บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สรุปกฎหมายครอบครัว

สรุปกฎหมายครอบครัว









การหมั้น
เงื่อนไขของการหมั้น มีอยู่ ๒ ประการ
๑. อายุของคู่หมั้น (มาตรา ๑๔๓๕) ชายและหญิงคู่หมั้นต้องมีอายุอ ๑๗ ปีบริบูรณ์ หากฝ่าฝืนตกเป็นโมฆะ
๒. ความยินยอมของบิดามารดา (ได้รับความยินยอมทั้งบิดาและมารดาแม้บิดามารดาจะแยกกันอยู่ก็ตาม) หรือผู้ปกครอง (มาตรา ๑๔๓๖) การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมของบุคคลดังกล่าวเป็นโมฆียะ

แบบของสัญญาสัญญาหมั้น
หลัก การหมั้นต้องมีของหมั้นมิฉะนั้นการหมั้นไม่สมบูรณ์ (มาตรา ๑๔๓๗)
การหมั้น จะต้องเป็นการที่มีการนำของหมั้นไปมอบให้ฝ่ายหญิง แต่หากไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ก็จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้
ของหมั้น เป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนให้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น เมื่อหมั้นแล้วของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิงทันที

กรณีของหมั้นเป็นขอบบุคคลภายนอกมีข้อพิจารณา ดังนี้
(๑) ถ้าทรัพย์สินที่นำไปเป็นของหมั้นและเจ้าของไม่ยินยอมอนุญาตให้ยืมเอาไปเป็นของหมั้น เจ้าของนั้นมีสิทธิติดตามเอาคืนได้ตามมาตรา ๑๓๓๐ แต่ถ้าเป้นเงินตราและหญิงคู่หมั้นรับไว้โดยสุจริตแล้ว เจ้าของเงินตรามาเอาคืนไม่ได้ เพราะสิทธิของหญิงคู่หมั้นที่ได้เงินตรามาโดยสุจริตไม่เสียไปตามมาตรา ๑๓๓๑
(๒) ถ้าทรัพย์สินที่นำไปเป็นของหมั้น เจ้าของทรัพย์สินให้ยืมไปทำการหมั้น แม้จะตกลงให้ยืมชั่วคราว เมื่อหญิงไม่รู้เรื่องด้วยแล้ว ของหมั้นนั้นก็ตกเป็นสิทธิแก่หญิงคู่หมั้น
ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายยกให้หญิงไม่ใช่ในฐานะเป็นสินสอดหรือของหมั้น หากหญิงผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายชายก็ไม่มีสิทธิเรียกคืน

ลักษณะสำคัญของของหมั้น
๑. ต้องเป็นทรัพย์สิน
๒. ต้องเป็นของฝ่ายชายให้ไว้แก่หญิง
๓. ต้องให้ไว้ในเวลาทำสัญญาและหญิงต้องได้รับไว้แล้ว
๔. ต้องเป็นการให้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น และต้องให้ไว้ก่อนสมมรส (ถ้าให้หลังสมรสก็ไม่ใช่ของหมั้น)

คู่สํญญาที่จะต้องรับผิดตามสัญญาหมั้น
๑. ชายหญิงที่เป็นคู่หมั้น
๒. บิดามารดาของชายหญิงคู่หมั้นซึ่งเป็นคู่สัญญาหมั้น
๓. บุคคลผู้กระทำในฐานะเช่นบิดามารดาของชายหญิงคู่หมั้น

สินสอด
ลักษณะของสินสอด
(๑) ต้องเป็นทรัพย์สิน
(๒) ต้องเป็นของฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง
(๓) ให้เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส
สินสอดไม่ใช่สาระสำคัญของการหมั้นหรือการสมรส ชายหญิงทำการหมั้นและสมรสกันได้โดยไม่ต้องมีสินสอด แต่ถ้าได้มีการตกลงกันว่าจะให้สินสอดแก่กัน ฝ่ายหญิงย่อมฟ้องเรียกสินสอดได้
การที่หญิงยอมสมรสถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้ ดังนั้น ฝ่ายชายจึงมีสิทธิเรียกสินสอดกันได้ใน ๒ กรณี
๑. กรณีไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง
๒. กรณีไม่มีการสมรสโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ
ถ้าเป็นกรณีที่ไม่มีการสมรสอันเนื่องมาจากกรณีที่ชายหรือหญิงคู่หมั้นตายก่อนจดทะเบียนสมรส ฝ่ายชายไม่มีสิทธิเรียกค่าสินสอด (มาตรา ๑๔๔๑)
อายุความฟ้องเรียกสินสอดคืนใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๙๓/๓๐

วิธีการในการคืนของหมั้น
๑. ถ้าของหมั้นหรือสินสอดเป็นเงินตรา ฝ่ายหญิงมีหน้าที่ต้องคืนเงินเพียงส่วนที่มีอยู่ในขณะเรียกคืนโดยสุจริต (มาตรา ๔๑๒) ดังนั้น การคืนเงินตราจึงคืนเฉพาะต้นเงินเท่านั้น ประโยชน์หรือดอกเบี้ยเพิ่มพูนจากการที่นำเงินนั้นไปลงทุนจึงไม่ต้องคืน แต่ฝ่ายชายอาจเรียกดอกเบี้ยในเงินต้นได้นับแต่วันฟ้องคดีเพราะถือว่าฝ่ายหญิงตกอยู่ในฐานะทุจริตตั้งแต่เวลาที่เรียกคืนนั้นแล้ว
๒. ถ้าของหมั้นหรือสินสอดนั้นเป็นทรัพย์สินอื่นที่ไม่ใช่เงินตรา ฝ่ายหญิงต้องคืนทรัพย์สินในสภาพที่เป็นสภาพที่เป็นอยู่ ณ เวลาที่เกรียกคืน ดังนั้น หากทรัพย์สินสูญหายหรือบุบสลายก็ไม่ต้องรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องหรือบุบสลายนั้น และหากทรัพย์สินนั้นมีราคาเพิ่มขึ้นเพราะฝ่ายหญิงได้ออกเงินค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น ฝ่ายหญิงก็มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายนันจากฝ่ายชายได้ด้วย

การผิดสัญญาหมั้นและค่าทดแทน
๑. การหมั้นไม่เป็นเหตุฟ้องร้องบังคับให้สมรสได้
๒. เมื่อมีการผิดสัญญาหมั้นจะต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนกันตามมาตรา ๑๔๓๙ โดยเรียกค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๔๐ ดังนั้น ค่าทดแทนจากการผิดสัญญาหมั้นจะมีได้เฉพาะที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๔๔๐ ใน ๓ กรณี คือ
๒.๑ ค่าทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายและหญิงนั้น
๒.๒ ค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดาหรือบุคคลผู้กระทำในฐานะเช่นเดียวกับบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
๓. ค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นเกี่ยวแก่อาชีพหรือการทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

ถ้าชายผิดสัญญาหมั้น หญิงไม่ต้องคืนของหมั้น แต่หากหญิงผิดสัญญาหมั้น หญิงก็ต้องคืนของหมั้นให้แก่ชาย
(๑) ฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้น มีข้อน่าสังเกตว่า ศาลมีอำนาจที่จะชี้ขาดว่าของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่หญิงนั้นเป็นค่าทดแทนทั้งหมดหรือจะให้เป้นส่วนหนึ่งของค่าทดแทน หรือศาลอาจให้ค่าทดแทนแก่หญิงทั้งหมดโดยไม่คำนึงถึงของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่หญิงก็ได้ตามมาตรา ๑๔๔๐ วรรคท้าย
(๒) ฝ่ายหญิงผิดสัญญาหมั้น มีข้อน่าสังเกตว่า กรณีหญงต้องคืนของหมั้นให้แก่ชาย ถ้าหญิงจะสู่คดีว่าไม่ต้องคืนของหมั้นหญิงจะต้องอ้างว่าได้ใช้เงินไปหมดแล้วหรือขายทรัพย์นั้นไปแล้ว จึงไม่ต้องคืนของหมั้นให้แก่ชาย

การระงับสิ้นไปแห่งสัญญาหมั้นและค่าทดแทน
๑. คู่สัญญาหมั้นทั้ง ๒ ฝ่าย ตกลงยินยอมเลิกสัญญา
- ตกลงกันด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือก็ได้
- ฝ่ายหญิงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่ฝ่ายชาย
- คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยจะเรียกค่าทดแทนอะไรจากกันไม่ได้
๒. ชายคู่หมั้นหรือหญิงคู่หมั้นถึงแก่ความตาย
- การตายไม่ใช่เป็นการผิดสัญญาหมั้น
- หญิงหรือฝ่ายหญิงไม่ต้องคืนของหมั้นหรือสินสอด แม้ความตายจะเกิดจากการฆ่าตัวตายหรือถูกอีกฝ่ายจงใจฆ่าตายก็ตาม
- ความตายที่ว่านี้ไม่รวมถึงการสาบสูญ
๓. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาหมั้นเนื่องจากมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่คู่หมั้น
- ใช้เหตุเดียวกับเหตุหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ ส่วนเหตุอื่นนอกเหนือจากเหตุหย่าก็ถือเป็นเหตุสำคัญได้ เช่น คู่หมั้นถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย หรือถูกศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เป็นต้น
- โดยหลักแล้วไม่ว่าฝ่ายชาหรือหญิงเลิกสัญญาหมั้นเพราะเหตุสำคัญอันเกิดจากหญิงหรือชายคู่หมั้น ฝ่ายชายหรือหญิงจะเรียกค่าทดแทนจากกันไม่ได้ แต่หากเหตุที่เกิดปก่คู่หมั้นเป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นฝ่ายนั้นตามมาตรา ๑๔๔๔ ยกเว้นไว้ว่าคู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น
๓.๑ ชายบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น
เหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น เช่น หญิงยินยอมให้ชายอื่นร่วมประเวณีในระหว่างการหมั้น หญิงวิกลจริตหรือได้รับอันตรายสาหัสจนพิการ หรือเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง เป็นต้น ผลคือ ชายเรียกของหมั้นคืนได้และหญิงต้องคืนของหมั้นให้แก่ชาย
๓.๒ หญิงบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น
เหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น เช่น ชายไร้สมรรถภาพทางเพศ เป็นคนวิกลจริตหรือพิการ เป็นนักโทษและกำลังรับโทษอยู่ ร่วมประเวณีกับหญิงอื่น ไปเป็นชู้กับภริยาคนอื่น ข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่น เป็นต้น นอกจากนี้แม้เหตุสำคัญดังกล่าวจะมาจากความผิดของหญิงคู่หมั้น หญิงคู่หมั้นก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ผลของการบอกเลิกสัญญาหมั้นหญิงไม่ต้องคืนของหมั้นแก่ชาย


ค่าทดแทนในการเลิกสัญญาหมั้น
๑. ค่าทดแทนที่คู่หมั้นเรียกจากกันในกรณีบอกเลิกสัญญาหมั้นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้น
เหตุที่ทำให้ต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนจะต้องเกิดขึ้นหลังการหมั้น หากเกิดขึ้นก่อนทำสัญญาหมั้นก็จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้ คู่สัญญาหมั้นมีสิทธิเพียงแต่บอกเลิกสัญญาหมั้นโดยอ้างว่ามีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายหรือหญิงคู่หมั้นเท่านั้น จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้
๒. ค่าทดแทนจากชายอื่นหรือหญิงอื่นที่ล่วงเกินหญิงคู่หมั้นหรือชายคู่หมั้นทางประเวณี
๒.๑ กรณีที่คู่หมั้นยินยอมร่วมประเวณีกับชายอื่นหรือหญิงอื่นนั้น
(๑) เรียกค่าทดแทนได้ต่อเมื่อชายหรือหญิงคู่หมั้นได้ บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา ๑๔๔๒ หรือมาตรา ๑๔๔๓ แล้ว
(๒) ชายอื่นหรือหญิงอื่นจะต้องรู้หรือควรรู้ว่าชายหรือหญิงนั้นได้หมั้นแล้ว
ข้อสังเกต
ก. กรณีหญิงคู่หมั้นร่วมประเวณีกับชายอื่น นอกจากชายคู่หมั้นจะมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นได้แล้ว อาจเรียกค่าทดแทนจากหญิงคู่หมั้นได้โดยอ้างเหตุว่าเป็นการกระทำชั่วอย่างร้ายแรง
ข. หญิงคู่หมั้นเพียงแต่ยินยอมให้กอดจูบลูบคลำยังไม่ถึงขั้นให้ร่วมประเวณี ชายคู่หมั้นจะเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นไม่ได้ แต่อาจเรียกค่าทดแทนจากหญิงคู่หมั้นได้ โดยถือว่าเป็นการกระทำชั่วอย่างร้ายแรง
๒.๒ กรณีบุคคลอื่นข่มขืนหรือพยายามข่มขืนการกระทำชำเราหญิงคู่หมั้นหรือชายคู่หมั้น
(๑) คู่หมั้นไม่จำเป็นต้องบอกเลิกสัญญาหมั้นด้วย
(๒) ไม่ใช่เป็นเรื่องของการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง คู่หมั้นจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงคู่หมั้นหรือชายคู่หมั้นไม่ได้ตามมาตรา ๑๔๔๔ ไม่ได้
(๓) คู่หมั้นจะเรียกค่าทดแทนจากบุคคลอื่นที่มาข่มขืนหรือพยายามข่มขืนคู่หมั้นตนได้ บุคคลอื่นนั้นจะต้องรู้หรือควรจะรู้ว่าหญิงหรือชายมีคู่หมั้นแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าคู่หมั้นเป็นใคร

ข้อสังเกต การเรียกค่าทดแทนจากบุคคลอื่นที่มาล่วงเกินคู่หมั้นทางประเวณีตามมาตรา ๑๔๔๕ และ ๑๔๔๖ หมายความเฉพาะเพศตรงข้ามกับชายหรือหญิงคู่หมั้นเท่านั้น (แสดงว่าไม่ถือตามประมวลกฎหมายอาญา)
สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนในเรื่องการหมั้น นอกจากค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๔๐ (๒) ไม่อาจโอนกันได้และไม่ตกทอดไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้เป็นหนังสือหรือผู้เสียหายได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว
อายุความในเรื่องการหมั้นกฎหมายกำหนดไว้เพียง ๖ เดือน นับตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ เป็นต้นไป แต่การเรียกร้องสินสอดคืน กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้ จึงใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามหลักกฎหมายทั่วไป

การสมรส
หลักเกณฑ์การสมรส มีอยู่ ๔ ประการ คือ
๑. คู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นชายอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเปินหญิง
๒. การสมรสจะต้องเป็นการกระทำโดยสมัครใจของชายและหญิง หากชายและหญิงสมรสกันโดยไม่ได้เกิดจากความยินยอมสมรสกัน การสมรสนั้นเป็นโมฆะ
๓. การอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาจะต้องเป็นระยะเวลาชั่วชีวิต
๔. การสมรสจะต้องมีคู่สมรสเพียงคนเดียว

เงื่อนไขการสมรส
๑. ชายและหญิงต้องมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์แล้วทั้งสองคน หากฝ่าฝืนการสมรสนั้นเป็น
โมฆียะตามมาตรา ๑๕๐๓
๒. ชายหรือหญิงต้องไม่เป็นคนวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หากฝ่าฝืนการสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๔๙๕
๓. ญาติสนิทสมรสกันไม่ได้ ญาติสนิทมี ๔ ประเภท คือ
(๑) ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป คือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด
(๒) ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงลงมา คือ ลูก หลาน เหลน ลื่อ
(๓) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(๔) พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดา
ผลของการฝ่าฝืนทำให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๔๙๕
ข้อสังเกต ญาติสนิทถือตามความเป็นจริง
๔. ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้ หากฝ่าฝืนการสมรสนั้นก็ยังคงสมบูรณ์ มีผลเพียงการรับบุตรบุญธรรมเป็นอันยกเลิกเมื่อมีการสมรสฝ่าฝืนตามมาตรา ๑๔๕๑ เท่านั้น
๕. ชายหรือหญิงมิได้เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น หากฝ่าฝืนเป้นการสมรสซ้อนทำให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๔๙๕
ข้อสังเกต
(๑) แม้คู่สมรสอีกฝ่ายจะสุจริตโดยไม่ทราบว่ามีการสมรสเดิมอยู่แล้วก็ตาม การสมรสนั้นก็ยังต้องเป็นโมฆะอยู่
(๒) คู่สมรสผู้ทำการโดยสุจริตไม่เสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสนั้น ก่อนที่จะรู้เหตุที่ทำให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะ
(๓) กรณีชายหรือหญิงมีคู่สมรสแล้ว แต่การสมรสนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะ ชายหรือหญิงนั้นไม่อาจสมรสใหม่ได้ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะหรือเป็นโมฆียะเสียก่อน
๖. ชายหรือหญิงยินยอมเป็นสามีภรรยากัน หากไม่มีเจตนาที่จะทำการสมรสกันจริงๆ การสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๔๙๕ และบุคคลผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างชายหรือหญิงนั้นเป็นโมฆะได้ตามมาตรา ๑๔๙๖ วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๒๗/๒๕๓๖ เมื่อคดีอาญาที่จำเลยทั้งสองถูกฟ้องเป็นเรื่องแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ส่วนคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการสมรสของจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาและมีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ตามที่ปรากฏในสำนวนคดีแพ่งได้ เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีปรากฏว่าช่วงเกิดเหตุจำเลยที่ ๒ ยังอยู่กินฉันสามีภรรยากับนายบ.ส่วนจำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นเพียงลูกจ้างของบุคคลทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันไปขอจดทะเบียนสมรสโดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานว่ามีเจตนาจะสมรสกันและต่างไม่เคยมีคู่สมรสมาก่อนจึงผิดไปจากเจตนาที่แท้จริง และไม่น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองยินยอมเป็นสามีภริยากันอันเป็นเงื่อนไขแห่งการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๕๘ โจทก์จึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะได้
๗. หญิงหม้ายจะสามารถใหม่ได้ต่อเมื่อเวลาไม่น้อยกว่า ๓๑๐ วัน นับแต่วันที่ขาดจากการสมรสเดิมได้ล่วงพ้นไปเสียก่อน (มาตรา ๑๔๕๓) แต่มีข้อยกเว้นให้หญิงหม้ายทำการสมรสได้ ๔ ประการคือ
(๑) หญิงนั้นได้คลอดบุตรแล้ว
(๒) หญิงนั้นสมรสกับสามีคนก่อน
(๓) มีใบรับรองแพทย์ว่าหญิงนั้นมิได้ตั้งครรภ์
(๔) มีคำสั่งศาลให้หญิงนั้นทำการสมรสได้
การสมรสที่ฝ่าฝืนนี้สมบูรณ์และบุตรที่เกิดมาภายใน ๓ๆ วัน นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่ตามมาตรา ๑๕๓๗
๘. ผู้เยาว์จะทำการสมรสได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
การให้ความยินยอมมีอยู่ ๓ วิธีคือ
(๑) ผู้ให้ความยินยอมลงลายมือชื่อในทะเบียนขณะจดทะเบียนสมรสเพื่อให้เป็นหลักฐานไว้
(๒) ทำหนังสือแสดงความยินยอมโดยระบุชื่อผู้สมรสทั้งสองฝ่าย และลงลายมือชื่อของผู้ให้ความยินยอมไว้ด้วย
(๓) เมื่อมีเหตุจำเป็นจะให้ความยินยอมด้วยวาจาต่อหน้าพยานอย่างน้อย ๒ คนก็ได้
ข้อสังเกต กรณีบิดามารดาทำหนังสือให้ความยินยอมต่อมาบิดาหรือมารดาเสียชีวิตไปก่อน เช่นนี้ก็สามารถใช้หนังสือยินยอมนั้นไปจดทะเบียนได้ แต่ถ้าตายทั้งคู่ถือว่าหนังสือให้ความยินยอมสิ้นผล ต้องไปขอความยินยอมใหม่จากผู้ปกครองหรือขออนุญาตศาลให้ทำการสมรส
กรณีที่ฝ่าฝืนโดยทำการสมรสปราศจากความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง การสมรสนั้นย่อมเป็นโมฆียะตามมาตรา ๑๕๐๙

แบบของการสมรส
การสมรสจะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนสมรสแล้วเท่านั้น เมื่อได้จดทะเบียนสมรสกันแล้วก็เป็นสามีภรรยากันตามกฎหมายทันทีตามมาตรา ๑๔๕๗

ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา
ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยามี ๒ ประการ คือ
๑. ความสัมพันธ์ในการส่วนตัว
๒. ความสัมพันธ์ในทางทรัพย์สิน

๑. ความสัมพันธ์ในทางส่วนตัว
๑.๑ สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามมาตรา ๑๔๖๑
การช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน หมายถึง การช่วยปฏิบัติหน้าที่ในครอบครัวเพื่อให้ครอบครัวดำรงอยู่ได้ด้วยความผาสุก
การอุปการะเลี้ยงดู หมายถึง การให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีพ
ข้อสังเกต
(๑) สิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูจะสละหรือโอนไม่ได้และไม่อยู่ในข่ายการบังคับคดี เช่น แม้สามีภริยาทำสัญญาแยกกันอยู่โดยภริยาระบุไม่เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากสามี ภริยายังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้
(๒) กรณีบุคคลภายนอกทำละเมิดต่อสามีหรือภริยาได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตาย สามีหรือภริยาอีกฝ่ายย่อมถูกกระทบกระเทือนสิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู จึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำละเมิดในค่าสินไหมทดแทน เพื่อการขาดแรงงานและค่าสินไหมทดแทนเพื่อการอุปการะเลี้ยงดูตามมาตรา ๔๔๕ และ ๔๔๓
(๓) การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายต้องนำสืบให้ได้ว่าอีกฝ่ายมีความสามารถและฐานะดีกว่าตนเพียงใด และมีรายได้เกินรายได้ของอีกฝ่ายเพียงใด เพราะหากนำสืบไม่ได้ศาลอาจไม่ให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูได้
๑.๒ แยกกันอยู่ชั่วคราว
(๑) สามีภริยาทำข้อตกลงแยกกันอยู่ต่างหาก
- ทำข้อตกลงกันด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้
- สามีภรรยาต่างฝ่ายต่างหมดหน้าที่จะต้องอยู่ด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป แต่สถานะสามีภริยายังคงมีอยู่ยังไม่ถือว่าการสมรสสิ้นสุดลง แต่หากแยกกันอยู่เกิน ๓ ปี อาจมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา ๑๕๑๖ (๔) (๔๑๒)
(๒) ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้แยกกันอยู่ต่างหากเป้นการชั่วคราว เหตุที่จะฟ้องขอให้ศาลอนุญาตให้แยกกันอยู่ชั่วคราว มี ๔ กรณี คือ
(๒.๑) สามีภริยาไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุข
(๒.๒) การอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายอย่างมากของสามีหรือภริยา
(๒.๓) การอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่จิตใจอย่างมากของสามีหรือภริยา
(๒.๔) การอยู่ร่วมกันจะเป็นการทำลายความผาสุกอย่างมากของสามีหรือภริยา
๑.๓ การเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ให้คู่สมรสที่ตกเป็นคนวิกลจริตจนถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถตามมาตรา ๑๔๖๓
๑.๔ การซื่อสัตย์ในความรักต่อกัน ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางชู้สาว หากภริยามีชู้สามีมีสิทธิฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทนจากภริยาและชายชู้ได้ และหากสามีมีภริยาน้อยหรือร่วมประเวณีกับหญิงอื่นเป็นอาจิณ ภริยามีสิทธิฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทนจากสามีและภริยาน้อยได้เช่นเดียวกัน จะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภริยาน้อยโดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีก็ได้
๑.๕ การใช้คำนำหน้านามและชื่อสกุลของหญิงมีสามี
หญิงเมื่อจะทำการสมรสมีสิทธิเลือกใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ก็ได้ และคู่สมรสมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่ตกลงกันหรือต่างฝ่ายต่างใช้ชื่อสกุลเดิมของตนก็ได้
๑.๖ สัญชาติและภูมิลำเนาของสามีภริยา
การสมรสไม่ทำให้ได้สัญชาติไทย แต่อาจร้องขอสัญชาติโดยแปลงสัญชาติได้
สามีภริยามีภูมิลำเนาอยู่ที่เดียวกัน ณ ถิ่นที่อยู่ด้วยกันตามมาตรา ๔๓

๒. ความสัมพันธ์ในทางทรัพย์สิน
๒.๑ สัญญาก่อนสมรสในเรื่องทรัพย์สิน
- ก่อนจดทะเบียนสมรส คู่สมรสจะทำสัญญาก่อนสมรสในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นการยกเว้นไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๔๖๕-๑๔๙๓ ก็ได้ ตามมาตรา ๑๔๖๕
- ถ้าได้ทำสัญญาก่อนสมรสยกเว้นไว้ว่าให้สามีมีอำนาจขายที่ดินสินสมรสได้โดยลำพังก็สามารถทำได้
- ต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สิน ถ้าเป็นการกำหนดว่า “ถ้าชายหญิงหย่าขาดจากกันให้สินสมรสทั้งหมดเป็นของหญิงฝ่ายเดียวโดยชายไม่มีสิทธิได้สินสมรส” สัญญาดังกล่าวก็จะใช้บังคับไม่ได้ เพราะไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินแต่เป็นเรื่องการแบ่งสินสมรสหลังการหย่า
- ข้อความในสัญญาจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือระบุให้ใช้กฎหมายของประเทศอื่นบังคับในเรื่องทรัพย์สิน หากฝ่าฝืนเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๔๖๕ วรรคสอง
- สัญญาก่อนสมรสทำได้แต่เฉพาะเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเท่านั้น จะทำเกี่ยวกับเรื่องหนี้สินไม่ได้
- การทำสัญญาก่อนสมรสอาจจะดำเนินการได้ดังนี้
(๑) จดแจ้งสัญญาไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือ
(๒) ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อย ๒ คน แนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส พร้อมทั้งจดไว้ในทะเบียนสมรสในขณะจดทะเบียนสมรสว่ามีสัญญาแนบท้าย
ถ้าไม่ทำตามแบบที่กำหนด สัญญานั้นเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๔๖๖
- การเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสจะทำไม่ได้นอกจากได้รับอนุญาตจากศาล หากฝ่าฝืนก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสัญญาก่อนสมรสนั้นแต่อย่างใด และแม้จะมีข้อตกลงในสัญญาก่อนสมรสโดยชัดแจ้งให้เปลี่ยนแปลงเพิกถอนได้ ข้อตกลงดังกล่าวก็ใช้บังคับไม่ได้เพราะขัดต่อมาตรา ๑๔๖๗
- การเปลี่ยนแปลงสัญญาที่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล จำกัดเฉพาะการเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาภายหลังเมื่อทำการสมรสแล้ว ถ้าก่อนการสมรสคู่สมรสต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตต่อศาลแต่อย่างใด
- ผลสัญญาก่อนสมรสต่อบุคคลภายนอก ให้ถือตามระบบทรัพย์สินของสามีภริยาตามกฎหมายเช่นกรณีปกติตามมาตรา ๑๔๖๘
๒.๒ สัญญาระหว่างสมรสในเรื่องทรัพย์สิน
- การทำสัญญาระหว่างสมรสไม่ได้กำหนดแบบไว้เป็นพิเศษเหมือนกับสัญญาก่อนสมรส
- ห้ามทำสัญญาระหว่างสมรสในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการสินสมรสที่สำคัญที่สามีภริยาจะต้องจัดการร่วมกัน เช่น สามีและภริยาจะทำสัญญาระหว่างสมรสให้ภริยามีอำนาจจำนองที่ดินที่เป็นสินสมรสแต่ผู้เดียวอันแตกต่างจากมาตรา ๑๔๗๖ ไม่ได้ สัญญาดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้ เป็นต้น
- สามีหรือภริยาบอกล้างสัญญาได้ แต่จะบอกล้างได้เฉพาะสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้น โดยจะต้องบอกล้างในเวลาที่เป็นสามีภริยาหันอยู่หรือภายในกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากัน แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยทุจริต
- สัญญาที่ไปเกี่ยวกับทรัพย์สินอาจเสื่อมเสียไปด้วยเหตุอื่นตามหลักในสัญญาทั่วไป เช่น เป็นโมฆียะเพราะสำคัญผิด เป็นต้น
- แม้สัญญานั้นจะได้ทำมาเกิน ๑๐ ปีแล้ว สามีหรือภริยาก็ยังมีสิทธิบอกล้างได้
- เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย สิทธิบอกล้างไม่ตกทอดไปยังทายาทในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของมรดกผู้ตาย ทายาทจึงไม่มีสิทธิบอกล้าง
- ผลของการบอกล้างในระหว่างสามีภริยาทำให้สัญญานั้นสิ้นความผูกพันเสมือนหนึ่งว่าสามีภริยาไม่เคยทำสัญญาไว้ต่อกันเลย จะบังคับกันไม่ได้ถ้าได้มีการโอนทรัพย์สินกันไปแล้วก็ต้องโอนกลับคืน และถ้ามีการจดทะเบียนก็ต้องเพิกถอนการจดทะเบียนด้วย แต่การบอกนั้นกระทบกระเทือนถึงบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต โดยไม่คำนึงถึงว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๓๙/๒๕๔๔ บันทึกที่โจทก์จำเลยทำขึ้น แม้จะมีข้อความว่าโจทก์และจำเลยตกลงหย่ากัน แต่ตราบใดที่ยังไม่จดทะเบียนหย่าก็ต้องถือว่าเป็นสามีภริยากันอยู่ เมื่อข้อตกลงนั้นมีส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินด้วยจึงเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยาหรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยาก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๙ การที่จำเลยยื่นคำให้การว่าบอกเลิกข้อตกลงแล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างไปในตัว ในขณะยังเป็นสามีภริยากันอยู่ จึงไม่มีผลบังคับแก่โจทก์จำเลยอีก ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้
๒.๓ ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
(๑) สินส่วนตัว (ทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง)
(๒) สินสมรส (ทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างคู่สมรสทั้งสองฝ่าย)


๑. สินส่วนตัว (มาตรา ๑๔๗๑)
แบ่งออกเป็น ๔ ชนิด คือ
๑.๑ ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
- ได้ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ก่อนสมรส แม้จะยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ภายหลังสมรสแล้วก็ไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ จึงถือว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาก่อนสมรสจึงเป็นสินส่วนตัว
- ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาร่วมกันก่อนสมรส แม้สมรสแล้วก็ไม่ทำให้เป็นสินสมรสแต่อย่างใด แต่คงเป็นสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่ายในลักษณะกรรมสิทธิ์รวม
- ทรัพย์สินที่คู่สมรสเป็นเจ้าของรวมกับคนอื่นอยู่ก่อนสมรส แม้จะได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งทรัพย์สินกับเจ้าของรวมคนอื่นในระหว่างสมรสก็ยังคงเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น
๑.๒ ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะหรือเครื่องมือ เครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
๑.๓ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา
๑.๔ ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้น
ของแทนสินส่วนตัว
ทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัวนั้น ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์อย่างอื่นหรือซื้อทรัพย์สินอื่นมาด้วยเงินสินส่วนตัว หรือขายสินส่วนตัวและได้เงินมา ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัวอยู่ตามเดิม
- กรณีที่ทรัพย์สินหายเงินที่มาแทนทรัพย์สินส่วนตัวนี้ถูกนำไปรวมกับสินสมรสแล้วเกิดเป็นทรัพย์สินขึ้นมาใหม่ จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของสามีหรือภริยาตามสัดส่วนของสินส่วนตัวและสินสมรสในทรัพย์สินใหม่นั้น
- สินส่วนตัวถูกทำลายไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แล้วได้ทรัพย์สินหรือเงินมาทดแทน ทรัพย์สินอื่นเงินที่ได้มานั้น เป็นสินส่ววตัว


การจัดการสินส่วนตัว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๔๗๑/๒๕๓๓ ทรัพย์มรดกที่โจทก์ได้รับมาจากบิดาเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตามประทวลกฎหมายแพ่งและพาณิชยืมาตรา ๑๔๗๑ (๓) ฉะนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงเป็นการจัดการสินส่วนตัว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องไปขอความยินยอมจากสามี


๒. สินสมรส (มาตรา ๑๔๗๔)
แบ่งออกเป็น ๓ ชนิด คือ
๑. ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
- ทรัพย์สินทั้งหมดที่สามีภริยาแต่ละฝ่ายทำมาหาได้ในระหว่างสมรสเป้นสินสมรสทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าฝ่ายใดได้มีส่วนร่วมในการทำมาหาได้นั้นหรือไม่
- ค่าสินไหมทดแทนกรณีถูกทำละเมิดแก่ร่างกายหรืออนามัยของคู่สมรส ถ้าหากได้มาระหว่างสมรสถือว่าเป็นสินสมรส แต่ถ้าได้มาหลังจากการสมรสสิ้นสุดลงแล้ว แม้จะฟ้องคดีไว้ก่อนก็ต้องถือว่าเป็นสินส่วนตัว
- กรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งทำสัญญาจะซื้อที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างไว้ก่อนสมรส (กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนทันทีเพราะเป็นสัญญาจะซื้อจะขายไม่ใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่มีผลให้กรรมสิทธิ์โอนทันที) ภายหลังสมรสแล้วจึงมีการโอนกรรมสิทธิ์กัน ดังนี้ ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสเป็นสินสมรส
- เงินค่าชดเชย เงินบำนาญที่ได้มาในระหว่างสมรสเป็นสินสมรส
- ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยเงินของตนเองก่อนสมรส แต่ถูกรางวัลเมื่อสมรสแล้ว เงินรางวัลเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรส
๒.๒ ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือการให้เป้นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
๒.๓ ดอกผลของสินส่วนตัวเป็นสินสมรส
- ดอกผลที่เป็นสินสมรสได้แก่ ดอกผลธรรมดาและดอกผลนิตินัย
- ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่ดอกผลของที่ดิน จึงไม่เป็นสินสมรส


ข้อสันนิษฐานว่าเป็นสินสมรส (มาตรา ๑๔๗๔ วรรคสอง)
กรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินเป็นสินสมรสหรือไม่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ดังนั้น ถ้าข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่าเป็นสินส่วนตัวก็จะอ้างข้อสันนิษฐานนี้ไม่ได้
ตัวอย่าง ที่ดินและบ้านที่ได้มาในระหว่างสมรสเป็นสินสมรส ถ้าฝ่ายหนึ่งได้นำเงินสินส่วนตัวมาชำระเป็นเงินดาวน์บางส่วนรวมกับเงินสินสมรส เมื่อไม่อาจแยกได้ว่าเป็นเงินสินส่วนตัวจำนวนเท่าใด ถือว่าที่ดินและบ้านเป็นสินสมรสเต็มจำนวน
ทรัพย์สินของสามีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส
ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ไม่เป็นสินสมรส แต่ถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวมของสามีภริยา

สามีหรือภริยาขอลงชื่อรวมในสินสมรส (มาตรา ๑๔๗๕)
- การร้องขอให้ลงชื่อเป็นเจ้าของร่วมกันในสินสมรส จำกัดแต่เฉพาะสินสมรสตามมาตรา ๔๕๖ อันได้แก่ อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ เป็นต้น
- สิทธิขอลงชื่อร่วมในเอกสารตามมาตรา ๑๔๗๕ เป็นสิทธิเฉพาะคู่สมรส
- เงินฝากในธนาคารถือได้ว่าเป็นสินสมรสจำพวกที่มีเอกสารเป็นสำคัญ จึงร้องขอให้ลงชื่อเป็นเจ้าของรวมในเอกสารได้ แต่ทะเยีนรถยนต์ น.ส.๓ และใบไต่สวน ไม่ใช่เอกสารสำคัญ จึงจะร้องขอให้ลงชื่อเป็นเจ้าของรวมไม่ได้

การจัดการสินสมรส (มาตรา ๑๔๗๖)
โดยหลักแล้วสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจในการจัดการสินสมรสได้โดยลำพัง เว้นแต่การจัดการที่สำคัญเท่านั้นที่สามีและภริยาจะต้องดำเนินการร่วมกัน ซึ่งมีอยู่ ๘ ประการ คือ
๑. ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพยืที่อาจจำนองได้
๒. ก่อตั้งหรือกระทำให้สิ้นสุดลงทั้งหมดหรือแต่บางส่วนซึ่งภาระจำนอง สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
๓. ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน ๓ ปี
๔. ให้กู้ยืมเงิน (แสดงว่าสามีหรือภริยาสามารถกู้ยืมเงินบุคคลอื่นได้โดยลำพัง)
๕. ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
๖. ประนีประนอมยอมความ
๗. มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลากการวินิจฉัย
๘. นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
ข้อสังเกต สามีภริยาจะตกลงกันในระหว่างสมรสเพื่อยกเว้นไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทั้ง ๘ ประการข้างต้นไม่ได้ตามมาตรา ๑๔๗๖/๑


การฟ้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับสินสมรส
มาตรา ๑๔๗๗ ให้อำนาจสามีหรือภริยาเพียงคนเดียวที่จะฟ้องหรือต่อสู้คดีได้ เพราะถือว่าเป็นการสงวนบำรุงรักษาสินสมรสอย่างหนึ่ง และหนี้อันเกิดจากการฟ้องหรือต่อสู้คดีหรือการดำเนินคดีดังกล่าวให้ถือว่าหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูหนี้ร่วมกัน
การฟ้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับสินส่วนตัว สามีหรือภริยามีอำนาจที่จะดำเนินการได้โดยลำพังอยู่ตามปกติ หนี้ที่เกิดจากการนี้จึงถือว่าเป็นหนี้ส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๗๔/๒๕๓๒ สิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างไม่เป็นสินสมรส การฟ้องเรียกเงินตามสัญญาจ้างแรงงานมิใช่เป็นการจัดการสินสมรส โจทก์ซึ่งเป็นหญิงมีสามีจึงมีอำนาจฟ้องได้ตามลำพังตนเอง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี การที่โจทก์มาทำงานสายและทำงานให้แก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่ครบตามเวลาที่กำหนด หากเป็นการผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยชอบที่จะลงโทษทางวินัยตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวได้ หาชอบที่จะเรียกเงินค่าจ้างคืนจากโจทก์ไม่
- ถ้าสามีหรือภริยาไม่ให้ความยินยอมในการจัดการสินสมรสที่สำคัญ อีกฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลสั่งอนุญาตแทนความยินยอมได้
- การทำสัญญาประนีประนอมยอมความนอกศาลหรือที่ทำขึ้นในศาลก็ยังต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๑๔๗๖ (๖) คือ อีกฝ่ายหนึ่งต้องให้ความยินยอมด้วย
- ถ้ากิจการใดมีกฎหมายบัญญัติว่าให้ทำเป็นหนังสือหรือให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว การที่คู่สมรสให้ความยินยอมในการทำกิจการนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือด้วยตามมาตรา ๑๔๗๙ โดยวิธีการให้ความยินยอมไม่มีรูปแบบพิเศษ แม้เป็นเพียงลงลายมือชื่อเป็นพยานในนิติกรรมหรือสัญญาก็ใช้ได้
- กรณีที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าให้มีเพียงหลักฐานเป็นหนังสือเท่านั้น สามีภริยาจะให้ความยินยอมเพียงวาจาก็ได้
- ถ้าสามีหรือภริยาจัดการสินสมรสที่สำคัญไปโดยลำพัง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งที่มิได้ยินยอมอาจขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้
ตัวอย่าง สามีเอาที่ดินสินสมรสไปขายโดยภริยามิได้ยินยอม สัญญาซื้อขายนั้นไม่สมบูรณ์ตามมาตรา ๑๔๘๐ ภริยาจะต้องมาฟ้องศาลขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายนั้น แต่ถ้าไม่เพิกถอนสัญญานั้นยังคงใช้ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะ เพียงแต่สัญญาไม่สมบูรณ์ในลักษณะที่อาจจะถูกศาลเพิกถอนได้ในภายหลังเท่านั้น
ข้อสังเกต
(๑) ห้ามมิให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นหากการเพิกถอนดังกล่าวจะไปกระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
(๒) การเพิกถอนจะต้องเพิกถอนทั้งหมดมิใช่เพิกถอนเฉพาะส่วนของคู่สมรสที่ไม่ได้ให้ความยินยอม
(๓) สิทธิของสามีหรือภริยาในการเพิกถอนนิติกรรมนี้ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว หากสามีหรือภริยาผู้ทรงสิทธิเพิกถอนถึงแก่ความตายสิทธิดังกล่าวตกเป็นมรดก ทายาทจึงอาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นได้
(๔) การเพิกถอนนิติกรรมต้องฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่รู้ว่าได้มีการทำนิติกรรมอันเป็นวันที่รู้เหตุที่เป็นมูลเหตุให้เพิกถอนหรืออย่างช้าภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันที่ทำนิติกรรมนั้น


การทำพินัยกรรมในส่วนสินสมรส
มาตรา ๑๔๘๑ กำหนดห้ามมิให้ทำพินัยกรรมยกสินสมรสเกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลอื่น ดังนั้น แม้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะยินยอมก็ไม่มีผล หากฝ่าฝืนคู่สมรสอีกฝ่ายย่อมฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าพินัยกรรมไม่มีผลผูกพันสินสมรสที่เป็นส่วนของตนได้
การขอให้แยกสินสมรสหรือขออนุญาตจัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียว (มาตรา ๑๔๘๔)
เหตุที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมาร้องขอต่อศาลมี ๕ ประการ คือ
(๑) สามีหรือภริยานั้นจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด
(๒) ไม่อุปการะเลี้ยงดูคู่สมรสฝ่ายที่มาร้องขอต่อศาล แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการอุปการะเลี้ยงดูบุตร
(๓) มีหนี้สินพ้นตัวหรือไปก่อหนี้เกินกว่าครึ่งหนึ่งของสินสมรสที่มีอยู่ ทั้งนี้แม้หนี้สินที่เกิดขึ้นจะมิใช่มาจากความผิดพลาดในการจัดการสินสมรสของสามีหรือภริยาก็ตาม
(๔) ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(๕) มีพฤติการณ์ปรากฏว่าจะนำความหายนะให้แก่สินสมรส
ในการร้องต่อศาล คู่สมรสมีทางเลือกอยู่ ๒ ประการ คือ
๑. ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องมีอำนาจจัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียว
๒. ร้องขอให้ศาลสั่งแยกสินสมรส
ในระหว่างที่ศาลกำลังดำเนินกระบวนพิจารณาในการร้องขอดังกล่าวอยู่ คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก็ได้


หนี้สินของสามีภริยา
๑. หนี้ที่มีมาก่อนสมรส
หนี้ที่สามีภริยามีมาก่อนสมรสก็คงเป็นหน้าที่ฝ่ายนั้นจะต้องรับผิดเป็นส่วนตัวแต่เพียงผู้เดียว แม้จะเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นหนี้ระหว่างกันเองมาก่อนสมรสก็ตาม ก็คงยังเป็นลูกหนี้เจ้าหนี้กันอยู่นั่นเอง
๒. หนี้ที่ก่อขึ้นในระหว่างสมรส
หนี้ที่ก่อขึ้นในระหว่างสมรสอาจจะเป็นหนี้ส่วนตัวของสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นหนี้ร่วมที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้กันก็ได้แล้วแต่กรณี ซึ่งโดยหลักแล้วคู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้ก่อหนี้ขึ้น หนี้ที่ก่อขึ้นก็เป็นหนี้ส่วนตัวของฝ่ายนั้น เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นว่าเป็นหนี้ร่วมตามมาตรา ๑๔๙๐ ซึ่งมี ๔ กรณีคือ
(๑) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
(๒) หนี้เกี่ยวข้องกับสินสมรส
(๓) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
(๔) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน
หนี้ที่สามีภริยาเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กันเอง
สามีหรือภริยาอาจเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กันเองได้ โดยอาจเป็นก่อนสมรสหรือในระหว่างสมรสก็ได้ โดยมาตรา ๑๔๘๗ กำหนดห้ามมิให้สามีหรือภริยาผู้เป็นเจ้าหนี้ยึดทรัพย์สินของสามีหรือภริยาผู้เป็นลูกหนี้มาขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ของตน

แต่ก็มีข้อยกเว้นให้สามีหรือภริยาผู้เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิยึดหรืออายัดทรัพย์สินกันได้ ดังต่อไปนี้
ก. คดีที่ฟ้องร้องกันเพื่อการปฏิบัติหน้าที่หรือรักษาสิทธิระหว่างสามีภริยาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. หรือที่ ป.พ.พ. บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้สามีภริยาฟ้องร้องกันได้ เช่น มาตรา ๑๔๖๒ มาตรา ๑๔๖๔ และมาตรา ๑๕๓๐
ข. การยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพื่อไปใช้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าฤชาธรรมเนียมตามคำพิพากษาของศาล
ข้อสังเกต ห้ามเฉพาะการที่สามีหรือภริยาจะยึดหรืออายัดทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่งมาชำระหนี้เงินตามคำพิพากษาเท่านั้น ถ้าหากเป็นหนี้อย่างอื่นตามคำพิพากษา สามีหรือภริยาก็ขอให้บังคับคดีให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามคำพิพากษาได้

หนี้ส่วนตัวของสามีภริยา
เจ้าหนี้มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย โดยจะยึดสินส่วนตัวก่อนสมรสหรือยึดสินสมรสก่อนสินส่วนตัวก็ได้ ไม่ว่าสินส่วนตัวนั้นจะเป็นของฝ่ายใดตามมาตรา ๑๔๘๙ แต่หากเจ้าหนี้ไม่ได้ฟ้องคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคู่ความในคดีร่วมด้วย จะนำยึดสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นไม่ได้ แม้จะเป็นลูกหนี้ร่วมก็ตาม เพราะคำพิพากษาดังกล่าวไม่ผูกพันคู่สมรสที่ไม่ได้ถูกฟ้องคดีตามมาตรา ๑๔๕ วรรคสอง ป.วิ.พ.
สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย
คำพิพากษาศาลีกาที่ ๑๖๘๔ ญ/๒๕๑๑ สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย สินสมรสย่อมแยกจากกันโดยอำนาจตามกฎหมายนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลาย เป็นหน้าที่ของอีกฝ่ายต้องขอกันส่วนของตนไว้

การแยกสินสมรส (มาตรา ๑๔๙๒)
มีผลทำให้สามีภริยาไม่มีสินสมรสอยู่อีกต่อไป คงมีแต่สินส่วนตัวเท่านั้น ซึ่งมี ๓ กรณี ดังนี้
๑. สามีหรือภริยาถูกศาลมีคำสั่งให้แยกสินสมรสเมื่อมีการจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด หรือจะทำความเสียหายให้แก่สินสมรสตามมาตรา ๑๔๘๔ วรรคสอง
๒. สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายตามมาตรา ๑๔๙๑
๓. ศาลมีคำสั่งให้แยกสินสมรสในกรณีที่สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถและมีการตั้งบิดา มารดา หรือบุคคลภายนอกเป็นผู้อนุบาลตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๕๑๗ วรรคสอง
ข้อสังเกต บรรดาทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดได้มาในภายหลังไม่ให้ถือว่าเป็นสินสมรส แต่ให้เป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายนั้น สินสมรสที่คู่สมรสได้มาโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือตามมาตรา ๑๔๗๔ (๒) ในภายหลัง ให้ตกเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยาฝ่ายละครึ่ง ดอกผลของสินส่วนตัวที่ได้มาหลังจากที่ได้แยกสินสมรสแล้ว ให้เป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายที่เป็นเจ้าของสินส่วนตัวไม่เป็นสินสมรสตามมาตรา ๑๔๗๔ (๓) อีกต่อไปแล้ว
กรณีที่สามีและภริยาตกลงกันแยกสินสมรสสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะให้เป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสแต่ละฝ่าย เช่นนี้ระบบสินสมรสและสินส่วนตัวก็ยังคงเป็นไปตามปกติ เฉพาะทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสโดยเฉพาะที่แยกเป็นสินส่วนตัวเท่านั้นที่จะมีผลเปลี่ยนแปลงเป็นสินส่วนตัว สินสมรสอื่นๆ ยังเป็นสินสมรสอยู่ตามเดิม และดอกผลของสินส่วนตัวก็ยังคงเป็นสินสมรสอยู่เช่นเดิมด้วย


การยกเลิกการแยกสินสมรส (มาตรา ๑๔๙๒/๑)
- เมื่อศาลสั่งให้ยกเลิกการแยกสินสมรสแล้ว เฉพาะสินสมรสที่เกิดใหม่เท่านั้นจึงจะเป็นสินสมรส สินสมรสเดิมที่แยกออกเป็นสินส่วนตัวแล้วยังคงเป็นสินส่วนตัวต่อไปดังเดิมไม่กลับมาเป็นสินสมรสอีก
- สินสมรสจะมีขึ้นใหม่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการแยกสินสมรสหรือในวันที่คู่สมรสพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายเท่านั้น

การหย่า
การหย่ามีอยู่ ๒ กรณีคือ
๑. การหย่าโดยความยินยอมของทั้ง ๒ ฝ่าย
(๑) ต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่อรับรองอย่างน้อย ๒ คน ตามมาตรา ๑๕๑๔ วรรคสอง
(๒) ต้องได้มีการจดทะเบียนหย่าตามมาตรา ๑๕๑๕ จึงจะสมบูรณ์
ข้อสังเกต
ก. สามีภริยาทำหนังสือหย่ากันโดยถูกต้อง แต่คู่หย่าอีกฝ่ายไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่า คู่สัญญาสามารถฟ้องคดีต่อศาลให้บังคับให้หย่าจากกันตามหนังสือหย่าโดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ ถ้าศาลบังคับให้หย่าแล้วยังดื้อไม่ไปจด ก็ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาได้ อายุความในการฟ้องคดีมีอายุความ ๑๐ ปี
ข. การหย่ากันหากทำเป็นเพียงหนังสือก็บังคับได้เฉพาะคู่สมีภริยาเท่านั้น แต่จะไปอ้างเหตุให้เสื่อมสิทธิบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้มีการจดทะเบียนหย่าแล้ว

๒. การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล
การฟ้องหย่าต้องอาศัยเหตุการหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ มีเหตุ ๑๒ ประการ ดังนี้
๒.๑ สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันสามีหรือภริยา เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ
ข้อสังเกต
(๑) กรณีนี้หมายความเฉพาะชายกับหญิงเท่านั้น ถ้าชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง ไม่เข้ากรณีนี้
(๒) ฝ่ายที่มีชู้จะต้องรู้ว่าหญิงหรือชายนั้นมีคู่สมรสแล้ว หากไม่รู้ก็ไม่เรียกว่าเป็นชู้ แต่ถ้าเป็นการข่มขืนกระทำเชาเราแม้จะรู้ก็ไม่ถือว่าเป็นชู้ แต่เป็นการล่วงเกินในทำนองชู้สาวและประพฤติชั่ว
(๓) การเป็นชู้แม้กระทำเพียงครั้งเดียวก็ถือเป็นเหตุฟ้องหย่าแล้วซึ่งต่างจากการร่วมประเวณีกับหญิงอื่นที่จะต้องกระทำเป็นอาจิณถึงเป็นเหตุฟ้องหย่าได้
(๔) การร่วมประเวณีกับหญิงอื่นเป็นอาจิณจะต้องเป็นการร่วมเพศตามธรรมชาติ ถ้าทางทวารหนักก็ไม่ใช่ และการที่ชายไปเที่ยวหญิงบริการเป็นประจำก็ถือได้ว่าเป็นการร่วมประเวณีกับหญิงอื่นเป็นอาจิณแล้ว
(๕) แนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเกี่ยวกับภาระการพิสูจน์ในคดีชู้ แม้จะไม่มีพยานรู้เห็นในเวลาที่ชายหญิงร่วมประเวณีกันแต่ถ้ามีพยานพฤติเหตุแวดล้อม เชื่อได้ว่าชายและหญิงรักใคร่ชอบพอกันในทางชู้สาว ไปอยู่ด้วยกันสองต่อสองในที่ลับซึ่งมีโอกาสจะร่วมประเวณีกันได้ ก็สามารถฟังได้ว่าามีชู้ได้
(๖) ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามข้อ ๑ นี้ สามีหรือภริยามีสิทธิได้รับค่าทดแทนทั้งจากภริยาหรือสามี และจากชายชู้หรือหญิงมีสามีที่ร่วมทำชู้ หรือจากชายอื่นหรือหญิงอื่นที่เป็นเหตุแห่งการหย่านั้นด้วยตามมาตรา ๑๕๒๓
๒.๒ สามีหรือภริยาประพฤติชั่วไม่ว่าจะมีความผิดอาญาหรือไม่ ซึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(๑) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(๒) ได้รับการดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่ยังคงเป็นสามีหรือภริยาที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป
(๓) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีหรือภริยามาคำนึงประกอบ

ตัวอย่างพฤติการณ์ที่เป็นการประพฤติชั่ว
๑. สามีใช้กำลังบังคับข่มขืนใจให้ลูกจ้างยินยอมร่วมประเวณี
๒. สามีชอบเล่นการพนันภริยาห้ามไม่เชื่อ นำทรัพย์สินในบ้านไปจำนำเพื่อเล่นการพนัน เคยถูกต้องคำพิพากษาลงโทษเพราะเล่นการพนัน ถูกผู้บังคับบัยชาเรียกไปตักเตือนและยังไม่เลิกเล่น บางครั้งทำให้เงินไม่พอใช้จ่ายในครอบครัว เหตุเหล่านี้มารวมประกอบกันเป็นพฤติการณ์ประพฤติชั่วได้
๓. สามีดื่มสุราเป้นอาจิณและทำร้ายร่างกายภริยาบ่อยครั้งเมื่อมึนเมาสุรา
๔. เป็นข้าราชการแต่ไปเที่ยวหญิงบริการโดยถ่ายภาพไว้
๕. สามีหรือภริยาแยกกันอยู่โดยภริยาเช่าอพาร์ทเม้นท์อยู่ด้วยกันกับชายอื่นและไปไหนด้วยกัน

ตังอย่างพฤติการณ์ที่ไม่เป็นการประพฤติชั่ว
๑. ภริยาไม่ยอมพูดกับสามีเนื่องจากจับได้ว่าสามีไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับหญิงอื่น
๒. ภริยาทราบว่าสามีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหญิงอื่น จึงหันมาดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หารเรื่องทะเลาะวิวาท และติดตามควบคุมสามีในที่ทำงาน
๓. ภริยาร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อให้สามีจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร
๔. ภริยาไปเที่ยวกับชายอื่นในเวลากลางคืนโดยไม่ได้ความชัดว่าได้ประพฤติเช่นนั้นเป้นปกติวิสัย และไม่ชัดว่ามีความสัมพันธ์เกินกว่าปกติธรรมดาและไปลำพังเพียงลำพังสองต่อสอง
๕. สามีมีพฤติการณ์ก้าวร้าว ไม่ทำมาหาเลี้ยงครอบครัว และดื่มสุราอันเนื่องมาจากความเครียดเพราะประสบอุบัติเหตุจากการทำงานเป็นเหตุให้ตาบอด

๒.๓ สามีหรือภริยาทำร้ายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง อันเป็นการร้ายแรง
๒.๔ สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน ๑ ปี
๒.๕ สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและได้ถูกจำคุกเกิน ๑ ปี ในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร
๒.๖ เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ (๔/๒) แบ่งออกได้เป็น ๒ กรณี คือ
(๑) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน ๓ ปี
ข้อสังเกต ต้องเกิดจากความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายมิใช่สมัครใจฝ่ายเดียว
(๒) แยกกันอยู่ตามคำสั่งศาลเกิน ๓ ปี
๒.๗ สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
๒.๘ สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกิน ๑ ปี ในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร
๒.๙ สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
๒.๑๐ สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
๒.๑๑ สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้
๒.๑๒ สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล

เหตุหย่าที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มีข้อยกเว้นว่าถ้าเป็นเหตุ ๔ ประการนี้จะอ้างเหตุหย่าไม่ได้ คือ
(๑) สามีหรือภริยารู้เห็นหรือยินยอมให้ภริยาหรือสามีอุปการะหญิงหรือชายอื่น เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่น หรือรู้เห็นหรือยินยอมหรือร่วมในการที่สามีหรือภริยาประพฤติชั่วนั้น
(๒) สามีหรือภริยาไม่สามารถร่วมประเวณีได้ตลอดกาลเพราะการกระทำของอีกฝ่าย
(๓) การทำผิดทัณฑ์บนเป็นเหตุเล็กน้อยหรือไม่สำคัญเกี่ยวแก่การอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุข
(๔) ฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยแล้ว

อายุความฟ้องหย่า
๑. กรณีเหตุหย่าบางเหตุซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว อันได้แก่ อุปการะหญิงหรือชายอื่น เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่น หรือรู้เห็นหรือยินยอมหรือร่วมในการที่สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว หรือทรมานจิตใจหรือหมิ่นประมาทหรือไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออุปการระเลี้ยงดูกันหรือกระทำเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป้นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง กำหนดอายุความ ๑ ปี นับแต่วันที่คู่สมรสฝ่ายที่มีสิทิฟ้องหย่าได้รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง
๒. กรณีเหตุหย่าที่มีลักษณะเป็นการต่อเนื่องกันไปหรือเป็นการถาวร เช่น ถูกศาลสั่งเป็นคนสาบสูญ หรือเป้นดรคติดต่อร้ายแรง เป็นต้น ไม่มีอายุความ ตราบใดที่มีเหตุนั้นก็ฟ้องหย่าได้
๓. กรณีผิดทัณฑ์บนไม่มีลักษณะเป็นการต่อเนื่อง กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้ แต่ให้ใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๙๓/๓๐

การขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดีฟ้องหย่า ได้ในเรื่อง
(๑) สินสมรส
(๒) ที่พักอาศัย
(๓) การอุปการะเลี้ยงดูสามีภริยา
(๔) การพิทักษ์อุปการะเลี้ยงดูบุตร
นอกจากเรื่องทั้ง ๔ เรื่องข้างต้นแล้ว อาจขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อคุ้มครอง
ประโยชน์ของตนได้อีกตามที่ศาลเห็นสมควร

ผลของการหย่า
๑. การใช้อำนาจปกครองบุตรหลังการหย่า (มาตรา ๑๕๒๐) แบ่งออกเป็น ๒ กรณี
๑.๑ กรณีการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย เป็นไปตามข้อตกลงว่าใครจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรโดยข้อตกลงดังกล่าวต้องทำเป็นหนังสือ จะตกลงกันด้วยวาจาไม่ได้
๑.๒ การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ศาลเป็นผู้ชี้ขาดว่าสามีหรือภริยาฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร โดยต้องคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป้นสำคัญ
ข้อสังเกต
(๑) แม้ไม่มีคำขอศาลก็ยกปัญหาเรื่องนี้ขึ้นมาวินิจฉัยได้เองตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๗๑/๒๕๔๘
คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๗๑/๒๕๔๘ จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์จำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน ๓ ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๑๖ (๔/๒) และเมื่อจำเลยมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน ๑ คน ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ได้ตามมาตรา ๑๕๒๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๒๒ วรรคสอง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
(๒) ภายหลังผู้ที่ศาลสั่งให้มีอำนาจปกครองบุตรประพฤติตัวไม่สมควรหรือมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองนั้นได้
(๓) มารดาหรือบิดาอีกฝ่ายหนึ่งแม้จะไม่มีอำนาจปกครองบุตรแต่ก็มีสิทธิติดต่อกับบุตรของตนได้ตามสมควรแล้วแต่พฤติการณ์ตามมาตรา ๑๕๘๔/๑
๒. การอุปการะเลี้ยงดูบุตรหลังการหย่า
- การที่สามีและภริยาคู่หย่าทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าฝ่ายใดจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นเงินเท่าใดแล้ว หากต่อมาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ชำระตามที่ตกลงกันไว้ อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้องเรียกให้จ่ายเงินดังกล่าวที่ค้างชำระตามสัญญา และที่จะต้องชำระต่อไปในอนาคตตามที่กำหนดไว้ในสัญญาได้
- กรณีที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ว่าฝ่ายใดมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใด หากคู่หย่าคนใดได้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ไปจำนวนเท่าใด ก็มีสิทธิเรียกให้ภริยาหรือสีอีกฝ่ายชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ตนได้ออกไปก่อนนับแตวันหย่าจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะได้ เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมและเข้าใช้หนี้นั้น
- อายุความฟ้องร้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มีอายุความ ๕ ปี นับแต่วันที่บิดามารดาหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ในกรณีที่บิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไปฝ่ายเดียวก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายนับแต่วันที่ตนได้ชำระไป ซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา ๑๙๓/๓๓ (๔) ประกอบมาตรา ๑๙๓/๑๒
๓. การเรียกค่าทดแทน
ในการที่ศาลพิพากษาให้สามีภริยาหย่าขาดจากกันเพราะเหตที่มีการล่วงเกินในทางประเวณีนั้น สามีหรือภริยาผู้เป็นโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนซึ่งอาจจะแบ่งออกได้เป็น ๒ กรณี คือ
๓.๑ ภริยาประพฤตินอกใจสามีโดยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องชายอื่นฉันสามี มีชู้หรือร่วมประเวณีกับชายอื่นเป็นอาจิณหรือมีการล่วงเกินกับชายอื่นในทำนองชู้สาว
๓.๒ สามีประพฤตินอกใจภริยาโดยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา เป็นชู้ หรือร่วมประเวณีกับหญิงอื่นเป็นอาจิณ หรือสามีไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นในทำนองชู้สาว
ข้อสังเกต ผู้เรียกค่าทดแทนจะต้องไม่รู้เห็นเป็นใจด้วย หากรู้เห้นเป็นใจด้วยก็จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้ ตามมาตรา ๑๕๒๓ วรรคท้าย
๔. การเรียกค่าเลี้ยงชีพ
๔.๑ การหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายเดียวและการหย่านี้จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง หากประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ๓ ประการ นี้ ก็เรียกค่าเลี้ยงชีพได้
(๑) เหตุแห่งการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายที่ถูกเรียกร้องแต่ฝ่ายเดียว
(๒) การหย่านั้นจะทำให้คู่สมรสฝ่ายที่เรียกค่าเลี้ยงชีพต้องยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากแรงงานที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส
(๓) คู่สมรสฝ่ายที่จะเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งเรียกค่าเลี้ยงชีพในคดีฟ้องหย่านั้น
๔.๒ กรณีการหย่าขาดจากกันเพราะเหตุวิกลจริตหรือโรคติดต่ออย่างร้ายแรง
๔.๓ กรณีคู่หย่าตกลงชำระค่าเลี้ยงชีพกันเอง
ข้อสังเกต สัญญานี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพตามมาตรา ๑๕๒๖ ไม่ใช่สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างเป็นสามีภริยากันตามมาตริ๑๔๖๙ สามีหรือภริยาจึงไม่มีสิทธิอ้างมาตรา ๑๔๖๙ มาเป็นเหตุบอกล้างสัญญานี้ได้
๔.๔ การเลิกชำระค่าเลี้ยงชีพ
๔.๕ สิทธิที่จะได้รับค่าเลี้ยงชีพจะสละหรือโอนไม่ได้และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี


ผลของการหย่า
การแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา
เมื่อหย่ากันแล้วให้จัดแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา ในระหว่างสามีภริยากฎหมายกำหนดให้
(๑) ถ้าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้ง ๒ ฝ่าย ให้จัดแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า
(๒) ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้นมีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า

การชดใช้สินสมรสที่ขาดไป (มาตรา ๑๕๓๔)
ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายสินสมรสในลักษณะต่อไปนี้
(๑) จำหน่ายไปเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว
(๒) จำหน่ายไปโดยเจตนาทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเสียหาย
(๓) จำหน่ายไปโดยมิได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีที่กฎหมายบังคับว่าการจำหน่ายนั้นจะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย
(๔) จงใจทำลายให้สูญหายไป
ให้ถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา ๑๕๓๓ และถ้าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้รับส่วนแบ่งสินสมรสไม่ครบตามจำนวนที่ควรจะได้ ให้คู่สมรสฝ่ายที่ได้จำหน่ายหรือจงใจทำลายสินสมรสนั้นชดใช้จากสินสมรสส่วนของตนหรือสินส่วนตัว
แต่อย่างไรก็ตาม การชดใช้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาที่ขาดหายไปนั้น มีเฉพาะกรณีสินสมรสเท่านั้น หากเป็นสินส่วนตัวก็ไม่ต้องชอใช้ แม้จะเป็นการจำหน่ายส่วนตัวเพื่อประโยชน์ของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม

ความรับผิดในหนี้สิน
ชายและหญิงจะต้องแบ่งความรับผิดในหนี้ร่วมกันคนละครึ่งตามมาตรา ๑๕๓๕ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ร่วมไปแล้วก็มาไล่เบี้ยแบ่งความรับผิดมาจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ครึ่งหนึ่ง
ภริยาของหย่าขาดจากการสามี เมื่อมีหนี้อันเกี่ยวแก่ค่าอุปการะเลี้ยงดู ภริยาเรียกร้องให้สามีชำระ สามีก็ไม่ชำระให้ ดังนี้ ย่อมเป็นภาระแก่ภริยา ภริยาย่อมขอให้ศาลแสดงว่าสามีมีหน้าที่ต้องรับผิดในหนี้ตามจำนวนที่ภริยาฟ้องมานั้นได้

บิดามารดากับบุตร
การเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
๑. เด็กที่เกิดระหว่างสมรส
เด็กที่เกิดในขณะที่หญิงเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๕๓๖ ให้สันนิษฐานว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีและยังใช้กรณีที่เด็กเกิดแก่หญิงหม้ายภายใน ๓๑๐ วัน หลังจากชายผู้เป็นสามีตาย หย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรสกับหญิงด้วย
ข้อสังเกต
(๑) ข้อสันนิษฐานนี้ใช้กับกรณีการสมรสของบิดาและมารดาตกเป็นโมฆะด้วย
(๒) กรณีนี้เป็นบทสันนิษฐาน ชายจึงมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว หรือนำสืบว่าตนไม่สามารถเป็นบิดาของเด็กได้เพราะเหตุอย่างอื่นตามมาตรา ๑๕๓๙ วรรคหนึ่ง
(๓) ข้อสันนิษฐานนี้ไม่ใช้กรณีบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส
๒. เด็กที่เกิดจากการสมรสเป็นโมฆะ
๒.๑ กรณีการสมรสซ้อน
ก. หญิงทำการสมรสซ้อน
(๑) สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีที่สมรสซ้อน
(๒) ถ้าศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเด็กไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีคนที่สอง มาตรา ๑๕๓๘ วรรคสอง ให้สันนิษฐานว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีคนที่ ๑
ข. ชายสมรสซ้อน
(๑) สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรที่เกิดกับหญิงที่สมรสซ้อนเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีที่จดทะเบียนสมรสซ้อน
(๒) ถ้าศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเด็กไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของสามี บุตรนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของภริยาที่คลอดบุตรนั้น
๒.๒ กรณีอื่นนอกจากการสมรสซ้อน
(๑) ข้อสันนิษฐานว่าเด็กที่เกิดจากการสมรสที่เป็นโมฆะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี
(๒) ข้อสันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีนี้ ใช้ได้ตลอดมาจนกระทั่งระยะเวลา ๓๑๐ วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ
๓. เด็กที่เกิดจากการสมรสเป็นโมฆียะ
เด็กที่เกิดจากการสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะสำคัญผิด ถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่ หากภายหลังศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส ย่อมไม่มีผลกระทบต่อการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายและหญิงที่สมรสอันเป็นโมฆียะนั้นตามมาตรา ๑๕๖๐
๔. เด็กที่เกิดจากหญิงหม้ายซึ่งทำการสมรสใหม่ในเวลาไม่เกิน ๓๑๐ วัน นับแต่วันที่ขาดจากการสมรสเดิม
มาตรา ๑๕๓๗ สันนิษฐานว่า เด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีใหม่ ซึ่งสามีใหม่อาจฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรของตนได้ หากตนมิใช่บิดาที่แท้จริง
๕. เด็กที่เกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชาย
มาตรา ๑๕๔๖ ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น



การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร
๑. ชายฟ้องคดีเอง
สามีซึ่งต้องด้วยขอสันนิษฐานว่าเป็นบิดาของเด็กดังกล่าวมีสิทธิจะปฏิเสธไม่ยอมรับเด็กเป็นบุตรของตนได้โดยการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรมีวิธีการฟ้องดังนี้ (มาตรา ๑๕๓๙)
๑.๑ ถ้าเด็กและมารดาเด็กยังมีชีวิตอยู่ต้องฟ้องเด็กและมารดาเด็กเป็นจำเลยร่วมกัน
๑.๒ ถ้ามารดาเด็กไม่มีชีวิตอยู่แล้ว จะฟ้องเด็กแต่ผู้เดียวเป็นจำเลยก็ได้
๑.๓ ถ้าเด็กไม่มีชีวิตอยู่ไม่ว่ามารดาของเด็กจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ จะยื่นคำร้องขอให้ศาลแสดงว่าเด็กนั้นไม่เป็นบุตรก็ได้
ข้อสังเกต
(๑) หน้าที่นำสืบตกอยู่แก่ชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามี
(๒) การนำสืบไม่จำเป็นต้องพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัย เพียงแต่พิสูจน์ให้เป็นคุณแก่
ตน และอีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถนำสืบหักล้างได้ก็เพียงพอแล้ว
(๓) การพิสูจน์ต้องพิสูจน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๓.๑) ตนไม่ได้อยู่ร่วมกับมารดาเด็กในระยะเวลาตั้งครรภ์ (๑๘๐-๓๑๐ วัน)
(๓.๒) ตนไม่สามารถเป็นบิดาของเด็กได้เพราะเหตุอย่างอื่น เช่น เป้นหมั้น ตรวจเลือด หรือตรวจดีเอ็นเอ เป็นต้น
ข้อสังเกต เพียงแต่พิสูจน์ได้ว่าภริยาตัวเองมีชู้ ยังไม่ถือว่าตนไม่อาจเป็นบิดาของเด็กได้

ข้อยกเว้นที่ห้ามชายมิให้ฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร (มาตรา ๑๕๔๑)
๑. เป็นผู้แจ้งเกิดในทะเบียนเกิดว่าเป็นบุตรของตน
๒. จัดให้มีการแจ้งการเกิด
๓. ยอมให้มีการแจ้งเกิดดังกล่าว

ระยะเวลาในการฟ้องคดี (มาตรา ๑๕๔๒)
ต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันรู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก

๒. ทายาทผู้มีส่วนได้เสียฟ้องคดีแทน (มาตรา ๑๕๔๔)
ทายาทผู้มีส่วนได้เสียของชาย ฟ้องคดีแทนชายได้หากชายถึงแก่ความตายไปเสียก่อน แต่บุคคลดังกล่าวต้องเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกร่วมกับเด็กหรือเป็นผู้จะเสียสิทธิรับมรดกเพราะการเกิดของเด็ก โดยจะฟ้องได้ใน ๒ กรณี คือ
(๑) ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตายก่อนพ้นระยะเวลาที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะพึงฟ้องได้
(๒) เด็กเกิดภายหลังการตายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร
ในกรณี (๑) ต้องฟ้องภายใน ๖ เดือน นับแต่วันที่รู้ถึงการตายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามี การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรในกรณี (๒) ต้องฟ้องภายใน ๖ เดือน นับแต่วันที่รู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ไม่ว่าเป็นกรณีใด ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น ๑๐ ปี นับแต่วันเกิดของเด็ก

๓. การฟ้องคดีปฏิเสธความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
- คดีนี้ถือว่าเป็นคดีที่บุตรฟ้องบุพการีอันเป็นคดีอุทลุม
- เด็กฟ้องคดีเองไม่ได้แต่จะต้องร้องขอให้อัยการเป็นผู้ดำเนินการฟ้องคดีแทน ถ้าเป็นผู้เยาว์จะต้องได้รับความยินยอมจากมารดาก่อนตามหลักทั่วไป
- กรณีมารดาไม่ยินยอมเด็กต้องรอให้ตนบรรลุนิติภาวะ แล้วจะต้องร้องขอให้อัยการฟ้องภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่บรรลุนิติภาวะ แต่ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น ๑๐ ปี นับแต่วันที่เด็กเกิดบรรลุนิติภาวะ



การทำให้บุตรที่เกิดนอกสมรสกลายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา (มาตรา ๑๕๔๗)
๑. บิดามารดาสมรสกันในภายหลัง
ข้อสังเกต มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่บุตรเกิด ดังนั้น หากในวันที่บิดามารดาสมรสกันนี้ บุตรได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว บุตรของบุตรที่ตายไปก็มีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดา (บุตรที่ตาย) ของตนได้
๒. บิดาจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร
ข้อสังเกต
(๑) ต้องได้รับความยินยอมจากเด็กและมารดาเด็ก โดยทั้งสองจะต้องให้ความยินยอมด้วยตนเองต่อหน้านายทะเบียน
(๒) กรณีเด็กหรือมารดาคัดค้านว่าไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรจะต้องมีคำพิพากษาของศาลให้จดทะเบียนได้ (แสดงว่าถ้าเด็กตายก็จดทะเบียนได้โดยให้ศาลสั่ง)
(๓) การไปแจ้งในสูติบัตรหรือทะเบียนสำมะโนครัวว่าเด็กเป็นบุตรของตนไม่ใช่เป็นการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
(๔) ภายหลังจดทะเบียนหากปรากกว่ามิใช่เป็นบิดาที่แท้จริงก็มีการเพิกถอนการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรได้ตามมาตรา ๑๕๕๔
๓. การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
การฟ้องขอรับเด็กเป็นบุตร เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๑๕๕๕ วรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชาย
(๑) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
(๒) เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
(๓) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน
(๔) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
ข้อสังเกต หากมารดาของเด็กไปแจ้งการเกิดของเด็กเองโดยอ้างว่าเด็กเป็นบุตรของชาย อย่างนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อนี้
(๕) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้
ข้อสังเกต ถ้าอยู่ด้วยกันอย่างลักลอบปกปิด หรือแอบหนีจากที่อยู่ตามปกติไปอยู่ที่อื่น เด็กยังคงต้องมีภาระการพิสูจน์ว่าตนเป็นบุตรของชาย
(๖) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
(๗) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร


วิธีการในการฟ้องคดี
๑. ถ้าเด็กยังเป็นผู้เยาว์และมีอายุยังไม่ครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กซึ่งตามปกติก็คือมารดาเป็นผู้ฟ้องคดีแทนเด็ก
๒. ถ้าเด็กยังเป็นผู้เยาว์แต่มีอายุครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์แล้ว เด็กฟ้องคดีเองได้ และไม่จำเป้นต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมแต่อย่างใด
๓. ถ้าเด็กบรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่ว่าจะด้วยการสมรสหรือมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้ว ก็ฟ้องคดีเองได้แต่ต้องภายใน ๑ ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ
๔. ถ้าเด็กถึงแก่ความตายไปแล้ว
ผู้สืบสันดานของเด็กฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้ ถ้าผู้สืบสันดานก่อนวันที่เด็กตายจะต้องฟ้องคดีภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่เด็กตาย แต่ถ้ารู้เหตุภายหลังที่เด็กตาย จะต้องฟ้องคดีภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่รู้เหตุ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เกินกำหนด ๑๐ ปี นับแต่วันที่เด็กตาย


ผลของการที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร
๑. เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเด็กเป็นบุตรของชายแล้ว เด็กก็มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายย้อนหลังไปถึงวันที่เด็กเกิด
๒. จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาที่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเด็กเป็นบุตรไม่ได้
๓. การจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ที่บุตรเกิด แต่เนื่องจากสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูมีอายุความ ๕ ปี จึงย้อนหลังได้เพียง ๕ ปี เท่านั้น
๔. การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตร หากก่อนผู้ตายถึงแก่ความตายหรือฟ้องภายหลังที่ผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้ว โดยปกติต้องฟ้องภายในอายุความมรดกคือ ๑ ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย แต่หากศาลได้มีคำพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เด็กนั้นก็มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม และถ้าได้มีการแบ่งมรดกของผู้ตายไปแล้ว ก็ให้นำเรื่องลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

สิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดามารดากับบุตร
(๑) สิทธิของบุตรในชื่อสกุล
(๒) สิทธิของบุตรในสัญชาติไทยตามบิดามารดา
(๓) บุตรจะฟ้องบุพการีไม่ได้
ข้อสังเกต
(๓.๑) ห้ามทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา
(๓.๒) ห้ามพาะผู้สืบสันดานไม่ห้ามบุพการี
(๓.๓) บุพการีและผู้สืบสันดานถือตามกฎหมาย
(๔) บุตรและบิดามารดาต่างมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกัน
(๔.๑) บุตรมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
(๔.๒) บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตร
การฟ้องคดีเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู
บุตรจะฟ้องเองไม่ได้ ต้องร้องขอให้อัยการว่าคดีให้ หรืออาจเป็นบิดาหรือมารดาฟ้องอีกฝ่ายที่ไม่ให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามหน้าที่ (ไม่ใช่ฟ้องในนามของบุตรหรือในฐานะผู้แทนของบุตร แต่ฟ้องในฐานะของตนเองเป็นบิดาหรือมารดาและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร)
ข้อสังเกต มารดาหรือบิดาที่ไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ต้องดำเนินการโดยในฐานะญาติสนิทไปขอให้อัยการฟ้องคดีให้แทนตามมาตรา ๑๕๖๒
(๕) บุตรอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดา มารดา
(๕.๑) อำนาจปกครองอยู่กับบิดามารดา

โดยปกติอำนาจปกครองบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะอยู่กับบิดาและมารดา แต่มีกรณีพิเศษที่ทำให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาเพียงคนเดียว ได้แก่
๑. มารดาหรือบิดาตาย
๒. ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย
๓. มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
๔. มารดาหรือบิดาต้องเข้ารัษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน
๕. ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
๖. บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้
๗. บุตรเกิดจากหญิงที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับชาย (เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่เพียงผู้เดียว)
๘. เมื่อบุคคลใดมีบุตรติดมาได้สมรสกับบุคคลอื่น อำนาจปกครองที่มีต่อบุตรอยู่กับผู้ที่บุตรนั้นติดมาเพียงคนเดียวเท่านั้น คู่สมรสของบุคคลที่มีบุตรติดมาไม่ได้อำนาจปกครองบุตรด้วย


สิทธิทั่วไปของผู้ใช้อำนาจปกครอง
(๑) สิทธิที่จะกำหนดที่อยู่ของบุตร
(๒) สิทธิทำโทษตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
(๓) สิทธิที่จะให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
(๔) สิทธิเรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรโดยอำนาจของกฎหมายตามมาตรา ๑๕๖๙
การแจ้งหรือรับแจ้งคำบอกกล่าวหรือการก่อหนี้แทนบุตร (มาตรา ๑๕๗๐)
หลัก คำบอกกล่าวที่ผู้ใช้อำนาจปกครองแจ้งไปหรือรับแจ้งมาให้ถือว่าเป็นคำบอกกล่าวที่บุตรได้แจ้งไปหรือรับแจ้งมา
ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นตัวแทนบุตรและมีอำนาจทำการใดๆ รวมทั้งทำนิติกรรมแทนบุตรได้ แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่างที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำเองไม่ได้แต่ต้องได้รับความยินยอมของบุตรก่อนจึงจะทำได้ตามมาตรา ๑๕๗๒


การจัดการทรัพย์สินของบุตร
- ต้องจัดการทรัพย์สินของบุตรด้วยความระมัดระวังเช่นวิญญูชนจะพึงกระทำ จะใช้ความระมัดระวังในระดับที่ตนเคยประพฤติปฏิบัติในกิจการของตนไม่ได้ (มาตรา ๑๕๗๑)
- นอกจากการจัดการทรัพย์สินแล้วยังรวมถึงอำนาจในการจำหน่ายจ่ายโอนหรือก่อให้เกิดภาระติดพันในทรัพย์สิน และอำนาจฟ้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวแก่ทรัพย์สินของบุตรด้วย
- ถ้าบุตรมีเงินได้ ให้ใช้เงินนั้นเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาก่อน ส่วนที่เหลือผู้ใช้อำนาจปกครองต้องเก็บรักษาไว้เพื่อส่งมอบแก่บุตร แต่ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองไม่มีเงินได้เพียงพอแก่การครองชีพตามสมควรแก่ฐานะ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะใช้เงินนั้นตามสมควรก็ได้ เว้นแต่จะเป็นเงินได้ที่เกิดจากทรัพย์สินโดยการให้โดยเสน่หาหรือพินัยกรรมซึ่งมีเงื่อนไขว่ามิให้ผู้ใช้อำนาจปกครองได้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น ๆ (มาตรา ๑๕๗๓)
ข้อสังเกต เงินได้ หมายถึง เงินที่บุตรได้รับจากการประกอบอาชีพและเงินอันเป็นดอกผลที่งอกเงยจากทรัพย์สินหรือเงินทุนอันได้มาจากผู้อื่นเพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์

การจัดการทรัพย์สินที่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน (มาตรา ๑๕๗๔)
หากฝ่าฝืนนิติกรรมนั้นไม่ผูกพันผู้เยาว์เพราถือว่าเป็นนิติกรรมที่กระทำไปโดยปราศจากอำนาจ แต่นิติกรรมดังกล่าวไม่เป็นโมฆะหรือโมฆียะ จึงมีผลผูกพันบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองเป้นการส่วนตัว
ข้อสังเกต ผู้ใชช้อำนาจปกครองจะเลี่ยงโดยใช้วิธีอนุญาตให้ผู้เยาว์ทำเองก็ไม่สามารถทำได้


นิติกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องขออนุญาตศาลก่อนจึงจะสามารถทำได้นั้น มีอยู่ ๑๔ ประการ คือ
(๑) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
ข้อสังเกต คุ้มครองเฉพาะอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ สังหาริมทรัพย์อื่นไม่อยู่ในข้อบังคับนี้
(๒) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(๓) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
(๔) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
(๕) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(๖) ก่อข้อผูกพันใด ๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (๑) (๒) หรือ (๓)
(๗) ให้กู้ยืมเงิน
ข้อสังเกต ไม่ห้ามกรณีไปกู้เงินบุคคลอื่นมาใช้เพื่อประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์ ดังนั้น เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองไปกู้เงินมาใช้เพื่อประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์แล้ว บุตรผู้เยาว์นั้นก็ต้องรับผิดต่อผู้กู้
(๘) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศล สาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
(๙) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
(๑๐) ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
(๑๑) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีดังต่อไปนี้
(๑๑.๑) ซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยหรือพันธบัตรที่รัฐบาลไทยค้ำประกัน
(๑๑.๒) รับขายฝากหรือรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ในลำดับแรก แต่จำนวนเงินที่รับขายฝากหรือรับจำนองต้องไม่เกินกึ่งราคาตลาดของอสังหาริมทรัพย์นั้น
(๑๑.๓) ฝากประจำในธนาคารที่ได้ตั้งขึ้นโดยกฎหมายหรือที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในราชอาณาจักร
(๑๒) ประนีประนอมยอมความ
(๑๓) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(๑๔) เข้าทำกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองหรือคู่สมรสหรือบุตรขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์
ข้อสังเกต ประโยชน์ตาม (๑๔) หมายความรวมถึงประโยชน์ในกิจการต่อไปนี้ด้วยคือ
ก. ประโยชน์ในกิจการที่กระทำกับห้างหุ้นส่วนสามัญที่บุคคลนั้นเป็นหุ้นส่วน
ข. ประโยชน์ในกิจการที่กระทำกับห้างหุ้นส่วนจำกัดที่บุคคลนั้นเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด


อายุความ (มาตรา ๑๕๘๑)
๑. ห้ามฟ้องคดีเมื่อพ้น ๑ ปี นับแต่เวลาที่อำนาจปกครองระงับสิ้นไป
ข้อสังเกต อำนาจปกครองบุตรสิ้นไปด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ
(๑) บุตรผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ (สมรสหรืออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์)
(๒) บิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองถึงแก่ความตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองหรือมีการรับบุตรบุญธรรม
๒. ถ้าเป็นคดีที่ไม่เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สิน ก็ไม่ใช่อายุความ ๑ ปี ตามมาตรา ๑๕๘๑ แต่ใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๙๓/๓๐


การถอนอำนาจปกครอง
เหตุในการถอนอำนาจปกครอง
ศาลอาจมีคำสั่งถอนอำนาจปกครองทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้โดยจะสั่งถอนเองหรือจะสั่งเมื่อถูกญาติของบุตรผู้เยาว์หรืออัยการร้องขอ ซึ่งเหตุในการถอนอำนาจปกครองมี ๓ กรณี คือ
(๑) บิดาหรือมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองถูกศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๒) บิดาหรือมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวบุตรผู้เยาว์โดยมิชอบ
(๓) บิดาหรือมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองประพฤติชั่วร้าย
ข้อสังเกต นอกจากเหตุถอน ๓ กรณี ข้องต้นแล้ว มาตรา ๑๕๘๒ วรรคสอง ยังกำหนดเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งถอนอำนาจปกครองเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์ได้อีกใน ๒ กรณีคือ
ก. บิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นคนล้มละลาย
ข. บิดาหรือมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์ในทางผิดจนอาจเป็นภัย

ผลของการถอนอำนาจปกครอง
๑. มารดาหรือบิดาที่ยังเหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองในส่วนนั้นต่อไปโดยลำพังแต่เพียงผู้เดียว
๒. การถอนอำนาจปกครองมีผลเพียงทำให้บิดามารดาที่ถูกถอนอำนาจปกครองจะใช้อำนาจปกครองไม่ได้อีกต่อไปเท่านั้น แต่หน้าที่ของบิดามารดาที่จำต้องให้ความอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ยังคงมีอยู่ต่อไปดังเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
๓. บิดามารดาที่ถูกถอนอำนาจปกครองมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์
การคืนอำนาจปกครอง (มาตรา ๑๕๘๓)
บิดาหรือมารดาที่ถูกถอนอำนาจปกครองหรือญาติของบุตรผู้เยาว์มีสิทธิมาร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้มีอำนาจปกครองดังเดิมได้
ข้อสังเกต อัยการไม่มีอำนาจร้องขอให้คืนอำนาจปกครองแม้จะมีอำนาจร้องขอให้ถอนอำนาจปกครองก็ตาม


ผู้ปกครองและผู้อยู่ในปกครอง
เหตุผลและวิธีการตั้งผู้ปกครอง
ผู้ปกครองตั้งขึ้นได้เฉพาะกรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองไปแล้วทั้งสองคน โดยอาจจะถูกถอนอำนาจปกครองทั้งหมดหรือบางส่วน
ข้อสังเกต ต้องแน่ชัดว่าไม่มีบิดามารดาจริงๆ ทั้งสองคน เช่น บิดาผู้เยาว์ได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว แต่ผู้เยาว์ยังมีมารดาซึ่งทิ้งร้างไปอยู่ที่อื่น ยังไม่แน่ว่ามีชีวิตอยู่หรือไม่ เหตุนี้จึงยังไม่อาจตั้งผู้ปกครองเพื่อทำหน้าที่แทนบิดามารดาได้
วิธีในการตั้งผู้ปกครอง (มาตรา ๑๕๘๖)
๑. ญาติของผู้เยาว์หรืออัยการเป็นผู้ร้องขอตั้งศาล
ข้อสังเกต
(๑) ศาลมีคำสั่งเองไม่ได้ญาติของผู้เยาว์หรืออัยการต้องเป็นผู้ร้องขอ
(๒) ผู้ร้องขอจะต้องระบุเหตุในการขอตั้งผู้ปกครองด้วย
(๓) ญาติต้องเป็นญาติตามกฎหมายจะเป็นญาติสนิทหรือญาติห่างก็ได้
๒. ผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายทีหลังได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ปกครอง เป็นผู้ร้องขอ

คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นผู้ปกครอง
บุคคลที่จะเป็นผู้ปกครองได้จะต้องบรรลุนิติภาวะแล้วเท่านั้น และจะต้องเป็นบุคคลธรรมดา ถ้าเป็นนิติบุคคลไม่มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครอง ซึ่งในมาตรา ๑๕๘๗ กำหนดให้บุคคลดังต่อไปนี้มิให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครอง
(๑) ผู้ซึ่งศาลสั่งว่าเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๒) ผู้ซึ่งเป็นบุคคลล้มละลาย
(๓) ผู้ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์หรือทรัพย์สินของผู้เยาว์
(๔) ผู้ซึ่งมีหรือเคยมีคดีในศาลกับผู้เยาว์ ผู้บุพการีหรือพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดากับผู้เยาว์
(๕) ผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายได้ทำหนังสือระบุชื่อห้ามไว้มิให้เป็นผู้ปกครอง
ข้อสังเกต
ก. ไม่จำกัดคดีอาจเป็นคดีแพ่ง คดีอาญาหรือคดีล้มละลายก็ได้
ข. บุพการีหมายถึงบุพการีโดยชอบด้วยกฎหมาย

จำนวนและการเริ่มต้นการเป็นผู้ปกครอง
๑. โดยปกติผู้ปกครองมีได้คราวหนึ่งเพียงคนเดียวเท่านั้น เว้นแต่มีข้อกำหนด
พินัยกรรมของบิดาหรือมารดาระบุชื่อบุคคลให้เป็นผู้ปกครองไว้หลายคนหรือญาติของผู้เยาว์
หรืออัยการร้องขอโดยมีเหตุอันสมควรให้ตั้งผู้ปกครองหลายคน (มาตรา ๑๕๙๐)
๒. ความเป็นผู้ปกครองเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ทราบคำสั่งศาล (มาตรา ๑๕๙๑)
สิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ในปกครอง
๑. ผู้ปกครองต้องจัดทำบัญชีทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครอง มิฉะนั้นอาจถูกศาลมีคำสั่งถอนผู้ปกครองได้ (มาตรา ๑๕๙๒)
๒. ก่อนศาลยอมรับบัญชีทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครอง ผู้ปกครองจะทำกิจการใดไม่ได้ เว้นแต่เป็นการเร่งร้อนและจำเป็น แต่จะยกข้อห้ามดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่ได้ (มาตรา ๑๕๙๕)
๓. ถ้าผู้ปกครองมีหนี้ที่เป็นคุณหรือโทษต่อผู้อยู่ในปกครองต้องแจ้งให้ศาลทราบก่อนลงมือทำบัญชีทรัพย์สิน ถ้าหนี้นั้นเป็นคุณแล้วมิได้แจ้งข้อความนั้นต่อศาลหนี้ของผู้ปกครองนั้นย่อมสูญไป แต่ถ้าไม่เป็นโทษแล้วศาลจะสั่งถอนผู้ปกครองก็ได้ (มาตรา ๑๕๙๖)
๔. ผู้ปกครองต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลที่สั่งเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครองและจัดทำบัญชีทรัพย์สินส่งต่อศาลปีละครั้ง (มาตรา ๑๕๙๗)
๕. ผู้ปกครองมีฐานะทำนองเดียวกับบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์
๖. ผู้ปกครองต้องใช้จ่ายเงินได้ของผู้อยู่ในปกครองแต่เฉพาะเพื่อการอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาของผู้อยู่ในปกครองเท่านั้น ถ้ามีเงินเหลือต้องนำไปลงทุนที่มั่นคงแสวงหาผลประโยชน์ต่อไป
ข้อสังเกต ใช้จ่ายได้เฉพาะเพื่อการอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาของผู้อยู่ในปกครองเท่านั้น หากมีเงินเหลือผู้ปกครองจะเอาไปใช้ส่วนตัวไม่ได้ ต่างกับผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรที่เป็นบิดามารดาใช้เงินของบุตรได้ตามสมควร ถ้าบิดามารดาไม่มีเงินได้เหลือเพียงพอแก่การครองชีพตามสมควรแก่ฐานะ
๗. ผู้ปกครองไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จเว้นแต่จะมีกรณีพิเศษ ดังนี้ (มาตรา ๑๕๙๘/๑๔)
(๑) มีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมให้ผู้ปกครองได้รับบำเหน็จ
(๒) ถ้าพินัยกรรมไม่ได้กำหนดบำเหน็จของผู้ปกครองไว้ แต่ไม่มีข้อกำหนดห้ามผู้ปกครองรับบำเหน็จ ผู้ปกครองจะร้องขอต่อศาลให้กำหนดบำเหน็จในภายหลังก็ได้ ศาลจะกำหนดให้หรือไม่เพียงใดก็ได้
(๓) ถ้าพินัยกรรมมีข้อกำหนดห้ามไว้ในพินัยกรรมมิให้ผู้ปกครองได้รับบำดหน็จ หากต่อมาภายหลังจากที่ผู้ปกครองเข้ารับหน้าที่แล้ว พฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะความเป็นอยู่ของผู้ปกครองหรือผู้อยู่ในปกครองได้เปลี่ยนแปลงไป ผู้ปกครองอาจร้องขอต่อศาลขอให้สั่งให้บำเหน็จแก่ตนได้
(๔) ในกรณีที่ไม่มีคำสั่งตั้งผู้ปกครองไว้ในพินัยกรรม และไม่มีข้อกำหนดห้ามผู้ปกครองรับบำเหน็จ ศาลจะกำหนดบำเหน็จให้แก่ผู้ปกครองในคำสั่งตั้งผู้ปกครองก็ได้ หรือถ้าศาลมิได้กำหนด ผู้ปกครองจะร้องขอต่อศาลให้กำหนดบำเหน็จในภายหลังก็ได้ ศาลจะกำหนดให้หรือไม่เพียงใดก็ได้
๘. ผู้อยู่ในปกครองไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้ปกครอง


การสิ้นสุดแห่งความปกครองและความเป็นผู้ปกครอง
การสิ้นสุดแห่งความปกครอง (มาตรา ๑๕๙๘/๖)
ความปกครองสิ้นสุดลงเมื่อผู้อยู่ในปกครองถึงแก่ความตายหรือผู้เยาว์ได้บรรลุนิติภาวะแล้ว นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้อยู่ในปกครองถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและศาลตั้งผู้อนุบาลให้แล้ว ความปกครองก็ย่อมสิ้นสุดด้วย เนื่องจากจะตกแก่ผู้อนุบาลแทน
การสิ้นสุดแห่งความเป็นผู้ปกครอง (มาตรา ๑๕๙๘/๗)
(๑) ผู้ปกครองตาย
(๒) ผู้ปกครองลาออกโดยได้รับอนุญาตจากศาล ซึ่งการลาออกนี้จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน
(๓) ผู้ปกครองถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) ผู้ปกครองถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) ผู้ปกครองถูกถอนโดยคำสั่งศาล
เหตุที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้ปกครอง (มาตรา ๑๙๘/๘)
(๑) ผู้ปกครองละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่
(๒) ผู้ปกครองประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในหน้าที่
(๓) ผู้ปคองใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
(๔) ผู้ปกครองประพฤติมิชอบซึ่งไม่สมควรแก่หน้าที่
(๕) ผู้ปกครองหย่อนความสามารถในหน้าที่จนน่าจะเป็นอันตรายแก่ประโยชน์ของผู้อยู่ในปกครอง
(๖) ผู้ปกครองเป็นผู้ไม่เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์หรือทรัพย์สินของผู้เยาว์ หรือมีคดีในศาลกับผู้เยาว์หรือญาติสนิทของผู้เยาว์หรือเป็นผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายทีหลังได้กำหนดในหนังสือระบุชื่อห้ามไว้ มิให้เป็นผู้ปกครอง

ผู้มีสิทธิในการร้องขอต่อศาล (มาตรา ๑๕๙๘/๙)
บุคคลที่จะมีสิทธิในการร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งถอนผู้ปกครองมีอยู่ ๓ คน ได้แก่
(๑) ผู้อยู่ในปกครองซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๕ปีบริบูรณ์
(๒) ญาติของผู้อยู่ในปกครอง
(๓) อัยการ

ผลของการสิ้นสุดความปกครองและความเป็นผู้ปกครอง
๑. ผู้ปกครองต้องรีบส่งมอบทรัพย์สินและบัญชีให้ผู้อยู่ในปกครองหรือผู้ปกครองคนใหม่ (มาตรา ๑๕๙๘/๑๑)
๒. หากผู้ปกครองหรือผู้อยู่ในปกครองมีเงินที่จะต้องคืนแก่กันแต่ไม่ได้คืน ก็จะต้องเสียดอกเบี้ยให้กันด้วย (มาตรา ๑๕๙๘/๑๒)

ที่มา : http://www.siamjurist.com/forums/1587.html

3 ความคิดเห็น:

  1. อยากจะถามน่ะค่ะว่าถ้าแต่งงานกันแต่ไม่ได้จดทะเบียน แล้วอย่างนี้สามีจะมีสิทธิ์ในตัวบุตรมากแค่ไหนค่ะ แล้วดิฉันเพิ่งจะ18สามารถฟ้องร้องว่าภาคผู้เยาวได้ป่าวค่ะ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ11 พฤษภาคม 2556 เวลา 18:26

    อยากทราบว่าถ้าหย่าด้วยความยินยอมแล้วมารู้ทีหลังว่าสามีมีลูกใหม่กับหญิงอื่นเรามีสิทธิ์ทำอะไรหรือไม่อย่างไร

    ตอบลบ