บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

ความแตกต่างระหว่างทางจำเป็นและภารจำยอม

ความแตกต่างระหว่างทางจำเป็นและภารจำยอม

        ทางจำเป็น
        ทางจำเป็น เป็นเรื่องของที่ดินที่ถูกล้อมจนไม่มีทางออกสู่สาธารณะ ดังนั้นกฎหมายจึงได้บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมให้มีสิทธิผ่านที่ดินแปลงอื่นที่ล้อมอยู่ที่ใกล้ที่สุดออกไปสู่ทางสาธารณะได้ (เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อม รวมถึง คนในครอบครัวและบริวารด้วย)
        ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา ๑๓๔๙ บัญญัติว่า “ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทาง สาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ ทางสาธารณะได้ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเลหรือมีที่ชัน อันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่าให้ใช้ความในวรรค ต้นบังคับ ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะ ผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้ ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ เพื่อความ เสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหาย เพราะสร้างถนน ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้”

        การได้มา
        ทางจำเป็น เป็นการใช้สิทธิโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมาย ดังนั้นจึงเป็นการได้สิทธิโดยผลแห่งกฎหมาย
        องค์ประกอบของทางจำเป็น
        1.ต้องเป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่
        2.ที่ดินที่ถูกล้อมนั้นต้องไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ (ข้อยกเว้น ถ้ามีทางออกอยู่ตามหลักข้างต้น แต่ต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชัน ซึ่งมีระดับสูงกว่ากันมาก ก็นำหลักข้างต้นมาใช้ได้

        วิธีทำทางจำเป็น
        ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิจะผ่าน โดยให้ทำให้พอควรแก่ความจำเป็นแต่ต้องคำนึงถึงความเสียหายของที่ดินที่จะต้องทำทางผ่านให้น้อยที่สุดที่จะเป็นไปได้ ถ้าจำเป็นจะทำเป็นถนนก็ได้ สิทธิของเจ้าของที่ดินที่ถูกทางผ่าน ผู้มีสิทธิใช้ทางผ่านต้องใช้ค่าทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้นซึ่งอาจคิดเป็นเงินครั้งเดียวหรือรายปีก็ได้ (นอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๙๗

        ภารจำยอม
        ภารจำยอม คือทรัพยสิทธิชนิดหนึ่งที่ตัดทอนอำนาจกรรมสิทธิโดยทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์หนึ่งๆที่เรียกว่า ภารทรัพย์ ต้องรับกรรมหรือภาระบางอย่างที่กระทบกระเทือนต่อทรัพย์สินของตน หรือทำให้ต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นเพื่อประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์อื่นที่เรียกว่า สามยทรัพย์
        ตัวอย่าง เช่น การที่เจ้าของที่ดินแปลง ก. มีสิทธิเดินผ่านที่ดินแปลง ข. หรือมีสิทธิวางท่อน้ำผ่านหรือมีสิทธิปลูกโรงเรือนล่วงล้ำเข้าไป ดังนี้เรียกว่า เจ้าของที่ดินแปลง ก.มีภารจำยอมเหนือที่ดินแปลง ข.

        การได้มาซึ่งภารจำยอม
        กรรมสิทธิ์แห่งภารจำยอม อาจจะได้มาโดยวิธีการดังต่อไปนี้ คือ
        1.โดยนิติกรรม
        2.โดยอายุความ
        3.โดยผลแห่งกฎหมาย

        โดยนิติกรรม เป็นการตกลงระหว่างเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่จะให้อสังหาริมทรัพย์หนึ่ง ตกอยู่ภายใต้ภารจำยอมเพื่อเป็นประโยชน์แก่อีกอสังหาริมทรัพย์หนึ่ง โดยอาจจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ได้
        ตัวอย่าง เช่น เจ้าของที่ดินแปลง ก. ยอมให้เจ้าของที่ดินแปลง ข. ได้ภารจำยอมเหนือที่ดินแปลง ก. สำหรับการเปิดทางสู่ทางสาธารณะมีกำหนด 10 ปี หรือ เจ้าของที่ดินแปลง ก. ตกลงว่า จะไม่ปลูกอาคารปิดกั้นทางลมและแสงสว่างแก่โรงเรือนของ ข. มีกำหนด 20 ปี

        การทำนิติกรรมเพื่อให้มาซึ่งภารจำยอมนี้ อยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคแรก กล่าวคือ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นจะไม่สามารถใช้ยันบุคคลภายนอกได้ แต่ก็อาจจะใช้บังคับระหว่างคู่สัญญาในฐานะเป็นบุคคลสิทธิได้ นอกจากนี้ สิทธิดังกล่าวย่อมตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา ๑๕๙๙ และ๑๖๐๐

        โดยอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๐๑ ที่บัญญัติไว้ว่า “ ภารจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ ๓ แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

        อายุความได้สิทธิที่จะนำมาใช้กับภารจำยอมคือมาตรา ๑๓๘๒ อันเกี่ยวข้องกับการครอบครองโดยปรปักษ์ ดังนั้น หากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้ใช้อสังหาริมทรัพย์อื่น โดยสงบและเปิดเผยและมีเจตนาที่จะให้ได้ในสิทธิภารจำยอมของอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ ติดต่อกันเป็นเวลา ๑๐ ปี ย่อมได้ภารจำยอมเหืออสังหาริมทรัพย์นั้น โดยไม่จำเป็นว่า จะต้องมีประชาชนทั่วไปหรือบุคคลใช้เป็นประจำด้วยหรือไม่ และสืบเนื่องตามมาตรา ๑๓๘๗ ที่กล่าวเพียงเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ดังนั้นสามยทรัพย์และภารทรัพย์นั้น ไม่จำเป็นจะต้องเป็นที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ติดกันก็ได้ อาจจะมีที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นคั่นอยู่ระหว่างกลางก็ได้เช่นกัน

        สิทธิและหน้าที่ของสามยทรัพย์
        1.เจ้าของสามยทรัพย์ไม่มีสิทธิที่จะทำการใดอันเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ภารยทรัพย์
        ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๘ การดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์นั้น สามารถกระทำได้ในขอบเขตเท่าที่จำเป็น แต่ถ้าหากเป็นการเพิ่มภาระให้แก่เจ้าของภารยทรัพย์แล้วก็ไม่สามารถกระทำได้ ตัวอย่างเช่น หากได้ภารจำยอมให้ทำทางเดินกว้าง ๑ เมตรสำหรับเดินทาง จะสร้างเป็นทางกว้าง ๓ เมตรสำหรับรถใช้สัญจร ย่อมไม่อาจกระทำได้ หรือได้รับภารจำยอมให้ใช้น้ำสำหรับรดน้ำต้นไม้ที่ปลูกบนสามยทรัพย์ ก็ไม่สามารถที่จะขยายไปจนถึงใช้น้ำสำหรับอุปโภคสำหรับกิจการอื่น ที่จะสร้างความเสียหายให้กับเจ้าของภารยทรัพย์ได้
        เช่นเดียวกันนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๙ ยังได้บัญญัติเพิ่มเติมไว้ ถ้าความต้องการแห่งเจ้าของสามยทรัพย์เปลี่ยนแปลงไป ท่านว่า ความเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ให้สิทธิแก่เจ้าของสามยทรัพย์ที่จะทำให้เกิดภาระเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ได้ อันหมายความว่า แม้ความต้องการของเจ้าของสามยทรัพย์จะเปลี่ยนแปลง ก็ยังไม่สามารถที่จะกระทำการใดๆอันเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ภารยทรัพย์ได้ เช่น แต่เดิมได้ภารจำยอมให้นำรถบรรทุกผ่านที่ดินภารยทรัพย์เพื่อนำผลไม้ไปขายปีละ สองเดือน แต่เมื่อเปลี่ยนประเภทของไม้ผลที่ปลูก ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น จะนำรถบรรทุกผ่านเป็นปีละ สี่หรือห้าเดือน เช่นนี้ย่อมไม่ได้ เพราะถือเป็นการเพิ่มภาระให้กับเจ้าของภารยทรัพย์ในการต้องดูแลและซ่อมแซมทางที่อาจจะเกิดความเสีบหาย
        2.เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิทำการใดๆเพื่อรักษาและใช้ภารจำยอมได้โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับการนั้นๆเอง ตามบทบัญญัติมาตรา ๑๓๙๑ ความว่า “ เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิทำการทุกอย่างอันเป็นจำเป็น เพื่อรักษาและใช้ภารจำยอม แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง ในกรณีนี้เจ้าของสามยทรัพย์จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภารยทรัพย์ได้ก็แต่น้อยที่สุดตามพฤติการณ์
        เจ้าของสามยทรัพย์ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเองรักษาซ่อมแซมการที่ได้ทำไปแล้วให้เป็นไปด้วยดี แต่ถ้าเจ้าของภารยทรัพย์ได้รับประโยชน์ด้วยไซร้ ท่านว่าต้องออกค่าใช้จ่ายตามส่วนประโยชน์ที่ได้รับ” เช่น หากได้ภารจำยอมให้ตัดถนนผ่านภารยทรัพย์ เจ้าของสามยทรัพย์ ก็มีสิทธิที่จะถมหรือปรับปรุง ตกแต่งให้เป็นถนนที่พร้อมสำหรับใช้สอย โดยต้องออกค่าใช้จ่ายเอง และถ้าหากจำเป็นก็อาจจะตัดต้นไม้สองข้างทางได้ แต่ต้องกระทำเท่าที่จำเป็น ตามที่บทบัญญัติมาตราที่ ๑๓๘๘ และ ๑๓๘๙ ในข้างต้น และตามวรรคสอง หากประโยชน์ที่ได้จากการดัดแปลงนั้น เป็นผลดีต่อเจ้าของภารยทรัพย์ด้วยแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ต้องช่วยกันออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามส่วนแบ่งแห่งประโยชน์ที่เจ้าของภารยทรัพย์ได้รับ

        สิทธิและหน้าที่ของเจ้าของภารยทรัพย์
        1. เจ้าของภารยทรัพย์ ไม่สามารถกระทำการใดๆอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดลงหรือเสื่อมความสะดวกได้ ตามมาตรา ๑๓๙๐ “ ท่านมิให้เจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใดๆอันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดหรือเสื่อมความสะดวกไปมิได้”
        เมื่อสังหาริมทรัพย์ใดอยู่ใต้ภารยจำยอมแล้ว เจ้าของภารยทรัพย์ก็มีหน้าที่ต้องยอมรับผลที่จะเกิดขึ้นกับอสังหาริมทรัพย์ของตนในทุกกรณี โดยไม่มีสิทธิที่จะขัดขวางใดๆ เช่น ได้ภารจำยอมให้ทำทางเดินผ่านที่ดิน เจ้าของที่ดินไม่สามารถนำหินหรือสิ่งใดมากีดขวางเส้นทาง และถ้าเจ้าของสามยทรัพย์ได้รับความเสียหายเพราะการขัดขวางนั้นๆ ก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายได้
        2. เจ้าของภารยทรัพย์มีสิทธิขอให้ย้ายภารจำยอมไปยังส่วนอื่นของภารยทรัพย์ได้ หากการกระทำนั้น ไม่ทำให้ความสะดวกของเจ้าของสามยทรัพย์ลดน้อยลงไป และการกระทำดังกล่าวจะต้องเป็นประโยชน์กับเจ้าของภารยทรัพย์ด้วย โดยทั้งนี้ เจ้าของภารยทรัพย์ต้องยอมออกค่าใช้จ่ายเอง ตามมาตรา ๑๓๙๒ “ ถ้าภารจำยอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียกให้ย้ายไปยังส่วนอื่นได้ แต่ต้องแสดงได้ว่า การย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่ตน และรับเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ต้องไม่ทำใหความสะดวกของเจ้าของสามยทรัพย์ลดลง”
        ตัวอย่าง เช่น ในกรณีที่มีบ้านติดกัน บ้านหลังหนึ่งได้ภารจำยอมให้วางท่อน้ำหันไปยังอีกบ้าน เจ้าของบ้านที่อยู่ปลายท่ออาจจะยกเอข้ออ้างเรื่องความไม่สะดวกของการรองรับน้ำ มาขอให้เจ้าของบ้านสามยทรัพย์หันท่อไปทางอื่นได้ โดยต้องยอมออกค่าใช้จ่ายในการย้ายท่อให้เอง

        การระงับสิ้นไปของภารจำยอม
        1.เมื่อมีนิติกรรมที่กำหนดให้ภารจำยอมหมดสิ้นไป ระหว่างเจ้าของสามยทรัพย์และเจ้าของภารยทรัพย์ ซึ่งนิติกรรมดังกล่าวนี้ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา ๑๒๙๙ และ ๑๓๐๑ จึงจะใช้ยันบุคคลภายนอกได้
        2.เมื่อภารยทรัพย์หรือสามยทรัพย์สลายไป ตามมาตรา ๑๓๙๗ “ ถ้าภารยทรัพย์หรือสามยทรัพย์ได้สลายไปทั้งหมด ท่านว่าภารจำยอมย่อมสิ้นไป” แต่ถ้าหากมีการสลายไปเพียงบางส่วน ภารจำยอมก็ยังสามารถใช้การต่อได้
        3.เมื่อไม่ได้ใช้ประโยชน์แห่งภารจำยอมเป็นเวลาสิบปี ตามมาตรา ๑๓๙๙ “ ภารจำยอมนั้น ถ้ามิได้ใช้สิบปี ท่านว่าย่อมสิ้นไป” บทบัญญัติดังกล่าวใช้ครอบคลุมถึงภารจำยอมในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นทางนิติกรรม อายุความหรือผลแห่งกฎหมาย แต่ในกรณีที่เป็นภารจำยอมที่ได้มาโดยการจดทะเบียน เวลายกเลิกก็ต้องจดทะเบียนต่อหน้าเจ้าหน้าที่เช่นกัน
        4.เมื่อภารยทรัพย์และสามายทรัพย์ตกเป็นเจ้าของคนเดียวก้น ตามมาตรา ๑๓๙๘ “ ถ้าภารยทรัพย์และสามายทรัพย์ตกเป็นเจ้าของคนเดียวกัน ท่านว่า เจ้าของจะให้เพิกถอนการจดทะเบียนภารจำยอมก็ได้ แต่ถ้ายังมิได้เพิกถอนไซร้ ถารจำยอมยังมีอยู่ในส่วนบุคคลภายนอก” ทั้งนี้เนื่องจาก ภารจำยอมเกิดขึ้นในกรณีบนพื้นฐานของความขัดแย้งของอสังหาริมทรัพย์ระหว่างสองบุคคล ดังนั้น เมื่อเจ้าของได้กลายเป็นคนเดียวกันแล้ว ภารจำยอมย่อมหมดไป แต่ถ้าภารจำยอมนั้นได้มาจากการจดทะเบียน ก็จำเป็นที่จะต้องจดทะเบียนเพิกถอนระงับต่อหน้าเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นจะไม่สามารถอ้างยันต่อบุคคลได้ในกรณีใดๆ ไม่ว่าบุคคลภายนอกจะเป็นผู้สุจริตหรือเสียค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
        หากเป็นกรณีตรงข้าม คือได้ภารจำยอมโดยอายุความและไม่ได้จดทะเบียนต่อหน้าเจ้าหน้าที่แล้ว ก็ไม่ต้องจดทะเบียนระงับแต่อย่างใดและสามารถใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้เลย เนื่องจากอายุความของภารจำยอมจะต้องมีการนับใหม่เมื่อระงับไปแล้ว ไม่สามารถจะนับอายุความเดิมรวมไปด้วย
        5. เมือภารจำยอมไม่มีความจำเป็นหรือหมดประโยชน์ต่อสามายทรัพย์ หรือมีประโยชน์เหลือน้อยจนไม่คุ้มกับภาระที่ภารยทรัพย์ต้องรับอยู่ ตาม ปพพ. มาตรา ๑๔๐๐ ที่บัญญัติว่า เมื่อภารจำยอมหมดประโยชน์แก่สามายทรัพย์ไซร้ ท่านว่า ภารจำยอมนั้นสิ้นไป แต่ถ้าความเป็นไปมีทางให้กลับใช้ภารจำยอมได้ไซร้ ท่านว่า ภารจำยอมนั้นย่อมกลับมีอีก แต่ต้องยังไม่พ้นอายุความที่ระบุไว้ในมาตราก่อน
        ถ้าภารจำยอมยังเป็นประโยชน์แก่สามายทรัพย์บ้าง แต่เมื่อเทียบกันภารยะอันตกอยู่แก่ภารยทรัพย์แล้ว ประโยชน์นั้นน้อยนักไซร้ ท่านว่าเจ้าของภารยทรัพย็จะขอให้พ้นจากภารจำยอมทั้งหมด หรือแต่บางส่วนก็ได้ แต่ต้องใช้ค่าทดแทน”
        การสิ้นสุดของภารจำยอมโดยวิธีนี้ อาจจะทำให้ภารจำยอมเกิดขึ้นอีกก็ได้ หากภารจำยอมนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสามายทรัพย์ต่อไป และเจ้าของสามายทรัพย์สามารถเรียกร้องสิทธิได้ภายใน 10 ปี นับตั้งแต่การยกเลิกในครั้งแรก

        สรุป ความแตกต่างระหว่างทางจำเป็นและภารจำยอม
        1.ทางจำเป็นเป็นเรื่องเกี่ยวกับที่ดินโดยเฉพาะ ในขณะที่ภารจำยอมได้ครอบคลุมถึงอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ เช่น บ้าน อาคาร ด้วย
        2.ทางจำเป็นนั้น เป็นข้อจำกัดกรรมสิทธิ์ ที่ได้มาโดยกฎหมาย จึงไม่จำเป็นต้องทำหนังสือและจดทะเบียน(ตามมาตรา 1338) ในขณะที่ภารทรัพย์หรือกรรมสิทธิ์อันเกี่ยวกับภารจำยอมนั้น จำเป็นที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน (ตามมาตรา 1299) จึงจะมีผลสมบูรณ์และใช้ยันบุคคลภายนอกได้ ไม่ว่าจะได้มาโดยผลแห่งนิติกรรมหรือายุความก็ตาม
        3.ทางจำเป็นนั้น ต้องเป็นการใช้เพื่อการออกสู่ทางสาธารณะเพียงอย่างเดียว แต่ภารจำยอมนั้นจะอาศัยออกไปยังที่อื่นๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นทางสาธารณะก็ได้
        4.กรรมสิทธิ์ของทางจำเป็นนั้น ผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์ผ่านทางไม่สามารถได้มาซึ่งภาระจำยอมโดยอายุความ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม เพราะการผ่านทางหรือทำทางจำเป็นนั้น ถือเป็นการผ่านโดยสุจริตและเคารพในสิทธิของเจ้าของที่ดินผู้มีสิทธิในทางเดินผ่าน ในขณะที่การได้ซึ่งภาระจำยอมนั้น สามารถได้กรรมสิทธิ์มาตามหลักของการครอบครองโดยปรปักษ์ ( ตามมาตรา)
        5.ทางจำเป็นนั้น ผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์จะต้องจ่ายค่าทดแทนเสมอ แต่ผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์ในภาระจำยอมนั้น ไม่จำเป็นจะต้องจ่ายทดแทนใดๆ นอกจากการเสียค่าบำรุงอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นๆเอง
        6.การได้กรรมสิทธิ์แห่งทางจำเป็นนั้น จะมีขึ้นได้เมื่อที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ถ้าต่อมาที่ดินแปลงนั้นมีทางออกสู่ทางสาธารณะ ความจำเป็นในการใช้ทางจำเป็นก็จะหมดสิ้นไป ส่วนการยกเลิกภาระจำยอมนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการตกลงซึ่งกันและกัน หรือหากเป็นการได้ภาระจำยอมตามอายุความ ต้องเป็นในกรณีที่ไม่ได้มีการใช้กรรมสิทธินั้นเป็นเวลา สิบปี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.dtl-law.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น