บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สรุปกฎหมายนิติกรรมและสัญญา

สรุปกฎหมายนิติกรรมและสัญญา

1. นิติกรรม คืออะไร
คือการใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ (ป.พ.พ.ม. 149)
กล่าวโดยย่อ นิติกรรม คือ การกระทำของบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายและมุ่งต่อผลในกฎหมายที่จะเกิดขึ้นอันได้แก่ การเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ มีการก่อสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิและระงับซึ่งสิทธิ เช่น สัญญาซื้อขาย, สัญญากู้เงิน, สัญญาจ้างแรงงาน สัญญาให้และพินัยกรรมเป็นต้น
การแบ่งแยกประเภทของนิติกรรม
1.1 นิติกรรมฝ่ายเดียว ได้แก่ นิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวและมีผลตามกฎหมาย ซึ่งบางกรณีก็ทำให้ผู้ทำนิติกรรมเสียสิทธิได้ เช่น การก่อตั้งมูลนิธิ คำมั่นโฆษณาจะให้รางวัล การรับสภาพหนี้ การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้ คำมั่นจะซื้อหรือจะขาย การทำพินัยกรรม การบอกกล่าวบังคับจำนอง เป็นต้น
1.2 นิติกรรมสองฝ่าย (นิติกรรมหลายฝ่าย) ได้แก่ นิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปและทุกฝ่ายต้องตกลงยินยอมระหว่างกันกล่าวคือฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาทำเป็นคำเสนอ แล้วอีกฝ่ายหนึ่งแสดงเป็นเจตนาเป็นคำสนอง เมื่อคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกันจึงเกิดมีนิติกรรมสองฝ่ายขึ้นหรือเรียกกันว่า สัญญา เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญากู้ยืม สัญญาแลกเปลี่ยน สัญญาขายฝาก จำนอง จำนำ เป็นต้น

2. ความสามารถของบุคคลในการทำนิติกรรมสัญญา
โดยหลักทั่วไป บุคคลย่อมมีความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา แต่มีข้อยกเว้นคือ บุคคลบางประเภทกฎหมายถือว่าหย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา เช่น ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ และบุคคลล้มละลาย สำหรับผู้เยาว์จะทำนิติกรรมได้ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม (ป.พ.พ.ม.21) เว้นแต่นิติกรรมที่ได้มาซึ่งสิทธิโดยสิ้นเชิงหรือเพื่อให้หลุดพ้นหน้าที่ หรือการที่ต้องทำเองเฉพาะตัวหรือกิจกรรมที่สมแก่ฐานานุรูป และจำเป็นในการเลี้ยงชีพเหล่านี้ผู้เยาว์ทำด้วยตนเองได้ (ป.พ.พ.ม.22,23,24) ส่วนคนไร้ความสามารถต้องอยู่ในความอนุบาลกิจการใดๆ ของคนไร้ความสามารถผู้อนุบาล ซึ่งแต่งตั้งโดยศาลต้องเป็นผู้ทำเองทั้งสิ้น (ป.พ.พ.ม. 28 วรรคสอง) สำหรับคนเสมือนไร้ความสามารถทำกิจการเองได้ทุกอย่าง เว้นแต่กิจกรรมบางอย่างตาม ป.พ.พ.ม. 34 จะทำได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์เช่น สัญญา ซื้อขายที่ดิน เป็นต้น
บุคคลล้มละลายจะทำนิติกรรมใดไม่ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามคำสั่งศาลเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทน
2.1 ผู้มีสิทธิในการทำนิติกรรมสัญญา ปกติแล้ว บุคคลทุกคนต่างมีสิทธิในการทำนิติกรรมสัญญา แต่ยังมีบุคคลบางประเภทเป็นผู้หย่อนความสามารถ กฎหมายจึงต้องเข้าดูแลคุ้มครองบุคคลเหล่านี้ไม่ให้ได้รับความเสียหายในการกำหนดเงื่อนไขในการเข้าทำนิติกรรมของผู้นั้น
2.2 ผู้หย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา
(1) ผู้เยาว์ คือบุคคลที่ยังมีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ การทำนิติกรรมสัญญาใดๆของผู้เยาว์ กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม คือบิดามารดาหรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณีเสียก่อน การทำนิติกรรมสัญญาใดที่ปราศจากความยินยอมกฎหมายเรียกว่าเป็นโมฆียะซึ่งอาจถูกบอกล้างภายหลังได้ต่อเมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์แล้วจึงพ้นจากภาวะเป็นผู้เยาว์และเป็นผู้บรรลุนิติภาวะเป็นผู้เยาว์และเป็นผู้บรรลุนิติภาวะจึงมีความสามารถใช้สิทธิในการทำนิติกรรมสัญญาได้เอง
แม้จะอายุยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ แต่ได้บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสแล้วก็ย่อมทำนิติกรรมสัญญาได้ดังเช่นผู้บรรลุนิติภาวะทุกประการ (การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว(มาตรา 1448))
(2) คนวิกลจริต คือบุคคลที่มีสมองพิการหรือว่าจิตใจไม่ปกติ โดยมีอาการหนักถึงขนาดเสียสติทุกสิ่งทุกอย่าง พูดกันไม่เข้าใจและไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
(3) คนไร้ความสามารถ คือ คนวิกลจริตที่ศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถการที่ศาลจะมีคำสั่งให้คนวิกลจริตคนใดเป็นคนไร้ความสามารถนั้น จะต้องมีผู้เสนอเรื่องต่อศาลโดยกฎหมายได้ระบุให้บุคคลดังต่อไปนี้เสนอเรื่อง โดยร้องขอต่อศาลได้ คือสามีหรือภริยาของคนวิกลจริต ผู้สืบสันดานของคนวิกลจริต (ลูก,หลาน,เหลน,ลื้อ) ผู้บุพการีของคนวิกลจริต (บิดา,มารดา,ปู่,ย่า,ตา,ยาย,ทวด) หรือผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ ผู้ซึ่งปกครองดูแลคนวิกลจริตหรือพนักงานอัยการ (ป.พ.พ. มาตรา 28) เมื่อศาลไต่สวนได้ความว่าวิกลจริตจริงก็จะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาล โดยศาลจะตั้งผู้อนุบาลให้
(4) คนเสมือนไร้ความสามารถ คือบุคคลผู้ใดไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ หรือจัดการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเอง หรือครอบครัว เพราะ
1. กายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
2. ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ
3. ติดสุรายาเมา
4. มีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น
เมื่อบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดดังต่อไปนี้ คือ สามีหรือภริยา ผู้บุพการี หรือผู้สืบสันดาน หรือผู้พิทักษ์หรือผู้ปกครองหรือผู้ซึ่งปกครองดูแลคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลดังกล่าวเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและสั่งให้ผู้นั้นอยู่ในความพิทักษ์ก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 32)
(5) ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลายตามกฎหมายล้มละลาย เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ก็ตกเป็นผู้หย่อนความสามารถ กล่าวคือลูกหนี้จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตนไม่ได้ เว้นแต่จะกระทำได้ตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล, เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์, ผู้จัดการทรัพย์, หรือที่ประชุมเจ้าหนี้
และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจในการจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ และการกระทำการอื่นๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ เช่น การฟ้องร้อง การต่อสู้คดี การประนีประนอม เป็นต้น
(6) สามีและภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกันจึงต้องให้ความยินยอมซึ่งกันและกัน ในการทำสัญญาผูกพันสินสมรส กฎหมายได้วางหลักในเรื่องนี้ไว้ดังนี้
1. มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สิ้นสุดทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคมหรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้วรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
2. สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ทั้งหมด หรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1465 และมาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส
ในกรณีที่สัญญาก่อนสมรสระบุการจัดการสินสมรสไว้แต่เพียงบางส่วนของมาตรา 1476 การจัดการสินสมรสนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสให้เป็นไปตามมาตรา 1476 (ป.พ.พ. มาตรา 1476/1)
3. การใดที่สามีหรือภริยากระทำ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมร่วมกันและถ้าการนั้นมีกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือ หรือให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือ (ป.พ.พ. มาตรา 1476)
4. การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้รับนิติกรรมนั้น (ป.พ.พ. มาตรา 1480)

3. นิติกรรมสัญญาต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่เป็นการพ้นวิสัย และต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
การทำนิติกรรมสัญญาใดๆ นอกจาไม่หย่อนความสามารถดังกล่าวในข้อ 2 แล้วจะต้องไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่เป็นการพ้นวิสัย และต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย (ป.พ.พ. มาตรา 150) ถ้าฝ่าฝืนหลักดังกล่าวนิติกรรมสัญญานั้นก็เป็นโมฆะ กล่าวคือใช้ไม่ได้ไร้ผลบังคับโดยสิ้นเชิง
ที่ว่าเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจะต้องเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมสัญญานั้นจึงจะเป็นโมฆะ
แต่ถ้านิติกรรมสัญญาเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายที่มิใช่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วก็ไม่ทำให้นิติกรรมสัญญานั้นเป็นโมฆะ ข้อตกลงนั้นใช้บังคับได้ เช่น ป.พ.พ.ม 733 บัญญัติไว้ว่า “ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น” หากคู่สัญญา ตกลงกันว่า ถ้าเอาทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ลูกหนี้ยังต้องรับผิดในหนี้ที่เหลืออยู่ ข้อตกลงดังกล่าวใช้บังคับได้เพราะศาลฎีกาถือว่า ป.พ.พ.ม 733 มิใช่กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
ตัวอย่างที่ 1 ทำสัญญาขยายอายุความฟ้องร้องออกไปเกินกว่าที่กฎหมายกำนหดไว้ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะเพราะขัดต่อ ป.พ.พ.มาตรา 193/11
ตัวอย่างที่ 2 ทำสัญญาจ้างให้คนเหาะหรือให้กระโดดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะ เพราะเป็นการพ้นวิสัย
ตัวอย่างที่ 3 ทำสัญญาจ้างให้มือปืนไปยิงคน ข้อตกลงเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อย
ตัวอย่างที่ 4 ทำสัญญาจ้างให้ไปทำชู้กับภรรยาของผู้อื่นๆ ข้อตกลงเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

4. นิติกรรมสัญญาต้องทำตามแบบ
ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติบังคับให้นิติกรรมสัญญาบางประเภทต้องทำตามแบบ ถ้าฝ่าฝืนไม่ทำตามแบบ การนั้นเป็นโมฆะ (ป.พ.พ. มาตรา 152)
อุทาหรณ์ 1 สัญญาจำนองซึ่งมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นเป็นโมฆะ (ป.พ.พ.ม.714)
อุทาหรณ์ 2 ซื้อขายที่ดินโดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การซื้อขายนั้นเป็นโมฆะ (ป.พ.พ.ม 456)
4.1 นิติกรรมสัญญาที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน มีดังนี้
(1) การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เช่น ที่ดิน บ้าน ซึ่งหมายถึงการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด รวมทั้งเรือกำปั่น เรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป แพและสัตว์พาหนะ ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ 6 อย่าง (ป.พ.พ.ม. 456)
ถ้าทำสัญญาจะซื้อขายทรัพย์ดังกล่าวใน ป.พ.พ.ม. 456 จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิด หรือวางประจำหรือชำระหนี้บางส่วนซึ่งจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้
(2) การแลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษดังกล่าวในข้อ 1
(3) การให้ทรัพย์สินดังกล่าวในข้อ 1
(4) การขายฝากอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษดังกล่าวในข้อ 1
(5) การเช่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีกำหนดเกินกว่าสามปี หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าต้องทำเป็นหนังสือหรือจดทะเบียนถ้าไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียงสามปี (ป.พ.พ. 538)
(6) สัญญาจำนองต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ (ป.พ.พ.714) นิติกรรมสัญญาดังกล่าวใน (1) (2) (3) (4) และ (6) ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นโมฆะ
4.2 นิติกรรมสัญญาที่ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือมีดังนี้
(1) การเช่าอสังหาริมทรัพย์ เช่น เช่าที่ดิน หรือบ้าน ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ (ป.พ.พ.ม. 538) หลักฐานที่เป็นหนังสือ เช่น จดหมายที่ผู้ให้เช่ามีไปถึงผู้เช่าตอบตกลงให้เช่าที่ดินหรือบ้านได้เป็นต้น
(2) สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ ถ้าไม่ทำก็เป็นโมฆะ (ป.พ.พ.ม.572)
(3) การกู้ยืมเงินเกินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืม จึงจะเป็นฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ และการนำสืบการใช้เงินในกรณีการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือจะนำสืบได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารการกู้ยืมได้ถูกเวนคืนหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารการกู้ยืมแล้ว (ป.พ.พ.ม.653)
อนึ่ง การกู้ยืมเงินนั้นผู้กู้พึงระวังมิให้เจ้าหนี้โกงโดยเติมตัวเลขลงในช่องจำนวนเงินที่กู้ ทั้งนี้โดยจะต้องขีดหน้าและหลังด้วยตัวเลขและวงเล็บจำนวนเงินด้วยตัวอักษรไว้ให้ชัดเจน
(4) สัญญาค้ำประกันต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ (ป.พ.พ.ม.680)
(5) กิจกรรมใดที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือ เช่น ตั้งตัวแทนไปซื้อขายที่ดิน ดังนี้ต้องทำหนังสือมอบอำนาจ
กิจการที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นตัวหนังสือด้วย เช่น การตั้งตัวแทนไปกู้ยืมเงินเกินห้าสิบบาทขึ้นไป ก็ต้องมีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ (ป.พ.พ.ม. 789)
(6) สัญญาประนีประนอมยอมความจะต้องมีหลักฐานลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ (ป.พ.พ.ม.851)

-หลักเกณฑ์สำคัญของนิติกรรม (ม.149)
 1) ต้องมีการแสดงเจตนา 2) ต้องกระทำโดยใจสมัคร 3) มุ่งให้มีผลผูกพันทาง กฎหมาย 4) เป็นการทำลงโดยชอบด้วยกฎหมาย และ 5) ผู้ที่ทำนิติกรรมต้องมี“ความสามารถ” ในการ ทำนิติกรรมด้วย
-ประเภทของนิติกรรม
1. นิติกรรมฝ่ายเดียว เช่น การทำพินัยกรรม / การปลดหนี้ (ม.340) /
 การบอกเลิกสัญญา (ม.386) / โฆษณาจะให้รางวัล (ม.362 และ 365) เป็นต้น
นิติกรรมฝ่ายเดียวนี้ มีผลตาม กฎหมายแล้ว แม้จะยังไม่มีผู้รับก็ตาม
2. นิติกรรมหลายฝ่าย คือ มีฝ่ายที่ทำคำเสนอและอีกฝ่ายทำคำสนอง เมื่อคำเสนอและคำสนองตรงกัน ก็เกิดสัญญา เช่น สัญญาซื้อขาย / สัญญาเช่า / สัญญาค้ำประกันเป็นต้น
-ความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรม
1. ความสามารถในการทำนิติกรรม กล่าวคือ
ถ้านิติกรรมได้กระทำลงโดยผู้หย่อนความสามารถ คือ
1.1) ผู้เยาว์
1.2) คนไร้ความสามารถ
1.3)เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
โมฆียะ (ม.153)
2. วัตถุประสงค์แห่งนิติกรรม
 2.1) เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย
2.2) เป็นการพ้นวิสัย
2.3) เป็นการขัดความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
3. แบบแห่งนิติกรรม
 3.1) การทำเป็นหนังสือ เช่น การโอนหนี้ (ม.306) / สัญญาเช่าซื้อ(ม.572) / สัญญาตัวแทนบางประเภท (ม.798) ถ้าตกลงเพียงวาจา สัญญานั้นเป็นโมฆะ
 3.2) การทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น การคัดค้านตั๋วแลกเงิน(ม.961) / การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง (ม.1658) เป็นต้นถ้าไม่ได้ทำเป็นหนังสือต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมใช้บังคับไม่ได้
3.3) การทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (ม. 456) / สัญญาขายฝาก (ม.491) / สัญญาจำนอง เป็นโมฆะ(ม.714) เป็นต้น ถ้าไม่ ทำตามแบบ
 4. การแสดงเจตนา
4.1 เจตนาอย่างหนึ่งแต่แสดงออกอีกอย่างหนึ่ง นิติกรรมนั้นมีผลใช้บังคับได้ เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาที่แท้จริง (ม.154) หรือการแสดงเจตนาลวง โดยสมรู้กับคู่กรณี อีกฝ่ายหนึ่ง (ม.155) เป็นโมฆะหรือนิติกรรมอำพราง (ม.155 ว.สอง)
4.2 การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิด
(1) สำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรม
- สำคัญผิดในประเภทของนิติกรรม
 - สำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญา
- สำคัญผิดในวัตถุแห่งนิติกรรม
 (2) สำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์ ถ้า
คุณสมบัติดังกล่าว เป็นสาระสำคัญของนิติกรรม กล่าวคือ ถ้ารู้ว่าบุคคลหรือทรัพย์ไม่ได้คุณสมบัติที่ต้อง การ ก็คงไม่ทำนิติกรรมด้วยนิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ (ม. 157)
(3) สำคัญผิดเพราะกลฉ้อฉล ได้แก่ การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งใช้อุบายหลอกลวง ให้เขาหลงเชื่อ แล้วเขาทำนิติกรรมซึ่งถ้ามิได้ใช้อุบายหลอกเช่นว่านั้น เขาคงไม่ทำ นิติกรรมด้วยนิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ (ม. 159)
 นิติกรรมนั้น (4) การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ (ม. 164) ถ้าการข่มขู่นั้นถึงขนาดที่ทำให้ผู้ถูกขู่กลัวจริงๆแต่การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมก็ ดี หรือความกลัวเพราะนับถือยำเกรงก็ดีไม่ถือว่าเป็นการขู่ (ม.165)
ผลแห่งความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรม
 “โมฆะ” หมายถึง นิติกรรมนั้นเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย คือเสมือนว่าไม่มีการทำนิติกรรมนั้นๆ เลย จะฟ้องร้องบังคับกันไม่ได้จะให้สัตยาบันก็ไม่ได้ (ม.172)
“โมฆียะ” หมายถึง นิติกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายจนกว่าจะมีการบอกล้าง (ม.176)
ถ้าไม่มีการบอกล้างภายในระยะเวลา1 ปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้หรือ 10 ปี นับแต่ได้ทำ นิติกรรม ม. 181)หรือมีการให้สัตยาบัน (ม.179) โดยบุคคลที่กฎหมายกำหนด นิติกรรมนั้นเป็นอันสมบูรณ์ตลอดไป
สัญญา
 สาระสำคัญของสัญญา
 1. ต้องมีบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป
 2. ต้องมีการแสดงเจตนาต้องตรงกัน (คำเสนอ+คำสนองตรงกัน)
“คำเสนอ” เป็นคำแสดงเจตนาขอทำสัญญา คำเสนอต้องมีความชัดเจน แน่นอน ถ้าไม่มีความชัดเจน แน่นอน เป็นแต่เพียงคำเชิญชวน
 “คำสนอง” คือ การแสดงเจตนาของผู้สนองต่อผู้เสนอ ตกลงรับทำสัญญาตามคำเสนอ คำสนองต้องมีความชัดเจน แน่นอน ปราศจากข้อแก้ไข ข้อจำกัดหรือข้อเพิ่มเติมใดๆ
3. ต้องมีวัตถุประสงค์ในการทำสัญญา
ประเภทของสัญญา
1. สัญญาต่างตอบแทนกับสัญญาไม่ต่างตอบแทน
 “สัญญาต่างตอบแทน” ได้แก่
สัญญาที่ทำให้คู่สัญญาต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน(ม. 369) กล่าวคือ คู่สัญญาต่างมีหนี้หรือหน้าที่จะต้องชำระให้แก่กันเป็นการตอบแทน
“สัญญาไม่ต่างตอบแทน” คือ สัญญาที่ก่อหนี้ฝ่ายเดียว เช่น สัญญายืม(ม.640, 650)
 2. สัญญามีค่าตอบแทนกับสัญญาไม่มีค่าตอบแทน
 3.สัญญาประธานกับสัญญาอุปกรณ์
 “สัญญาประธาน” หมายถึง สัญญาที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ได้โดยลำพัง ไม่ขึ้นอยู่กับสัญญาอื่น
“สัญญาอุปกรณ์” นอกจากสัญญาอุปกรณ์จะต้องสมบูรณ์ตามหลักความสมบูรณ์ของตัวเองแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของสัญญาประธานอีกด้วยกล่าวคือ ถ้าสัญญาประธาน ไม่สมบูรณ์ สัญญาอุปกรณ์ย่อมไม่สมบูรณ์ด้วยเช่นกัน เช่น สัญญาค้ำประกัน (ม.680) / สัญญาจำนอง (ม.702) / สัญญาจำนำ (ม.747)
4. สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก
โดยคู่สัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกโดยที่บุคคลภายนอกนั้นไม่ได้เข้ามาเป็นคู่สัญญาด้วย เช่น สัญญาประกันชีวิต
5. เอกเทศสัญญาตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 กับสัญญาไม่มีชื่อ
สิทธิในการบอกเลิกสัญญา
1. สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
1.1 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ถ้าฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายใน ระยะที่กำหนดให้อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้ (ม.387)
1.2 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ซึ่งโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงไว้วัตถุประสงค์แห่งสัญญาจะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณเวลาที่กำหนด หรือภายในระยะเวลาซึ่งกำหนดไว้เจ้าหนี้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ก่อน(ม.388)
1.3 เมื่อการชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนกลายเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้ได้ เจ้าหนี้จะเลิกสัญญาเสียก็ได้ (ม.389)
2. สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยข้อสัญญา หมายความว่าคู่สัญญาได้ตกลงกันกำหนดสิทธิในการเลิกสัญญาไว้ล่วงหน้าถ้ามีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้เกิดขึ้น ก็ให้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่คู่กรณี
 ผลของการเลิกสัญญา
 1. คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิม (ม.391วรรคหนึ่ง) เช่น
 - ทรัพย์สินที่ได้ส่งมอบหรือโอนให้แก่กันไปตามสัญญา ก็ต้องคืนทรัพย์สินนั้นในสภาพที่เป็นอยู่เดิมขณะมีการส่งมอบหรือโอนไปตามสัญญา
และถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะคืนได้ทั้ง หมดหรือบางส่วนก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายแทน
- หากทรัพย์สินที่จำต้องส่งคืนนั้นเป็นเงินตรา กฎหมายกำหนดให้บวกดอกเบี้ย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับเงินไปด้วย (ม.391 วรรคสอง)อัตราดอกเบี้ยนั้น ถ้ามิได้กำหนดเอาไว้ ให้ ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี(ม.7)
- อย่างไรก็ตาม การเลิกสัญญาอันมีผลทำให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมนี้จะเป็นสาเหตุทำให้บุคคลภายนอกเสื่อมเสียสิทธิไม่ได้
 2. การเลิกสัญญาไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกค่าเสียหาย

ที่มา : http://www.siamjurist.com/forums/1896.html

สรุปกฎหมายหนี้


สรุปกฎหมายหนี้



หนี้ (194-353)
1. ลูกหนี้ผิดนัด (204-206)
- ผิดนัดเพราะเจ้าหนี้เตือนแล้ว 204 ว.1 (หนี้ถึงกำหนด + เจ้าหนี้ทวงถามแล้ว ) ผิดนัดตั้งแต่วันทวงถาม
- กรณีกำหนดไว้แน่นอน ตามปฏิทินและลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผิดนัดตั้งแต่วันถึงกำหนด (ไม่ต้องทวงถาม)
2. เจ้าหนี้ผิดนัด (207-212) : ลูกหนี้ขอปฏิบัติชำระหนี้ เจ้าหนี้ไม่รับชำระ โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ ต่อมา หากเจ้าหนี้ใช้สิทธิฟ้องร้อง ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
3. การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย
- กรณีลูกหนี้ต้องรับผิด 218
- กรณีลูกหนี้ไม่ต้องรับผิด 219
ประเด็นสำคัญ
1. กรณีลูกหนี้ผิดนัด(ไม่ได้กำหนดวันไว้) (204ว.1) : เป็นการทวงถามให้ชำระหนี้ เมื่อไม่ชำระหนี้ก็ถือว่า ผิดนัดนับแต่วันทวงถาม หากไม่มีการทวงถาม การฟ้องถือเป็นการทวงถามไปในตัว ถือว่าผิดนัดนับแต่วันฟ้อง
2. หนี้ที่กำหนดไว้ตามวันแห่งปฏิทิน (204ว.2) : ต้องกำหนดชัดเจนแน่นอน รู้ว่าจะชำระหนี้ได้เมื่อใด ซึ่งจะเกี่ยวพันกับการบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 387 , 388
3. กรณีลูกหนี้ผิดนัดต้องเป็นความผิดของลูกหนี้ด้วย : กรณีวันกำหนดชำระหนี้ตรงกับวันหยุดราชการ ไม่ถือว่าผิดสัญญา
4. กรณีพฤติการณ์ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิด (205)
- ไม่ถือว่าลูกหนี้ผิดนัด เพราะมีพฤติการณ์ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิด แตกต่างจากการชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย (219) อันจะโทษลูกหนี้ไม่ได้ เพราะตามมาตรา 205 เป็นกรณีที่ลูกหนี้ยังอยู่วิสัยที่จะชำระได้อยู่ แต่ไม่ชำระ (เช่นไม่ชำระเพราะรู้ว่าผู้รับชำระหนี้ไม่ใช่เจ้าหนี้ที่แท้จริง) แต่กรณี219 การชำระหนี้ในอนาคตไม่สามารถทำได้เลย
- ** เทียบ ลูกหนี้ไม่มีเจตนาบิดพลิ้ว ที่ยังไม่ถือว่าผิดนัด
- พฤติการณ์ที่ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิด(ปัจจัยภายนอก)
- ไม่ชำระหนี้เพราะรู้ว่า เจ้าหนี้ยังอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถจะชำระหนี้ได้
- พฤติการณ์ เพราะปัจจัยภายนอกที่ลูกหนี้ไม่ได้จงใจให้เกิด (แต่ภายหน้ายังจะชำระหนี้ได้อยู่ )
5. กรณีเจ้าหนี้ผิดนัด (207-212)
- ลูกหนี้ต้องมีการขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้โดยตรง
- ขณะเวลาที่ลูกหนี้ของปฏิบัติการชำระหนี้นั้นลูกหนี้ต้องอยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้
- เจ้าหนี้ผิดนัด ลูกหนี้มีสิทธิเพียงไม่ชำระค่าเสียหาย หรือดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่จำเลยของปฏิบัติชำระหนี้เท่านั้น (แต่ไม่มีสิทธิคิดค่าเสียหาย หรือดอกเบี้ยเอากับเจ้าหนี้)
6. การชำระหนี้พ้นวิสัย (218-219) : ต้องเป็นกรณีไม่สามารถชำระหนี้ได้อย่างเด็ดขาดและถาวร (ไม่มีทางชำระหนี้ได้)
** ดูเรื่องสัญญาต่างตอบแทน 372 เพิ่มเติมด้วย
ค่าเสียหาย
1. ค่าเสียหายตามปกติที่เกิดจากการไม่ชำระหนี้ (ผลธรรมดาโดยตรง)
2. ค่าเสียหายอันเกิดจากพฤติการณ์พิเศษ: ต้องคาดเห็นล่วงหน้าได้
3. กรณีผู้เสียหาย มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย : ต้องดูพฤติการณ์ว่าฝ่ายใดผิดกว่ากัน
ประเด็นสำคัญ
1. ค่าเสียหายตามปกติ (222ว.1)
- ราคาทรัพย์เพิ่มขึ้นตามท้องตลาด เป็นค่าเสียหายตามปกติ
- เงินที่ต้องจ่ายเพิ่ม เนื่องจากไปซื้อทรัพย์รายอื่น / ไปจ้างผู้อื่นต่อ
- ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ เป็นค่าเสียหายโดยตรง
2. ค่าเสียหายอันเกิดจากพฤติการณ์พิเศษ (ต้องคาด / ควรรู้ (222ว.2)
- กำไรที่เจ้าหนี้คาดว่าจะได้ ถือว่าเป็นค่าเสียหายกรณีนี้ (จะนำไปขายต่อ) ต้องนำสืบให้เห็นว่า ลูกหนี้รู้หรือควรจะรู้
*** แตกต่างกรณี กำไรที่จะได้จากลูกหนี้โดยตรง กรณีนี้เป็นค่าเสียหายปกติ (เพราะได้จากคู่สัญญาโดยตรง)
- ค่าปรับที่เจ้าหนี้ จะถูกบุคคลอื่นปรับเป็นค่าเสียหายกรณีนี้
- เจ้าหนี้จะถูกบุคคลภายนอกริบมัดจำ เป็นค่าเสียหายกรณีนี้
*** คดีฟ้องขับไล่ ดอกเบี้ยและค่าปรับที่ไม่ยอมออกไปเป็นค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ
3. กรณีผู้เสียหายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย(273) : ดูพฤติการณ์ว่าฝ่ายใดมีความผิดมากกว่ากัน (แต่แนวฎีกา ดูว่าเจ้าหนี้ได้ขวนขวาย บำบัดป้องกัน ความเสียหาย ภายหลังที่ผิดสัญญาแล้วหรือไม่
รับช่วงสิทธิ (226-232,880,693)
รับช่วงทรัพย์
1. รับช่วงสิทธิ (226,227,229,230)
- บุคคลผู้มีส่วนได้เสียเข้าชำระหนี้แทน
- +ผล+: ชอบที่จะใช้สิทธิของเจ้าหนี้ที่มีอยู่ตามมูลหนี้ และสัญญาค้ำประกันในนามตนเอง โดยฟ้องไล่เบี้ยแก่ผู้ที่ตนชำระแทนโดยตรง
2. รับช่วงทรัพย์ (226ว.2,228,231-232)
- เอาทรัพย์สินเข้าไปแทนที่ ในฐานะนิตินัยเดียวกัน +ผล+ ถือเป็นทรัพย์เดิมนั้น
- มีทรัพย์สิน หรือสิทธิอื่นเข้าไปแทนที่ทรัพย์ที่สูญหายไป (228) +ผล+ เจ้าหนี้เรียกให้ชำระหนี้ได้ (กรณีชำระหนี้เป็นพ้นวิสัยแล้วมีของแทนที่)
- ทรัพย์สินที่จำนองมีประกันภัย (231) เจ้าหนี้ผู้รับจำนองมีสิทธิใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยได้ (คุ้มครองเจ้าหนี้ผู้รับอำนาจ (กรณีทรัพย์จำนองบุบสลาย)
ประเด็นสำคัญ
1. รับช่วงสิทธิ
- เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย มีอยู่จำกัดเฉพาะที่กฎหมายบัญญัติไว้
- ผู้ที่จะรับช่วงสิทธิได้ต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลหนี้เท่านั้น
- การรับช่วงโดยเข้าไปใช้หนี้แทนและรับช่วงมา เพื่อฟ้องไล่เบี้ยแก่ลูกหนี้ที่ได้ชำระหนี้แทนไป ดังนั้น ต้องมีการใช้หนี้แทนไปก่อนจึงจะเกิดสิทธิ
2. บุคคลที่มีสิทธิรับช่วงสิทธิ
- ลูกหนี้ เข้าชำระค่าสินไหมทดแทน แล้วเข้าสวมสิทธิของเจ้าหนี้ (227,880)
- เจ้าหนี้เข้าชำระหนี้แก่เจ้าหนี้อีกคน (มีเจ้าหนี้ 2 คน) แทนลูกหนี้ เพื่อจะได้เป็นเจ้าหนี้บุริมทรัพย์ (เจ้าหนี้ชั้นต้น ) (229(1) )
- ผู้ได้ที่ดินติดจำองมา แล้วใช้สิทธิไถ่ถอนที่หลัง ( 229(2) )
- บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น หรือมีส่วนได้เสียในการชำระหนี้เข้าชำระหนี้แทน (229(3)) เช่น หนี้ค้ำประกัน,หนี้ร่วม ผู้กระทำละเมิดร่วมกัน
- กรณียึดทรัพย์บังคับคดี : ผู้ต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในการยึดทรัพย์ (230) เข้าใช้แก่เจ้าหนี้จนเป็นที่พอใจ แล้วรับช่วงสิทธิไปบังคับแก่ลูกหนี้อื่น ๆ
*** หากบุคคลอื่นนอกจากนี้ เข้าชำระหนี้แทนย่อมไม่มีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิ์
3. รับช่วงสิทธิแบ่งออกเป็น 3 กรณี
- กรณีทั่วไป (226-232) : บุคคลตามมาตรา 227-230 เข้าชำระหนี้แทนลูกหนี้แล้วรับช่วงสิทธิไล่เบี้ย
- กรณีสัญญาประกันภัย(880) : บริษัทผู้รับประกันภัยเข้าชำระหนี้แทนผู้เอาประกันภัยโดยความเสียหายเกิดจากบุคคลภายนอก เมื่อชำระสินไหมให้แก่ผู้เอาประกัน ไปแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิตาม 880,227 มีสิทธิตาม 226 ไล่เบี้ยเอาจากผู้ทำละเมิด
- กรณีสัญญาค้ำประกัน (693) : ผู้ค้ำประกันเข้าชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แทนลูกหนี้ซึ่งต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมที่ผูกพันจะชำระหนี้ตาม 229(3) เมื่อเข้าชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ค้ำประกันแล้วย่อมมีสิทธิไล้เบี้ยได้ตาม 693 , 226
4. ผลของการรับช่วงสิทธิ (มีสิทธิเท่าเจ้าหนี้เดิม) : ชอบที่จะใช้สิทธิของเจ้าหนี้ที่มีอยู่ตามมูลหนี้ (เข้าสวมสิทธิเจ้าหนี้เดิม) ดังนั้น มีสิทธิฟ้องร้องไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ตามมูลหนี้นั้น หรือผู้ที่ชำระหนี้แทนไป
* กรณีผู้รับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องเงินคืนจากผู้ที่รับชำระหนี้ไปจึงไม่ใช่การรับช่วงสิทธิ แต่เป็นการฟ้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้
5. รับช่วงทรัพย์ : ผลของทรัพย์ที่เข้าแทนที่ต้องมีฐานะตามกฎหมายอย่างเดียวกันกับทรัพย์เดิม ดังนั้นหากทรัพย์หรือสิ่งของที่เข้ามาแทนที่ไม่ได้มีฐานะอย่างเดียวกันจึงมิใช่กรณีรับช่วงทรัพย์ ตามมาตรา 226 ว.2
6. กรณีรับช่วงทรัพย์ (228)
- เป็นกรณีการชำระหนี้ด้วยทรัพย์นั้นตกเป็นพ้นวิสัย (การโอนทรัพย์นั้นเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป)
- มีทรัพย์สินอื่นหรือสิทธิอื่นเข้ามาแทนที่ทรัพย์ที่เสียไป เช่น มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันเข้าแทนที่บ้านที่ถูกเผา
- +ผล+ เจ้าหนี้ตามมูลหนี้นั้น เรียกร้องต่อทรัพย์หรือสิทธิที่เข้าแทนที่ได้เอง
7. กรณีรับช่วงทรัพย์ (231,232)
- เป็นกรณีคุ้มครองเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง (บุริมสิทธิ์) ดังนั้น ต้องเป็นเจ้าหนี้จำนองก่อน มิใช่ฐานะการเป็นเจ้าหนี้จำนองระงับไปแล้ว มิฉะนั้นไม่มีสิทธิเข้ารับช่วงทรัพย์ได้ (ต้องมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง)
- หากเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์ที่จำนอง แล้วมีสิ่งทดแทน เช่นสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
- เจ้าหนี้ผู้รับจำนอง มีสิทธิใช้สิทธินั้น (สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัย) ได้ด้วยตนเอง
*** แตกต่างจากกรณี 229(3) ที่ต้องเป็นผู้ที่ได้ที่ดินติดจำนองมาแล้วภายหลังจึงเข้าชำระหนี้หรือไถ่ถอนจำนอง จึงได้สิทธิตาม 226
การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ (233-236,237-240,303-313)
การเพิกถอนกรณีฉ้อฉล และการโอนสิทธิเรียกร้อง
1. การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ (233-236) : ใช้สิทธิในนามของตนเองแทนลูกหนี้ เพื่อป้องกันสิทธิตามมูลหนี้ของตน +ผล+ ลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั้นแต่ลูกหนี้มีสิทธิอย่างไรก็มีอย่างนั้น
2. การเพิกถอนการฉ้อฉล (237-240) : เจ้าหนี้ใช้สิทธิเพิกถอนนิติกรรมของลูกหนี้ที่กระทำลงไป เป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ + ผล + เจ้าหนี้ใช้สิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมของลูกหนี้ได้ / ไม่กระทบสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตก่อนฟ้องคดี
3. การโอนสิทธิเรียกร้อง (313-313) : โอนหนี้อันจะพึงชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะเจาะจง โดยทำเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนแก่ลูกหนี้ + ผล + สิทธิทั้งปวงที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิเรียกร้องนั้นตกแก่ผู้รับโอน(เจ้าหนี้เดิมหมดสิทธิ) // ลูกหนี้มีสิทธิยกขึ้นข้อต่อสู้ที่มีต่อผู้โอน ขึ้นต่อสู้กับผู้รับโอน (แต่ต้องมีอยู่ก่อนเวลาได้รับคำบอกกล่าว) (ชี้แจ้งกลับทันที ถ้านิ่งถือว่ายอมรับ)
ประเด็นสำคัญ
1. กรณีใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ (233-236)
- เป็นมาตรการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ (ทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นหลักประกันการชำระหนี้) ใช้กรณี ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้ และลูกหนี้ไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธินั้น เป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
- +ผล+ ; ลูกหนี้เดิมมีข้อต่อสู้อย่างไร ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ได้
2. กรณีเพิกถอนการฉ้อฉล (237-240)
- เป็นมาตรการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ใช้กับกรณีนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นสิทธิในทรัพย์สิน และใช้กับนิติกรรมที่มีการโอนทรัพย์สินเฉพาะสิ่งซึ่งเป็นวัตถุแห่งสัญญาที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องอยู่ แม้จะมีทรัพย์สินพอชำระหนี้ได้ (แต่ไม่อาจใช้ทรัพย์อื่นแทนได้ ) ก็เพิกถอนได้
- ลูกหนี้รู้อยู่แล้วว่าทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ (ไม่มีทรัพย์สินอันที่พอจะชำระหนี้ได้)
- ผู้ได้ลาภงอกได้รู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
- ผู้มีสิทธิฟ้องเพิกถอนต้องอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ ของผู้ทำนิติกรรมขณะที่ทำนิติกรรมนั้น แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เพียงแต่เป็นเจ้าหนี้ตามกฎหมาย ไม่ว่าตามมูลหนี้ละเมิดหรือสัญญา หรือมูลหนี้อื่น ๆ และจะมีการฟ้องร้องให้ชำระหนี้หรือไม่ไม่สำคัญ (เป็นหนี้กันจริงขณะลูกหนี้ทำนิติกรรม)
- บุคคลภายนอก(238) หมายถึง ผู้รับโอนทรัพย์สิน รวมทั้งผู้รับจำนองทรัพย์ของลูกหนี้ ต่อจากผู้ทำนิติกรรมกับลูกหนี้
- ผู้ได้ลาภงอกกรณี 237 หมายถึง ผู้ที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้โดยตรง รวมทั้งผู้สืบสิทธิเป็นทายาทด้วย ดังนั้นทายาทรับมรดกของผู้ที่ได้ลาภงอกไม่ใช่บุคคลภายนอกตาม 238 นี้
- อายุความ : 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนได้ หรือ10 ปีนับแต่ได้ทำนิติกรรม (ในกรณีเป็นนิติบุคคลถือว่า การรู้ของผู้แทนที่แสดงเจตนาแทนโจทก์ ) และต้องฟ้องบุคคลที่รับโอนเป็นคู่ความด้วย
- ทรัพย์สินกลับคืนสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทุกคน
3. กรณีโอนสิทธิเรียกร้อง(303-313)
- ต้องทำเป็นหนังสือและบอกกล่าวแก่ลูกหนี้โดยไม่จำต้องให้ลูกหนี้ได้ให้ความยินยอมในการโอนนั้นด้วย และเพียงแต่ลงลายมือชื่อผู้โอนฝ่ายเดียวก็สมบูรณ์
- *** การไม่บอกกล่าวหรือลูกหนี้ไม่ได้ให้ความยินยอมด้วยไม่ทำให้การโอนไม่สมบูรณ์เพียงแต่ใช้ยันกับลูกหนี้กับบุคคลภายนอกไม่ได้เท่านั้น
- เจตนาของคู่สัญญาต้องเป็นการโอนสิทธิจริง ๆ ไม่ใช่เจตนาชำระหนี้ผ่านธนาคารหรือประการอื่นใด
- สิทธิเรียกร้องกรณีนี้โอนไม่ได้ 3 กรณี
1. สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้โอนกันได้ (303 ว. 1) (โดยมากเป็นสิทธิเฉพาะตัว)
2. คู่สัญญาแสดงเจตนาห้ามโอน (303 ว.2 )
3. สิทธิเรียกร้องที่ศาลจะสั่งยึดไม่ได้ (304)
- สิทธิยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ ที่จะยกต่อสู้ได้นั้นต้องเป็นข้อต่อสู้ของลูกหนี้ที่มีต่อผู้โอนและมีอยู่ก่อนเวลาได้รับคำบอกกล่าว
- +ผล+ การโอนสิทธิเรียกร้องย่อมทำให้เจ้าหนี้เดิมหมดสิทธิเรียกร้อง เพราะหนี้โอนไปแล้ว การที่ไปเกี่ยวข้องกับหนี้เดิมจึงไม่มีสิทธิ (เช่น การอายัด ระงับ เปลี่ยนแปลง ต่างๆ )
หนี้ระงับ (314-355)
1. สัญญารับสภาพหนี้ : ลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ มีผลให้หนี้เดิมระงับและรับผิดตามสัญญารับสภาพหนี้
2. หนี้ระงับ
- ชำระหนี้ / ปลดหนี้ (314-340
- หักกลบลบหนี้ (341-348) :สองคนต่างมีหนี้ต่อกัน โดยมีมูลวัตถุประสงค์เดียวกัน
- แปลงหนี้ใหม่ (349-352) : เปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้
- หนี้เกลื่อนกลืนกัน (353) : สิทธิและความรับผิดตกแก่บุคคลคนเดียวกัน
ประเด็นสำคัญ
1. สัญญารับสภาพหนี้
- ต้องมีหนี้เดิมกันมาก่อน และหนี้เดิมต้องสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายสามารถบังคับได้
- ต้องเป็นกรณีลูกหนี้ (ไม่ใช่บุคคลภายนอก) ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ หากเป็นบุคคลอื่นประสงค์จะเข้าชำระหนี้แทนลูกหนี้ย่อมไม่ใช่สัญญารับสภาพหนี้
- +ผล+ หนี้เดิมระงับ
- รับผิดตามสัญญารับสภาพหนี้
- ไม่ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ เพราะมิได้เปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นแต่การรับว่าเป็นหนี้จริงเท่านั้น
2. กรณีหักกลบลบหนี้ (341-348)
- ต้องมีบุคคลสองคน และต่างเป็นหนี้ซึ่งกันและกัน หากมีฝ่ายเดียวเป็นหนี้ย่อมไม่ใช่หักกลบลบหนี้
- มูลหนี้มีวัตถุประสงค์แห่งหนี้เป็นอย่างเดียวกัน และถึงกำหนดชำระแล้ว
- +ผล+ หลุดพ้นด้วยการหักกลบลบหนี้ เท่าจำนวนที่ตรงกัน
- ***กรณีหนี้ที่มีข้อต่อสู้ (344) คือ หนี้ที่ฝ่ายหนึ่งอ้าง แต่อีกฝ่ายหนึ่งมีข้อโต้แย้งไม่ย่อมรับที่จะนำมาหักกลบลบหนี้ไม่ได้
3. กรณีแปลงหนี้ใหม่ (349)
- ต้องมีหนี้เดิมอยู่ก่อนแล้ว แม้หนี้นั้นขาด หลักฐานเป็นหนังสือ หรือขาดอายุความ แล้วก็ถือว่ามีมูลหนี้อยู่เดิม
- เปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ (การเปลี่ยนแปลงตัวเจ้าหนี้ หรือลูกหนี้ )
- +ผล+ หนี้เดิมระงับ รวมทั้งหนี้อุปกรณ์ (สัญญาจำนองหรือค้ำประกัน )เว้นแต่ มีการตกลงเป็นอย่างอื่น
- รับผิดตามหนี้ใหม่
- ***เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ,ตกลงผ่อนผันออกตั๋วเงินชำระหนี้, ทำสัญญารับสภาพหนี้ มิใช่เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ มิใช่การแปลงหนี้
- การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ : ต้องทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้คนใหม่ โดยมีข้อความว่า เจ้าหนี้ยอมรับลูกหนี้คนใหม่เป็นลูกหนี้แทนลูกหนี้เดิมต่อไป ถ้าเพียงแต่ลูกหนี้คนใหม่เพียงแต่มีหนังสือขอผ่อนชำระหนี้แทนลูกหนี้และเจ้าหนี้ยินยอมมิใช่การแปลงหนี้ใหม่

ที่มา : http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=13efd6d9dfef5997

สรุปกฎหมายลักษณะทรัพย์และที่ดิน


สรุปกฎหมายลักษณะทรัพย์และที่ดิน



**ความหมายของทรัพย์และทรัพย์สิน
            ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง
            ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้
ข้อสังเกต ทรัพย์ นอกจากหมายความรวมถึงวัตถุมีรูปร่างแล้ว จะต้องเป็นวัตถุที่อาจมีราคาและอาจถือเอาได้ด้วยตามความหมายของทรัพย์สิน
**ความหมายของคำว่า “อาจมีราคาและอาจถือเอาได้”
           วัตถุ มีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างจะเป็นทรัพย์และทรัพย์สินได้ก็ต่อเมื่ออาจมีราคา และอาจถือเอาได้ ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปก็ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์หรือทรัพย์สิน
ข้อสังเกต ร่างกายของมนุษย์ถ้ารวมอยู่ในส่วนของร่างกายไม่ใช่ทรัพย์สิน แต่ถือว่าป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่ถ้าขาดออกหรือหลุดออกมาแล้วก็อาจเป็นทรัพย์ได้ เช่น เส้นผมหรือเล็บมือ เป็นต้น ในส่วนของศพจะเป็นทรัพย์หรือไม่นั้น ยังไม่มีข้อยุติและแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาก็ยังไม่ชัดเจน
กรณีสิทธิต่างๆ นั้น แม้จะไม่มีรูปร่าง แต่หากมีราคาและอาจถือเอาได้ ศาลฎีกาก็เคยมีคำพิพากษาว่าเป็นทรัพย์สิน เช่น
(๑) หุ้นในบริษัท
ข้อสังเกต การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อผู้ถือจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้โอนและ ผู้รับโอนและมีพยานอย่างน้อย ๒ คน รับรองลายมือชื่อของผู้โอนและผู้รับโอน หากไม่ทำตามเป็นโมฆะ แต่ถึงแม้การโอนจะเป็นโมฆะก็ตาม หากผู้รับโอนได้ยึดถือหุ้นหรือครอบครองหุ้นมาเป็นเวลา ๕ ปี ก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ ได้
(๒) สิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขาย
(๓) สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ
(๔) สิทธิในการทำเหมืองแร่ตามประทานบัตร
ข้อสังเกต การโอนสิทธิประทานบัตรนั้นหากมีเงื่อนไขเป็นพิเศษว่าเป็นการให้เฉพาะตัวแก่ คนใดคนหนึ่ง ก็จะโอนกันไม่ได้หรือจะนำมาชำระหนี้ไม่ได้ด้วย
               กรณีเครื่องหมายการค้า ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ไม่มีรูปร่าง ทั้งไม่อาจยึดถือครอบครองได้อย่างทรัพย์สินทั่วไปตามมาตรา ๑๓๘๒
ประเภอของทรัพย์สิน
๑. อสังหาริมทรัพย์
๒. สังหาริมทรัพย์
๓. ทรัพย์แบ่งได้
๔. ทรัพย์แบ่งไม่ได้
๕. ทรัพย์นอกพาณิชย์
**อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์
(๑) อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ดินจะต้องมีเจ้าของกรรมสิทธิ์เสมอ แต่สังหาริมทรัพย์อาจจะไม่มีเจ้าของก็ได้
(๒) ทรัพย์สิทธิบางอย่าง ได้แก่ สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน ภาระจำยอม สิทธิเหนือพื้นดิน และภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ มีได้เฉพาะในอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ส่วนในสังหาริมทรัพย์ไม่มีสิทธิดังกล่าว
(๓) ระยะเวลาในการครอบครองปรปักษ์ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์มีระยะเวลา ๑๐ ปี แต่ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์มีระยะเวลาครอบครองปรกักษ์ ๕ ปีเท่านั้น
(๔) การทำนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนหรือการก่อตั้งสิทธิต่างๆ ในอสังหาริมทรัพย์ โดยปกติจะต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไม่งั้นเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์หรือไม่ บริบูรณ์ แต่ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ปกติไม่ได้กำหนดแบบไว้ ยกเว้นกรณีสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำตามแบบ
(๕) แดนกรรมสิทธิ์มีได้เฉพาะในอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น สังหาริมทรัพย์ไม่มีแดนกรรมสิทธิ์
(๖) สิทธิของคนต่างด้าวในการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีข้อจำกัด แต่ในสังหาริมทรัพย์โดยปกติไม่มีข้อจำกัด
**ความหมายของอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์
           อสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอัน เดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย
สังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์ และหมายความรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย
อสังหาริมทรัพย์ประกอบด้วยทรัพย์สิน ๔ ประเภท คือ
ก.  ที่ดิน
ข.  ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินที่มีลักษณะเป็นการถาวร
ค.  ทรัพย์ที่ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน
ง.  ทรัพย์สิทธิ์อันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอัน
เดียวกับที่ดิน
ข้อสังเกตเกี่ยวกับที่ดิน
(๑) ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้นจึงจะมีการครอบครองปรปักษ์ได้ ถ้าเป็นที่ดินที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ก็จะครอบครองปรปักษ์ไม่ได้
(๒) ที่ดินที่มีแต่เพียงสิทธิครองครองโอนกันได้ด้วยการส่งมอบเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน แต่การจดทะเบียนก็อาจจะมีได้หากเป็นที่ดินที่มีทะเบียนที่ดิน เช่น น.ส. ๓ หรือ น.ส. ๓ ก
(๓) ที่ดินพิพาทซึ่งนายดำครอบครองอยู่เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก) ที่นายแดงมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองอยู่ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา ๑๓๗๓ ว่า นายแดงซึ่งมีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ข้อสนันิษฐานตามมาตรา ๑๓๗๓ จึงรวมถึงที่ดินที่มี น.ส. ๓ และ น.ส. ๓ ก ด้วย
ข้อสังเกต เรื่องนี้ถือมาตรา ๑๓๗๓ มาก่อนมาตรา ๑๓๖๗ กล่าวคือ ผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มีสิทธิครอบครองใน น.ส. ๓ หรือ น.ส. ๓ ก ได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานเป็นคุณมากกว่าคนที่ครอบครองยึดถืออยู่ตามมาตรา ๑๓๖๗
(๔) ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า เพราะหนังสือรับรองทำประโยชน์ไม่ใช่หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ บุคคลจะพึงมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทคงมีแต่สิทธครอบครอง แม้นายดำจะได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยการยึดถือครอบครองแต่การได้มาของนายดำเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิ์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งถ้ายังไม่ได้จดทะเบียน นายดำจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้นายแดงซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสีย ค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วไม่ได้ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง นายแดงจึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท
ข้อสังเกตเกี่ยวกับทรัพย์อันติดกับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร
(๑) ทรัพย์อันติดกับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร แบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ ทรัพย์ที่ติดกับที่ดินโดยธรรมชาติ กับทรัพย์ที่ติดกับที่ดินโดยไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ
(๒) ต้นพลูเป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์
(๓) ทรัพย์ที่มีลักษณะติดกับที่ดินเป็นการถาวรแล้ว จะติดอยู่กับที่ดินนานเท่าไรไม่สำคัญ ถ้าโดยสภาพมีลักษณะติดกับที่ดินเป็นการถาวรก็เป็นอสังหาริมทรัพย์แม้จะติด อยู่เป็นระยะเวลาไม่นานก็ตาม
(๔) เครื่องจักรโรงสีไม่ใช่ส่วนควบ เป็นเพียงของใช้ประจำอยู่กับโรงสีจึงเป็นอุปกรณ์ซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์เท่า นั้น ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์
(๕) แผงลอยที่มิได้ติดกับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรไม่เป็นอสังหาริมทรัพย์
ข้อสังเกตของทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน
             ทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินหากแยกออกจากตัวพื้นดิน ก็ย่อมขาดจากลักษณะของการเป็นทรัพย์ที่ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน
ตัวอย่าง   ขุดดินในที่ดินไปขายถือว่าเป็นการขายสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ เพราะดินได้ขาดออกจากตัวที่ดินแล้วจึงเป็นสังหาริมทรัพย์
ข้อสังเกตทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(๑)  สิทธิรับจำนองที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์
(๒) หุ้นในห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งมีทรัพย์สินเป็นที่ดินไม่ใช่สิทธิในอสังหาริมทรัพย์
(๓) สิทธิเช่าซื้อเป็นบุคคลสิทธิไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์
(๔) สิทธิเช่าอาคารเป็นสิทธิเกียวกับตัวอาคารไม่เป็นอสังหาริมทรัพย์แต่เป็นสังหาริมทรัพย์
**ทรัพย์แบ่งได้และทรัพย์แบ่งไม่ได้
             ทรัพย์แบ่งได้ หมายความว่า ทรัพย์อันอาจแยกออกจากกันเป็นส่วนๆ ได้จริงถนัดชัดแจ้ง แต่ละส่วนได้รูปบริบูรณ์ลำพังตัว
             ทรัพย์แบ่งไม่ได้ หมายความว่า ทรัพย์อันจะแยกออกจากกันไม่ได้ นอกจากเปลี่ยนแปลงภาวะของทรัพย์ และหมายความรวมถึงทรัพย์ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าแบ่งไม่ได้ด้วย
        การแบ่งประเภททรัพย์ออกเป็นทรัพย์แบ่งได้และทรัพย์แบ่งไม่ได้ ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อประโยชน์ของผู้เป็นเจ้าของรวม เพราะถ้าเป็นทรัพย์แบ่งได้ก็มักไม่มีปัญหา สามารถแบ่งได้ตามส่วน แต่หากเป็นทรัพย์แบ่งไม่ได้อาจต้องมีวิธีแบ่งอย่างอื่น เช่น นำทรัพย์ไปขายเพื่อนำเงินมาแบ่งกัน เป็นต้น
ทรัพย์แบ่งได้ มีองค์ประกอบดังนี้
(๑) ต้องเป็นทรัพย์ที่สามารถแยกออกจากกันได้
(๒) เมื่อแยกออกจากกันได้แล้วไม่เสียสภาพรูปทรงไป
ทรัพย์แบ่งไม่ได้ มีความหมาย ๒ นัย คือ
                 (๒.๑)  ทรัพย์แบ่งไม่ได้โดยสภาพ
                 (๒.๒) ทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติว่าแบ่งไม่ได้
ข้อสังเกต
(๑) หุ้นเป็นทรัพย์แบ่งแยกไม่ได้ตามมาตรา ๑๑๑๘ วรรคหนึ่ง
(๒) ส่วนควบ ภาระจำยอม และสิทธิจำนอง แบ่งไม่ได้
**ทรัพย์นอกพาณิชย์
                ทรัพย์นอกพาณิชย์ หมายความว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ทรัพย์นอกพาณิชย์มีความหมาย ๒ ประการ คือ
๑. ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้
๒. ทรัพย์ที่โอนแก่กันไม่ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ทรัพย์นอกพาณิชย์ที่กฎหมายห้ามโอนจะต้องมีอยู่ ๒ ประการ คือ
                 (๑)  ต้องเป็นการห้ามโอนโดยกฎหมายบัญญัติไว้
                 (๒) ลักษณะของการห้ามโอนจะต้องเป็นการห้ามโอนโดยถาวร
ข้อสังเกต
(๑) สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์จะสละหรือโอนไม่ได้
(๒) ที่วัด ที่ธรณีสมฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์
(๓) ทรัพย์นอกพาณิชย์ที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย ต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายห้ามโอนเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการห้ามโอนโดยนิติกรรมก็ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์
(๔) การห้ามโอนโดยมีกำหนดระยะเวลา เช่น การห้ามโอนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพหรือประมวลกฎหมาย ที่ดิน ไม่ใช่เป้นการห้ามโอนโดยถาวรจึงไม่เป้นทรัพย์นอกพาณิชย์ กรณีนี้มีปัญหาว่าการทำสัญญาจะซื้อจะขายกันไว้ก่อนว่าพอพ้นกำหนดเวลาแล้ว ค่อยโอนกัน ข้อสัญญาดังกล่าวจะใช้บังคับได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้มีข้อพิจารณาว่า
(๔.๑) ถ้าข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นโดยชัดเจนว่า เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ห้ามโอนก็เป็นโมฆะ
(๔.๒) ถ้าข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าไม่เป็นการจงใจหลีกเลี่ยง ก็ไม่เป็นโมฆะ
ตัวอย่างที่ ๑  นาย ก. มีที่ดินเป็น น.ส.๓ ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน ๑๐ ปี ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นาย ข. โดยมีข้อตกลงกันว่าจะจดทะเบียนเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน เมื่อนาย ก. ยังไม่ได้มีการส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวภายในระยะเวลาห้ามโอน ๑๐ ปี จึงถือว่าไม่ได้จงใจหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ
ตัวอย่างที่ ๒  นายแดงมีที่ดินเป็น น.ส.๓ ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน ๑๐ ปี ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นายดำภายในระยะเวลาห้ามโอน โดยได้มีการชำระเงินกันแล้วและนายแดงได้มอบที่ดินให้นายดำเข้าครอบครองแล้ว โดยมีข้อตกลงกันว่านายแดงจะจดทะเบียนโอนให้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน จึงเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยชัดแจ้ง สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงตกเป้นโมฆะ
ตัวอย่างที่ ๓  นายแดงเจ้าของที่ดินทำสัญญาซื้อขายที่ดินให้กับนายดำในระยะเวลาห้ามโอนตาม กฎหมาย สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ จึงไม่อาจส่งมอบการครอบครองที่ดินแก่กันได้ นายดำจึงไม่ได้สิทธิครอบครอง แต่หากพ้นระยะเวลาห้ามโอนแล้ว นายแดงได้สละเจตนาครอบครองหรือนายแดงได้มีการมอบการครอบครองให้แก่นายดำแล้ว เช่นนี้นายดำก็มีสิทธิครอบครอง แต่ถ้านายแดงยังไม่ได้สละเจตนาครอบครองหรือมิได้มีการมอบการครอบครองให้แก่ นายดำ แม้นายดำจะยังคงครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ต่อมาก็ถือว่านายดำครอบครองแทนนาย แดง เมื่อถือว่านายดำเป็นผู้ครอบครองที่ดินแทนนายแดง หากนายดำโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอก ก็จะเข้าหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เพราะถือว่าบุคคลภายนอกครอบครองที่ดินแทนนายแดงเช่นเดียวกัน แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่านายดำเข้าครอบครองที่ดินนับแต่ได้ซื้อจากนายแดงมา ตลอดแม้ในระยะเวลาห้ามโอน นายดำยังไม่ได้สิทธิครอบครอง แต่เมื่อนายดำครอบครองที่ดินตลอดมาจนล่วงระยะเวลาห้ามโอนแล้วเป็นเวลานานถึง ๑๐ ปีเศษ และเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของนายดำตลอดมาโดยไม่มีผู้อื่นเข้ามายุ่ง เกี่ยวแย่งการครอบครอง การครอบครองที่ดินของนายดำดังกล่าวจึงเป็นการยึดถือโดยเจตนายึดถือเพื่อตน แล้ว นายดำย่อมได้สิทธิครอบครองตามมาตรา ๑๓๖๗
**ส่วนควบ
                ส่วนควบของทรัพย์ หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญใน ความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป
ข้อสังเกต เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น
ไม้ยืนต้น
                ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่ แต่หากเป็นไม้ล้มลุกหรือธัญชาติอันจะเก็บเกี่ยวรวงผลได้คราวหนึ่งหรือหลาย คราวต่อปีไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน
ทรัพย์ติดกับที่ดิน
                 ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดิน หรือโรงเรือนนั้น ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย
องค์ประกอบของส่วนควบ
๑. เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของตัวทรัพย์ มีอยู่ ๒ ลักษณะคือ
           ๑.๑  โดยสภาพของตัวทรัพย์เอง
           ๑.๒ โดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น
ข้อสังเกต
          (๑)  บ้านเป็นสาระสำคัญของที่ดิน บ้านจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน
          (๒) ครัวตามจารีตประเพณีเป็นสาระสำคัญของตัวเรือน
          (๓) เครื่องจักรทำน้ำโซดาและอุปกรณ์ทำน้ำโซดาไม่ได้เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของที่ดิน ไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน
๒. ทรัพย์ที่มารวมกันนั้นไม่อาจแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป
ข้อยกเว้นเรื่องส่วนควบ
   (๑)  ไม้ล้มลุกและธัญชาติอันจะเก็บเกี่ยวรวงผลได้คราวหนึ่งหรือหลายคราวต่อปี ไม่ถือว่าเป็นส่วนควบของที่ดิน
(๒) ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบของที่ดินหรือโรงเรือนนั้น
ตัวอย่าง   นายแดงตกลงให้นายดำปลูกต้นสนในที่ดินของนายแดง โดยเมื่อต้นสนโตเต็มที่แล้วก็จะตัดขายเอาเงินมาแบ่งกัน ต้นสนจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ดังนั้น แม้นายแดงจะนำที่ดินไปจำนองให้แก่นายขาว นายขาวก็ไม่มีสิทธิบังคับเอาจากต้นสนของนายดำ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก นายดำมีสิทธิขอกันส่วนได้
ข้อสังเกต  ในกรณีที่โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นไม่เป็นส่วนควบเพราะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๑๔๖ ผู้มีสิทธิปลูกสร้างยังเป็นเจ้าของโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างนั้นอยู่ แต่จะยกขึ้นต่อสู้กับผู้รับจำนองโดยสุจริตไม่ได้ เพราะสิทธินั้นไม่ได้จดทะเบียน ผู้รับจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทั้งที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างนั้นได้ เพราะผู้รับจำนองเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้รู้เห็นด้วย
๓. โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นได้ใช้ สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้น โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบของที่ดินที่ปลูก สร้างลงไปนั้น โดยสิทธิที่จะปลูกสร้างในที่ดินของผู้อื่นมีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกัน คือ
๓.๑ สิทธิตามสัญญา
ข้อสังเกต
(๑) สิทธิตามสัญญานี้จะมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ก็ได้ จะทำโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้
(๒) เจ้าอาวาสปลูกเรือนในที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดโดยใช้เงินของผู้อื่นซึ่งมีศรัทธา ถวายเพื่อเป็นที่พักอาศัยของคนมาทำบุญ เรือนจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน
(๓) เช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างโรงเรือน โรงเรือนนั้นไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน
(๔) ปลูกตึกแถวลงในที่ดินโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินมีกำหนด ๑๕ ปี แล้วจึงให้ตึกแถวนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน เมื่อยังไม่ครบ ๑๕ ปี ตึกแถวก็ยังไม่เป็นส่วนควบ กรรมสิทธิ์จึงยังไม่ตกเป็นเจ้าของที่ดิน
(๕) นายแดงสร้างทางเท้าและคันหินลงในที่ดินของนายดำ โดยนายดำยินยอมเป็นสิทธิตามสัญญา นายดำจะเลิกเสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อนายดำเลิกแล้ว นายแดงไม่มีสิทธิใช้ต่อไป ทางเท้าและคันหินนั้นก็ไม่เป็นส่วนควบเพราะเป็นการปลูกสร้างลงในที่ดินของ นายดำโดยอาศัยสิทธิที่นายดำยินยอมให้ทำได้
(๖) ผู้จะขายที่ดินยอมให้ผู้จะซื้อเข้าไปปลูกบ้านในที่ดินที่จะขาย ถือว่าผู้จะซื้อเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้จะขายในอันที่จะปลูกบ้านได้ บ้านไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน
๓.๒ สิทธิในที่ดินของผู้อื่นในลักษณะที่เป็นทรัพยสิทธิ
ใครเป็นเจ้าของส่วนควบ ?
          กรณีที่เป็นทรัพย์สินเดียวมักไม่มีปัญหาแต่ปัญหาจะอยู่ที่มีการนำเอาทรัพย์หลาย สิ่งมารวมกันจนเป็นส่วนควบ กฎหมายกำหนดให้เจ้าของทรัพย์ประธานเป็นเจ้าของส่วนควบ
ข้อสังเกต
(๑)  ตัวถังรถยนต์เป็นทรัพย์ประธาน
(๒) ที่ดินเป็นทรัพย์ประธานของบ้านและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนี้รวมถึงที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองด้วย
ข้อยกเว้นหลักที่ว่าใครเป็นเจ้าของทรัพย์ประธานย่อมเป็นเจ้าของส่วนควบด้วยนั้น
(๑) การสร้างโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือปลูกต้นไม้ในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจรติ (มาตรา ๑๓๑๑ และ ๑๓๑๔)
(๒) การสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ซึ่งมาตรา ๑๓๑๒ วรรคหนึ่ง กำหนดให้คนสร้างโรงเรือนที่รุกล้ำเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างนั้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น
(๓) ถ้าเอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันจนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยก ไม่ได้ว่าทรัพย์ใดเป็นทรัพย์ประธาน มาตรา ๑๓๑๖ บัญญัติให้ทุกคนเป็นเจ้าของในทรัพย์ใหม่ที่รวมเข้ากัน
การได้มาซึ่ง กรรมสิทธิ์ในส่วนควบของเจ้าของทรัพย์ตามมาตรา ๑๔๔ วรรคสอง เป็นการได้มาโดยผลของกฎหมาย จึงไม่จำเป้นต้องมีการจดทะเบียนกันอีก
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๑/๒๔๘๘  เช่าที่ดินของผู้อื่นปลูกตึกโดยตกลงว่าจะให้ตึกเป็นสิทธิแก่เจ้าของที่ดินจะ เป็นในทันทีหรือในภายหน้าก็ตาม เมื่อถึงกำหนดนั้น ๆ แล้วตึกย่อมตกเป็นกรรมสิทธิแก่เจ้าของที่ดินโดยไม่ต้องมีการโอนทะเบียน ในกรณีเช่นนี้ถ้าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทำการโอนก็ต้องตัดสินยกฟ้อง
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๕๕/๒๕๓๔ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยทั้งสอง แต่ในหนังสือขายที่ดินระบุว่าไม่มีสิ่งปลูกสร้างดังนี้ บ้านพิพาทจึงเป็นส่วนควบกับที่ดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง โดยไม่จำต้องจดทะเบียนกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อีก เมื่อโจทก์ทั้งสองครอบครองบ้านพิพาทซึ่งเป็นของตนเองเช่นนี้ จึงไม่เป็นครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิในบ้านพิพาทของโจทก์ทั้งสองแต่ อย่างใดโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง
สรุปเรื่องของกรรมสิทธิ์ในส่วนควบ
๑. กรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธานตามมาตรา ๑๔๔ วรรคสอง มีความสำคัญหรือมีอำนาจเหนือกว่าคนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในส่วนควบมาในลักษณะของกรรมสิทธิ์โดยทั่วๆ ไป
๒. เจ้าของทรัพย์เป็นประธานเป็นเจ้าของส่วนควบตามมาตรา ๑๔๔ วรรคสอง ซึ่งเป็นการได้มาโดยผลของกฎหมาย ดังนั้น แม้ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียน
๓. การก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินในกรรมสิทธิ์ในตัวส่วนควบแยกต่างหากออกจาก กรรมสิทธิ์จากทรัพย์ที่เป็นประธานนั้นจะมีผลผูกพันบุคคลภายนอกได้ก็ต่อเมื่อ ได้ก่อตั้งขึ้นมาในลักษณะที่เป็นสิทธิเหนือพื้นดินตามมาตรา ๑๔๑๐
๔. การก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา ๑๒๙๙ คือต้องจดทะเบียน ถ้าไม่จดทะเบียนก็ไม่บริบูรณ์ในฐานะเป็นทรัพยสิทธิ แต่แม้จะมิได้จดทะเบียนก็สามารถบังคับได้ในฐานะบุคคลสิทธิ  แต่จะใช้ต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่ได้
  **อุปกรณ์
             อุปกรณ์ หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของ ทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัด ดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมาติดต่อหรือปรับ เข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นใดในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น
             อุปกรณ์ที่แยกออกจากทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นการชั่วคราวก็ยังไม่ขาดจากการเป็นอุปกรณ์ของทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น
             อุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
องค์ประกอบของการเป็นอุปกรณ์
๑. อุปกรณ์จะต้องมีทรัพย์ที่เป็นประธาน
๒. อุปกรณ์จะต้องเป็นสังหาริมทรัพย์
๓. อุปกรณ์จะต้องไม่มีสภาพรวมกับทรัพย์ที่เป็นประธานจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้
๔. อุปกรณ์ต้องไม่ใช่เป็นทรัพย์ที่เป็นประธานด้วยกันหรือมีความสำคัญเท่ากัน
๕. อุปกรณ์จะต้องเป็นทรัพย์ที่เป็นเจ้าของเดียวกันกับทรัพย์ที่เป็นประธาน
๖. อุปกรณ์จะต้องเป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณ
ข้อสังเกต มีหลักเกณฑ์ ๒ ประการ คือ
             ๖.๑  พิจารณาจากปกตินิยมเฉพาะถิ่น
             ๖.๒ พิจารณาจากเจตนาของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน
๗. อุปกรณ์ต้องใช้ประจำเป็นอาจิณกับทรัพย์ที่เป็นประธานเพื่อประโยชน์ในการจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๑๔/๒๕๔๕  จำเลยนำวิทยุเครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์ เครื่องเสียงมาสู่รถที่เช่าซื้อก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยมิใช่เพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอยหรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธานคือรถที่เช่าซื้อทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่อุปกรณ์อันจะตกติดไปกับทรัพย์ประธานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗ วรรคท้าย
              สัญญาเช่าซื้อที่ระบุว่า หากผู้เช่าซื้อนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลงต่อเติม ติดหรือตั้งอยู่ในตัวทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สิ่งนั้นจะตกเป็นส่วนหนึ่งของตัวทรัพย์สินที่เช่าซื้อและเป็นกรรมสิทธิ์ของ เจ้าของทันที มีที่มาจากปัญหาซึ่งมักจะเกิดแก่โจทก์ที่ต้องพิพาทกับผู้เช่าซื้อในกรณีที่ ผู้เช่าซื้อนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลง ต่อเติม ติดหรือตั้งกับทรัพย์ที่เช่าซื้อและจะเอาสิ่งของนั้นคืน เมื่อต้องคืนทรัพย์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ แต่การรื้อสิ่งของที่ว่านั้นออกไปจะทำให้ทรัพย์ที่เช่าซื้อเสียหายได้ ฉะนั้น ลำพังการที่จำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวมาสู่ตัวรถที่เช่าซื้อ ย่อมไม่ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหากจะต้องรื้อออกไป จึงไม่อยู่ในขอบแห่งข้อสัญญาดังกล่าว โจทก์ไม่อาจยกมาเป็นเหตุไม่คืนวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงให้แก่จำเลย
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๐๑/๒๔๘๗  ในสัญญาซื้อขายระบุว่าขายที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นย่อมครอบถึงโรง เรือนบนที่ดินซึ่งเสาไม่ได้ฝังดินด้วย
              กรณีที่ถือว่าช่อไฟฟ้าที่ติดอยู่กับสิ่งปลูกสร้าง ไม่ใช่เป็นเครื่องอุปกรณ์ซึ่งไม่ตกติดไปกับสิ่งปลูกสร้างที่ขาย
๘. อุปกรณ์จะต้องเป็นทรัพย์ที่เจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธานนำมาสู่ทรัพย์ที่เป็น ประธานโดยการนำมาติดหรือปรับเข้าไว้หรือกระทำด้วยประการใดในฐานะเป็นเครื่อง ใช้เพื่อประโยชน์ในการจัดดูแลใช้สอยหรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน
**ดอกผล
        ดอกผลมีอยู่ ๒ ชนิด คือ
๑. ดอกผลธรรมดา
๒. ดอกผลนิตินัย
             ดอกผลธรรมดา หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของทรัพย์ ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์ โดยการมีหรือใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม และสามารถถือเอาได้เมื่อขาดจากทรัพย์นั้น
             ดอกผลนิตินัย หมายความว่า ทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่นเพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น และสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวันหรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
สาระสำคัญของดอกผลนิตินัย
๑. ดอกผลนิตินัยต้องเป็นทรัพย์หรือเป็นประโยชน์
๒. ดอกผลนิตินัยต้องเป็นทรัพย์ที่ตกได้แก่เจ้าของแม่ทรัพย์
๓. ดอกผลนิตินัยจะต้องตกได้แก่ผู้เป็นเจ้าของแม่ทรัพย์เป็นการตอบแทนจากการที่ผู้อื่นได้ใช้ตัวแม่ทรัพย์นั้น
๔. ดอกผลนิตินัยจะต้องเป็นดอกผลที่ตกได้แก่เจ้าของแม่ทรัพย์เป็นครั้งคราว
ข้อสังเกต ผลกำไรที่ได้จากการขายทรัพย์ไม่ใช่ดอกผลนิตินัย แต่ผลกำไรที่ได้จากการแบ่งกำไรของห้างหุ้นส่วนหรือเงินปันผลให้แก่ผู้ถือ หุ้นในบริษัท ถือว่าเป็นดอกผลนิตินัย
ผู้ใดมีสิทธิในดอกผล ?
           เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นเจ้าของดอกผลของตัวแม่ทรัพย์นั้น ไม่ว่าจะเป็นดอกผลนิตินัยหรือดอกผลธรรมดา
ข้อสังเกต มาตรา ๔๙๒ กำหนดให้กรรมสิทธิ์ในทรัพยสินที่ขายฝากเป็นของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่แล้วแต่กรณี เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะมีการไถ่ทรัพย์หรือวางทรัพย์เพื่อไถ่ทรัพย์นั้น ผู้รับซื้อฝากก็ไม่ต้องคืนดอกผล
ข้อยกเว้นที่ผู้อื่นมีสิทธิในดอกผล
๑.  มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ เช่น
          ๑.๑  ดอกผลของสินส่วนตัวเป็นสินสมรส (มาตรา ๑๔๗๔ (๓))
          ๑.๒ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคงสุจริตอยู่ (มาตรา ๔๑๕ วรรคหนึ่ง)
          ๑.๓ ถ้าจะต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่ผู้มีสิทธิเอาคืน ผู้นั้นไม่ต้องคืนดอกผลคราบเท่าที่ยังสุจริตอยู่ เมื่อใดรู้ว่าจะต้องคืนก็ถือว่าไม่สุจรติแล้ว (มาตรา ๑๓๗๖)
๒. มีข้อตกลงไว้เป็นอย่างอื่น
๓. บุคคลที่ไม่ได้เป็นเจ้าของแม่ทรัพย์นั้นมีสิทธิเอาดอกผลไปชำระหนี้ที่เจ้าของแม่ทรัพย์เป็นหนี้ตน
**ทรัพยสิทธิ
              ทรัพยสิทธิ คือ สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพยสินหรือเป็นสิทธิที่อยู่เหนือทรัพย์สิน นั้นอันจะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์สินนั้นได้โดยตรงและการก่อตั้งทรัพยสิทธิได้ นั้นจะต้องมีกฎหมายรองรับ
บุคคลสิทธิ เป็นสิทธิเกิดขึ้นจากสัญญาเป็นหลัก เป็นสิทธิที่บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญานั้นก่อตั้งขึ้น บังคับได้แต่เฉพาะตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีเท่านั้น
ข้อแตกต่างระหว่างทรัพยสิทธิกับบุคคลสิทธิ
๑. ทรัพยสิทธิเป็นสิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพยสินโดยตรง ใช้ยันได้กับทุกคน ในการจำหน่าย จ่าย โอน ติดตามเอาทรัพย์นั้นหรือห้ามคนอื่นเข้าเกี่ยวข้อง แต่บุคคลสิทธิเป็นสิทธิที่มีอยู่เหนือตัวบุคคล ใช้บังคับได้แต่เฉพาะตัวบุคคลที่เป็นคู่กรณีและผู้สืบสิทธิของคู่กรณีเท่า นั้น ลักษณะของบุคคลสิทธิเป็นเรื่องให้กระทำการ งดเว้นกระทำการ หรือส่งมอบทรัพย์สิน
๒. การก่อตั้งทรัพยสิทธิจะต้องมีกฎหมายรองรับ ส่วนบุคคลสิทธิโดยทั่วไปจะก่อตั้งขึ้นมาโดยนิติกรรมสัญญา แต่บางกรณีสิทธิที่เป็นบุคคลสิทธิอาจจะเกิดจากการที่มีกฎหมายรองรับว่ามี บุคคลสิทธิได้ ซึ่งเรียกว่านิติเหตุ
๓. ทรัพย์สิทธิก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลทั่วไปที่จะต้องยอมรับนับถือ ที่จะต้องเคารพคนที่เป็นเจ้าของทรัพยสิทธิหรือคนที่ทรงทรัพยสิทธินั้น ส่วนบุคคลสิทธิใช้บังคับได้แต่เฉพาะคู่กรณีหรือผู้สืบสิทธิของคู่กรณีเท่า นั้น
๔. ทรัพยสิทธิเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยังคงใช้หรือคงมีอยู่ตลอดไป ถึงแม้ว่าจะไม่ใช้ในเวลาต่อมาก็ตาม ส่วนบุคคลสิทธิต้องใช้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าไม่ใช้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ก็จะบังคับใช้ไม่ได้ซึ่งเราเรียกว่าอายุความ
การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์
“มาตรา ๑๒๙๙ ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้า หน้าที่
            ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดย สุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว”
การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์มีอยู่ ๒ ประการ
๑. การได้มาโดยทางนิติกรรม
๒. การได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม อาจได้มาในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้
             ๒.๑  การได้มาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
             ๒.๒ การได้มาโดยทางมรดก
             ๒.๓ การได้มาโดยคำพิพากษา
ข้อสังเกต
(๑) การได้มาโดยคำพิพากษาจะต้องเป็นการได้มาโดยเด็ดขาด ถ้าเป็นการได้มาตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งได้พิพากษาตามยอมแล้ว หรือได้มาตามคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด คือยังไม่มีผลให้กรรมสิทธิ์โอนมาทันที จึงไม่ถือว่าเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรม แต่ก็ถือได้ว่าผู้นั้นอยู่ในฐานะที่จดทะเบียนสิทธิของตนอยู่ได้ก่อนตามมาตรา ๑๓๐๐ จึงมีสิทธิดีกว่าเจ้าหนี้อื่น
(๒) การได้มาโดยทางนิติกรรม กฎหมายบัญญัติไว้เพียงว่าไม่บริบูรณ์ คือ ไม่บริบูรณ์ในฐานะที่เป็นทรัพยสิทธิ ไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่ได้ทำเป้นหนังสือและจดทะเบียนแล้วจะเป็นโมฆะหรือ เสียเปล่าโดยใช้บังคับกับใครไม่ได้ แต่ยังสามารถใช้บังคับในระหว่างคู่กรณีหรือคู่สัญญานั้นได้ในฐานะบุคคลสิทธิ
(๓) การได้มาโดยทางนิติกรรมหากไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้า หน้าที่ซึ่งไม่บริบูรณ์นั้น นอกจากจะใช้ยันบุคคลภายนอกในฐานะที่เป็นทรัพยสิทธิไม่ได้แล้วในระหว่างคู่ สัญญาด้วยกันจะฟ้องบังคับให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไปจดทะเบียนให้บริบูรณ์ เป็นทรัพยสิทธิก็ไม่ได้
ข้อสังเกต
(๓.๑) ถ้ามีข้อตกลงบังคับว่าจะไปจดทะเบียนกันในภายหลังและได้ทำสัญญาเป็นหนังสือ โดยกำหนดวันไว้แน่นอนว่าวันใดจะไปจดทะเบียนโอนกันกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้าอีกฝ่ายไม่ปฏิบัติตาม อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องบังคับให้ไปจดทะเบียนได้
(๓.๒) คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๘๐/๒๕๔๒  โจทก์จำเลยตกลงกันด้วยวาจาให้โจทก์มีสิทธิเก็บกิน ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตลอดชีวิตของโจทก์ เพื่อเป็นการตอบแทน ในการที่โจทก์ยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่จำเลย ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ จำเลยจะมีผลประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างโดยได้เงินกินเปล่าจากผู้เช่า ส่วนโจทก์มีรายได้เฉพาะการเก็บค่าเช่าเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงพิเศษอย่างสัญญาต่างตอบแทน ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิแก่โจทก์ ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้น ตราบใดที่จำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังมิได้โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่บุคคลอื่น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินได้
(๔) การเปลี่ยนแปลง การกลับคืนมาหรือการระงับซึ่งสิทธิต่างๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษตามมาตรา ๑๓๐๑ และ ๑๓๐๒ การได้มาจะต้องโดยทางนิติกรรมและทางอื่นนอกจากทางนิติกรรมตามมาตรา ๑๒๙๙ ด้วย
(๕) มาตรา ๑๒๙๙ มีข้อจำกัดในการใช้ คือไม่ใช้กับการจำกัดสิทธิของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้เป็น พิเศษแล้วในมาตรา ๑๓๓๘-๑๓๕๕
ข้อยกเว้นของการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยทางนิติกรรม
๑. หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
              การได้มาโดยทางนิติกรรมแม้จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนแล้วก็ตาม แต่หากผู้โอนไม่มีอำนาจหรือไม่มีสิทธิที่จะโอนอสังหาริมทรัพย์หรือ ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ให้นั้น ผู้รับโอนก็จะไม่ได้ไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์นั้น
ตัวอย่าง
(๑) ซื้อที่ดินจากผู้ที่ไม่มีอำนาจขายแม้จะเป็นการซื้อขายโดยสุจริตก็ไม่ได้ กรรมสิทธิ์นั้น ผู้ซื้อย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินคืนจากผู้ขายได้
(๒) มีคนปลอมหนังสือมอบอำนาจแล้วเอาโฉนดที่ดินไปจดทะเบียนจำนองไว้ ผู้ปลอมย่อมไม่มีสิทธิเอาที่ดินไปจำนองเพราะไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน คนรับจำนองไว้ก็ไม่มีสิทธิด้วย ทั้งนี้เจ้าของที่ดินจะต้องไม่ประมาทเลินเล่อด้วย
ข้อสังเกต แม้จะไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิโดยนิติกรรมตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิ ดีกว่าผู้โอนก็ตาม แต่ผู้นั้นอาจจะได้กรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธินั้นโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม มาตรา ๑๓๘๒ ได้
ข้อยกเว้นของหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
๑. กรณีเรื่องตัวแทนเชิดตามมาตรา ๘๒๑ ถ้าบุคคลภายนอกสุจริต ก็จะไม่นำหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้
๒. การได้กรรมสิทธิ์มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง
๓. การโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทาง เสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน บุคคลผู้นั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่จะเพิกถอนทะเบียนบุคคลภายนอกผู้รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่ได้ ตามมาตรา ๑๓๐๐
๔. สิทธิของบุคคลผู้ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตไม่เสียไป ถึงแม้ว่าผู้โอนทรัพย์สินให้จะได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ และนิติกรรมนั้นได้ถูกบอกล้างภายหลังตามมาตรา ๑๓๒๙
๕. สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล หรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้นไม่เสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา หรือผู้ล้มละลายตามมาตรา ๑๓๓๐
๖. สิทธิของบุคคลผู้ได้เงินตรามาโดยสุจริตนั้นไม่เสียไปถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ ได้ว่าเงินนั้นไม่ใช่ของบุคคลซึ่งได้โอนให้มาตามมาตรา ๑๓๓๑
๗. บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาดหรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมาตามมาตรา ๑๓๓๒
คำพิพากษาฎีกาในเรื่องข้อยกเว้นหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
๑. สิทธิครอบครองตามมาตรา ๑๓๘๒ ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้รับโอนซึ่งได้ สิทธิมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองแล้วมิได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๔๖/๒๕๐๖)
๒. บุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่จดทะเบียนแล้วและสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจาก เอกสารสิทธิ์ของที่ดินที่ออกโดยชอบด้วย เมื่อการออกโฉนดที่ดินไม่ชอบผู้รับจำนอง (บุคคลภายนอก) จะอ้างสิทธิที่เกิดขึ้นจากส่วนที่ออกโดยชอบไม่ได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๒๙/๒๕๔๙)
ข้อสังเกต ข้อ ๒ นี้ เป็นเรื่องข้อยกเว้นของข้อยกเว้นหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
มาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง
ข้อสังเกต
(๑) การได้มาโดยทางนิติกรรมแม้จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้า หน้าที่จะเป็นผลให้การได้มาไม่บริบูรณ์ก็ตาม แต่ผู้ที่ได้มาถือว่าอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม มาตรา ๑๓๐๐ ถ้ามีการโอนไปทำให้เสียเปรียบก็ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนได้ เว้นแต่คนที่ได้รับโอนไปทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
(๒) การซื้อที่ดินโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลตามมาตรา ๑๓๓๐ แม้จะยังไม่ได้ทำนิติกรรมโอนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ซื้อก็มีสิทธิและอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ที่อาศัยในที่ดินได้
คำพิพากษาศาล ฎีกาที่ ๕๐๘/๒๕๐๖  ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลไว้โดยสุจริตถึงแม้จะยังไม่ได้ทำ นิติกรรมโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ซื้อย่อมมีสิทธิและมีอำนาจฟ้องขับไล่ ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินนั้นให้ออกไปได้
                 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๐ เป็นบทกฎหมายกำหนดเรื่องการขายทอดตลาดทรัพย์ตามคำสั่งศาลไว้เป็นกรณีพิเศษ ไม่อยู่ในข่ายของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปดังที่ได้บัญญัติเรื่องแบบ นิติกรรมไว้ตามมาตรา ๔๕๖
                 ผู้ครอบครองที่ดินจะรู้หรือไม่ว่ามีการขายทอด ตลาดก็หาเป็นเหตุที่จะยกขึ้นต่อสู้สิทธิของผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาด ตามคำสั่งศาลได้ไม่
(๓) ไม่นำมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง มาใช้กับกรณีที่การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์ในทางนิติกรรมนั้น เป็นการได้มาของแผ่นดินหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยทางนิติกรรม จึงไม่จำเป็นต้องไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง
มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง
ผลของการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง
๑. จะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนใดๆ ไม่ได้ เพราะยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มา
ข้อสังเกต จะต้องฟ้องหรือร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยครอบ ครองปรปักษ์ แต่ศาลจะไปบังคับให้เจ้าของเดิมไปจดทะเบียนโอนให้ไม่ได้ ต้องถือคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นหลักฐานแทน
๒. จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิอย่างเดียวกัน โดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วนั้นไม่ได้
ข้อสังเกต
(๑) ผู้สืบสิทธิหรือทายาทของเจ้าของทรัพย์ไม่ใช่บุคคลภายนอก
(๒) เจ้าหนี้สามัญไม่อยู่ในฐานะของบุคคลภายนอก
(๓) เจ้าหนี้บุริมสิทธิ ถือว่าเป็นบุคคลภายนอก
(๔) ทรัพยสิทธิของบุคคลภายนอกที่ได้มานั้นจะต้องเป็นประเภทเดียวกันกับ ทรัพยสิทธิของผู้ที่ได้มาโดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรม ดังนั้น ถ้าเป็นทรัพยสิทธิคนละประเภท เช่น กรรมสิทธิ์กับภาระจำยอม ก็ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง
๓. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองและมีคำพิพากษารับรองการได้สิทธิในการครอบครองในภายหลังที่ได้มีการโอนให้บุคคลภายนอกแล้ว จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๓๖๖/๒๕๑๖)
๔. บุคคลภายนอกรับโอนมาแล้วมีการโอนต่อไปเป็นช่วงๆ หลายทอด คนที่ได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม จะต่อสู้บุคคลภายนอกที่มีการโอนกันเป็นช่วงๆ ไม่ได้ หากผู้รับโอนช่วงได้รับโอนมาจากผู้โอนซึ่งสุจริต เสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนแล้ว แต่ถ้าเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมหากได้อยู่ต่อมาจนครอบครอง ปรปักษ์ครบ ๑๐ ปี เช่นนี้สิทธิในการได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์เกิดขึ้นใหม่ คนที่ได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมจึงมีอำนาจสู้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๒๕๑๑/๒๕๑๘  โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยครอบครองเกิน ๑๐ ปี แต่ไม่ได้จดทะเบียน ใช้ยัน อ. ผู้ซื้อโดยสุจริตไม่ได้ โจทก์ครอบครองต่อมาไม่ถึง ๑๐ ปี อ. ขายที่ดินต่อไปแก่จำเลย ไม่ว่าจำเลยสุจริตหรือไม่ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลย คำสั่งศาลที่โจทก์ร้องขอให้แสดงว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ใช้ยัน อ. และจำเลยไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๐๐๗/๒๕๔๐ โจทก์เป็นทายาทได้รับที่ดินมรดกของ ป. เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ส่วนจำเลยกับ น.รับโอนที่ดินดังกล่าวมาโดยผู้โอนขายให้ โดยเสียค่าตอบแทนและโดย สุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริต เมื่อที่ดินส่วนของ น. น.มีสิทธิดีกว่าโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง แม้ต่อมาที่ดินส่วนนี้จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ห.เมื่อห.ถึงแก่กรรมจำเลยและถ.เป็นผู้รับโอนมรดกที่ดินส่วนของ ห. โดยไม่เสียค่าตอบแทน โจทก์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนใช้ยันจำเลยได้ เพราะสิทธิของโจทก์ขาดตอนไปแล้ว ตั้งแต่ น. รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริต จะนำหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้บังคับไม่ได้เพราะสิทธิหลักกฎหมายทั่ว ไปดังกล่าว
๕. มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง โดยปกติจะใช้บังคับแต่ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้น แต่ต่อมามีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยให้รวมถึงที่ดินที่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิ ครอบครองด้วย เช่น น.ส.๓ หรือ น.ส.๓ ก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๒๗/๒๕๓๘ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) แม้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาจริงดังโจทก์กล่าวอ้างการได้มา ของโจทก์ก็เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งถ้า ยังมิได้จดทะเบียนไซร้โจทก์ก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1โดยเสียค่าตอบ แทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง
๖. กรณีโอนที่ดินสลับโฉนดกัน หากได้มีการโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกโดยสุจรติและเสียค่าตอบแทน ก็ต้องอยู่ภายในบังคับของมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง แต่ถ้าไม่มีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องเลยผู้ที่ครอบครองที่ดินอยู่ก็มี สิทธิให้เจ้าของเดิมโอนโฉนดที่ดินดังกล่าวนั้นให้ถูกต้องได้
๗. กรณีที่ใส่ชื่อบุคคลอื่นไว้ในฐานะเป็นตัวแทน ตัวการผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นโดยไม่จำเป็นต้อง ไปจดทะเบียนก็สมบูรณ์ โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตัวการสามารถนำสืบให้เห็นว่าตัวแทนถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนตัวการ โดยไม่ถือว่าเป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร
๘. กรณีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนและหากผู้ได้มานั้นจะได้คืนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของเดิม เช่นนี้เจ้าของเดิมไม่ต้องแก้ไขทางทะเบียน
**การเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
“มาตรา ๑๓๐๐ ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริม ทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้”
องค์ประกอบที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนกับบุคคลภายนอกได้ตามมาตรา ๑๓๐๐
(๑) จะต้อมมีบุคคลหนึ่งเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนใน อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นได้อยู่ก่อน และบุคคลนั้นจะต้องเสียเปรียบจากการที่มีการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นให้บุคคลภายนอกไป
(๒) บุคคลภายนอกที่ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริม ทรัพย์อันเดียวกันนั้นไป จะต้องจดทะเบียนรับโอนโดยไม่เสียค่าตอบแทนหรือไม่สุจริตอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าบุคคลภายนอกที่รับจดทะเบียนรับโอนไปนั้นเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตก็จะ เพิกถอนไม่ได้
ข้อแตกต่างระหว่างมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง กับ มาตรา ๑๓๐๐
(๑) มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ใช้บังคับแก่การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมเท่านั้น แต่การขอเพิกถอนการโอนตามมาตรา ๑๓๐๐ อาจจะเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมหรืออาจเป็นการได้มาโดยทางนิติกรรมก็ได้ เพียงแต่ว่านิติกรรมที่ได้มานั้นยังไม่ได้มีการจดทะเบียนกันเท่านั้น
(๒) มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง กรณีที่สิทธิอันไม่ได้จดทะเบียนห้ามยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมา โดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว เป็นเรื่องของผู้ได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ส่วนมาตรา ๑๓๐๐ เป็นเรื่องที่ผู้ได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมเป็นฝ่ายร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนของบุคคลภายนอกโดยอ้างว่าการได้มาของบุคคลภายนอกทำให้ผู้ได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมต้องเสียเปรียบ
บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนมีอยู่ ๒ กลุ่ม คือ
๑. บุคคลที่ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม และยังมิได้จดทะเบียนการได้มานั้น (มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง)
๒. บุคคลผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริม ทรัพย์โดยนิติกรรมเรียบร้อยแล้วทุกอย่าง เพียงแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น (มาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง)
ข้อสังเกต สัญญาประเภทจะไม่ว่าจะเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย สัญญาจะให้ หรือสัญญาจะแลกเปลี่ยน คนที่มีสิทธิตามสัญญาดังกล่าวไม่ใช่ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของ ตนได้อยู่ก่อน จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามมาตรา ๑๓๐๐ ได้ ทางแก้ไขอาจนำเรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา ๒๓๗ มาใช้
มาตรา ๒๓๗ เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทาง ให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอน ได้
                     บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน
สรุป ในกรณีที่เป็นสัญญาเสร็จเด็ดขาดที่เหลือเฉพาะแต่เพียงไปจดทะเบียนโอนให้แก่ กันเท่านั้น คนที่มีสิทธิตามสัญญาก็ถือว่าอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ ก่อน แต่ถ้าเป็นสัญญาประเภทจะ คนที่มีสิทธิตามสัญญาเป็นเพียงบุคคลสิทธิไม่ถือว่าอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียน สิทธิได้อยู่ก่อนอันจะอ้างมาตรา ๑๓๐๐ มาเพิกถอนการโอนให้แก่บุคคลภายนอกได้ ถ้าจะเพิกถอนก็ต้องไปอาศัยการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา ๒๓๗
การฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนตามมาตรา ๑๓๐๐
             การเพิกถอนการโอนของเจ้าหนี้หรือบุคคลซึ่งอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนนั้น มีเงื่อนไขอยู่ ๒ ประการ คือ
๑. การจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ จะต้องทำให้บุคคลซึ่งอยู่ในฐานะที่จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนนั้นเสียเปรียบ
๒. ผู้ที่รับโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ไปจะต้องไม่สุจริตหรือไม่เสียค่าตอบแทน
ข้อสังเกต
(๑) ศาลฎีกาวินิจฉัยตีความว่าการจำนองก็อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๓๐๐
(๒) การอ้างประโยชน์จากมาตรา ๑๓๐๐ ที่จะขอให้เพิกถอนการโอนนั้นจะต้องมีการตั้งประเด็นไว้ในคดีด้วย ซึ่งการตั้งประเด็นนั้นจะต้องทำโดยคำคู่ความซึ่งอาจอยู่ในคำฟ้อง คำให้การหรือคำให้การแก้ฟ้องแย้งหรือฟ้องแย้งก็ได้
มาตรา ๑๒๙๙ และ ๑๓๐๐ ใช้บังคับกับการเปลี่ยนแปลง การระงับ และการกลับคืนมาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๓๐๑
มาตรา ๑๒๙๙ มาตรา ๑๓๐๐ และมาตรา ๑๓๐๑ ใช้บังคับกับเรือที่มีระวางตั้งแต่ ๕ ตันขึ้นไป แพ และสัตว์พาหนะด้วยตามมาตรา ๑๓๐๒
**บุคคลหลายคนเรียกร้องเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกันโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกัน
มาตรา ๑๓๐๓ ถ้าบุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกันโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่าง กันไซร้ ท่านว่าทรัพย์สินตกอยู่ในครอบครองของบุคคลใด บุคคลนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าบุคคลอื่นๆ แต่ต้องได้ทรัพย์นั้นมาโดยมีค่าตอบแทนและได้การครอบครองโดยสุจริต
                 ท่านมิให้ใช้มาตรานี้บังคับถึงสังหาริมทรัพย์ซึ่งระบุไว้ในมาตราก่อนและในเรื่องทรัพย์สินหาย กับทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำผิด
          ดังนั้น สังหาริมทรัพย์อยู่ในความครอบครองของใคร คนนั้นก็จะมีสิทธิในสังหาริมทรัพย์นั้นดีกว่า โดยมีเงื่อนไขอยู่ ๒ ประการ คือ
๑. คนที่มีสังหาริมทรัพย์อยู่ในความครอบครองจะต้องได้สังหาริมทรัพย์มาโดยมีค่าตอบแทน
๒. การครอบครองที่ได้มานั้นจะต้องได้มาโดยสุจริต
มาตรา ๑๓๐๓ วรรคหนึ่ง ไม่นำมาใช้กับสังหาริมทรัพย์ ดังต่อไปนี้
ก. สังหาริมทรัพย์ประเภทพิเศษ ได้แก่ เรือที่มีระวางตั้งแต่ ๕ ตันขึ้นไป แพ และสัตว์พาหนะ
ข. ทรัพย์สินหาย
ค. ทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำผิด
ข้อสังเกต การได้มาโดยเสียค่าตอบแทนและได้การครอบครองโดยสุจริตนั้น จะต้องเป็นการได้มาจากคนที่มีสิทธิที่จะโอนทรัพย์นั้นได้ ซึ่งเป็นไปตามผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ถ้าคนที่โอนทรัพย์ให้นั้นไม่มีอำนาจที่จะโอนทรัพย์ แม้ผู้รับโอนจะได้รับโอนมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็จะอ้างประโยชน์ตาม มาตรา ๑๓๐๓ ไม่ได้
**ทรัพย์สินของแผ่นดิน
อาจจะแบ่งทรัพย์สินของแผ่นดินได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑. ทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดา ซึ่งอาจจะเป็นสังหาริมทรัพย์ก็ได้หรือจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็ได้
๒. ทรัพย์สินของแผ่นดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งทรัพย์ใดจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จะต้องมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
      (๑)  เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน
      (๒) จะต้องเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ร่วมกันตามมาตรา ๑๓๐๔ ได้แก่
                    (๒.๑) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็น
ของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
                      (๒.๒) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่าที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง
ทะเลสาบ
                      (๒.๓) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่าป้อม และโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์
ข้อสังเกต ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่จำต้องเป็นทะเบียนว่าเป็นสาธารณ สมบัติของแผ่นดินเสมอไป เพราะทรัพย์สินของแผ่นดินที่จะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่นั้นขึ้น อยู่กับสภาพของทรัพย์สินนั้นเองว่าได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้ เพื่อประโยชน์ร่วมกันหือไม่
การสิ้นไปของสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
              สภาพหรือสถานะของการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอาจจะมีการเพิกถอนได้ แต่การเพิกถอนสภาพของการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะทำได้ก็โดยมีกฎหมาย เฉพาะ เมื่อมีการเพิกถอนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดแล้วที่ดินแปลงนั้น ก็จะกลับมาเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตามธรรมดา
               ตามประมวลกฎหมายที่ดินถ้า เป็นการเพิกถอนสภาพเพราะไม่ใช้หรือจะไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นก็จะทำโดยพระราช กฤษฎีกา แต่ถ้าเป็นการโอนก็จะต้องทำโดยพระราชบัญญัติ แต่ถ้านำไปจัดสรรซึ่งมีกฎหมายเฉพาะให้อำนาจก็ทำโดยพระราชกฤษฎีกา
การหมดสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
๑. สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นได้มีการเลิกใช้เพื่อสาธารณประโยชน์โดยเด็ดขาด หรือเลิกสงวนไว้เพื่อสาธารณประโยชน์โดยเด็ดขาด ถ้าเพียงแต่เลิกใช้เพียงชั่วคราว ก็ยังไม่สิ้นสภาพ ยังมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่
๒. สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นถูกทำลายไปทั้งหมด
๓. สาธารณสมบัติของแผ่นดินถูกโอนหรือเวนคืนไปเป็นของเอกชนโดยชอบด้วยกฎหมาย
ผลของการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
๑. จะโอนแก่กันไม่ได้เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา
๒. ห้ามยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดิน
๓. ห้ามยึดทรัพย์สินของแผ่นดินไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่
ข้อสังเกต
(๑) ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอาจจะทำสัญญาจะซื้อจะขายได้ เนื่องจากยังไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์กัน แต่ตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายโดยเฉพาะให้มีการโอนกรรมสิทธิ์กันได้แล้ว ก็ไม่อาจทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดเพื่อให้มีการโอนกรรมสิทธิ์กันได้
(๒) ที่ดินที่ถูกเวนคืนไปแล้วเมื่อไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการเวนคืนภายในเวลา ๕ ปี กฎหมายกำหนดให้ต้องคืนเจ้าของไป การคืนนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะเพราะกรณีนี้ไม่ใช่เป็นการโอนให้แก่ กันตามมาตรา ๑๓๐๕ แต่เป็นการโอนกลับคืนมาโดยเงื่อนไขของกฎหมาย
(๓) ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะเอาไปให้เช่าไม่ได้ ถ้าเอาไปให้เช่า สัญญาเช่านั้นไม่มีผล จะฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าไม่ได้ และจะฟ้องขับไล่ก็ไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจฟ้อง
(๔) สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นใช้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือสงวนไว้ซึ่งสาธารณ ประโยชน์ คือ ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าไปใช้สอยได้ แต่ในระหว่างประชาชนด้วยกันนั้นคนที่เข้าไปใช้สอยอยู่ก่อนย่อมมีสิทธิดีกว่า คนอื่น ถ้าคนมาทีหลังไปรบกวนสิทธิ คนที่ใช้ก่อนก็มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองได้ รวมถึงเรียกค่าเสียหายได้ด้วย แต่ถ้าคนที่ใช้อยู่ก่อนเอาไปให้เช่า สิทธินั้นก็หมดไป จะใช้สิทธิปลดเปลื้องทุกข์หรือเอาคืนไม่ได้
ข้อสังเกต
ก. สิทธิที่ว่านี้คือสิทธิในการใช้สอยเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่ามีกรรมสิทธิ์ดีกว่าหรือมีสิทธิครอบครองดีกว่าแต่อย่างใด
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๔๒/๒๕๐๖  ที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้น ผู้ใดจะอยู่มาช้านานเท่าใดก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่ แต่ถ้าหากบุคคลอื่นเข้ามากั้นรั้วปลูกเรือนแพและสิ่งอื่นๆกีดขวางหน้าที่ดิน ของเจ้าของที่ดินที่ติดกับที่ชายตลิ่งเต็มหมด จนไม่สามารถใช้สอยชายตลิ่งเข้าออกสู่ลำแม่น้ำได้แล้ว ย่อมถือว่าเจ้าของที่ดินนั้นได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ มีสิทธิฟ้องขับไล่ได้
ข. ผู้ที่จะฟ้องใช้สิทธิปลดเปลื้องทุกข์หรือเอาคืน จะต้องเป็นผู้เสียหายเป็นพิเศษ
คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๒๗/๒๕๐๘  การที่จำเลยขึงลวดหนามทำรั้วรุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณะทำให้โจทก์ไม่สามารถ ใช้รถยนต์บรรทุกผ่านไปมาได้ตามปกตินั้นถือว่าจำเลยได้กระทำละเมิด ต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๘/๒๕๑๐  โจทก์มีบ่อน้ำกินคือบ่อพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์ใช้บ่อน้ำบ่อนี้เสมอมาจำเป็นแก่ความเป็นอยู่ของโจทก์ จำเลยกระทำการให้น้ำในบ่อไม่มีให้โจทก์ใช้เช่นเคย ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์เสียหายเป็นพิเศษมีอำนาจฟ้องคดีได้

สรุป แม้จะไม่ได้เข้าไปครอบครองยึดถือหรือไปใช้ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่น ดินโดยตรง แต่เมื่อใช้อยู่แล้วต่อมาถูกรบกวนการครอบครองหรือการใช้ตามปกติ ถือว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายเป็นพิเศษมีสิทธิฟ้องได้ เช่น บ้านอยู่ติดลำน้ำสาธารณะแล้วมีคนมาทำรั้วกั้นให้ออกไปไม่ได้ หรือมีคนขึงลวดหนามเข้าไปในทางสาธารณะทำให้ไม่สามารถใช้รถผ่านไปได้ เป็นต้น แต่ถ้าไม่ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษก็ไม่มีอำนาจฟ้อง
ค. คนที่เข้าไปใช้ก่อนมีสิทธิดีกว่าตราบเท่าที่ยังคงครอบครองยึดถือหรือใช้ สอยอยู่ ดังนั้น ถ้านำไปให้คนอื่นเช่าหรือทำประโยชน์สิทธินั้นก็สิ้นผลไป
**การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์
๑. การได้มาโดยทางนิติกรรม
๒. การได้มาโดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรมหรือการได้มาโดยผลของกฎหมาย
การได้มาโดยผลของกฎหมาย
 ๑. การได้มาโดยหลักส่วนควบ
**ประเด็นเกี่ยวกับที่งอกริมตลิ่ง
มาตรา ๑๓๐๘  ที่ดินแปลงใด เกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอก ย่อมเป็น ทรัพย์สิน ของเจ้าของที่ดิน แปลงนั้น
ลักษณะของที่งอกริมตลิ่ง
ก.  ที่งอกริมตลิ่งต้องเป็นที่ซึ่งในฤดูน้ำตามปกติน้ำท่วมไม่ถึง
ข.  ที่งอกริมตลิ่งจะต้องเป็นที่งอกจากที่ดินที่เป็นประธานออกไปในแม่น้ำ ลักษณะของ
การงอกจะต้องเป็นการงอกโดยธรรมชาติ
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๘๙/๒๕๓๕  โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินสาธารณประโยชน์ในเขตเทศบาล จำเลยได้ปลูกสร้างอาคารเลขที่ ๕๔/๘ รุกล้ำเข้าไปในลำรางสาธารณะที่ตื้นเขินกลายสภาพเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ใน เขตเทศบาล เนื้อที่ ๔.๔ ตารางวา ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดัง กล่าว เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วโจทก์ไม่ต้องแสดงโฉนดหรือหลักฐาน แห่งที่ดินว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อย่างไร เพราะการเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือไม่เป็นไปตามสภาพของที่ดิน และโจทก์ไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้องว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์ทั้งหมดมีเนื้อที่เท่าใดจำเลยปลูกสร้างอาคารรุกล้ำ ตั้งแต่เมื่อใด มีเขตกว้างยาวเท่าใดเพราะเป็นรายละเอียดที่คู่ความอาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ลำรางสาธารณประโยชน์สำหรับระบายน้ำจากภูเขาซึ่งมีมานานแล้วเป็นสาธารณสมบัติ ของแผ่นดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้ต่อมาจะไม่มีสภาพเป็นทางระบายน้ำต่อไปและไม่มีราษฎรใช้ประโยชน์เมื่อยัง ไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามมาตรา ๘ ประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินนั้นยังเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่เช่นเดิม ที่งอกริมตลิ่ง หมายถึงที่ดินที่งอกไปจากตลิ่งตามธรรมชาติซึ่งเกิดจากการที่สายน้ำพัดพาดิน จากที่อื่นมาทับถมกันริมตลิ่งจนเกิดที่งอกขึ้น มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาตลิ่ง โจทก์มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินในเขตเทศบาลตามคำสั่ง ของกระทรวงมหาดไทย จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๑๑/๒๔๗๗  ที่ดินซึ่งตื้นเขินขึ้นเป็นเกาะในหนองนำสาธารณะ แม้ภายหลังที่ริมฝั่งตื้นเขินเชื่อมติดกับที่ดินของผู้อื่นที่อยู่ริมหนอง ก็ไม่ใช่ที่งอกริมตลิ่งเพราะไม่ได้งอกออกจากริมตลิ่ง คงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๙/๒๕๒๓  ที่งอกริมตลิ่งหมายความถึงที่ดินที่งอกไปจากชายตลิ่ง ไม่ใช่หนองน้ำสาธารณะตื้นเขินขึ้นเสมอกับระดับที่ดินขอบหนอง ซึ่งถือว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ตามเดิม
ค. ที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประธานจะต้องติดกับที่งอกโดยตรง โดยไม่มีอะไรมากั้นขวาง
ข้อสังเกตเกี่ยวกับที่งอกริมตลิ่ง
(๑) สิทธิในการครอบครองที่งอกริมตลิ่งนั้นจะต้องดูลักษณะของที่ดินเดิม กล่าวคือ หากที่ดินเดิมเป็นที่ดินมีกรรมสิทธิ์ที่งอกที่เกิดจากที่ดินดังกล่าวก็จะ เป็นกรรมสิทธิ์ แต่ถ้าที่ดินเดิมเป็นเพียงสิทธิครอบครองที่งอกที่เกิดจากที่ดินนั้นก็ไม่ใช่ กรรมสิทธิ์แต่ได้เพียงสิทธิครอบครอง
(๒) ที่ดินที่มีที่งอกไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน เจ้าของที่ดินก็ได้ที่งอกนั้นตามกฎหมาย
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๘๙/๒๕๒๓  เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งน้ำท่วมถึงได้เปลี่ยนสภาพเป็นที่น้ำท่วมไม่ถึง มาได้ ๔-๕ ปี ที่พิพาทอยู่หน้าที่ดินโจทก์ด้านริมแม่น้ำและมีทางเดินเล็ก ๆ เรียบริมแม่น้ำอันเป็นทางเดินในที่ดินโฉนดของโจทก์หรืองอกจากที่ดินของโจทก์ ทางเดินนี้แม้ชาวบ้านจะอาศัยใช้เป็นทางสัญจรไปมาก็หาใช่ทางสาธารณะไม่ หากจะเป็นก็เพียงทางภารจำยอม ต้องถือว่าทางเดินดังกล่าวเป็นที่ดินของโจทก์ ที่พิพาทติดกับทางเดินจึงเป็นที่งอกจากที่ดินมีโฉนดของโจทก์และเป็น กรรมสิทธิ์ของโจทก์เจ้าของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๘ ถึงแม้ต่อมาโจทก์จะอุทิศที่ดินที่เป็นทางเดินให้เป็นถนนสาธารณะก็หาทำให้ที่ พิพาทที่เป็นที่งอกซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว เปลี่ยนแปลงไปไม่ และจะถือว่าเป็นที่งอกจากที่สาธารณะมิได้
ข้อสังเกต  ฎีกาเรื่องนี้ข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่าเจตนาจะยกให้เฉพาะส่วนที่อยู่ในโฉนดเท่า นั้น ที่งอกซึ่งอยู่นอกโฉนดไม่มีเจตนายกให้ จึงไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่ถ้าข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่ายกให้ทั้งที่อยู่ในโฉนดและที่งอกที่เกิดขึ้น ใหม่ ที่ดินทั้งหมดก็เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไป
(๓) ที่งอกนั้นเกิดขึ้นโดยธรรมชาติไม่ได้เกิดขึ้นจากการรกะทำของมนุษย์
(๔) คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๗๗/๒๔๙๐   ที่ดินที่ถูกน้ำเซาะพังลงจนเปลี่ยนสภาพกลายเป็นทางน้ำแล้ว ก็จะเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ภายหลังผู้ใดจะได้กรรมสิทธิ์ที่ตรงนั้น ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาแห่งกรรมสิทธิ์  เพียงแต่ตลิ่งพัง ทลายลงแม่น้ำไปชั่วคราวอาจยังไม่พอที่จะถือว่าตรงนั้นเป็นทางน้ำก็ได้ ต้องฟังข้อเท็จจริงให้แน่ชัดว่าที่ดินที่พังลงไปนั้นเป็นทางน้ำมาแล้วหรือ ไม่
เปรียบเทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๙/๒๕๔๓  ซึ่งวินิจฉัยว่า เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ (๒) ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนนเมื่อ ๔ ถึง ๕ ปี มานี้ ดังนั้นก่อนหน้าที่พิพาทเป็นที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้ กรรมสิทธิ์ หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกที่เชื่อมติดกับที่ดินของจำเลยที่ ๑ ที่งอกพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ด้วย เมื่อโจทก์ครอบครองยังไม่ถึง ๑๐ ปี โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา ๑๓๘๒
**เกาะและทางน้ำตื้นเขิน
**มาตรา ๑๓๐๙ เกาะที่เกิดในทะเลสาบ หรือ ในทางน้ำ หรือ ในเขตน่านน้ำของประเทศ ก็ดี และ ท้องทางน้ำที่เขินขึ้นก็ดี เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน
การสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่น
**มาตรา ๑๓๑๐  บุคคลใดสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้นๆ แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้น เพราะสร้างโรงเรือนนั้น ให้แก่ ผู้สร้าง
แต่ถ้าเจ้าของที่ดินสามารถแสดงได้ว่า มิได้มีความประมาทเลินเล่อ จะบอกปัดไม่ยอมรับ โรงเรือนนั้นและเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไปและทำที่ดินให้เป็นตามเดิมก็ได้ เว้นไว้แต่ถ้าการนี้ จะทำไม่ได้ โดยใช้เงินพอควรไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างซื้อที่ดินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตาม ราคาตลาดก็ได้
ข้อสังเกต
(๑) ต้องเป็นการสร้างโรงเรือนทั้งหลังในที่ดินของผู้อื่น หรืออย่างน้อยที่สุดส่วนใหญ่ของโรงเรือนที่สร้างนั้นจะต้องอยู่ในที่ดินของ ผู้อื่น
(๒) การสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นกรณีของการสร้างโดยสุจริต หรือไม่สุจริต ผู้สร้างกับเจ้าของที่ดินจะต้องไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆ ต่อกัน หากผู้สร้างมีนิติสัมพันธ์กับเจ้าของที่ดินก็ไม่อยู่ในบังคับของมาตรานี้
(๓) โรงเรือนที่สร้างนั้นจะต้องมีลักษณะเป็นส่วนควบกับที่ดินของผู้อื่น
ผลของการสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นตามมาตรา ๑๓๑๐
         เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้น แต่จะต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นแก่ผู้ สร้าง แต่ถ้าเจ้าของที่ดินแสดงได้ว่าไม่ได้มีความประมาทเลินเล่อ ก็มีสิทธิที่จะให้ผู้สร้างรื้อถอนออกไปพร้อมทั้งทำที่ดินให้เป็นไปตามเดิมได้
         ความสุจริตตามมาตรา ๑๓๑๐ นั้น จะต้องมีมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนกว่าจะสร้างเสร็จ
มาตรา ๑๓๑๐ ใช้กับที่ดินที่เป็นของเอกชนเท่านั้น ในกรณีที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะอ้างมาตรา ๑๓๑๐ ไม่ได้
**สร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริต
มาตรา ๑๓๑๑ บุคคลใดสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นต้องทำที่ดินให้เป็นไปตามเดิม แล้วส่งคืนเจ้าของ เว้นแต่เจ้าของจะเลือกให้ส่งคืนตามที่เป็นอยู่ในกรณีเช่นนี้เจ้าของที่ดิน ต้องใช้ราคาโรงเรือน หรือใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้น แล้วแต่จะเลือก
                    ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับมาตรา ๑๓๑๐
**สร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่น
มาตรา ๑๓๑๒ บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และ จดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้
                       ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้น กระทำการโดยไม่สุจริต ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไปและทำที่ดินให้เป็นตามเดิม โดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้
ข้อสังเกต
(๑) เป็นการสร้างโรงเรือนส่วนใหญ่ในที่ดินของผู้สร้างเองหรือในที่ดินที่ผู้ สร้างมีสิทธิที่จะสร้างได้ คงมีแต่เพียงส่วนน้อยหรือบางส่วนของโรงเรือนเท่านั้นที่ไปรุกล้ำเข้าไปใน ที่ดินของผู้อื่น
(๒) เป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นนั้น การรุกล้ำนั้นต้องเกิดตั้งแต่แรกหรือเป็นการรุกล้ำมาตั้งแต่ขณะแรกที่ทำการส ร้าง ถ้าตอนแรกไม่รุกล้ำต่อมามีการต่อเติมรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น ก็ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๓๑๒
(๓) ความแตกต่างระหว่างมาตรา ๑๓๑๒ กับ ๑๓๑๔ คือ มาตรา ๑๓๑๔ ไม่ใช่การสร้างรุกล้ำแต่เป็นการที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทำหลังคาหรือปลูก สร้างอย่างอื่นมีผลทำให้น้ำฝนตกลงไปยังทรัพย์สินอื่นที่ติดกัน แต่ตัวสิ่งปลูกสร้างหรือก่อสร้างนั้นไม่ได้รุกล้ำ ส่วนมาตรา ๑๓๑๒ เป็นเรื่องที่บางส่วนของตัวโรงเรือนเองหรือบางส่วนของโรงเรือนรุกล้ำ
คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๔๑/๒๕๐๔  ปลูกโรงเรือนในที่ดินของตน ตัวเรือนไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น แต่ชายคาได้รุกล้ำเข้าไปโดยสุจริต ย่อมเป็นการปลูกโรงเรือนล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นตามมาตรา ๑๓๑๒ มิใช่ตามมาตรา ๑๓๔๑
(๔) กรณีเครื่องอุปกรณ์บางอย่างหรือเครื่องอำนวยความสะดวกบางอย่างมาติดตั้ง ประกอบกับโรงเรือน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนของโรงเรือนที่จะถือว่าเป็นการรุกล้ำ
คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๓๓๑/๒๕๓๔ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๑๒ เฉพาะตัวโรงเรือนที่สร้างรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตเพียงอย่างเดียว เท่านั้นที่ได้รับความคุ้มครอง สิ่งอื่น ๆ ที่มิใช่โรงเรือนแม้จะสร้างขึ้นโดยสุจริตก็หาได้รับ ความคุ้มครองด้วยไม่ จำเลยจึงต้องรื้อถอนรั้วพิพาทส่วนที่รุกล้ำ ออกไปจากที่ดินของโจทก์
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๐๓๖/๒๕๓๙  เสากำแพงที่แยกต่างหากจากเสาโรงเรือน ไม่ใช่ส่วนหนึ่ง ของโรงเรือนอันจะถือเป็นโรงเรือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๒ วรรคแรก ฉะนั้นจำเลยจะอ้างว่าก่อสร้างกำแพงรุกล้ำโดยสุจริตไม่ต้องรื้อถอนตามบท กฎหมายดังกล่าวหาได้ไม่
(๕) กรณีสร้างโรงเรือนในที่ดินแล้วต่อมามีการแบ่งแยกที่ดิน แล้วปรากฏว่ามีบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดิน ซึ่งมีแนวฎีกาวางไว้ว่าสามารถที่จำนำมาตรา ๑๓๑๒ มาใช้บังคับได้โดยอาศัยมาตรา ๔
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๔๘/๒๕๑๒  จำเลยมิได้เป็นผู้สร้างตึกพร้อมกันสาดที่พิพาท หากแต่เจ้าของที่ดินเป็นผู้สร้างในที่ดินของตนเองโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะขณะสร้างยังมิได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นสองแปลง ดังนั้น ถ้าจะบังคับให้รื้อ ก็มีผลเท่ากับจำเลยเป็นผู้สร้าง ตามมาตรา ๑๓๑๒ วรรคสอง ย่อมไม่เป็นธรรม เพราะแม้จำเลยเป็นผู้สร้างรุกล้ำเอง ถ้าโดยสุจริต กฎหมายยังยอมให้จำเลยมีสิทธิใช้ที่ดินในส่วนที่รุกล้ำได้ แล้วไฉนถ้าจำเลยมิได้เป็นผู้สร้างรุกล้ำเอง แต่การที่สร้างนั้นเป็นการสร้างโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งยิ่งกว่าเป็นการสร้าง โดยสุจริตเสียอีก แล้วกลับจะถูกบังคับให้รื้อถอน เพราะไม่มีสิทธิจะใช้ กรณีดังกล่าวไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ เมื่อเป็นช่องว่างแห่งกฎหมาย ดังนี้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔ มาใช้สำหรับกรณีนี้ไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะยกมาปรับคดีได้จึง ต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ก็คือ มาตรา ๑๓๑๒ วรรคแรก คือ จำเลยมีสิทธิใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์เฉพาะที่กันสาดรุกล้ำ เข้าไปนั้นได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยรื้อ แต่มีสิทธิที่จะเรียกเงินเป็นค่าที่จำเลยใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของ โจทก์ต่อไป ตลอดจนการที่จะดำเนินการจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอม
**ผลของการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต
มาตรา ๑๓๑๒ วรรคหนึ่ง กำหนดว่าบุคคลผู้สร้างเรือนรุกล้ำนั้น เป็นเจ้าของ โรงเรือน ที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงิน ให้แก่ เจ้าของที่ดิน เป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และ จดทะเบียนสิทธิ เป็น ภาระจำยอม ต่อภายหลัง ถ้า โรงเรือนนั้น สลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดิน จะเรียกให้เพิกถอน การจดทะเบียนเสีย ก็ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๔๑/๒๕๐๕ ปลูกสร้างเรือนในที่ดินของตน ตัวเรือนไม่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น แต่ชายคาได้รุกล้ำเข้าไปโดยสุจริตนั้นย่อมเป็นการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ เข้าไปในที่ดินของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๑๒ ไม่ใช่ มาตรา ๑๓๔๑ เพราะตาม มาตรา ๑๓๔๑  หมายถึงทำหลังคาหรือการปลูกสร้างอย่างอื่นโดยมิได้รุกล้ำที่ดินของผู้อื่น แต่เมื่อฝนตกน้ำฝนได้ไหลลงไปยังที่ดินหรือทรัพย์สินของผู้อื่นที่ติดต่อกัน
            ในกรณีปลูกเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตามมาตรา ๑๓๑๒ นั้น เจ้าของโรงเรือนมีสิทธิขอให้จดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมได้ โดยไม่ต้องรอจนเกิน ๑๐ ปี
ข้อสังเกต การจดทะเบียนการใช้ที่ดินเป็นภาระจำยอมเป็นการจดทะเบียนโดยอาศัยสิทธิที่ มาตรา ๑๓๑๒ ให้ไว้ ไม่ใช่เป็นการได้ภาระจำยอมมาโดยอายุความ ๑๐ ปี เมื่อไม่ใช่เป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความ ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ ๑๐ ปี ก่อนจึงจะไปจดทะเบียนได้มา
คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๗๑๓/๒๕๓๔ โจทก์จะบังคับให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนระเบียงพิพาทได้ก็ต่อเมื่อจำเลยทั้งสาม ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๑๒ วรรคสอง แต่เมื่อจำเลยทั้งสามซื้อตึกแถวพร้อมระเบียงพิพาทที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ อยู่ก่อนแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าระเบียงได้สร้างรุกล้ำโดยไม่สุจริต ต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้สืบสิทธิของผู้สร้างระเบียงพิพาทรุกล้ำที่ดินของ โจทก์โดยสุจริต โจทก์จึงมีสิทธิเพียงแต่จะได้ค่าใช้ที่ดินและยังมีหน้าที่จดทะเบียนภาระจำ ยอมให้จำเลยทั้งสามด้วย ทั้งนี้โดยนัย ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๑๒ วรรคแรก แต่โจทก์มิได้ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินเป็นค่าใช้ที่ดินของโจทก์ ศาลจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยใช้เงินดังกล่าวได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๙๐๙/๒๕๔๐ จำเลยร่วมที่ ๑ และที่ ๒ ปลูกสร้างบ้านรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริต จำเลยร่วมที่ ๑ และที่ ๒ จึงต้องทำที่ดินให้เป็นตามเดิมแล้วส่งคืนเจ้าของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๑ และจำเลยผู้สืบสิทธิของเจ้าของเดิมผู้ปลูกสร้างบ้านโดยไม่สุจริตย่อมไม่ได้ รับความคุ้มครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๑๒ เช่นกัน
             ถ้า ต่อมาโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมดเจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียน ภาระจำยอมก็ได้ และถ้าสลายไปเฉพาะส่วนที่รุกล้ำทั้งหมด ก็เพียงพอที่จะขอให้เพิกถอนได้เช่นเดียวกัน
มาตรา ๑๓๑๒ วรรคสอง เป็นเรื่องของการสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริต เจ้าของที่ดินมีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้สร้างโรงเรือนรุกล้ำรื้อถอนในส่วนที่ รุกล้ำนั้นออกไปก็ได้ หรือจะเรียกร้องเอาค่าใช้ที่ดินโดยยอมให้ส่วนที่รุกล้ำนั้นเป็นภาระจำยอมของ ผู้ก่อสร้าง
คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๐๔/๒๕๑๗  ที่ดินและอาคารของโจทก์และของจำเลยร่วมอยู่ติดกันโดยต่างรับซื้อมาจากบุคคล อื่นกันสาดของอาคารที่จำเลยร่วมซื้อได้รุกล้ำที่ดินที่โจทก์ซื้ออยู่ก่อน แล้ว ต่อมาจำเลยร่วมได้สร้างห้องน้ำบนกันสาดนั้น อันเป็นการใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์เฉพาะที่กันสาดรุกล้ำเข้า ไปนั้นสืบต่อจากเจ้าของเดิมโดยจำเลยร่วมมิได้ขออนุญาตต่อผู้ใด ถือได้ว่าจำเลยร่วมได้สร้างห้องน้ำขึ้นโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๒ และข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าจำเลยร่วมใช้สิทธิโดยอำนาจปรปักษ์เกินกว่า ๑๐ ปีแล้วกันสาดและห้องน้ำเหนือที่ดินของโจทก์ย่อมตกอยู่ในภารจำยอมโจทก์จึงไม่ มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้จำเลยรื้อห้องน้ำบนกันสาดนั้น
**เจ้าของที่ดินมีเงื่อนไขสร้างโรงเรือนในที่ดินนั้น
มาตรา ๑๓๑๓ ถ้าผู้เป็นเจ้าของที่ดินโดยมีเงื่อนไขสร้างโรงเรือนในที่ดินนั้น และ ภายหลังที่ดินตกเป็นของบุคคลอื่นตามเงื่อนไขไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วย ลาภมิควรได้มาใช้บังคับ
“เจ้าของที่ดินมีเงื่อนไข” ตามความหมายของมาตรา ๑๓๑๓ อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑. เป็นเจ้าของที่ดินที่มีเงื่อนไขบังคับหลัง (สิ้นผลเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จ)
๒. เป็นเจ้าของที่ดินที่มีเงื่อนไขห้ามโอนตามมาตรา ๑๗๐๐ หรือเรียกว่าข้อกำหนดห้ามโอน
สร้างสิ่งอื่น ปลูกต้นไม้ หรือธัญชาติในที่ดินของผู้อื่น
**มาตรา ๑๓๑๔ ท่านให้ใช้บทบัญญัติ มาตรา ๑๓๑๐, ๑๓๑๑ และ ๑๓๑๓ บังคับตลอดถึงการก่อสร้างใดๆ ซึ่งติดที่ดิน และการเพาะปลูกต้นไม้หรือธัญชาติด้วยโดยอนุโลม
              แต่ข้าวหรือธัญชาติอย่างอื่น อันจะเก็บเกี่ยวรวงผลได้คราวหนึ่งหรือหลายคราวต่อปี เจ้าของที่ดินต้องยอมให้บุคคลผู้กระทำการโดยสุจริตหรือผู้เป็นเจ้าของที่ดิน โดยมีเงื่อนไขซึ่งได้เพาะปลูกลงไว้นั้น คงครองที่ดินจนกว่าจะเสร็จการเก็บเกี่ยว โดยใช้เงินคำนวณตามเกณฑ์ค่าเช่าที่ดินนั้น หรือเจ้าของที่ดินจะเข้าครอบครองในทันที โดยใช้ค่าทดแทนให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งก็ได้
**สร้างโรงเรือนหรือสิ่งก่อสร้างอย่างอื่นหรือการเพาะปลูกต้นไม้หรือธัญชาติในที่ดินของตนเองด้วยสัมภาระของผู้อื่น
**มาตรา ๑๓๑๕ บุคคลใดสร้างโรงเรือน หรือทำการก่อสร้างอย่างอื่นซึ่งติดที่ดิน หรือ เพาะปลูกต้นไม้หรือธัญชาติในที่ดินของตน ด้วยสัมภาระของผู้อื่น ท่านว่าบุคคลนั้น เป็นเจ้าของสัมภาระแต่ต้องใช้ค่าสัมภาระ
ข้อสังเกต สัมภาระที่เอามาใช้ในการสร้างหรือการเพาะปลูกนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นของใหม่ อาจจะเป็นของที่ใช้แล้วก็ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๒๑/๒๔๙๖ เจ้าของแพได้อนุญาตให้พี่ชายรื้อถอนแพเอาไปปลูกเป็นเรือนอยู่ในที่ดินของพี่ ชายเสียนานมาแล้วต่อมาเจ้าของแพถึงแก่กรรม ทายาทจึงฟ้องเรียกแพจากผู้ครอบครองเรือนนั้นดังนี้ ศาลจะบังคับให้ส่งแพไม่ได้เพราะไม่มีแพอยู่เสียแล้ว แต่การที่เอาแพของเขาไปปลูกเป็นเรือนของตนเสียเช่นนี้ ผู้ปลูกย่อมเป็นเจ้าของเรือนนั้น แต่ต้องใช้ค่าสัมภาระให้แก่เขาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๕ ฉะนั้น ศาลย่อมบังคับให้ใช้ราคาแพนั้นแก่ทายาทได้
**การเอาสังหาริมทรัพย์มารวมเข้ากันจนเป็นส่วนควบ
มาตรา ๑๓๑๖ ถ้าเอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันจนเป็นส่วนควบ หรือแบ่งแยกไม่ได้ไซร้ ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นเจ้าของรวมแห่งทรัพย์ที่รวมเข้ากัน แต่ละคนมีส่วน ตามค่าแห่งทรัพย์ของตนในเวลาที่รวมเข้ากับทรัพย์อื่น
               ถ้าทรัพย์อันหนึ่งอาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์ประธานไซร้ ท่านว่าเจ้าของทรัพย์นั้นเป็นเจ้าของทรัพย์ที่รวมเข้าด้วยกันแต่ผู้เดียว แต่ต้องใช้ค่าแห่งทรัพย์อื่นๆ ให้แก่เจ้าของทรัพย์นั้นๆ
คำพิพากษาฎีกา ที่ ๑๔๗/๒๕๓๒ การที่จำเลยผู้ให้เช่าซื้อไปยึดรถยนต์พิพาทคืนจากโจทก์โดยโจทก์ผู้เช่าซื้อ ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดนัดและสัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกันจำเลยจึงตกเป็นฝ่ายผิด สัญญา เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยแล้วโจทก์จำเลยจึงต้องกลับคืนสู่ ฐานะเดิม จำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทโดยไม่มีตัวถัง โจทก์ผู้เช่าซื้อเป็นผู้ว่าจ้างให้ต่อตัวถังขึ้น กรณีจึงเป็นการเอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้าด้วยกันจนเป็นส่วน ควบหรือแบ่งแยกไม่ได้ ตัวรถยนต์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นทรัพย์ประธาน จำเลยจึงเป็นเจ้าของทรัพย์ประธานที่รวมเข้าด้วยกันแต่ผู้เดียว แต่ต้องใช้ค่าแห่งทรัพย์อื่น ๆ ให้แก่เจ้าของทรัพย์นั้น ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๖ วรรคสอง เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการต่อตัวถังรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์พิพาทให้จำเลยเพียง ๕ งวด แต่โจทก์ใช้รถยนต์พิพาทตั้งแต่ต่อตัวถังเสร็จจนถึงวันที่จำเลยไปยึดรถยนต์ พิพาทคืนมา เป็นเวลาอย่างน้อย ๑๗ เดือน โจทก์จึงใช้รถยนต์พิพาทเพื่อประโยชน์ของโจทก์โดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่ จำเลยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๒ เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ซึ่งมีค่าเช่าซื้อรวมอยู่ด้วยนับ แต่วันที่รถยนต์พิพาทถูกยึดถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเป็นเวลา ๒๒ เดือนเศษแล้วโจทก์จึงได้รับประโยชน์จากการใช้รถยนต์พิพาทโดยไม่ชำระค่าเช่า ซื้อมากกว่าค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์พึงได้รับ โจทก์จะเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายกรณีที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้รถ ยนต์พิพาทอีกไม่ได้
สรุป ในกรณีที่สังหาริมทรัพย์หลายๆ สิ่งมารวมกันนั้นยังสามารถเห็นได้ว่าอะไรเป็นทรัพย์ประธาน เจ้าของทรัพย์ประธานเป็นเจ้าของทรัพย์ทั้งหมดที่มารวมกัน เพียงแต่ต้องใช้ราคาสังหาริมทรัพย์อื่นๆ แก่เจ้าของเท่านั้น
**การเอาสัมภาระของผู้อื่นมาทำเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นใหม่
“มาตรา ๑๓๑๗ บุคคลใดใช้สัมภาระของบุคคลอื่นทำสิ่งใดขึ้นใหม่ไซร้ ท่านว่าเจ้าของสัมภาระเป็นเจ้าของสิ่งนั้น โดยมิต้องคำนึงว่าสัมภาระนั้นจะกลับคืนตามเดิมได้หรือไม่ แต่ต้องใช้ค่าแรงงาน
แต่ถ้าค่าแรงงานเกินกว่าค่าสัมภาระที่ใช้นั้นมากไซร้ ท่านว่าผู้ทำเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ทำขึ้น แต่ต้องใช้ค่าสัมภาระ”
             สัมภาระ ที่เอามาใช้นี้ต้องเป็นสัมภาระของผู้อื่นในขณะที่มีการทำของนั้นขึ้นมา ถ้าสัมภาระตกมาเป็นของคนทำก่อนที่จะมีการทำขึ้น มาตรา ๑๓๑๗ ก็จะใช้บังคับไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๐๕/๒๕๐๕  จำเลยยืมไม้และสังกะสีของผู้ร้องเพื่อปลูกเรือน ย่อมหมายความว่า เอาทรัพย์นั้นๆ มาขาดทีเดียว ไม่ใช่จะเอาทรัพย์นั้นไปคืนอีกจึงถือว่าเป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองกรรมสิทธิ์ ในเรือนที่ปลูกขึ้น ดังกล่าวย่อมเป็นของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๐
             การ ใช้สัมภาระของบุคคลอื่นทำสิ่งใดขึ้นใหม่ที่ว่าเจ้าของสัมภาระเป็นเจ้าของ สิ่งนั้น แต่ต้องใช้ค่าแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๑๗ นั้น หมายความว่า สัมภาระจะต้องเป็นของบุคคลอื่นอยู่ในขณะที่ได้เอาสัมภาระนั้นทำสิ่งใดสิ่ง หนึ่งขึ้นใหม่เมื่อเป็นกรณียืมใช้สิ้นเปลืองสัมภาระนั้นย่อมตกเป็นของผู้ยืม แล้วในขณะปลูกสร้างจึงไม่เข้าตาม มาตรา ๑๓๑๗
**การได้มาโดยเข้าถือเอาสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของ
มาตรา ๑๓๑๘ บุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์แห่งสังหาริมทรัพย์อันไม่มีเจ้าของโดยเข้าถือ เอา เว้นแต่การเข้าถือเอานั้นต้องห้ามตามกฎหมายหรือฝ่าฝืนสิทธิของบุคคลอื่นที่ จะเข้าถือเอา สังหาริมทรัพย์นั้น
มาตรา ๑๓๑๘ มีหลักเกณฑ์อยู่ ๒ ประการคือ
(๑) สังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของ
(๒) ต้องมีการเข้าถือเอา
          เมื่อ เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง ๒ ประการนี้ ก็จะได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในตัวสังหาริมทรัพย์นั้น แต่ทั้งนี้การเข้าถือเอาจะต้องไม่ผิดกฎหมายหรือฝ่าฝืนสิทธิของบุคคลอื่นที่ จะเข้าถือเอาสังหาริมทรัพย์นั้น
**มาตร ๑๓๑๙ ถ้าเจ้าของสังหาริมทรัพย์เลิกครอบครองทรัพย์ด้วยเจตนาสละกรรมสิทธิ์ไซร้ ท่านว่าสังหาริมทรัพย์นั้นไม่มีเจ้าของ
**มาตรา ๑๓๒๐ ภายในบังคับแห่งกฎหมายเฉพาะและกฎข้อบังคับในเรื่องนั้น ท่านว่า สัตว์ป่าไม่มีเจ้าของตราบเท่าที่ยังอยู่อิสระ สัตว์ป่าในสวนสัตว์ และปลาในบ่อหรือในที่น้ำ งเจ้าของกั้นไว้นั้น ท่านว่าไม่ใช่สัตว์ไม่มีเจ้าของ
             สัตว์ป่าที่คนจับได้นั้น ถ้ามันกลับคืนอิสระและเจ้าของไม่ติดตามโดยพลันหรือเลิกติดตามเสียแล้ว ฉะนี้ท่านว่าไม่มีเจ้าของ
สัตว์ซึ่งเลี้ยงเชื่องแล้วถ้ามันทิ้งที่ไปเลย ท่านว่าไม่มีเจ้าของ
สัตว์ป่าตามมาตรา ๑๓๒๐ แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. สัตว์ป่าที่ยังเป็นอิสระอยู่
๒. สัตว์ป่าที่ถูกจับแล้วและต่อมากลับคืนเป็นอิสระเพราะเจ้าของไม่ติดตามทันทีหรือว่าเลิกติดตามเสีย
๓. สัตว์ที่เลี้ยงเชื่องแล้วทิ้งที่อยู่ไป
**มาตรา ๑๓๒๑ ภายในบังคับแห่งกฎหมายเฉพาะและกฎข้อบังคับในเรื่องนั้น ผู้ใดจับสัตว์ป่าได้ในที่รกร้างว่างเปล่าหรือในที่น้ำสาธารณะก็ดีหรือจับได้ ในที่ดินหรือที่น้ำมีเจ้าของโดยเจ้าของ มิได้แสดงความหวงห้ามก็ดี ท่านว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของสัตว์
**มาตรา ๑๓๒๒ บุคคลใดทำให้สัตว์ป่าบาดเจ็บแล้วติดตามไป และบุคคลอื่นจับสัตว์นั้นได้ก็ดี หรือสัตว์นั้นตายลงในที่ดินของบุคคลอื่นก็ดี ท่านว่าบุคคลแรกเป็นเจ้าของสัตว์
บุคคลเก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหาย
**มาตรา ๑๓๒๓ บุคคลเก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหาย ต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใด ดั่งต่อไปนี้
(๑) ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ของหายหรือเจ้าของหรือบุคคลอื่น ผู้มีสิทธิจะรับ ทรัพย์สินนั้น หรือ
(๒) แจ้งแก่ผู้ของหายหรือเจ้าของหรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้น โดยมิชักช้า หรือ
(๓) ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่เจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นภายในสาม วัน และแจ้งพฤติการณ์ตามที่ทราบ อันเป็นเครื่องช่วยในการสืบหาตัวบุคคลผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้น
แต่ถ้าไม่ทราบตัวผู้ของหาย เจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินก็ดีหรือบุคคลดั่งระบุนั้นไม่รับมอบ ทรัพย์สินก็ดี ท่านให้ดำเนินการตามวิธีอันบัญญัติไว้ในอนุมาตรา (๓)
ทั้งนี้ ท่านว่าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหาย ต้องรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ด้วยความระมัดระวังอันสมควรจนกว่าจะส่งมอบ
**ทรัพย์สินหาย หมายถึง ทรัพยืที่มีเจ้าของหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินนั้นหาไม่พบหรือไม่อาจหาพบได้ แต่ถ้าเขายังติดตามอยู่และมีโอกาสที่จะพบได้ เช่นนี้ยังไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินหาย เพราะยังไม่ขาดจากการยึดถือครอบครองของเจ้าของหรือคนที่มีสิทธินั้น
หน้าที่ของผู้ที่เก็บทรัพย์สินหาย
๑. ต้องคืนให้แก่เจ้าของคนที่ทำหายหรือคนที่มีสิทธิจะรับไว้
๒. ต้องมอบให้แก่เจ้าของโดยไม่ชักช้าหรือมิฉะนั้นต้องมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าพนักงานอื่นในกรณีที่ไม่ทราบตัวผู้เสียหาย
๓. ต้องรักษาทรัพย์สินที่เก็บได้ด้วยความระมัดระวังตามสมควรจนถึงวันจะส่งมอบ

ที่มา : http://law_buu.igetweb.com/news/137574/%E0%B9%88javascript:void(0)