บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

กรรมสิทธิ์รวม


กรรมสิทธิ์รวม

1. กรรมสิทธิ์รวมเป็นเรื่องของบุคคลหลายคนถือกรรมสิทธิ์รวมกันในทรัพย์สินอันเดียวกัน และทุกคนเป็นเจ้าของทุกส่วนของทรัพย์สินนั้นรวมกัน โดยลักษณะดังกล่าวกฎหมายจึงกำหนดให้เจ้าของรวมมีส่วนตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย มีสิทธิจัดการทรัพย์สิน ต่อสู้บุคคลภายนอกใช้ทรัพย์สินและได้ซึ่งดอกผลจำหน่ายหรือก่อภาระติดพัน รวมทั้งมีหน้าที่ออกค่าใช้จ่ายตามส่วน
2. เจ้าของมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์นั้นได้ โดยแบ่งทรัพย์นั้นเองระหว่างเจ้าของรวม หรือขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน โดยเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ต้องรับผิดชอบตามส่วนของตนเช่นเดียวกับผู้ขายในทรัพย์สิน ซึ่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ ได้รับไปในการแบ่งนั้น รวมทั้งต้องรับผิดร่วมกันต่อบุคคลภายนอกในหนี้อันเกี่ยวกับทรัพย์สินรวม และรับผิดต่อเจ้าของรวมคนอื่นในหนี้ซึ่งเกิดจากการเป็นเจ้าของรวมด้วย
ลักษณะและผลของกรรมสิทธิ์รวม
กรณีที่ 1
        เอก โท และตรี เป็นเจ้าของโรงแรมเล็กๆ แห่งหนึ่งร่วมกันโดยเอกเป็นเจ้าของ 1 ส่วน โท 2 ส่วน และตรี 3 ส่วน เอกกับโทมีความเห็นร่วมกันว่า ต้องปรับปรุงโรงแรมใหม่โดยเปลี่ยนจากระบบพัดลมเป็นระบบเครื่องปรับอากาศเพื่อยกระดับโรงแรมและเพิ่มค่าเช่าห้องให้สูงขึ้น แต่ตรีคัดค้านโดยอ้างว่าตนเป็นหุ้นส่วนใหญ่ เมื่อตนไม่เห็นด้วยหากเอกกับโทดำเนินการกันไปเองย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าข้ออ้างของตรีรับฟังได้หรือไม่
        ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 วรรคสาม ในเรื่องการจัดการอันเป็นสาระสำคัญ ท่านว่าข้อตกลงกันโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวมและคะแนนข้างมากนั้น ต้องมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์สิน
        ตามปัญหาการปรับปรุงโรงแรมใหม่โดยเปลี่ยนจากระบบพัดลมเป็นระบบเครื่องปรับอากาศนั้น เป็นการจัดการทรัพย์สินโดยวิธีที่ต่างไปจากการจัดการธรรมดาจึงเป็นเรื่องของการจัดการอันเป็นสาระสำคัญ ตามมาตรา 1358 วรรคสามดังกล่าว กำหนดให้ต้องตกลงกันโดยคะแนนเสียงข้างมากของเจ้าของรวมและคะแนนข้างมากนั้นต้องมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์สิน เมื่อเอกกับโทมีความเห็นร่วมกันจึงนับเป็นเสียงข้างมากของเจ้าของรวม และมีส่วนของความเป็นเจ้าของรวมกันได้ 3 ส่วน ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินทั้งหมด จึงมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งแห่งมูลค่าทรัพย์สิน ตามมาตรา 1358 วรรคสามดังกล่าวแล้ว เอกกับโทจึงดำเนินการในเรื่องจัดการอันเป็นสาระสำคัญดังกล่าวได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
        ฉะนั้นข้ออ้างของตรีจึงรับฟังไม่ได้ การที่เอกกับโทตกลงกันย่อมเป็นคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง แห่งค่าทรัพย์สิน ตามมาตรา 1358 วรรคสามแล้ว

กรณีที่ 2
        เด่นกับดังเป็นเจ้าของรถบรรทุกคันหนึ่งร่วมกันโดยเด่นถือกรรมสิทธิ์ 2 ใน 3 และดังถือกรรมสิทธิ์ 1 ใน 3 ทั้งสองตกลงกันว่าใครจะเอาไปใช้เมื่อใดก็ได้ แต่ขอให้บอกกันให้รู้ล่วงหน้า และจะไม่ใช้ซ้ำกัน ปรากฏว่าในระหว่างที่เด่นนำไปใช้หนึ่งเดือนนั้น ต้องจ่ายค่าซ่อมเครื่องยนต์ไป 30,000 บาท และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 12,000 บาท เด่นจึงเรียกให้ดังออกค่าใช้จ่ายค่าซ่อมเครื่องยนต์และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว คนละครึ่งดังนี้ให้วินิจฉัยว่า ดังจะมีข้อต่อสู้เพียงใด
        ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1362 เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จำต้องช่วยเจ้าของรวมคนอื่นๆตามส่วนของตนในการออกค่าจัดการ ค่าภาษีอากร และค่ารักษา กับทั้งค่าใช้ทรัพย์สินรวมกันด้วย
        ตามปัญหา เด่นกับดังเป็นเจ้าของรถรถบรรทุกคันหนึ่งร่วมกัน โดยเด่นถือกรรมสิทธิ์ 2 ใน 3 และดังถือกรรมสิทธิ์ 1 ใน 3 ปรากฏว่าในระหว่างที่เด่นนำไปใช้เป็นเวลา 1 เดือนนั้น ต้องจ่ายค่าซ่อมเครื่องยนต์ไป 30,000 บาท ค่าซ่อมเครื่องยนต์ดังกล่าวเป็นค่ารักษาทรัพย์สิน ดังต้องช่วยออก 1 ใน 3 ตามส่วนของตน ตามมาตรา 1362 ดังกล่าวนั้นคือ 10,000 บาท สำหรับค่าน้ำมันเชื้อเพลิงมิใช่ทรัพย์สินรวมกัน แต่เป็นค่าใช้จ่ายทรัพย์เป็นส่วนตัว ดังจึงไม่มีหน้าที่ต้องช่วยออกค่าทรัพย์ใช้ทรัพย์สินเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด
        ฉะนั้น ดังจึงมีข้อต่อสู้โดยออกค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าซ่อมเครื่องยนต์ อันเป็นค่ารักษาทรัพย์สินตามตามส่วนของตนเท่านั้น

การแบ่งทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวม
กรณีที่ 1
        นกกับแมวซื้อที่ดินหน้ากว้าง 6 เมตร ยาวตลอดแนวเพื่อทำถนนเข้าที่ดินของแต่ละคน โดยถือกรรมสิทธิ์คนละครึ่ง ต่อมานกต้องการปรับปรุงถนนจากดินลูกรังเป็นคอนกรีตแต่แมวคัดค้านโดยอ้างเหตุว่าเป็นการสิ้นเปลืองและเกินความจำเป็น หากจะทำก็ขอให้นกออกค่าใช้จ่ายแต่เพียงฝ่ายเดียวนกโกรธมากจึงเรียกให้แบ่งถนนคนละครึ่ง คือแบ่งตามหน้ากว้าคนละ 3 เมตรเพื่อจะได้ถนนคอนกรีตในส่วนของตนดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าข้อเรียกร้องให้แบ่งถนนคนละครึ่งของนกรับฟังได้หรือไม่เพราะเหตุใด
        ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคแรก เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร ก็เรียกให้แบ่งไม่ได้ ตามปัญหานกกับแมวซื้อที่ดินหน้ากว้าง 6 เมตรยาวตลอดแนวเพื่อทำถนนเข้าที่ดินของแต่ละคน โดยถือกรรมสิทธิ์คนละครึ่ง เช่นนี้เห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ที่เป็นเจ้าของถนนรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร นกจึงเรียกให้แบ่งถนนคนละครึ่งตามหน้ากว้างคนละ 3 เมตร เพื่อจะได้ทำถนนคอนกรีตเฉพาะส่วนของตนไม่ได้เป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคแรกดังกล่าว
        ฉะนั้นข้อเรียกร้องให้แบ่งถนนคนละครึ่งของนกจึงรับฟังไม่ได้เพราะวัตถุประสงค์ของการเป็นเจ้าของรวมกันนั้น มีลักษณะเป็นการถาวรต้องห้ามตามมาตรา 1363 วรรคแรก

กรณีที่ 2
        หนึ่ง สอง และสาม เป็นเจ้าของโคฝูงหนึ่งร่วมกันโดยแต่ละคนถือกรรมสิทธิ์เท่ากัน ต่อมาทั้งสามคนตกลงแบ่งโคกันตามส่วนคนละ 100 ตัว แต่ปรากฏว่าโคส่วนของสามที่ได้รับแบ่งไปนั้นตายทั้งหมดเพราะป่วยเป็นโรคร้ายอยู่ก่อนแล้ว ต้องทำลายซากทั้งหมด ในส่วนที่โคตายทั้งหมดนั้น คิดเป็นเงิน 600,000 บาท สามจึงเรียกให้หนึ่งและสองชดใช้ค่าเสียหายให้ตนคนละ 300,000 บาท เช่นนี้ให้วินิจฉัยว่าหนึ่งและสองจะมีข้อต่อสู้เพียงใด
        ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1366 เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ต้องรับผิดตามส่วนของตนเช่นเดียวกับผู้ขายในทรัพย์สินซึ่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ ได้รับไปในการแบ่ง
        ตามปัญหา หนึ่ง สอง และสาม เป็นเจ้าของโคฝูงหนึ่งร่วมกันโดยแต่ละคนถือกรรมสิทธิ์เท่ากันภายหลังการแบ่งทรัพย์สิน ปรากฏว่าโคส่วนของสามที่ได้รับแบ่งไปตามทั้งหมด เพราะป่วยเป็นโรคร้ายอยู่ก่อนแล้ว เช่นนี้หนึ่ง สองต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่อง ตามส่วนของตนเช่นเดียวกับผู้ขาย ตามมาตรา 1366 ดังกล่าว เมื่อโคส่วนของสามที่ตายทั้งหมด คิดเป็นเงิน 600,000 บาท แต่ละคนจะต้องรับผิดชอบตามส่วนคือ คนละ 200,000 บาท สามจึงเรียกให้หนึ่งและสอง ชดใช้ค่าเสียหายให้ตนได้ คนละ 200,000 บาท
        ฉะนั้นหนึ่งและสองจึงมีข้อต่อสู้ว่า จะต้องรับผิดตามส่วนของตนคือคนละ 200,000 บาท มิใช่ 300,000 บาท ตามที่สามเรียกร้อง

ที่มา : คุณ hanayo_boyz จากเว็บไซต์ Bloggang.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น