บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมคำอธิบายกฎหมาย บทความทางกฎหมาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไว้ใช้สำหรับการศึกษาวิชาทางกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้ศึกษาวิชากฎหมาย และบุคคลทั่วไป

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เนติบัณฑตยสภา

ประวัติเนติบัณฑิตยสภา



                 เนติบัณฑิตยสภามีกำเนิดสืบเนื่องมาจากโรงเรียนกฎหมาย เนื่องมาแต่พระบรมราโชบายแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประสงค์ให้ราชการยุติธรรมเป็นไปด้วยดีตามความต้องการของประเทศ โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๐ (พ.ศ.๒๔๓๔) พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) เป็นเสนาบดีพระองค์ที่ ๓ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ. ๒๔๓๙) เมื่อจัดระเบียบงานศาลได้ดีขึ้นแล้ว พระองค์ได้สนองพระราชประสงค์ของพระราชบิดาโดยได้จัดตั้งโรงเรียนกฎหมายเมื่อ ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) และมีการสอบไล่เป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรกในปีเดียวกันนั้นเอง เมื่อแรกยังตั้งเป็นการส่วนพระองค์ ภายหลังจึงโอนเป็นโรงเรียนหลวงสังกัดกระทรวงยุติธรรม มีเสนาบดีเป็นผู้จัดการโรงเรียนกฎหมาย 

                พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งเนติบัณฑิตยสภา เพื่อประสงค์บำรุงการศึกษาวิชากฎหมายทั้งการรักษาความประพฤติของทนายความ ในเดือนธันวาคม ๒๔๔๗ ได้พระราชทานบันทึกเรื่องเนติบัณฑิตยสภา กำหนดหน้าที่และวิธีดำเนินงานของเนติบัณฑิตยสภา ได้ทรงลงพระลงบรมนามาภิธัยไว้ท้ายบันทึก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอภัยราชาเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมปรึกษากับสมเด็จกรมหลวงสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ (เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมพระองค์แรก) อธิบดีศาลฎีกา เลือกกรรมการขึ้น เพื่อปรึกษาพิจารณาร่างข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาตามแนวทางแห่งพระราชบันทึก แล้วได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างข้อบังคับ เมื่อพระองค์ได้ทรงตรวจและแก้ไขแล้วได้พระราชทานข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาคืนมาเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๕๗ พระองค์ได้ทรงรับเนติบัณฑิตยสภาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์จึงถือเอาวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๕๗ เป็นวันกำเนิดเนติบัณฑิตยสภา

วันอังคารที่ ๕ มกราคม ๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเหยียบศาลสถิตย์ยุติธรรม โอกาสนี้เจ้าพระยาอภัยราชาเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม สภานายกพิเศษแห่งเนติบัณฑิตยสภาอัญเชิญเสด็จให้ทรงพรมหากรุณาธิคุณรับเป็นเนติบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และรับฉลองพระองค์ครุยเนติบัณฑิต ทรงลงพระบรมนามาภิธัยในสมุดทะเบียนเนติบัณฑิต
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริเสื้อครุยเนติบัณฑิตขึ้น และพระราชทานเสื้อครุยนี้แก่เนติบัณฑิตทุกคนตลอดรัชสมัยของพระองค์
เนติบัณฑิตยสภาได้จัดตั้งสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ เริ่มเปิดการสอนและศึกษาอบรมขึ้นเป็นครั้งแรก ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้นเอง มีหลักสูตรตามแบบอย่างของสภาการศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ประเทศอังกฤษและต้องตามมติของเนติบัณฑิตยสภาสากล ซึ่งเนติบัณฑิตยสภาไทยเป็นภาคี
 

ศาสตร์แห่งการศึกษาวิชากฎหมาย โดย อ.วิษณุ เครืองาม

ขอเชิญร่วมงานวันรพีฯ ณ นิติศาสตร์ มมส.


ที่มา:นิติวิญญูชน

วันรพี

วันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปี
        พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ มีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยประสูติจากเจ้าจอมมารดาตลับ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2417 ทรงสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมาย      ณ สำนักไครสต เซิร์ซ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมทางด้านกฎหมาย เมื่อปี พ.ศ.2439 หลังจากนั้นทรงเข้ารับราชการในกรมราชเลขานุการ ทรงปฏิบัติงานเป็นที่พอพระราชหฤทัยในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ เป็นอย่างยิ่ง
การศึกษา
ภาพ:Rapee_3.jpg
         พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงเข้าศึกษาวิชาภาษาไทยครั้งแรกในสำนัก พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) เมื่อทรงผ่านการศึกษาแล้วได้ ทรงเข้าศึกษาภาษาอังกฤษชั้นต้น ในสำนักครูราม สามิ และในปี พ.ศ. 2426 ได้ทรงเข้าศึกษา ภาษาไทยอยู่ในสำนักพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น) เปรียญ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ ในปี พ.ศ. 2427 ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรประทับอยู่วัดบวรนิเวศ
ภาพ:Rapee_4.jpg
         เมื่อปลายปี พ.ศ. 2431ได้เสด็จไปประเทศอังกฤษ และทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอยู่ในกรุงลอนดอน 3 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้ทรงเลือกศึกษาวิชา กฎหมายต่อที่วิทยาลัยไครส์ตเชิช ในมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด เมื่อ พ.ศ. 2433 เมื่อได้ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัย ไครส์ตเชิช แล้วได้ ทรงอุตสาหะเอาพระทัยใส่เป็นอย่างมาก ในที่สุดได้ ทรงสอบไล่ได้ตามหลักสูตรชั้นปริญญาเกียรตินิยม ในทางกฎหมายของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นจึงเสด็จกลับกรุงเทพฯ
========================================
        พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ นับได้ว่าทรง เป็นนักกฎหมายที่ยึดหลักนิติธรรมในการใช้กฎหมายเป็นวิชาชีพ ทรงมีส่วนสำคัญมากที่สุดพระองค์หนึ่งในการพัฒนางานด้านกฎหมายในประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าอีกทั้งทรงเป็นผู้วางรากฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมาย ทรงมีผลงานทางกฎหมายมากมายหลายประการ เช่น 
  1. ทรงเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและจัดวางระเบียบศาลยุติธรรมของประเทศจากระบบเก่า มาสู่ระบบใหม่ ปรับปรุงศาลต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง พร้อมทั้งแก้บทกฎหมายวิธีการพิจารณาความอาญาขึ้นใหม่ ทำให้ระบบของศาลยุติธรรมของประเทศไทยมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับต่างประเทศ
  2. ทรงเป็นประธานกรรมการ ยกร่างกฎหมายลักษณะอาญาพุทธศักราช 2451 ซึ่งถือว่าเป็นประมวลกฎหมายไทยฉบับแรก ต่อมาใน วันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2500 ได้มีประกาศให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พุทธศักราช 2499 แทน กฎหมายลักษณะอาญา พุทธศักราช 2451 นี้นับได้ว่าเป็นพื้นฐานที่มาของประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบัน
  3. ทรงตั้งโรงเรียนสอนวิชากฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2440 โดยพระองค์ทรงเป็นครูสอนร่วมกับพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) กรมหลวงพิชิตปรีชากรและพระองค์เจ้าวัชรีวงษ์ โดยมีผู้สนใจเข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก
  4. ทรงนิพนธ์ตำราคำอธิบายกฎหมายลักษณะต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ทรงรวบรวมพระราชบัญญัติบางฉบับ คำพิพากษาบางเรื่อง โดยจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ มีคำอธิบาย และสารบาญไว้อย่างละเอียด นอกจากนี้ ยังทรงรวบรวมกฎหมายตราสามดวง โดยให้ชื่อว่า “กฎหมายราชบุรี”
  5. ทรงเป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกา ซึ่งกรรมการชุดนี้มีชื่อเรียกว่า “ศาลกรรมการฎีกา”ทำหน้าที่เป็นศาลสูงสุดของประเทศแต่มิได้สังกัดกระทรวงยุติธรรม ต่อมาศาลกรรมการฎีกาได้เปลี่ยนมาเป็นศาลฎีกาในปัจจุบัน
  6. ทรงตั้งกองพิมพ์ลายมือขึ้นที่กองลหุโทษ เมื่อ พ.ศ. 2443 สำหรับตรวจพิมพ์ลายมือผู้ต้องหาในคดีอาญา โดยได้เสด็จไปสอนวิชาตรวจเส้นลายมือและวิธีเก็บเส้นลายมือด้วยพระองค์เอง ซึ่งงานชิ้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพิสูจน์ลายมือที่กรมตำรวจทำอยู่ทุกวันนี้
  7. ทรงปรับปรุงกิจการกรมทะเบียนที่ดินให้ก้าวหน้า เช่น การแก้ปัญหาข้อกฎหมายต่าง ๆ ในเรื่องการ ทะเบียนที่ดินให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดินฉบับที่ 2 ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2459 และฉบับที่ 3 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2462
        พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สิ้นพระชนม์เมื่อ วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2463 ด้วยโรควัณโรคที่พระวักกะ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในขณะที่มีพระชนมายุได้ 47 พรรษา 
        ในวันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปี บรรดานักกฎหมายไทย อาทิเช่น ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ อาจารย์สอนวิชากฎหมาย นิติกร ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในทางนิติศาสตร์ทั้งหมดได้พร้อมใจกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” และเรียกวันนี้ว่า “วันรพี”

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

กฎหมายที่ประชาชนควรรู้

1. การทะเบียนราษฎร์ 
        บุตรเกิด ถ้าเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้ง ถ้าเกิดนอกบ้าน ให้มารดาแจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันเกิด ชื่อบุตร ให้เจ้าบ้าน บิดา หรือมารดาแล้วแต่กรณี แจ้งชื่อบุตรพร้อมกับการแจ้งเกิด ถ้าจะเปลี่ยนชื่อให้แจ้งภายใน 6 เดือนนับแต่วันแจ้งชื่อครั้งแรก ย้ายบ้าน  ให้ผู้ย้ายหรือผู้ที่เจ้าบ้านมอบอำนาจแจ้งออกจากบ้านเดิมภายใน 15 วัน และเมื่อไปอยู่บ้านใหม่ให้แจ้งภายใน 15 วันเช่นกัน คนตาย ถ้าในบ้านให้เจ้าบ้านแจ้ง  ถ้าตายนอกบ้านให้ผู้ที่ไปกับผู้ตาย หรือผู้ที่พบศพเป็นผู้แจ้ง ภายใน 24 ช.ม. นับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพ  แจ้งที่ไหน กรณีบุตรเกิด ตั้งชื่อบุตร ย้ายบ้านหรือคน
ตาย ให้แจ้งดังนี้  ในเขตเทศบาล : ให้แจ้งที่สำนักงานท้องถิ่นซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานเทศบาล
            นอกเขตเทศบาล : ให้แจ้งที่สำนักทะเบียนตำบล (บ้านกำนัน) หรือสำนักทะเบียนที่ผู้ว่าราชการ
            จังหวัดแต่งตั้ง (เขตทหาร)
    ความผิด
ถ้าไม่แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลา มีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท
ถ้าไม่แจ้งการตายภายในเวลามีความผิดตามกฎหมย มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท
2. บัตรประจำตัวประชาชน 
        คนไทยซึ่งมีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปจนถึง 70 ปี บริบูรณ์ ต้องไปขอทำบัตรที่อำเภอหรือที่ว่าการเขตภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่อายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ บัตรประจำตัวประชาชนชำรุดหรือสูญหาย  ต้องยื่นคำร้องขอมีบัตรใหม่ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่บัตรเดิมชำรุดหรือสูญหาย (ต้องไปแจ้งบัตรหายที่สถานีตำรวจ)อายุของบัตรกำหนดใช้ได้ 6 ปี เมื่อถึงกำหนดสิ้นอายุบัตรต้องไปติดต่อขอทำบัตรใหม่ภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันสิ้นอายุ ณ  อำเภอท้องที่ที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน     ความผิด
ผู้ถือบัตรผู้ใดไม่อาจแสดงบัตรได้ในเมื่อเจ้าพนักงานขอตรวจ มีโทษปรับไม่เกิน 100 บาท
ผู้ไม่มีสัญชาติไทยยื่นคำร้องขอมีบัตร โดยแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงานว่าตนมีสัญชาติไทย มีโทษปรับไม่เกิน 2.000 บาทหรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ไม่ยื่นคำร้องขอมีบัตรภายในกำหนดเวลา มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
บัตรหมดอายุไม่ต่อบัตรภายในกำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท
3. การรับราชการทหาร 
        กำหนดเวลาแสดงตนลงบัญชีทหารกองเกิน ชายไทยอายุย่างเข้า 18 ปี ต้องไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินในเดือนพฤศจิกายนของปีที่อายุย่างเข้า 18 ปีสถานที่แสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกิน คือที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอที่เป็นภูมิลำเนาทหาร
4. การรักษาความสะอาด 
        ห้ามขีดเขียน วาดรูปวาดภาพบนรั้วผนังอาคาร ต้นไม้ หรือสิ่งใดใสที่สาธารณะหรือเห็นได้จากที่สาธารณะนั้น ถ้าฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท
        ห้ามติดตั้ง ตาก วางหรือแขวนสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะหรือมองเห็นได้จากที่สาธารณะโดยไม่บังควรหรือทำให้มองดูแล้วไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ถ้าฝ่าฝืนมีโทษปรับ 200 บาท
        ห้ามบ้วน สั่งหรือถ่มน้ำลาย น้ำมูก น้ำหมาก เสมหะหรือทิ้งสิ่งใดๆ  ลงบนท้องถนน พื้นรถ หรือเรือสาธารณะ โรงมหรสพ ร้านค้า หรือที่สาธารณะ ถ้าฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 100 บาท
5. การเรี่ยไร
        ผู้ทำการเรี่ยไร ต้องมีใบอนุญาตให้ทำการเรี่ยไรติดตัวและต้องออกใบรับให้ผู้บริจาค
6.หนังสือมอบอำนาจ 
        การมอบอำนาจ เป็นการตั้งตัวแทนเพื่อทำการสำหรับการมอบอำนาจให้กระทำ การเกี่ยวกับที่ดินเป็นเรื่องสำคัญ ควรใช้หนังสือมอบอำนาจของกรมที่ดิน
7. เอกเทศสัญญา
        กู้ยืม การกู้ยืมเงินกันเกินกว่าห้าสิบบาทจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแสดงว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริงและต้องลงลายมือชื่อผู้กู้ด้วย กฎหมายให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 บาทต่อปี การจำนอง คือการกู้ยืมโดยมีทรัพย์สิน เป็นประกัน โดยทั่วไปได้แก่ ที่ดิน บ้านพร้อมที่ดิน เรือยนต์ (5 ตันขึ้นไป) สัตว์พาหนะ ได้แก่  ช้าง ม้า วัว  ความ  หรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ซึ่งกฎหมายหากบัญญัติไว้ให้จดทะเบียนเฉพาะกาลโดยทรัพย์ยังอยู่ที่ผู้จำนองการจำนองต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่าซื้อ ต้องทำเป็นหนังสือและปิดอากรแสตมป์ เว้นแต่เช่าซื้อเครื่องมือการเกษตรไม่ต้องปิดอากรแสตมป์
        เช่าทรัพย์ เช่าบ้านหรือที่ดินไม่เกิน 3 ปี ต้องทำเป็นหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เช่าและผู้ให้เช่า หากเกิน 3 ปี ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
8. กฎหมายที่ดิน 
        เมื่อโฉนดใบจองหรือ นส.3 ชำรุด สูญหายหรือเป็นอันตราย ต้องติดต่ออำเภอหรือสำนักงานทะเบียนที่ดิน เพื่อขอออกใบใหม่หรือใบแทน มิฉะนั้นผู้อื่นที่ได้หนังสือสำคัญไปอาจนำไปอ้างสิทธิ ทำให้เจ้าของเดิมเสียประโยชน์ได้ที่ดินมือเปล่าเจ้าของควรดูแลรักษาให้ดีอย่าทอดทิ้งหรือปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า หากมีผู้ครอบครองก็หาทางไล่ออกไปเสีย มิฉะนั้นเจ้าของจะเสียสิทธิไป นอกจากนี้ หากไม่มี ส.ค.1 ก็ควรหาทางขอ น.ส.3 แล้วต่อไปก็ขอให้มีโฉนดเสียให้เรียบร้อย เพราะทำให้ได้ประโยชน์มากขึ้นและปลอดภัยจากการเสียสิทธิมากขึ้นที่ดินมีโฉนดอย่าทอดทิ้งหรือปล่อยให้รกร้างหรือให้คนอื่นครอบครองไว้นานๆ อาจเสียสิทธิได้เช่นกัน การทำนิติกรรม ต้องทำให้สมบูรณ์ตามกฎหมายโดยทำที่อำเภอหรือสำนักงานทะเบียนที่ดิน 
 9. อาวุธปืน 
        ผู้ที่ประสงค์จะขอมีอาวุธปืนเพื่อใช้หรือเก็บไว้ป้องกันตัวหรือทรัพย์สินให้ยื่นคำร้องขอตามแบบป.1ต่อนายทะเบียนท้องที่  กรุงเทพมหานคร  ได้แก่  ผู้บังคับการกองทะเบียนกรมตำรวจจังหวัดอื่นๆผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายทะเบียนท้องที่จังหวัด 
        การแจ้งย้ายอาวุธปืน เมื่อผู้ได้รับอนุญาตให้มี และใช้อาวุธปืนย้ายภูมิลำเนา  ต้องแจ้งย้ายอาวุธปืนต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน นับแต่วันย้ายและถ้าย้ายไปต่างท้องที่ให้แจ้งการย้ายต่อนายทะเบียนท้องที่ใหม่ภายใน15วันนับแต่วันที่ย้ายไปถึงอีกด้วย 
        การรับมรดกปืน เป็นหน้าที่ของทายาทหรือผู้ครอบครอง ต้องไปแจ้งการตายต่อนายทะเบียนท้องที่ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันทราบการตายและยื่นคำร้องขอรับมรดกอาวุธปืนนั้นต่อไป ใบอนุญาตสูญหายหรือชำรุดอ่านไม่ออกให้ยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียนท้องที่ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบเหตุ อาวุธปืนหายหรือถูกทำลาย ให้เจ้าของแจ้งเหตุพร้อมด้วยหลักฐานและส่งมอบใบอนุญาตต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนอยู่หรือนายทะเบียนท้องที่ที่เกิดเหตุภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบเหตุ 
        ความผิดและโทษของอาวุธปืน มีและพกอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท 
        พกพาอาวุธปืน ติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้พก เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
        ผู้ใดพกพาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผย  หรือพาไปที่ชุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพ หรือการอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 10,000 บาทแม้ว่าผู้นั้นจะได้รับอนุญาตพกพาอาวุธปืนหรือกรณีเร่งด่วนก็ตาม 






ข้อมูลจาก www.metro.police.go.th