ 1
(4) การขายฝากอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษดังกล่าวในข้อ 1
(5) การเช่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีกำหนดเกินกว่าสามปี หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าต้องทำเป็นหนังสือหรือจดทะเบียนถ้าไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียงสามปี (ป.พ.พ. 538)
(6) สัญญาจำนองต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ (ป.พ.พ.714) นิติกรรมสัญญาดังกล่าวใน (1) (2) (3) (4) และ (6) ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นโมฆะ
4.2 นิติกรรมสัญญาที่ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือมีดังนี้
(1) การเช่าอสังหาริมทรัพย์ เช่น เช่าที่ดิน หรือบ้าน ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ (ป.พ.พ.ม. 538) หลักฐานที่เป็นหนังสือ เช่น จดหมายที่ผู้ให้เช่ามีไปถึงผู้เช่าตอบตกลงให้เช่าที่ดินหรือบ้านได้เป็นต้น
(2) สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ ถ้าไม่ทำก็เป็นโมฆะ (ป.พ.พ.ม.572)
(3) การกู้ยืมเงินเกินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืม จึงจะเป็นฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ และการนำสืบการใช้เงินในกรณีการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือจะนำสืบได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารการกู้ยืมได้ถูกเวนคืนหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารการกู้ยืมแล้ว (ป.พ.พ.ม.653)
อนึ่ง การกู้ยืมเงินนั้นผู้กู้พึงระวังมิให้เจ้าหนี้โกงโดยเติมตัวเลขลงในช่องจำนวนเงินที่กู้ ทั้งนี้โดยจะต้องขีดหน้าและหลังด้วยตัวเลขและวงเล็บจำนวนเงินด้วยตัวอักษรไว้ให้ชัดเจน
(4) สัญญาค้ำประกันต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ (ป.พ.พ.ม.680)
(5) กิจกรรมใดที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือ เช่น ตั้งตัวแทนไปซื้อขายที่ดิน ดังนี้ต้องทำหนังสือมอบอำนาจ
กิจการที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นตัวหนังสือด้วย เช่น การตั้งตัวแทนไปกู้ยืมเงินเกินห้าสิบบาทขึ้นไป ก็ต้องมีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ (ป.พ.พ.ม. 789)
(6) สัญญาประนีประนอมยอมความจะต้องมีหลักฐานลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ (ป.พ.พ.ม.851)

-หลักเกณฑ์สำคัญของนิติกรรม (ม.149)
 1) ต้องมีการแสดงเจตนา 2) ต้องกระทำโดยใจสมัคร 3) มุ่งให้มีผลผูกพันทาง กฎหมาย 4) เป็นการทำลงโดยชอบด้วยกฎหมาย และ 5) ผู้ที่ทำนิติกรรมต้องมี“ความสามารถ” ในการ ทำนิติกรรมด้วย
-ประเภทของนิติกรรม
1. นิติกรรมฝ่ายเดียว เช่น การทำพินัยกรรม / การปลดหนี้ (ม.340) /
 การบอกเลิกสัญญา (ม.386) / โฆษณาจะให้รางวัล (ม.362 และ 365) เป็นต้น
นิติกรรมฝ่ายเดียวนี้ มีผลตาม กฎหมายแล้ว แม้จะยังไม่มีผู้รับก็ตาม
2. นิติกรรมหลายฝ่าย คือ มีฝ่ายที่ทำคำเสนอและอีกฝ่ายทำคำสนอง เมื่อคำเสนอและคำสนองตรงกัน ก็เกิดสัญญา เช่น สัญญาซื้อขาย / สัญญาเช่า / สัญญาค้ำประกันเป็นต้น
-ความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรม
1. ความสามารถในการทำนิติกรรม กล่าวคือ
ถ้านิติกรรมได้กระทำลงโดยผู้หย่อนความสามารถ คือ
1.1) ผู้เยาว์
1.2) คนไร้ความสามารถ
1.3)เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
โมฆียะ (ม.153)
2. วัตถุประสงค์แห่งนิติกรรม
 2.1) เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย
2.2) เป็นการพ้นวิสัย
2.3) เป็นการขัดความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
3. แบบแห่งนิติกรรม
 3.1) การทำเป็นหนังสือ เช่น การโอนหนี้ (ม.306) / สัญญาเช่าซื้อ(ม.572) / สัญญาตัวแทนบางประเภท (ม.798) ถ้าตกลงเพียงวาจา สัญญานั้นเป็นโมฆะ
 3.2) การทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น การคัดค้านตั๋วแลกเงิน(ม.961) / การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง (ม.1658) เป็นต้นถ้าไม่ได้ทำเป็นหนังสือต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมใช้บังคับไม่ได้
3.3) การทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (ม. 456) / สัญญาขายฝาก (ม.491) / สัญญาจำนอง เป็นโมฆะ(ม.714) เป็นต้น ถ้าไม่ ทำตามแบบ
 4. การแสดงเจตนา
4.1 เจตนาอย่างหนึ่งแต่แสดงออกอีกอย่างหนึ่ง นิติกรรมนั้นมีผลใช้บังคับได้ เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาที่แท้จริง (ม.154) หรือการแสดงเจตนาลวง โดยสมรู้กับคู่กรณี อีกฝ่ายหนึ่ง (ม.155) เป็นโมฆะหรือนิติกรรมอำพราง (ม.155 ว.สอง)
4.2 การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิด
(1) สำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรม
- สำคัญผิดในประเภทของนิติกรรม
 - สำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญา
- สำคัญผิดในวัตถุแห่งนิติกรรม
 (2) สำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์ ถ้า
คุณสมบัติดังกล่าว เป็นสาระสำคัญของนิติกรรม กล่าวคือ ถ้ารู้ว่าบุคคลหรือทรัพย์ไม่ได้คุณสมบัติที่ต้อง การ ก็คงไม่ทำนิติกรรมด้วยนิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ (ม. 157)
(3) สำคัญผิดเพราะกลฉ้อฉล ได้แก่ การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งใช้อุบายหลอกลวง ให้เขาหลงเชื่อ แล้วเขาทำนิติกรรมซึ่งถ้ามิได้ใช้อุบายหลอกเช่นว่านั้น เขาคงไม่ทำ นิติกรรมด้วยนิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ (ม. 159)
 นิติกรรมนั้น (4) การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ (ม. 164) ถ้าการข่มขู่นั้นถึงขนาดที่ทำให้ผู้ถูกขู่กลัวจริงๆแต่การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมก็ ดี หรือความกลัวเพราะนับถือยำเกรงก็ดีไม่ถือว่าเป็นการขู่ (ม.165)
ผลแห่งความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรม
 “โมฆะ” หมายถึง นิติกรรมนั้นเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย คือเสมือนว่าไม่มีการทำนิติกรรมนั้นๆ เลย จะฟ้องร้องบังคับกันไม่ได้จะให้สัตยาบันก็ไม่ได้ (ม.172)
“โมฆียะ” หมายถึง นิติกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายจนกว่าจะมีการบอกล้าง (ม.176)
ถ้าไม่มีการบอกล้างภายในระยะเวลา1 ปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้หรือ 10 ปี นับแต่ได้ทำ นิติกรรม ม. 181)หรือมีการให้สัตยาบัน (ม.179) โดยบุคคลที่กฎหมายกำหนด นิติกรรมนั้นเป็นอันสมบูรณ์ตลอดไป
สัญญา
 สาระสำคัญของสัญญา
 1. ต้องมีบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป
 2. ต้องมีการแสดงเจตนาต้องตรงกัน (คำเสนอ+คำสนองตรงกัน)
“คำเสนอ” เป็นคำแสดงเจตนาขอทำสัญญา คำเสนอต้องมีความชัดเจน แน่นอน ถ้าไม่มีความชัดเจน แน่นอน เป็นแต่เพียงคำเชิญชวน
 “คำสนอง” คือ การแสดงเจตนาของผู้สนองต่อผู้เสนอ ตกลงรับทำสัญญาตามคำเสนอ คำสนองต้องมีความชัดเจน แน่นอน ปราศจากข้อแก้ไข ข้อจำกัดหรือข้อเพิ่มเติมใดๆ
3. ต้องมีวัตถุประสงค์ในการทำสัญญา
ประเภทของสัญญา
1. สัญญาต่างตอบแทนกับสัญญาไม่ต่างตอบแทน
 “สัญญาต่างตอบแทน” ได้แก่
สัญญาที่ทำให้คู่สัญญาต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน(ม. 369) กล่าวคือ คู่สัญญาต่างมีหนี้หรือหน้าที่จะต้องชำระให้แก่กันเป็นการตอบแทน
“สัญญาไม่ต่างตอบแทน” คือ สัญญาที่ก่อหนี้ฝ่ายเดียว เช่น สัญญายืม(ม.640, 650)
 2. สัญญามีค่าตอบแทนกับสัญญาไม่มีค่าตอบแทน
 3.สัญญาประธานกับสัญญาอุปกรณ์
 “สัญญาประธาน” หมายถึง สัญญาที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ได้โดยลำพัง ไม่ขึ้นอยู่กับสัญญาอื่น
“สัญญาอุปกรณ์” นอกจากสัญญาอุปกรณ์จะต้องสมบูรณ์ตามหลักความสมบูรณ์ของตัวเองแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของสัญญาประธานอีกด้วยกล่าวคือ ถ้าสัญญาประธาน ไม่สมบูรณ์ สัญญาอุปกรณ์ย่อมไม่สมบูรณ์ด้วยเช่นกัน เช่น สัญญาค้ำประกัน (ม.680) / สัญญาจำนอง (ม.702) / สัญญาจำนำ (ม.747)
4. สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก
โดยคู่สัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกโดยที่บุคคลภายนอกนั้นไม่ได้เข้ามาเป็นคู่สัญญาด้วย เช่น สัญญาประกันชีวิต
5. เอกเทศสัญญาตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 กับสัญญาไม่มีชื่อ
สิทธิในการบอกเลิกสัญญา
1. สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
1.1 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ถ้าฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายใน ระยะที่กำหนดให้อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้ (ม.387)
1.2 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ซึ่งโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงไว้วัตถุประสงค์แห่งสัญญาจะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณเวลาที่กำหนด หรือภายในระยะเวลาซึ่งกำหนดไว้เจ้าหนี้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ก่อน(ม.388)
1.3 เมื่อการชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนกลายเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้ได้ เจ้าหนี้จะเลิกสัญญาเสียก็ได้ (ม.389)
2. สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยข้อสัญญา หมายความว่าคู่สัญญาได้ตกลงกันกำหนดสิทธิในการเลิกสัญญาไว้ล่วงหน้าถ้ามีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้เกิดขึ้น ก็ให้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่คู่กรณี
 ผลของการเลิกสัญญา
 1. คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิม (ม.391วรรคหนึ่ง) เช่น
 - ทรัพย์สินที่ได้ส่งมอบหรือโอนให้แก่กันไปตามสัญญา ก็ต้องคืนทรัพย์สินนั้นในสภาพที่เป็นอยู่เดิมขณะมีการส่งมอบหรือโอนไปตามสัญญา
และถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะคืนได้ทั้ง หมดหรือบางส่วนก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายแทน
- หากทรัพย์สินที่จำต้องส่งคืนนั้นเป็นเงินตรา กฎหมายกำหนดให้บวกดอกเบี้ย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับเงินไปด้วย (ม.391 วรรคสอง)อัตราดอกเบี้ยนั้น ถ้ามิได้กำหนดเอาไว้ ให้ ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี(ม.7)
- อย่างไรก็ตาม การเลิกสัญญาอันมีผลทำให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมนี้จะเป็นสาเหตุทำให้บุคคลภายนอกเสื่อมเสียสิทธิไม่ได้
 2. การเลิกสัญญาไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกค่าเสียหาย

ที่มา : http://www.siamjurist.com/forums/1896.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น